เกษตรกรแม่แตง เชียงใหม่ ปลูกข้าวขั้นเทพไม่ใช้สารเคมีสักหยด ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีแม้แต่เม็ดเดียว เขาทำได้อย่างไร

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

             คุณประทุม สุริยา บ้านเลขที่ 236 หมู่ที่ 2 บ้านสันป่ายาง ตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50330

อาชีพเดิมเป็นครูสอนวิชาเคมี ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ และลาออกมาทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 และเป็นวิทยากรในรายการ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พบประชาชน”

ประทุม สุริยา
ประทุม สุริยา

ในช่วงรับราชการ คุณประทุมได้เสนองานวิจัยกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยได้ศึกษาเปรียบเทียบเกษตรกรไทยและเกษตรกรในทวีปยุโรป ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรในทวีปยุโรปไม่มีหนี้สินและมีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ส่วนเกษตรกรของไทยทำการเกษตรอย่างไม่เป็นระบบ มีหนี้สิน คุณประทุมจึงน้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฎีใหม่มาทดลองทำจริงในพื้นที่ของตนเอง เริ่มจากการขุดสระ ทำถนนรอบขอบแปลง แต่ยังทำการเกษตรเคมีอยู่ และได้ทำบัญชี รับ-จ่าย ในครัวเรือนควบคู่ไปด้วย เมื่อเห็นรายรับ-รายจ่าย ทำให้รู้ว่าการที่ชาวนาขาดทุนเป็นเช่นไร ถ้ายังคงใช้สารเคมีอยู่คงไปไม่รอดแน่ จึงตัดสินใจทำสวนเกษตรทฤษฎีใหม่ในเชิงนิเวศและชีวบำบัด โดยใช้ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ฮอร์โมนจากพืช และใช้วัสดุภายในท้องถิ่นมาปรับปรุงบำรุงดิน จัดระบบสิ่งแวดล้อมให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มีความเกื้อกูลกัน ทำระบบบัญชีควบคุมการใช้จ่ายเงิน และจัดระบบน้ำ เมื่อประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตรดังกล่าว ได้เผยแพร่องค์ความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่มาศึกษาเรียนรู้โดยไม่หวังผลตอบแทน

 

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณประทุม ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นเรื่องการปลูกข้าว แนวทางการทำการเกษตรของคุณประทุม จะไม่ใช้สารเคมี โดยคุณประทุมเรียกแนวทางดังกล่าวว่า “สวนชีวนิเวศ ชีวบำบัด” คือใช้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์มาเกื้อกูลกัน โดยในสวนรอบนอกปลูกต้นสะเดา ใต้ต้นสะเดาเป็นตะไคร้หอม มะแว้งขม รอบขอบนาจะปลูกมะนาวน้ำหอม ข้าวในนามี 11 สายพันธุ์ จะมีข้าวตระกูลมะลิ 4 สายพันธุ์ คือ มะลิขาว มะลิมันปู มะลิกุหลาบแดง และมะลิหอมนิล ข้าวพันธุ์พื้นเมืองอีก 4 สายพันธุ์ คือ ข้าวเทา ข้าวอิแหล่งส้ม ข้าวสามกษัตริย์ และข้าวเหนียวดำ นอกจากนี้ ก็มีข้าวธรรมดาอีก 2 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และข้าว กข 6

คุณประทุมปลูกสะเดารอบขอบนาเพื่อป้องกันแมลง และนำมาทำเป็นน้ำหมักไล่แมลง เมล็ดสะเดาใช้ทำเป็นยาไล่แมลงได้ สำหรับการปลูกตะไคร้หอมใต้ต้นสะเดานั้น เพื่อช่วยไล่แมลงเช่นเดียวกัน นอกจากการปลูกพืชที่แมลงไม่ชอบดังกล่าวแล้ว ยังใช้สัตว์ป้องกันกำจัดกันเองอีกด้วย โดยจะมีตัวห้ำ ตัวเบียน เมื่อแมลงวันทองหลงเข้าไปก็จะมีตัวเบียน ตัวคล้ายต่อคอยขย้ำแมลงวันทอง

ส่วนปุ๋ยจะเป็นปุ๋ยที่มาจากสิ่งมีชีวิต คือ พืชตระกูลถั่ว หรือทำปุ๋ยหมักจากเศษวัสดุ เช่น ก่อนที่จะปลูกข้าวก็จะปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนเป็นการตัดวงจรชีวิตและกำจัดโรคพืชด้วย โดยใช้เวลาในการปลูก ประมาณ 25-30 วัน จะตัดต้นถั่วแล้วสับกลบลงไปในดินเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจน

คุณประทุมยังทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ กากถั่วเหลือง รำข้าว แกลบดำ และแกลบหยาบ สำหรับวิธีปรับปรุงดินของคุณประทุมนั้น เกษตรกรที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำเองได้ คือ ช่วงเตรียมดินจะใช้การล่อเชื้อจากสิ่งที่ต้องการจะปลูก เช่น หากต้องการปลูกข้าว ก็ใช้การล่อเชื้อจากต้นข้าว วิธีการคือ หลังจากที่เกี่ยวข้าวแล้วจะมีตอซังที่ยังสดอยู่ ช่วงเวลาประมาณ ตี 3 ตี 4 จะเกี่ยวต้นข้าวมามัด จากนั้นก็จะใช้ข้าวเหนียวที่อุ่นๆ ประคบตรงแผลรอยตัด ใช้ถุงหุ้มทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน เมื่อเปิดออกมาจะมีเชื้อสีขาวอยู่ เป็นจุลินทรีย์ที่มีภูมิต้านทานจากข้าว ในกรณีที่จะนำไปใช้ในพืช จะเอาจากกล้วยหรือขุยไผ่ มาล่อเชื้อเพื่อที่จะทำเป็นหัวเชื้อ โดยกล้วยจะเอาหน่อกล้วยมาแล้วหุ้มด้วยข้าว แต่ขุยไผ่จะขุดดินที่ใต้ต้นไผ่เอามาทำเป็นหัวเชื้อ

