ปลูกผักหวานป่า ด้วยเคล็ดที่ไม่ลับ แซม “ไม้พี่เลี้ยง” ดูดอาหารในดิน ผลผลิตคุณภาพ

คุณทองคำ พิลากรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอบรบือ ผู้เพาะปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ บ้านเลขที่ 79 หมู่ที่ 5 บ้านเปลือย ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เล่าว่า ส่วนตัวแล้วทำอาชีพรับราชการในสำนักงานเกษตร อีกทั้งเป็นเกษตรกรทำไร่มันสำปะหลังและทำนามาจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของการปลูกผักหวานป่า เนื่องจากเป็นเกษตรกรที่ทำไร่ทำสวนแบบผสมผสาน ประกอบกับมีความสนใจในตัวของผักหวานป่า เนื่องจากเป็นพืชที่คุ้นเคยมีอยู่แล้วในแถบภาคอีสาน และเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง เติบโตต่อเนื่อง จึงได้ศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งจากการค้นคว้าและวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ทำให้ทราบว่า ผักหวานป่า นั้นมีข้อดีหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ

  1. เป็นพืชที่ดูแลง่าย อายุยืน สามารถปลูกแล้วปล่อยไว้โดยไม่ต้องดูแลมาก ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นาน
  2. เป็นพืชเกษตรอินทรีย์ หมายความว่า การปลูกพืชชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือปุ๋ยเคมี ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น

คุณทองคำ เริ่มต้นปลูกผักหวานป่า ในพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 200 หลุม ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น 2 ไร่แล้ว และยังสร้างเครือข่าย ให้ความรู้กับเพื่อนบ้านผู้ที่สนใจอยากสร้างรายได้จากการปลูกผักหวานป่า ทำให้ปัจจุบันมีเครือข่ายสมาชิกทั้งหมด 30 ราย สั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักหวานไปแล้วกว่า 2,000 เมล็ด เพื่อทดลองปลูกกับเครือข่าย

 

การเลือกเมล็ด  

“ส่วนตัวแล้วหลังจากที่ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกผักหวานป่า ก็พบว่า ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ปลูกผักหวานป่าขาย และมีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าด้วย จึงได้ซื้อเมล็ดจากที่อำเภอบ้านหมอ จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมล็ดจะถูกส่งมาให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี” คุณทองคำ กล่าว

เมล็ดผักหวานป่าที่คุณทองคำเลือกซื้อจากอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรีนั้น เป็นเมล็ดที่กะเทาะเปลือก และล้างทำความสะอาดด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มาแล้ว เพื่อกำจัดเชื้อราป้องกันเมล็ดเน่าเสีย ราคาเมล็ดพันธุ์ที่กะเทาะเปลือก ขายเป็นเมล็ด เมล็ดละ 3 บาท ไม่กะเทาะเปลือก ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 300-400 บาท

วิธีการเพาะเมล็ด

เมื่อมีเมล็ดพันธุ์ ให้นำมาล้าง ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นนำผ้าหรือกระสอบป่านชุบน้ำให้เปียกนำมาคลุมเมล็ดพันธุ์ไว้ ประมาณ 7-10 วัน เมล็ดจะแตก แต่ก็ยังไม่มีต้นอ่อน เนื่องจากต้นผักหวานป่าจะงอกช้ามาก ไม่ต้องรอต้นอ่อนงอก เพียงแค่ให้เมล็ดแตกก็สามารถนำลงดินที่เตรียมไว้ได้เลย

ก่อนที่จะนำเมล็ดพันธุ์ลงดิน ต้องเตรียมพื้นที่ปลูกก่อน ด้วยการขุดหลุม ขนาด 30×30 เซนติเมตร แล้วนำดินผสมกับปุ๋ยคอกเก่า ที่ทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี ในอัตรา 1:1 ส่วน ก่อนที่จะนำเมล็ดลงดิน จะใช้เหล็กเส้น ขนาด 6 หุน ยาว 1 ศอก แทงลงในดินที่ขุดหลุมไว้ เพื่อเป็นเส้นทางให้รากของผักหวานลงไปในดินโดยง่าย วางเมล็ดผักหวานแนวขวางและให้เมล็ดโผล่อยู่เหนือดินครึ่งเมล็ด

“ผักหวาน เป็นพืชที่จะหยั่งรากลงดินก่อนโดยที่ยังไม่มีต้นอ่อน หลังจากหยั่งรากลงดินประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มแตกต้นอ่อนให้เห็น ช่วงเวลาระหว่างรอต้นอ่อนแตกยอดออกมา ต้องคอยสังเกตเมล็ดว่าเน่าหรือไม่ หากเมล็ดเปลี่ยนสีไปจากเดิม ไม่เหมือนวันแรกที่ลงปลูก หรือเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ ให้สันนิษฐานว่า เมล็ดนั้นเน่า” คุณทองคำ กล่าว

ดูแลรักษาและให้น้ำ

ผักหวาน เป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนัก เนื่องจากเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าอยู่แล้ว การดูแลจึงไม่ยุ่งยาก  ศัตรูพืชของผักหวานคือ จิ้งหรีด ที่จะมากัดกินยอดอ่อนในช่วงแรก คุณทองคำป้องกันด้วยการนำขวดพลาสติกตัดหัวท้ายให้เป็นรูปทรงกระบอก นำมาครอบเพื่อเป็นการล้อมต้นอ่อนผักหวานไว้ เมื่อต้นอ่อนมีความสูง ประมาณ 1 คืบ จึงสามารถนำขวดน้ำออกได้และปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ผักหวานเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยมาก จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เท่านั้น ในฤดูแล้ง ที่แล้งจัดให้น้ำ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ส่วนในฤดูฝนจะไม่ให้น้ำเลย

