เห็ดฟางนมสด

เห็ด ในโลกนี้มีจำนวนประมาณ 2,000 ชนิด ที่สามารถกินได้ และคนก็กินกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว เพราะเห็ดมีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากมีแคลอรีต่ำแต่มีคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสุขภาพร่างกาย และเห็ดส่วนหนึ่งในจำนวนนี้ซึ่งไม่มากนักมีสารที่มีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคตามตำราการแพทย์แผนตะวันออก และมีการขนานนามเห็ดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเหล่านี้ว่า “เห็ดทางการแพทย์”

ซึ่งเห็ดเหล่านี้มีสารอาหารที่สำคัญ เช่น เบต้ากลูแคน ไกลโคโปรตีน โพลีแซ็กคาไรด์ เป็นต้น สารเหล่านี้สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต้านจุลชีพ เชื้อรา และปรับสมดุลความดันโลหิต ลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ลดผลข้างเคียงของเคมีบำบัดและการฉายรังสี เมนูการใช้เห็ด 3 อย่าง ในการประกอบอาหาร จึงเป็นเมนูที่คนรักสุขภาพนิยมกินกันเป็นอย่างยิ่ง

เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่นิยมกินกันอยู่ในชีวิตประจำวันสำหรับบ้านเรา และมีให้กินกันทุกฤดูกาล ในฉบับนี้จะพาไปเรียนรู้เทคนิคการเพาะเห็ดนมสด ของคุณสุพจน์ เจริญผล อยู่บ้านโคกสง่า ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา คุณสุพจน์ได้เรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดจาก คุณป้าสมบูรณ์ ที่สีคิ้ว ปรมาจารย์ทางด้านเห็ดที่มีความเชี่ยวชาญด้านเห็ดฟาง มานานกว่า 20 ปี ท่านได้ถ่ายทอดวิชาการเพาะเห็ดฟางให้อย่างไม่ปิดบังเลย

โรงเรือนสร้างแบบง่าย

เพื่อประหยัดต้นทุน

บนพื้นที่ 3 งาน คุณสุพจน์ ขึ้นโรงเรือนเพาะเห็ดแบบง่ายจำนวน 3 โรง โรงเรือนมีขนาด กว้าง 5.60 เมตร ยาว 7.2 เมตร หลังคามุงด้วยจาก เพื่อระบายอากาศได้ดีในช่วงฤดูร้อน ไม่ทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไป ในโรงเรือนแบ่งโต๊ะออกเป็น 3 โต๊ะ กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวเกือบตลอดโรงเรือน แต่ก็จะมีพื้นที่ทางเดินสำหรับเก็บเห็ดได้รอบทุกโต๊ะ แต่ละโต๊ะทำชั้นไว้ 4 ชั้น รวมทั้งโรงเรือนเป็น 12 ชั้น โดยเรียกว่า 12 ถาด

วัสดุที่ใช้ทำโต๊ะก็ง่ายๆ โดยใช้ไม้กระถินเป็นเสาหลัก และไม้ไผ่เลี้ยงตัดวางห่างๆ ไว้เป็นโต๊ะสำหรับรองรับวัสดุเพาะ โดยมีตาข่ายอวนขึงไว้ตลอดโต๊ะ ความสูงของหลังคา ประมาณ 2.50 เมตร มีประตูเปิดเข้าทางด้านหน้า ส่วนด้านข้างซ้าย-ขวา เป็นช่องเตี้ยๆ ไว้สำหรับเปิดระบายอากาศ

นอกจากนี้ ใต้หลังคายังเป็นพลาสติกใสอีกชั้นหนึ่ง เพื่อรักษาอุณหภูมิ โดยมีช่องระบายขนาดใหญ่ประมาณชามข้าว ซึ่งสามารถ เปิด-ปิด ได้ง่ายด้วยการใช้เชือกมัด โดยรวมของโรงเรือนออกแบบให้สามารถเปิดและปิดได้ในการทำงานทุกขั้นตอน คุณสุพจน์ลงทุนทำโรงเรือนแบบง่ายๆ เพื่อประหยัดต้นทุน ใช้งานได้สัก 3 ปีก็ต้องรื้อทำใหม่ แต่ก็คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

