มะม่วงน้ำดอกไม้ ที่โป่งตาลอง วิสาหกิจชุมชนส่งออก ที่ปากช่อง

คุณมนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชมชุนส่งออกมะม่วงโป่งตาลอง

มะม่วง เป็นไม้ผลเพียงไม่กี่ชนิดที่มีจำนวนพื้นที่การปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มทางการตลาดค่อนข้างดี ผลผลิตมะม่วงในประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพพื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสมในการปลูกไม้ผลหลายชนิด รวมถึงมะม่วงกินสุก

สถานีวิจัยปากช่อง เป็นหน่วยงานที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปฏิบัติดูแลรักษามะม่วงการติดตา ต่อกิ่ง เปลี่ยนยอด และการป้องกันโรคและแมลง ให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงหลายสิบรุ่น โดยใช้หลักการปลูกระยะชิด เพื่อควบคุมทรงพุ่มไม่ให้สูงใหญ่มากนัก สะดวกในการดูรักษา และการเก็บเกี่ยวที่ไม่เกิดการเสียหายต่อคุณภาพของผล รวมถึงการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย จึงมีการทดลองนำมะม่วงน้ำดอกไม้มาปลูกในระบบชิดเป็นครั้งแรกที่สถานีวิจัยปากช่องแห่งนี้ เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร นับแต่นั้นมาการปลูกมะม่วงในระบบปลูกชิดก็เป็นที่นิยมปลูกสำหรับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงโดยทั่วไป

มะม่วง ที่ปลูกในอำเภอปากช่อง เป็นมะม่วงที่คุณภาพดี เหมาะแก่การส่งออก ทำให้วันนี้เราต้องมาคุยกับ คุณมนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมะม่วงโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง โทรศัพท์ 089-533-8594 ถึงความเป็นมาที่เริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน

คุณมนตรี ศรีนิล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่งออกมะม่วงโป่งตาลอง

“ก่อนหน้าที่จะเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ต่างคนต่างปลูกมะม่วงแล้วต่างคนต่างขาย ก็มีปัญหาเรื่องการขายผลผลิตไม่ได้ราคา ขายตัดราคากันบ้าง ขายไม่ได้บ้าง และมีการขายแบบเหมาสวนยกแปลงตั้งแต่มะม่วงยังเขียวอยู่ โดยพ่อค้าจะนำถุงมาห่อเอง พอมะม่วงตัดได้ก็จะเอาไปขาย ผมก็ทำสวนมะม่วงอยู่เหมือนกันรวมกับพี่น้องพรรคพวกไม่กี่คน คัดมะม่วงคุณภาพเกรดเอขายให้บริษัทเพื่อการส่งออก แต่ไม่ได้ราคา ราคามะม่วงเกรดเอสำหรับส่งออกตอนนั้น ได้แค่กิโลกรัมละ 40 บาท ทั้งที่ของบางคล้าได้ราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท เมื่อเจรจากับบริษัทเราจะได้คำตอบว่า มะม่วงของคุณไม่ได้คุณภาพบ้าง ไม่มีจำนวนบ้าง ทั้งที่คุณภาพเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนจึงไม่มีอำนาจต่อรอง”

“ผมจึงชักชวนชาวสวนมะม่วงทั้งหมดในบริเวณนี้มารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนแรกๆ ชาวสวนก็ยังไม่เข้าใจเรื่องการรวมกลุ่มกันเพื่ออะไร หลังจากดำเนินการของกลุ่มไปได้ระยะหนึ่ง เราก็สามารถทำต่อไปได้จนประสบผลสำเร็จ”

ผูกเชือกสีแยกรุ่นเก็บ

ทำความตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

บริษัทผู้ส่งออกมะม่วงที่มาทำความตกลงเรื่องการซื้อขายกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโป่งตาลอง เป็นบริษัทที่ทำการค้าติดต่อกันมาหลายปี บริษัทใหม่ๆ ที่เข้ามาขอซื้อถูกปฏิเสธจากกลุ่มในช่วงนี้ เนื่องจากผลผลิตยังไม่พอจำหน่าย ในการขายมะม่วงให้กับบริษัท กลุ่มจะขายให้หลายบริษัท เพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการกระจายสินค้าไปหลายประเทศ รวมถึงกลุ่มจะมีความมั่นใจในการผลิตมะม่วงให้แก่ผู้ซื้อตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า

