ผักแพง แล้วยังไม่ปลอดภัย มาปลูกผักในบ้าน ไว้รับประทานกัน

หากใครนิยมบริโภคผักเป็นอาหารหลัก คงทราบทันทีว่ามีราคาแพง ด้วยความสงสัยจึงลองสอบถามแม่ค้าตามตลาดสด พบว่า สาเหตุมาจากสภาพอากาศผันผวนเปลี่ยนแปลงกระทบกับผู้ปลูกผัก ทำให้มีผักน้อยราคาจึงสูงเมื่อรวมกับต้นทุนค่าขนส่งอีก

เคยลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกรปลูกผักที่แปลง เขาเผยให้ฟังว่า เกษตรกรบางรายรีบเก็บผักส่งตลาด ทั้งที่เพิ่งฉีดสารเคมี เพราะไม่ทันความต้องการของตลาด พอฟังอย่างนี้แล้วรู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เห็นจะต้องหันไปพึ่งผักปลอดสารแบบมีหีบห่อดีกว่า แต่ก็ไม่วายยังได้รับข้อมูลอีกว่าผักปลอดสารดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นของจริงไปเสียทั้งหมด บางแห่งมีการแอบอ้างเพื่อหลอกผู้บริโภคหวังเป็นการค้า

แล้วคราวนี้ใครเดือดร้อน ถ้าไม่ใช่พวกเรา…

ถ้าเป็นเช่นนี้เห็นทีต้องชวนท่านผู้อ่านปลูกผักไว้กินเองคงจะดีแน่!!

ความจริงกระแสการปลูกผักเพื่อให้ปลอดภัยในการบริโภคมีทำกันมากหลายแห่ง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่พยายามจุดประกายเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันหลายจุด ตั้งแต่ผู้ปลูกไปจนถึงผู้ขาย พอมาภายหลังหน่วยงานราชการหลายแห่งกระโดดลงมาร่วมวงด้วย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อการบริโภค แล้วยังทำให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างมะเร็ง

อย่างบุคคลที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เขาหลงใหลเรื่องการทำเกษตรแนวอินทรีย์ชนิดซึมลึก สนใจตั้งแต่เรียนปริญญาตรีจนกระทั่งต่อปริญญาโท ระหว่างเรียนยังมีกิจกรรมมากมายได้มีโอกาสพบปะเรียนรู้ทฤษฎีการทำเกษตร “แนวเกษตรอินทรีย์”จากครูบาอาจารย์ ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถหลายท่าน แถมยังมีโอกาสไปฝึกงานในต่างประเทศ

จนวันหนึ่ง เขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนควรหันมาพึ่งตัวเองด้วยการปลูกผักสวนครัวไว้เพื่อใช้บริโภคเสริมสร้างความปลอดภัยจากพืชผักที่ปลูกด้วยสารเคมี พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนหลายแห่งถ่ายทอดความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาให้แก่ผู้สนใจ แล้วเปิดบ้านดัดแปลงเป็นสวนใช้ปลูกพืชผักแนวเกษตรอินทรีย์ชักชวนผู้สนใจหันมาปลูก

ผู้เขียน มีนัดหมายกับ คุณนคร ลิมปคุปตถาวร หรือ คุณปริ้นซ์ หนุ่มชาวกรุงเทพฯ ที่บ้านเลขที่ 9/711 สตรีวิทยา 2 ซอย 3 แขวง/เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ครั้นเดินทางมาถึงบ้านเลขที่ดังกล่าว หากมองจากภายนอกอาจเป็นเหมือนบ้านอยู่อาศัยทั่วไป แต่เมื่อพบคุณนครในอิริยาบถแบบสบาย กับเสื้อยืดสีขาว กางเกงขาสั้นได้ชักชวนให้เข้าไปภายใน แล้วพบว่าบนเนื้อที่ดินส่วนหนึ่งจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชผักหลากหลายชนิดคล้ายกับสวนแปลงผักของชาวบ้านในต่างจังหวัด และอีกส่วนเป็นอาคารเก่า 2 ชั้น ไม่มีการใช้งาน โดยด้านล่างจัดทำเป็นสถานที่เพาะกล้าไม้และอุปกรณ์การทำสวน