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ย จะใช้ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพเท่านั้น เริ่มใช้มูลสัตว์ในการผสมกับดินใส่หลุมปลูก  ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเป็นช่วงเตรียมการให้ผลผลิตจะโรยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณรอบโคนต้น และบำรุงใบไปด้วย ด้วยการฉีดน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ ในอัตรา 1:200 ส่วน ช่วยทำให้ใบเขียว นอกจากนี้ จุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำหมักจะช่วยย่อยสลายปุ๋ยคอกที่โคนต้นอีกด้วย

หลังจากที่ต้นเติบโต อายุได้ประมาณ 2 ปี จะให้ปุ๋ยมูลสัตว์ 2 ครั้ง ต่อปี คือช่วงต้นฝนและปลายฝน และฉีดน้ำหมักอีกเดือนละ 1 ครั้ง แต่การให้ปุ๋ยสำหรับต้นผักหวานป่าก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน คือห้ามใส่ปุ๋ยในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต จะให้ก่อนหน้าในช่วงต้นและปลายฝนเท่านั้น ซึ่งอายุของต้นผักหวานที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้คือ อายุตั้งแต่ 2-3 ปี ขึ้นไป

เก็บเกี่ยวผลผลิต

ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องตัดแต่งกิ่ง โดยคุณทองคำจะใช้วิธีการหักกิ่งด้วยมือเปล่า โดยหักช่วงปลายยอดของกิ่งทิ้ง ประมาณ 10-15 เซนติเมตร สามารถหักได้ทั้งกิ่งตรงและกิ่งแขนง จากนั้นลิดใบออก ให้เหลือกิ่งละประมาณ 3-4 ใบ เท่านั้น หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ ผักหวานจะเริ่มแตกยอดใหม่ อีกประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บยอดผักหวานจำหน่ายได้

“การเก็บยอด ต้องเลือกยอดที่มีขนาดมาตรฐาน ที่ส่งขายกัน ความยาวจะอยู่ที่ 1 ฟุต สามารถเก็บได้ทั้งปี ช่วงที่ผักหวานให้ผลผลิตตามธรรมชาติคือช่วงปลายเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน” คุณทองคำ กล่าว

ราคาขายผักหวานจะขึ้นอยู่กับว่าผลผลิตออกมาในช่วงนอกหรือในฤดู ราคาขายส่งในฤดู อยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 200 บาท หากขายนอกฤดูราคาจะเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท คือขายส่งอยู่ที่ 200 บาท ต่อกิโลกรัม และขายปลีก 250 บาท ต่อกิโลกรัม โดยการขายส่งจะมีแม่ค้ามารับถึงที่ มีทั้งเจ้าประจำและขาจร เป็นรายได้ที่หาได้ตลอดทั้งปี

เทคนิคการปลูกเพื่อผลผลิตที่ดี

คุณทองคำ เล่าว่า “เทคนิคสำคัญในการปลูกผักหวานให้มีคุณภาพ และต้นแข็งแรงให้ผลผลิตดีอยู่ที่การแซม “ต้นไม้พี่เลี้ยง” หรือไม้ที่ให้ร่มเงา นอกจากผักหวานป่าเป็นพืชที่ไม่ต้องการแดดมาก ผักหวานต้องการแสงแดดเพียง 30% เท่านั้น พืชพี่เลี้ยงจึงเป็นประโยชน์ในการให้ร่มเงา ในกรณีที่ไม้พี่เลี้ยงยังไม่โตพอที่จะให้ร่มเงากับผักหวานได้ ให้ใช้ซาแรนคลุมต้นผักหวานไปก่อน เป็นการช่วยลดแสงไม่ให้กระทบกับต้นผักหวานโดยตรง นอกจากนี้ ยังเป็นตัวช่วยหาอาหารใต้ดินให้กับผักหวานอีกด้วย เนื่องจากผักหวานจะอาศัยการกินอาหารกับรากพืชอื่น”

ไม้พี่เลี้ยงที่ คุณทองคำ เลือกปลูก ได้แก่ แคบ้าน มะขามเทศ และตะขบ ซึ่งจากการสังเกตแล้ว คุณทองคำ เล่าว่า ผักหวานที่อยู่ใกล้กับไม้พี่เลี้ยงแคบ้าน ใบจะมีสีเขียวสวย สันนิษฐานว่า เนื่องจากแคเป็นพืชในตระกูลถั่ว ซึ่งมีจุดเด่นในการตรึงไนโตรเจน มาใช้ประโยชน์ได้นั่นเอง

คุณทองคำ แนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกผักหวานป่าว่า ต้องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ให้ดี หากเก็บมาจากป่าให้เลือกเมล็ดที่แก่จัด มีสีเหลืองอมส้ม เมล็ดโตไม่ลีบ นำมาขยำเอาเปลือกออกด้วยเชื้อจุลินทรีย์ไตรโคเดอร์มา ซึ่งจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันเมล็ดเน่าเสียนั่นเอง

ทั้งนี้ ผักหวานป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Melientha suavis Pierre เป็นพืชในวงศ์ Opiliaceae เป็นพืชที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการแตกกิ่งและยอดอ่อนได้ด้วยการหักกิ่งทิ้ง นิยมบริโภคใบและยอดอ่อน โดยการนำมาปรุงอาหาร เช่น แกงใส่ไข่มดแดงและเห็ดฟาง ถือเป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวอีสาน นอกจากนี้ ยังนำมาผัดน้ำมันหอยและรับประทานเป็นผักต้มสำหรับจิ้มกับน้ำพริกได้ด้วย