โดยปกติราคามะม่วงเกรดเอจากสวนในฤดูปกติ จะอยู่ที่ประมาณ 40-60 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนนอกฤดูกิโลกรัมละ 90 บาท มะม่วงที่ได้คุณภาพส่งออกจะมีน้ำหนักต่อผล ตั้งแต่ 300 กรัม จนถึง 550 กรัม เมื่อมะม่วงเริ่มติดผลในเดือน ก.ค.-ส.ค. กลุ่มจะเริ่มสำรวจปริมาณผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกกว่าสี่สิบราย ว่ามีปริมาณผลผลิตจำนวนเท่าไร โดยการตรวจสอบจากถุงที่สั่งเข้ามาว่าแต่ละสวนใช้ถุงห่อไปเท่าไร ห่อรุ่นเดือนไหนให้จดบันทึกไว้ เพื่อรู้ว่าต่อไปแต่ละเดือนจะมีผลผลิตออกกี่ตัน จึงจะแจ้งไปที่บริษัทส่งออก เพื่อให้บริษัททำการตลาดล่วงหน้า

เป็นโรค

โดยปกติกลุ่มจะทำมะม่วงเกรดเอในฤดู เพื่อส่งออกได้ประมาณ 200-300 ตัน ต่อปี ที่เหลืออีกประมาณครึ่งหนึ่งเป็นมะม่วงเกรดรองจะส่งออกไม่ได้จึงต้องไปอีกตลาดหนึ่ง คือ ตลาดในประเทศ มะม่วงที่ถือว่าตกเกรดคือ ผิวไม่สวย มีรอยขูดขีด มีแผลจากโรคแอนแทรกโนส เพลี้ยไฟ บนผิวมะม่วง มะม่วงเราจำเป็นต้องห่อทุกผลเนื่องจากมะม่วงตกเกรดที่ออกนอกฤดูราคาก็ยังสูง อายุที่ห่อนับจากดอกบาน 45 วัน ซึ่งจะมีผลขนาดไข่ไก่ ความยาวของผลประมาณ 7 เซนติเมตร ถ้านับหลังจากการบานก็จะรวมเป็น 90-100 วัน มะม่วงก็จะแก่พอดี

ทำมะม่วง

ต้องวางแผนการผลิตทั้งปี

ในการทำนอกฤดูของปากช่องจะแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ หลายแปลง โดยจะเริ่มตัดแต่งกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ทยอยกันไป ไม่พร้อมกัน บางคนอาจเลยไปถึงเดือนพฤษภาคมก็ได้ การที่ทำอย่างนี้ เพื่อให้มีผลผลิตทยอยกันในช่วงนอกฤดู ผลผลิตดังกล่าวก็จะออกตั้งแต่เดือนสิงหาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน การทำนอกฤดูก็มีการราดสารแพคโคลบิวทราโซลตามวิธีการที่บอกไว้ในฉลาก การทำนอกฤดูไม่ควรซ้ำถึงสองสามปี เพราะต้นจะโทรม เกษตรกรจำเป็นต้องสลับแปลง เพราะถ้าต้นโทรมแล้วจะแก้ไขยากมาก

บรรยากาศสวน

การทำมะม่วงนอกฤดูจะใช้ปุ๋ยยามากกว่าปกติ ซึ่งต้นทุนของการผลิตจะเพิ่มขึ้นแต่มีข้อดีเป็นการกระจายผลผลิตให้มีสม่ำเสมอทุกเดือน ถ้าสวนมะม่วงทั้งประเทศทำกันในฤดูหมด ผลผลิตออกมาตลาดไม่สามารถรองรับได้

เกษตรกรชาวสวนมะม่วงมีอยู่ทั่วประเทศแล้วมีการวางแผนการผลิตกันอย่างไร คำถามนี้คุณมนตรีตอบว่า

“ปัจจุบัน ชาวสวนมะม่วงมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันตลอดเวลา และการประชุมของสมาคม 2-3 เดือน ต่อครั้ง มีการวางแผนการผลิตที่ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้วจนทำให้ผลผลิตมะม่วงไม่ประสบปัญหาเหมือนผลไม้อื่น โดยปกติในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นมะม่วงในฤดู ชาวสวนในจังหวัดฉะเชิงเทรา พิจิตร พิษณุโลก ชัยนาท จะเป็นผู้ผลิตส่งตลาด ส่วนระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม จะเป็นผลผลิตของจังหวัดภาคเหนือตอนบน มี เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง เพราะสภาพอากาศเหมาะสมผลผลิตนี้ถือเป็นมะม่วงหลังฤดู”

หักตรงนี้

“เมื่อมะม่วงจากทางเหนือหมด จะเป็นมะม่วงนอกฤดูของทางอำเภอปากช่องและของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีผลผลิตตั้งแต่กรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม ส่วนโซนที่เสริมจะเป็นมะม่วงของภาคอีสาน เช่น ขอนแก่นและอุดรธานี แต่มีจำนวนไม่มาก จะมีผลผลิตช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม การวางแผนการตลาดของมะม่วงจะครอบคลุมตลอด 12 เดือน เพื่อให้มีผลผลิตในการส่งออกอย่างสม่ำเสมอ สมาชิกในสมาคมตระหนักถึงปัญหานี้ดีว่า ถ้ามะม่วงออกทับซ้อนกันความเสียหายเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำจะเกิดขึ้นแน่นอน”

