“ยงยุทธ เทียนรุ่งเรือง” ประธานศูนย์ข้าวชุมชน กับอีกนิยามของ “ชาวนา”

คุณยงยุทธ เทียนรุ่งเรือง เป็นหนึ่งในกลุ่มชาวนาตัวอย่าง ที่ทรงคุณค่าสร้างคุณประโยชน์มากมายต่อวงการข้าว พยายามผลักดันและเชิดชูให้ชาวนาเป็นผู้มีความสำคัญในระดับแถวหน้าอย่างภาคภูมิใจ ส่งเสริม อนุรักษ์ ตลอดจนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นเพื่อให้มีคุณภาพ นอกจากนั้น ยังมีบทบาทในฐานะตัวแทนชาวนาในการประชุมในเวทีต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่น เขต และระดับจังหวัดอีกด้วย

คุณยงยุทธ เป็นแกนนำชาวนาในพื้นที่คลองสามวาตะวันออก นำมาสู่การจัดตั้งเป็น “ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร” เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาของพี่น้องร่วมอาชีพในการทำนาอันมาจากสภาวะทางธรรมชาติ และจัดตั้ง”ศูนย์พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวคลองสามวา” เพื่อขายให้แก่เกษตรกรชาวนาในราคาถูก เพื่อให้ชาวนามีพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ปลูกแล้วนำผลผลิตไปขายราคาสูงต่อไป

คุณยงยุทธ เกิดที่คลองสามวา บ้านเลขที่ 189 ซอยนิมิตใหม่ 47 แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ การศึกษาจบมัธยมปลายสายสามัญ มีบุตรจำนวน 3 คน ครอบครัวของคุณยงยุทธ มีอาชีพทำนา ในผืนดินจำนวน 100 ไร่ ดังนั้น ด.ช. ยงยุทธ ในวัย 10 ขวบ จึงถูกถ่ายทอดความรู้การทำนาโดยตรงจากปู่ เมื่อความชำนาญถูกบ่มเพาะไม่นานเขาจึงลงมือช่วยครอบครัวทำนาสร้างรายได้อีก 1 คน พอถึงช่วงเกณฑ์ทหาร เขาพักการช่วยงานของครอบครัวไประยะหนึ่ง จากนั้นไปประกอบอาชีพรับจ้างและค้าขายอยู่เป็นเวลา 14 ปี แล้วจึงกลับมายึดอาชีพทำนาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

ผุด ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
ช่วยชาวนาสู้ภัยธรรมชาติ

คุณยงยุทธ เป็นแกนนำชาวบ้าน จัดตั้งศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรขึ้น เมื่อ ปี 2547 เพื่อให้ความรู้ แนะนำ ส่งเสริม แล้วเชื่อมโยงชาวนาหันมาปลูกข้าวด้วยวิธีการและเทคโนโลยีเครื่องมือที่ถูกต้อง มีการให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้องและปลอดภัย ศูนย์แห่งนี้มีการจัดตั้งเป็นระบบคณะกรรมการทำงานที่ชัดเจน โดยมาจากตัวแทนของชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ในเขตคลองสามวาตะวันออก มีวาระการประชุมเดือนละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ หรือแจ้งข้อมูลด้านการเกษตรต่างๆ ให้ผู้แทนได้รับทราบเพื่อนำไปบอกกับชาวบ้านอีกต่อ

อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาสอาจเชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ด้านเกษตรหรือความรู้ด้านอื่น และศูนย์แห่งนี้เสมือนเวทีของชาวบ้าน มีข้อมูลปัญหาอะไรสามารถแวะมาคุยหารือแลกเปลี่ยนหรือแม้แต่แสดงความเห็นในมุมมองต่างๆ ได้ ปัจจุบันศูนย์มีสมาชิกเกือบ 500 คน

สิ่งที่ชาวบ้านได้รับเมื่อเป็นสมาชิกศูนย์ คือ
1. ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและรวดเร็ว
2. แนวทางหรือการช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาหรือมีความพร้อมในการพัฒนาวิถีการเกษตรที่ยั่งยืน ตลอดจนการอำนวยความสะดวกทางด้านงานเอกสารหลักฐานที่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับข้าว

ตั้ง “ศูนย์พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวฯ”
ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ

คุณยงยุทธกล่าวว่า การทำนาสมัยก่อนไม่มีรูปแบบที่แน่นอนอย่างในปัจจุบัน ชาวนาส่วนใหญ่ต้องใช้วิธีลองผิดลองถูกในอาชีพนี้ พอทำนาเสร็จแต่ละครั้งก็เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ ต่อมาเมื่อเทคโนโลยี รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการเกษตรถูกถ่ายทอดให้แพร่หลาย การพัฒนาแนวคิดของเกษตรกรชาวนาจึงมีการเปลี่ยนแปลง ได้มีการริเริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวกันเองภายในกลุ่มอย่างมีระบบ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ

“เมื่อก่อนในอดีตเมื่อผมเป็นเด็ก มักพบเห็นชาวบ้านที่ปลูกข้าวแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ พอยุคต่อมาการทำนาเริ่มเปลี่ยนเพราะระบบทุนนิยมมีความเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้น จึงมุ่งเน้นไปทางด้านธุรกิจเสียมากกว่า ต้องทำนาบ่อยขึ้นเพื่อให้ได้เงินเร็วและมากขึ้น ไปหาพันธุ์ข้าวมาจากพ่อค้า แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าพันธุ์เหล่านั้นดีหรือไม่ หากใครได้ของแท้ก็โชคดีไป แต่สำหรับคนที่โชคร้ายจะทำให้ผืนนาแปลงนั้นเสียหาย”

