ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | บุญทวี ทองร่วง |
เผยแพร่ |
คุณปฎิพัทธ์ เมืองสุวรรณ์ เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดพัทลุง ซึ่งเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน เปิดเผยว่า เดิมตนเองเป็นนักกีฬา Head เทนนิสทีม และเป็นอาจารย์พิเศษด้านการกีฬา ที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความรักอาชีพการเกษตร จึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เพื่อมาทำการเกษตรในผืนดินที่ได้รับจากบรรพบุรุษ เพื่อสานฝันของตัวเองให้เป็นจริง
โดยครั้งแรกที่กลับมาอยู่บ้านได้ปลูกข้าว ปลูกดอกดาวเรือง ปรากฏว่าได้ผลคุ้มค่า แต่ต่อมาชาวบ้านสนใจปลูกดาวเรืองมากขึ้น ทำให้ตลาดขาดเสถียรภาพ จึงเปลี่ยนแนวคิดหันมาเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสานตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ และได้เข้าร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) กับสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เพื่อรับความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกด้วยกัน
คุณปฎิพัทธ์ กล่าวว่า การเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน จะเน้นเลี้ยงกุ้งในนาข้าว โดยใช้พื้นที่นา 2.5 ไร่ ขุดคูรอบแปลงนาทั้ง 4 ด้าน ขนาด กว้าง 3 เมตร ลึก 2 เมตร พร้อมทำคันยกสูง 50 เซนติเมตร กักเก็บน้ำ จากนั้นสูบน้ำเข้าแปลงนา ใส่ปูนขาวเพื่อปรับค่า pH (พีเอช) ของดิน ทิ้งไว้ 10 วัน จากนั้นใส่เชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อให้เกิดแพลงก์ตอนเป็นอาหารของกุ้ง เว้นระยะห่าง 3 วัน ปล่อยลูกกุ้ง ให้อาหารวันละ 1 มื้อ มื้อละ 5 กิโลกรัม โดยจะเพิ่มปริมาณอาหารตามช่วงอายุของลูกกุ้ง ในส่วนแปลงนาที่อยู่ตรงกลาง ก็ยังปลูกข้าวตามปกติ ซึ่งขณะนี้ ในแปลงนาที่ 1 ตนเองได้ปล่อยลูกกุ้ง 3 ชนิด ประกอบด้วย กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม อย่างละ 13,000 ตัว กุ้งหางแดง 5,000 ตัว และปลานิลอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าอีก 3 เดือน จะจับขายได้ ส่วนแปลงนาที่ 2 อีก 2.5 ไร่ ขณะนี้กำลังปลูกข้าว ซึ่งหลังจากนี้จะปล่อยน้ำให้เต็มนา พร้อมปล่อยพันธุ์กุ้งตามลงไปอีกแปลงหนึ่ง
“สำหรับการเลี้ยงกุ้งแบบผสมผสานในนาข้าวครั้งนี้ ตั้งเป้าไว้ 1 ไร่ 1 ล้าน คิดว่าความฝันจะเป็นจริง เนื่องจากขณะนี้ ทั้งกุ้งและปลาเจริญเติบโตตามปกติ คาดว่าในพื้นที่ 2.5 ไร่ จะจับกุ้งก้ามกรามขายได้ประมาณ 2,000 กิโลกรัม น่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ในขณะที่ เสียค่าอาหารไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการขายกุ้งก้ามแดง กุ้งขาว ปลานิล อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนข้าวที่ปลูกไว้ก็ใช้บริโภคในครัวเรือน”
ด้าน คุณไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า คุณปฎิพัทธ์เป็นสมาชิกเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) ซึ่งทำเกษตรเพื่อธุรกิจ มีแนวคิดใหม่ๆ โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องของการผลิต เรื่องของการตลาด ที่สำคัญจะเน้นการเกษตรแบบอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรที่สนใจสามารถศึกษาดูงานได้ที่ บ้านชัยบุรี ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง หรือสอบถามได้ที่โทร. 099-082-5353
…………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559