ระหว่างที่รอคุณนครกำลังใส่ปุ๋ยผักกวางตุ้งฮ่องเต้ อายุ 2 สัปดาห์ ผู้เขียนถือโอกาสเดินสำรวจบริเวณพื้นที่รอบๆ ไปพลาง และพบว่า พื้นที่มีการจัดปลูกไม้พืชผลอย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นผัก พืชสวนครัว ไม้ผล สมุนไพร ไม้ดอก หรือกลุ่มเพาะต้นกล้า ทุกอย่างล้วนวางเป็นกลุ่มแยกประเภทแลดูเป็นสีเขียวไปหมด จนแทบไม่น่าเชื่อว่าตัวเองกำลังยืนอยู่ในบรรยากาศของเมืองกรุง แต่ถ้านึกเล่นๆ ลองหลับตาแล้วตัดภาพบ้านเรือนที่เป็นตึกคอนกรีตรายรอบออกไป คงเหลือไว้แต่เพียงบ้านคุณนคร คงเป็นบรรยากาศในสวนต่างจังหวัดแน่นอน

เมื่อคุณนครเสร็จสิ้นภารกิจ การสนทนาจึงเริ่มต้นขึ้นบนแคร่ไม้ไผ่มุงหลังคาใบจากที่รายล้อมด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิดสร้างความกลมกลืนราวกับอยู่กลางไร่สวนต่างจังหวัด

คุณนคร บอกว่า เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาเทคโนฯ การเกษตร และปริญญาโท สาขาเกษตรยั่งยืน ดีกรีทั้งสองได้มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่มีความสนใจเรื่องการเกษตร เพราะสมัยเรียนปริญญาตรี ชั้นปี 2 มีความสนใจแนวคิดเรื่องการเกษตรยั่งยืน รวมไปถึงการเกษตรที่พึ่งพาตัวเองในรูปแบบธรรมชาติซึ่งแนวทางนี้เคยมีการทำมาก่อนหน้านี้ในรูปแบบผสมผสาน ต่อจากนั้นเปลี่ยนเป็นรูปแบบเกษตรอินทรีย์ วรรณะอินทรีย์หรือแม้แต่การเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริที่นำมาผสมผสานกัน

เขาบอกว่า แรงบันดาลใจที่แท้จริง มาจากครูบาอาจารย์หลายท่านที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ได้กลับมาสอนหนังสือแล้วถ่ายทอดความรู้ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำน้ำหมักชีวภาพ จึงมาคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางการทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเองได้อย่างถาวรแท้จริง และแตกต่างจากการเรียนในบางทฤษฎีที่เน้นการใช้สารเคมี ซึ่งถือเป็นความยุ่งยากที่ต้องคอยจดจำว่าตัวใดต้องใช้กับพืชชนิดใดจึงเหมาะสมเกิดประโยชน์ ที่สำคัญสิ่งเหล่านั้นกลับเกิดผลร้ายต่อมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงเสียมากกว่า

เรียนรู้ ซึมซับ

กระทั่งนำมาสู่การทำจริงด้วยตัวเอง

จากแรงบันดาลใจคราวนั้น ถูกต่อยอดความรู้เพิ่มจากอาจารย์อีกหลายท่าน จนกระทั่งเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร ที่เรียกว่า “ออร์แกนิค” หรือเกษตรอินทรีย์ มีการเรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพที่มีต้นคิดมาจากเกาหลี เป็นการทำแนวเดียวกับการทำกิมจิ เพราะเป็นการใช้เศษผัก ผลไม้สลับกับน้ำตาล

ภายหลังที่ได้ทดลองทำปรากฏว่าสิ่งที่พบ มีทั้งสารอาหารที่เป็นปุ๋ยที่ดีต่อพืช เป็นฮอร์โมนพืช เป็นสารอินทรีย์ที่ถูกสกัดมาจากธรรมชาติ แล้วจึงลงมือจริงกับแปลงผักที่ปลูกไว้ ผลลัพธ์คือ พืชทุกชนิดมีการเจริญเติบโตงอกงามที่ดีอย่างผิดสังเกต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะน้ำหมักอินทรีย์เข้าไปเติมคุณค่าในดินให้มีมากขึ้น เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างดีต่อพืช ซึ่งแตกต่างกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างชัดเจน