“การจัดแบ่งโซนนี้ถือหลักตามความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่นที่เอื้อต่อการผลิตมะม่วง โดยไม่เป็นการฝืนธรรมชาติจนเกินไป นอกจากนี้ ยังจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการดูแลของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนชาวสวนมะม่วงของปากช่องถนัดเรื่องการทำมะม่วงน้ำดอกไม้นอกฤดูมายี่สิบกว่าปีแล้ว ปัจจุบันถือว่าเป็นแหล่งผลิตนอกฤดูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้”

ข้อมูลนี้ คุณมนตรี อธิบายให้ฟังอย่างกระจ่างแจ้ง การวางแผนการผลิตโดยเกษตรกรที่รวมตัวกันเองโดยความสมัครใจมีผลมากต่อการบริหารจัดการเรื่องราคาทำให้มีความมั่นคงในด้านนี้ ซึ่งเรื่องนี้ผมถูกใจมากเพราะผลไม้อย่างอื่นยังไม่ค่อยเห็นมีการวางแผนแบบนี้มาก่อน ได้แต่ต่างคนต่างทำ มารวมตัวกันได้ก็ตอนที่ราคาผลผลิตตกต่ำเท่านั้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นการแก้ไขทางปลายเหตุ

ย้อนกลับมาดูการผลิต

เหลืองสวย

การปลูกมะม่วงยุคใหม่ระหว่างต้นจะเว้นระยะห่าง 4 เมตร ส่วนระหว่างแถว 6 เมตร ทำให้มีพื้นที่ในการทำงานด้วยเครื่องจักรเพื่อเป็นการลดการใช้แรงงานได้ ใน 1 ไร่ จะได้ต้นเพียง 60 ต้น การใช้กิ่งชำจะทำให้ได้ต้นที่ไม่สมบูรณ์

ปัจจุบัน มีการปลูกต้นมะม่วงแก้วเป็นตอลงในแปลง แล้วจะนำยอดของต้นที่ดีที่สุดในแปลงของเกษตรกรแต่ละคนมาเสียบยอดแทน เพราะต้นมะม่วงที่มีรากแก้วของมะม่วงแก้วจะแข็งแรงหากินเก่ง ต้นที่ทำอย่างนี้สามารถให้ผลผลิตได้ถึง 30 ปี การที่ทำพันธุ์เองก็เนื่องจากปัญหาด้านกิ่งพันธุ์ที่ซื้อมา อาจมีการปนต้นพันธุ์ที่ไม่ดีมา ทำให้ต้องเสียเวลาตัดทิ้งเมื่อมีผลผลิต  ในช่วงปีแรกจำเป็นต้องให้น้ำต้นมะม่วง แต่หลังจากนั้นก็ไม่จำเป็นนัก นอกจากพื้นที่แล้งติดต่อกันนาน มะม่วงในแปลงจะให้ผลผลิตเมื่อครบ 4 ปี ในช่วงนี้ชาวสวนจะปลูกพืชเสริม เช่น ผักชี ถั่ว ผัก การตัดแต่งพุ่มเตี้ยๆ ของชาวสวนมะม่วงจะมีผลทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวและบำรุงรักษา ปัจจุบัน ผลผลิตมะม่วงของกลุ่มปากช่อง อยู่ที่ไร่ละ 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่

การใช้ปุ๋ยและยา ในการทำมะม่วงเพื่อการส่งออกของกลุ่มปากช่องนี้ จะใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกันปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 60 ต่อ 40 เพราะปุ๋ยเคมีจำเป็นในการเพิ่มความหวานให้มะม่วง เช่น ปุ๋ย 13-13-21 ในช่วงที่มีฝนตกชุกเนื่องจากปริมาณน้ำฝนเข้าไปเจือจะทำให้ไม่หวาน ส่วนสารเคมีที่ใช้บังคับให้ออกนอกฤดู หรือเร่งต่างดอก ก็มีความจำเป็น เพราะในสารอินทรีย์ยังไม่สามารถทำได้ ราคาที่อยู่ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนมะม่วงบอกว่ามีกำไร แต่มีปัจจัยเสี่ยง คือ อากาศที่แปรปรวน เพราะในช่วงออกดอกของมะม่วงนอกฤดูที่ปากช่องเป็นช่วงเมษายนซึ่งร้อนมากที่สุด ทำอย่างไรถึงจะให้ติดผลมากที่สุด เป็นเรื่องที่เกษตรกรชาวสวนต้องเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