ส่วนดินในนานั้น คุณประทุมก็มีเทคนิคง่ายๆ คือ ปลูกมะนาวน้ำหอม 40 ต้น รอบคันนาช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลมะนาวแก่ก็จะร่วงลงในนา ซึ่งจะเป็นการช่วยปรับค่า pH ได้ประมาณ 6.2 ดังนั้น ข้าวจึงไม่เป็นโรค ไม่มีแมลงรบกวน และที่สำคัญน้ำมะนาวนี้เมื่อแช่ในน้ำนานๆ จะมีกลูโคสทำให้ข้าวมีน้ำตาลกลูโคส ดังนั้น ข้าวในนาของที่นี่จะหวานกว่าข้าวที่อื่นๆ วิธีนี้เป็นการให้ความหวานตามธรรมชาติ

จุดเด่นของสวนชีวนิเวศชีวบำบัดอีกอย่างคือ ระบบน้ำ ซึ่งการใช้ระบบน้ำโดยทั่วไปเกษตรกรรายอื่นจะเอาน้ำมาเก็บไว้ แต่ที่สวนของคุณประทุม ก่อนที่จะเอาน้ำจากแม่น้ำมาใช้ จะดักตะกอนก่อนเพื่อจับสารเคมีเบื้องต้น หลักของการทำการเกษตรอินทรีย์โดยทั่วไปจะมุ่งเน้นการลดใช้สารเคมีสังเคราะห์ และมองข้ามการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อม น้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของพืชและสัตว์ที่ไหลมาในแม่น้ำลำคลอง จะมีสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์เจือปน โดยเฉพาะดินโคลน สารเคมีดินโคลนจะมีผลกระทบต่อผืนดินส่วนหน้าและทำให้คลองหรือสระน้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกบ่อยครั้ง เพื่อทำให้น้ำไหลไปได้สะดวก

คุณประทุมมีวิธีการจัดการน้ำคือ ก่อนจะนำน้ำเข้าร่องน้ำในสวน จะทำหลุมดักไว้ทุกระยะ 8 เมตร จะมี 1 ช่อง ที่จะขุดหลุมลึกลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร ด้านข้างของร่องหลุม ลึก 2 ข้าง ให้ก่ออิฐมอญให้สูงกว่าน้ำไหลผ่าน น้ำที่ผ่านหลุมจะทำให้ดินโคลนตกตะกอน พืชชั้นต่ำที่เกาะอิฐมอญจะดูดสารเคมีไว้บางส่วน จนกระทั่งหลุมสุดท้ายน้ำจะใสสารเคมีจะลดลง ตะกอนที่ตกในหลุมน้ำด้วยระบบนี้คือ ไม่ต้องเสียเงินขุดลอกนาบ่อยๆ เมื่อตะกอนตกลงที่หลุมก็ตักออกจากหลุม ซึ่งสะดวกกว่าการไปขุดลอกออกจากท้องนา

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

คุณประทุม ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก ความมีเหตุผล คุณประทุมต้องการพิสูจน์ให้ผู้คนในสังคมไทยเห็นว่า เกษตรกรสามารถปราศจากหนี้สินและรวยได้ ดังนั้น จึงหาทางลดต้นทุนและเพิ่มรายได้อยู่ตลอด อย่างเช่น ซื้อเครื่องทำข้าวกล้องมาสีเองแทนที่จะขายข้าวเปลือกให้โรงสีในราคาถูก ราคาเพียงกิโลกรัมละ 12 บาทเท่านั้น แต่พอมาสีเพื่อจำหน่ายเอง จำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ที่สำคัญผลิตไม่พอขาย ต้องสร้างเครือข่ายขึ้นมา และที่ผ่านมาคุณประทุมได้ปฏิบัติกิจกรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้สำเร็จได้ด้วยการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน เพราะสามารถรู้ต้นทุนในการผลิตและรู้ยอดขายเพื่อจะลดต้นทุน และสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ โดยใช้แรงงานในครอบครัวทั้งหมด นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัยเลี้ยงสัตว์ โดยการเลี้ยงไก่แจ้ ขายไข่ปีหนึ่งได้เกือบแสนบาท ปลาที่อยู่ในสระและที่อยู่ในนาข้าวปีหนึ่งขายได้เงินเกินแสน ส่วนในแปลงเกษตรมี 5 กิจกรรม คือ นาข้าว ถั่วเหลือง ไม้ผล ปลา และไก่ รวมสร้างรายได้เกินห้าแสนบาท สำหรับไม้ผลมีตั้งแต่ไม้พื้นเมือง เช่น มะหนอด มะแขวน ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม ไม้สากลเป็นไม้เมืองหนาว เช่น ลูกพลับ อะโวกาโด ทุกวันจะมีรายได้ถัวเฉลี่ย ประมาณ 700 บาท โดยมีหลักสำคัญคือ จะต้องรู้จักการทำแผน ต้องทำโครงการทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย จะทำอะไรต้องมีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ ต้องมีการจดบันทึกในกิจกรรมที่ทำว่าวันนี้เป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร ข้อสำคัญต้องทำบัญชี ต้องรับรู้ในเรื่องของการลงทุน ต้องมีความอดทน ซึ่งการทำการเกษตรนั้นจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอยู่เสมอ เกษตรกรต้องเข้มแข็ง อดทน และเอาใจใส่ทุกขั้นตอน

 

สอบถามเพิ่มเติมได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์(089) 264-4189, (053) 939-099

            ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์