ความคิดตกผลึก

ร่วมมือกับหลายองค์กร เผยแพร่ให้กว้างขวาง

คุณนคร สะสมประสบการณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากท่านอาจารย์อาวุโสหลายคน การเรียนรู้โดยตรงจากชาวบ้านที่มีบทบาทเป็นผู้นำทางด้านเกษตรยั่งยืน การฝึกงานจริงในพื้นที่หลายแห่งทั้งในและต่างประเทศและได้สัมผัสความเป็นเกษตรอินทรีย์แท้จริง ถือเป็นการสร้างมุมมองใหม่ที่แตกฉานและกว้างขึ้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้ความคิดของเขาตกผลึกจนนำมาสู่ความคิดภายหลังที่ได้เรียนจบปริญญาโทว่า ขณะที่เราต้องมีชีวิตจริงอยู่ในสังคมเมือง จะทำอย่างไรถึงจะดึงความเป็นธรรมชาติในชนบทอย่างที่เคยได้สัมผัสมาก่อนให้เข้ามาอยู่ในเมืองกรุงอย่างกลมกลืน

จากนั้น คุณนคร ได้ดัดแปลงพื้นที่ขนาดย่อมภายในบ้านเพื่อใช้ปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคภายในครอบครัวก่อน ต่อมามีผู้คนในวงการรักสุขภาพนำเรื่องราวการปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์ของเขาไปเผยแพร่ ทำให้มีหลายคนสนใจทำให้ขยายวงออกไป และมีกระแสเรียกร้องให้จัดอบรมความรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารแก่บุคคลทั่วไป

จึงเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดคอร์สวิชาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยใช้พื้นที่บริเวณรอบบ้านดัดแปลงเป็นห้องเรียนเกษตรทันที คุณนคร บอกว่า ไม่อยากจะเรียนว่าเป็นการสอน แต่คิดว่าเป็นการมาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ที่เคยพบเห็นและได้ปฏิบัติจริง ในครั้งแรกมีคนมาจำนวน 10 คน และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ใช้เวลาเพียง 1 วัน เท่านั้น

แต่กระนั้นความร้อนแรงยังไม่หยุด ได้มีหน่วยงานราชการและเอกชนสนใจนำไปจัดกิจกรรมเชิญชวนประชาชนหันมาใส่ใจบริโภคผักที่ปลอดภัยกัน จึงมีการจัดเป็นโครงการสวนผักในเมือง ถือเป็นการปลุกให้คนเมืองสนใจการปลูกผักสวนครัวในบ้าน เพื่อให้เกิดความประหยัดและปลอดภัยต่อสุขภาพ

ในเวลาต่อมาครอบครัวได้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพิ่มอีกหนึ่งแห่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านหลังแรกแต่ยังไม่มีโครงการทำอะไร คุณนคร จึงจัดการขยับขยายปรับปรุงพื้นที่เพื่อสำหรับปลูกผักพืชสมุนไพรและอื่นๆ ที่มีความหลากหลายน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีก พร้อมกับชักชวนสมาชิกในบ้านมาทำสวนครัวกันอย่างจริงจัง

พึ่งพาธรรมชาติแนวเกษตรอินทรีย์

สะท้อนกลับ เป็นรางวัลแก่ชีวิต ในระยะยาว

คุณนคร มองว่าวิถีการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านโดยทั่วไปมีลักษณะของการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นธรรมชาติในพื้นที่อาศัยอยู่อย่างเกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะปัญหาเรื่องหนี้สินหรือเป็นความพยายามลดค่าใช้จ่าย แต่แนวทางของชาวบ้านที่ปฏิบัติกันเป็นวิถีชีวิตปกติกลับเป็นผลดีต่อสุขภาพที่ปลอดภัยและยั่งยืนแก่พวกเขาในระยะยาว