วิธีหมักวัสดุสำหรับเพาะเห็ด

สูตรวิธีหมักวัสดุเพาะเห็ดฟางของคุณสุพจน์ จะใช้ฟางปูลงบนพื้น เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ก่อน โรยปูนขาวให้ทั่วกองฟาง เพื่อป้องกันเชื้อรากับฟาง และเป็นการปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง แล้วจึงนำกากมันสำปะหลัง ซึ่งกากมันสำปะหลังจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กากเปลือกมันสำปะหลังและกากแป้ง โดยกากเปลือกมันสำปะหลังจะช่วยในการย่อยสลาย

ส่วนกากแป้งจะให้ความชื้นในกอง จำนวนกากมันทั้ง 2 อย่าง จะใช้เท่าๆ กัน มีน้ำหนักประมาณ 2.5 ตัน โรยกากมันทั้ง 2 อย่าง บนกองฟาง ประมาณ 700-800 กิโลกรัม ใช้อาหารเสริมของเห็ด ภูไมต์ แร่ถุงเงิน ขี้วัวแห้ง (60 กิโลกรัม) รำอ่อน (1 ถังสี) โรยทับบนกากมัน แล้วนำ อีเอ็ม กับกากน้ำตาล ผสมน้ำ 100 ลิตร รดให้ชุ่ม ทำแบบนี้จนครบ 3 ชั้น คลุมผ้าพลาสติกดำ ทิ้งไว้อย่างน้อยประมาณ 7 วัน เพื่อให้วัสดุเพาะย่อยสลาย วัสดุเพาะเห็ด 1 กอง ใช้ได้สำหรับ 1 โรงเรือน

ทำความสะอาดโรงเรือน

เป็นเรื่องสำคัญ

การทำความสะอาดโรงเรือนที่เพาะเห็ดหลังจากสิ้นสุดการเก็บเห็ดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เพราะการลงเชื้อเห็ดใหม่แต่ละครั้ง หลังจากมีการขนวัสดุเพาะเห็ดออกจากโรงเรือนหมดแล้ว ก็จะทำความสะอาดในโรงเรือนทั้งหมดให้เกลี้ยงเกลาที่สุด

ส่วนที่เป็นโต๊ะก็จะใช้แปรงขัดด้วยน้ำเปล่า ห้ามใช้ผงซักฟอกเด็ดขาด เนื่องจากมีโซดาไฟที่ทำลายเชื้อเห็ด ต่อมาจะใช้ไตรโคเดอร์ม่า 20 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร ใส่เครื่องฉีดพ่นยาแบบสะพายหลังฉีดให้ทั่ว เพื่อแก้ปัญหาราเขียว ราขาว ราเทา และราส้ม ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน กรณีที่มีเชื้อโรคมากก็จะทิ้งไว้นานกว่านั้น

ขั้นตอนต่อไปให้เอาฟางมาวางบนโต๊ะ ซึ่ง 1 โรงเรือน จะใช้ประมาณ 4-5 ก้อน หลังจากนั้น จะโรยปูนขาวบนฟางให้ทั่ว แล้วจึงนำวัสดุเพาะที่หมักจนได้ที่แล้วมาโรยให้หมดกอง ปิดโรงเรือนทิ้งไว้ 2 วัน แล้วอบไอน้ำด้วยการต้มน้ำด้วยถัง 200 ลิตร 3 ถังที่ต่อไว้ โดยจะมีท่อที่ต่อไว้ อุณหภูมิที่ใช้ในการอบคือ 65-70 องศา นานประมาณ 4 ชั่วโมง แต่อุณหภูมิที่ได้น้อยกว่าก็ให้ยืดเวลาไปเป็น 5-6 ชั่วโมง ทิ้งไว้ 1 คืน จึงมาเปิดช่องทั้ง 3 ด้าน ระบายออก