การทำมะม่วงนอกฤดูนอกจากผลผลิตที่มีความสวยงามแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลมากคือ สารตกค้างในมะม่วง ชาวสวนจะต้องมีความรู้ว่าสารเคมีชนิดนี้ จะฉีดพ่นก่อนห่อได้กี่วัน จึงจะไม่มีผลตกค้าง

มีการบันทึกการทำงาน ว่าฉีดพ่นสารชนิดใดบ้าง ทั้งวันที่ปริมาณและชนิดของสาร การใช้สารเคมีในมะม่วงเพื่อการส่งออกต่างประเทศไม่ได้ห้ามไว้ แต่อย่าให้มีสารตกค้างหลังจากการเก็บเกี่ยว ชาวสวนต้องรู้ว่าสารเคมีแต่ละชนิดมีอายุตกค้างกี่วัน ถ้าจำเป็นต้องฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวก็จะต้องใช้สารเคมีที่ใช้แล้วสลายตัวเร็วที่สุดหรือไม่ก็เป็นสารอินทรีย์ การทำมะม่วงนอกฤดูจะยุ่งยากกว่ามะม่วงในฤดูเพราะการออกดอกของมะม่วงนอกฤดูจะไม่พร้อมกันมีการทยอยออกดอก มีผลรุ่นพี่รุ่นน้องเพราะฉะนั้นการใช้สารเคมีนี้จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่เหมือนมะม่วงในฤดูที่ดอกบานพร้อมกันทำให้การจัดการเรื่องปุ๋ยยาได้ง่าย

ส่งออกเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

และน้ำดอกไม้ทะวาย เบอร์ 4

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้ทะวาย เบอร์ 4 เป็นมะม่วงที่เป็นที่นิยมมากในต่างประเทศสำหรับมะม่วงกินสุก เพราะคุณสมบัติของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง คือมีผิวเหลืองสด เปลือกหนาทนทานในการขนส่ง ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย เบอร์ 4 มีรดชาติที่ดีกว่า สำหรับต่างประเทศชอบมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมากกว่า ส่วนการบริโภคในไทยจะชอบในรสชาดของมะม่วงน้ำดอกไม้ทะวาย เบอร์ 4 มากกว่า แต่จริงๆ แล้วรสชาติใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากสมัยก่อนชาวสวนไม่รู้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่แน่นอนใช้สายตามองดูทำให้เก็บมะม่วงที่ยังไม่แก่จัด เพราะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะเหลืองตั้งแต่มีขนาดเล็กจึงทำให้สับสน แต่ปัจจุบัน มีการห่อผลและจดบันทึกเวลาไว้ทำให้เก็บเกี่ยวมะม่วงได้อย่างถูกต้อง

การจำหน่ายมะม่วง

เกรดมะม่วงของกลุ่มจะมี 2 เกรด เกรดส่งออก คือเกรดเอ วิสาหกิจชุมชนจะหักขึ้นมา 2 บาท จากจำนวนเงิน 50 บาท ซึ่งหมายถึง 1 กิโลกรัม เพื่อนำมาสร้างอาคารที่คัดมะม่วง อุปกรณ์ ที่จะเป็นของกลุ่ม หรือเป็นเงินทุนต่อไป ส่วนการจำหน่ายมะม่วงเกรดเอ จะมีสองแบบ คือ บริษัทมาคัดมะม่วงเองที่โรงคัดของกลุ่มหลังจากที่สมาชิกนำมาส่งไว้ที่โรงคัดแล้ว หรืออีกวิธีหนึ่ง คือบริษัทให้กลุ่มเป็นคนคัดและจัดส่งให้ โดยบริษัทจะจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง ส่วนมะม่วงที่เหลือ คือ ตกเกรดจะแบ่งเป็นเกรด 1 2 3 กลุ่มจะขายให้แก่สมาชิกโดยถือราคาตามตลาดในวันนั้นๆ ตลาดสำคัญคือ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และตลาดชลบุรี ในส่วนนี้ก็จะหักขึ้นสองบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การบริหารวิสาหกิจชุมชน

“การบริหารไม่ได้ทำคนเดียวแต่จะทำในรูปคณะกรรมการ มีการจัดการอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ถีงตอนสิ้นปี จะมีการแจกแจงปัญหาให้สมาชิกดูทั้งหมด มีรายได้ทั้งหมดเท่าไร เอาไปใช้อะไรบ้าง ผู้ที่มีหน้าที่บริหารทั้งหมดทำด้วยจิตอาสาไม่มีเงินเดือน”