“ฉะนั้น จึงมีการนำวิธีนี้ไปเชื่อมโยงกับอีกยุคหนึ่งที่ผู้บริโภคในเมืองและไม่ได้ทำเกษตร แต่สนใจเฉพาะเรื่องสุขภาพ เป็นการเชื่อมโยงให้เห็นว่าผลผลิตที่มาจากเกษตรที่เป็นธรรมชาติแท้จริงสามารถบำบัดรักษาโรคที่เป็นโรคอารยธรรมหรือโรคแพ้ภัยตัวเอง เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ หรือบวกกับอานิสงส์จากกระแสชีวจิต จึงทำให้คนเมืองหันมาใส่ใจเรื่องผักและวิธีการบริโภคที่ปลอดภัยต่อชีวิตกันมากขึ้น อีกประเด็นอาจมาจากเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนใส่ใจกันมาก เพราะมีการระบุว่าหากกลับมาทำการเกษตรแบบที่มีคุณภาพให้คล้อยตามธรรมชาติแล้ว จะนำไปสู่การรักษาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเลวร้ายให้กลับมาดีเหมือนเดิม”

สรุปสิ่งที่ได้กลับมาแบบเต็ม เต็ม คือ สุขภาพที่ดีไร้โรคภัย ลดค่าใช้จ่ายในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง รักษาสิ่งแวดล้อม และนับเป็นทางเลือกใหม่ของผู้คนที่กำลังเข้าหาความสุข

“ผักประสานใจ” ถือเป็นหลักการเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มเดียวกันหรือเป็นการทำในลักษณะเป็นระบบชุมชน ซึ่งหลักการนี้เขาอธิบายว่าคนปลูกและคนกินต้องรู้จักกัน ต้องเป็นเพื่อนกัน เป็นการแยกระหว่างคนปลูกกับคนบริโภค แต่ต้องเป็นคนในกลุ่มเดียวกัน คนปลูกก็ปลูกไป แต่คนบริโภคควรสนับสนุนด้านปัจจัยแก่คนปลูก

ขณะเดียวกัน ควรชักชวนคนอื่นมาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในด้านการลงทุนปลูกพืชจะมีมูลค่าที่แท้จริงบนพื้นฐานแห่งความช่วยเหลือกัน รวมถึงอาจเป็นการตกลงราคาที่เหมาะสมระหว่างกันและกัน เช่นอาจเก็บค่าสมาชิกเป็นรายปี 12,000 บาท แต่ถ้าเฉลี่ยเป็นรายสัปดาห์ใน 1 ปี จะพบว่าใช้เงินเพียงแค่สัปดาห์ละ 250 บาท อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าวิธีนี้เป็นเพียงแนวคิดที่กำลังจะทดลองทำเท่านั้น

“ดิน” แหล่งสะสมของธาตุอาหาร

หัวใจสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์

ส่วนแนวทางการปลูกพืชแบบอินทรีย์ของคุณนคร จะเน้นในเรื่องดินเป็นหลักเพราะดินที่ใช้เป็นการเลียนแบบดินที่อยู่ในป่าที่เป็นผลมาจากการสะสมของอินทรียวัตถุในปริมาณมาก อย่างเมื่อก่อนเคยทำเป็นปุ๋ยหมัก พอมาระยะหลังทำไม่ทัน เลยเปลี่ยนมาใช้วัสดุอินทรีย์หลายชนิด ทั้งปุ๋ยคอก เศษใบไม้ นำมาคลุกเคล้ากันแล้วบ่มดินไว้เพื่อให้แตกร่วนซุย เพราะดินที่ดีมีคุณภาพต้องจับตัวกันเป็นก้อนหลวมๆ เวลาบีบจะแตกเป็นเม็ดเล็กๆ มีสีคล้ำที่แสดงถึงความมีอินทรีย์สูง ด้วยคุณสมบัติที่ดินมีความโปร่งและร่วนซุยจะทำให้รากพืชสามารถชอนไชไปหากินอาหารได้ง่าย