นำก้อนเชื้อเห็ดฟางมาขยี้โรยบนวัสดุเพาะให้ครบทุกชั้น หลังจากนี้ จะปิดโรงเรือนไว้ 4 วัน เมื่อเปิดมาจะพบว่าเส้นใยขาวๆ ของเห็ดจะกระจายไปทั่วโต๊ะ ใช้สายยางรดน้ำรดบนโต๊ะให้ใยยุบลงไป เรียกว่า การตัดใย การทำแบบนี้เพื่อให้เส้นใยจับเป็นเม็ดเร็วขึ้น ช่วงนี้จะเปิดโรงเรือนให้อากาศถ่ายเท เมื่อเห็ดฟางเป็นตุ่มเท่าเมล็ดงา ก็จะเริ่มให้ฮอร์โมน จนตุ่มมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว จะใช้นมสด 1 ช้อนแกง ผสมกับน้ำ 15 ลิตร ใส่เครื่องฉีดพ่นยาแบบสะพายหลังฉีดให้ทั่วในตอนเช้าติดต่อกัน 3 วัน

วันที่ 4-5 ก็จะเริ่มเก็บเห็ดได้แล้ว เห็ดจะขึ้นติดต่อกันประมาณ 19 วัน จึงจะรื้อออกและเริ่มต้นทำใหม่อีก ผลผลิตของคุณสุพจน์จะได้ประมาณ 200-350 กิโลกรัม ต่อ 1 โรงเรือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเชื้อเห็ดและการจัดการในโรงเรือนเป็นสำคัญ ในช่วงหน้าร้อนจะเป็นหน้าที่เห็ดฟางดีให้ผลผลิตดีที่สุด แต่ราคาจะต่ำที่สุด เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมเป็นใจ ผลผลิตของทุกฟาร์มจึงประดังประเดกันออกมา ทำให้เห็ดมีราคาถูกลง

การตลาด ต้องมาก่อน

คุณสุพจน์ เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มองการตลาดก่อน ในครั้งแรกได้ติดต่อให้พ่อค้าที่วิ่งรวบรวมซื้อเห็ดมาเป็นผู้รับซื้อก่อน ตอนแรกให้ราคาดี ทำไปๆ ก็เริ่มกดราคา จึงแก้ปัญหาด้วยการติดต่อแม่ค้าตามตลาดนัด ตลาดสด และร้านอาหารเอง โดยตามตลาดนัดจะเป็นเห็ดคละขนาด ส่งอยู่ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนร้านอาหารจะใช้เห็ดขนาดใหญ่ที่คัดเป็นพิเศษจะได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 80 บาท คุณสุพจน์ไม่จับตลาดใหญ่ แต่เน้นเจาะตลาดถึงผู้บริโภคโดยตรง ในรัศมีระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร

ใช้แรงงานในครอบครัว

และลงแขกกันในกลุ่ม

แรงงานเป็นปัญหาในการทำเกษตร ฟาร์มเห็ดของคุณสุพจน์และในกลุ่มไม่ได้จ้างแรงงานภายนอกมาทำงาน ยกเว้นการนำวัสดุเพาะเข้าและออกจากโรงเรือนเท่านั้น แต่ในการทำงานทั่วไปทุกวันจะมีคุณสุพจน์และพ่อกับแม่เท่านั้น ที่ทำงานอยู่

โดยจะเริ่มเก็บเห็ดตอนเช้าจนถึง 9 โมง ก่อนจะเริ่มตัดแต่งเห็ด ในเวลาบ่าย 2 โมงของทุกวัน เห็ดฟางนมสดจะถึงมือแม่ค้าและร้านอาหาร แต่ในช่วงที่เห็ดมีจำนวนมาก ก็จะประสานกับคนในกลุ่มเข้ามาช่วย ซึ่งจะเป็นการลงแขกกัน ช่วยกันทำภายในกลุ่ม เพราะแต่ละโรงเรือนผลผลิตจะไม่มากพร้อมๆ กัน จึงมีเวลาเหลือที่จะช่วยกันได้