นอกเหนือจาก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และอินทรียวัตถุอื่นที่มีส่วนสำคัญและเป็นหัวใจของการนำมาใช้ประกอบการปลูกพืชแนวนี้แล้ว การดูแลป้องกันโรคและแมลงที่มารบกวนก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน คุณนคร เผยว่าควรจะปลูกพืชที่มีความหลากหลายรวมกัน เพื่อต้องการให้มีความเกื้อกูลกัน เช่น การปลูกไม้ดอกที่มีสีสันสวยงามเพื่อใช้ล่อแมลงที่จะมารบกวนพืชที่ปลูก แล้วแมลงเหล่านั้นจะทำลายกันเอง วิธีการเช่นนี้ถือเป็นเครื่องมือทางธรรมชาติในการล่อแมลงโดยไม่ต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นแต่อย่างใด เพราะหัวใจของเกษตรอินทรีย์คือ ความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน คุณนคร ยังคงจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แก่ผู้สนใจทั่วไปที่บ้านของเขา มีการจัดอบรมเดือนละครั้ง ใช้เวลาอบรมเพียง 1 วัน และจะแบ่งเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกพูดคุยกันก่อนแล้วจึงลงมือปฏิบัติต่อในช่วงที่สอง ในแต่ละครั้งจะอบรมจำนวน 30 คน เก็บคนละ 500 บาท เป็นค่าเอกสาร อาหาร และอุปกรณ์ นอกจากนั้นเขายังเดินสายให้ความรู้และความช่วยเหลือตลอดจนเป็นที่ปรึกษาแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง

แนะวิธี…ปลูกสวนครัวง่ายๆ ไว้ในที่พัก

เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชแต่มีเนื้อที่จำกัดว่า ควรจัดหาภาชนะมาปลูกแทนการลงดิน และควรให้พืชได้รับแสงแดด แต่หากมีข้อจำกัดในเรื่องแสงแดดอีก ก็อาจต้องหันไปเลือกพืชบางชนิดที่ไม่ต้องการแสง อาทิ การเพาะเห็ด หรือเพาะพวกเมล็ดงอกต่างๆ เช่น ทานตะวัน, หัวไชเท้างอก, ถั่วงอก เพราะพืชเหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ปรุงอาหารได้อย่างสบาย

คุณนคร ยังเพิ่มเติมอีกว่า ในยุคที่เทคโนโลยีมาแรง ผู้บริโภคควรปรับพฤติกรรม ควรใช้วิธีการบริโภคแบบเรียนรู้มากกว่าการรอรับ หรืออย่ารอที่จะรับรู้เพียงอย่างเดียว เพราะข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันมีความรวดเร็วและว่องไว อาจทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความสับสนได้ง่าย เพราะสิ่งที่เชื่อถือได้คือ สิ่งที่ต้องรับรู้ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น อยากเน้นอีกครั้งว่าควรหันมาเป็นผู้บริโภคแบบเรียนรู้ดีกว่า

จึงควรเริ่มต้นด้วยการปลูกกินเอง ควรหาข้อพิสูจน์เปรียบเทียบให้ได้ถึงความแตกต่างระหว่างการใช้และไม่ใช้สารเคมี ควรรับรู้ด้วยตัวเองถึงรสชาติ และกลิ่น เพราะหากคุณเคยลิ้มลองรสชาติพืชผักที่เป็นธรรมชาติแท้จริงแล้ว เมื่อคุณไปบริโภคของที่มีรสชาติแปลกกว่า คุณจะรับรู้ทันทีว่ามันเป็นสารเคมี

“ในปัจจุบัน การบริโภคผักแบบปลอดสารอาจมีราคาแพงกว่าสารเคมี แต่ท่านยังมีทางเลือกอื่นที่ทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผู้บริโภคทุกคนมีพลังในการเลือก เพราะการบริโภคอาหารแต่ละอย่างถือเป็นการโหวตเพื่อเลือกว่าต้องการให้มีการบริโภคกันแบบใด แนวใดในสังคมนี้”

ฉะนั้น หากต้องการบริโภคแบบสดๆ ที่ไม่ต้องเดินทางไปไกล ไม่ต้องการเลือกผักที่ไม่รู้ว่าเบื้องหลังมีขั้นตอนและวิธีการทำอย่างไร ควรหันมาบริโภคให้ใกล้ตัวด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเองกัน อย่างน้อยก็ปลอดภัยทั้งเงินและชีวิต…จะดีกว่าไหม

สนใจต้องการทราบข้อมูล หรือขอคำแนะนำการทำสวนเกษตรแบบอินทรีย์เพื่อปลูกไว้รับประทานภายในบ้าน ติดต่อ คุณนคร ได้ที่โทรศัพท์ 081-867-2042