ดังนั้น พอเกิดเรื่องอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านมีความเห็นร่วมกันว่าการนำเมล็ดพันธุ์มาจากแหล่งที่ไม่รู้จักเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงหันกลับมาหาวิธีการแบบดั้งเดิมของคนโบราณที่ใช้ภูมิปัญญาในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าว

ขณะเดียวกันถือเป็นการพัฒนาและปรับปรุงการทำนาแบบบูรณาการ จึงเป็นความเห็นพ้องกันว่าควรมีการจัดตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวคลองสามวา” เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ที่ผ่านการพัฒนามาจากชาวนามืออาชีพในท้องถิ่น ทั้งนี้มิใช่เฉพาะพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นเท่านั้น แต่รวมไปถึงพันธุ์ข้าวอื่นที่น่าสนใจและเกิดประโยชน์ด้วย

จากที่เป็นผู้ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับอาชีพการทำนา หรือแม้แต่ความพยายามที่พัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพด้วยวิถีแบบโบราณ รวมไปถึงบุคลิกภาพที่โดดเด่นในการเป็นผู้แทนเพื่อเข้าประชุมในระดับต่างๆ จึงทำให้คุณยงยุทธได้รับตำแหน่งเป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชน เขตคลองสามวา

ประธานศูนย์ข้าวฯ อธิบายว่า ในขณะที่ชาวนากำลังสนใจ ทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อการทำนาที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงเห็นว่าเมล็ดพันธุ์ที่ถูกพัฒนาแล้วควรนำส่วนหนึ่งไปปลูกในแปลงเฉพาะ พอได้ผลผลิตแล้วจึงนำไปขายให้กับชาวบ้านในราคาถูกเพื่อให้พวกเขานำไปทำพันธุ์ จากนั้นจะนำเมล็ดพันธุ์อีกส่วนที่ผ่านกระบวนการเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาเมล็ดพันธุ์แห่งนี้เพื่อใช้ต่อยอดในการพัฒนาปรับปรุงในคราวต่อไปหรืออาจมีชาวนาบางคนยังต้องการเมล็ดพันธุ์เพิ่มเติมอีก

“จุดเริ่มต้นมาจากเมล็ดพันธุ์ก่อน หากชาวบ้านไปหาซื้อตามร้านหรือในตลาดจะต้องซื้อในราคากิโลกรัมละ 22-25 บาท แต่เมื่อมาซื้อที่ศูนย์ สามารถซื้อได้ในราคา 10-20 บาท เท่านั้น เหตุผลนี้จึงทำให้ชาวบ้านหันมาสนใจ เพราะถือเป็นทางเลือกในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์ ทำให้มีความมั่นใจสูง เพราะอย่างน้อยเปอร์เซ็นต์เสี่ยงมีน้อยกว่า ส่วนการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ครั้งที่ผ่านมามีจำนวนถึง 30 กว่าตัน ส่วนครั้งที่จะถึงนี้คาดว่าจะมีมากกว่า แต่ต้องเป็นตัวเลขที่แน่นอนในช่วงเก็บเกี่ยวประมาณเดือนมีนาคม”

คุณยงยุทธชี้ว่า ในอนาคตชาวบ้านที่ทำนาต้องให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าวของตัวเอง และบอกต่ออีกว่าความจริงชาวบ้านคงคิดเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์กันมาบ้างแล้ว เมื่อถูกจุดประกายขึ้นจึงทำให้พวกเขาสนใจขึ้นมาทันที แล้วเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างจริงจัง เขาพยายามให้น้ำหนักและเน้นย้ำว่าชาวนามืออาชีพว่าควรเป็นบุคคลที่มีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด

จากการจัดตั้งศูนย์ทั้งสอง สร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะเรื่องข้าวได้อย่างมาก ชาวบ้านมีที่พึ่งพาทั้งด้านความรู้ และข้อมูลข่าวสาร พอภายหลังที่ได้มีการประเมินผลการทำงานแล้ว ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นไปได้อย่างดี จึงได้มีการขยายขอบเขตความรับผิดชอบออกไปจากเขตสามวาตะวันออกไปจนถึงสามวาตะวันตก ขยายไปถึงลำผักชีและหนองจอก

คุณยงยุทธเผยว่า ข้าวไทยมีเวียดนามเป็นคู่แข่ง แล้วเราควรทำอย่างไรจึงจะสู้ได้ เขาแนะว่าเกษตรกรชาวนาควรเริ่มทำในสิ่งต่อไปนี้ก่อน คือ

1. การลดต้นทุน พวกเรารู้ต้นทุนที่แท้จริงในการทำนาแต่ละครั้ง จึงสามารถควบคุมหรือทำให้ต้นทุนเหล่านั้นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้ ผลจากตรงนี้ทำให้เห็นตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง กำไรที่แท้จริง หรือขาดทุนที่แท้จริง ซึ่งทุกขั้นตอนจะผ่านวิธีการจดบันทึกแสดงสถิติ

2. การเพิ่มผลผลิต ที่ควรจะทำทั้งประเทศให้ได้ แต่สำหรับที่ศูนย์มีแนวทางการเพิ่มผลผลิตด้วยการเอาใจใส่ ดูแลการให้ปุ๋ย มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

 

3. ต้องผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพราะโลโก้ประเทศไทยคือคุณภาพข้าวที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่มีการขายข้าวไปยังต่างประเทศ ข้าวไทยขายได้ดีแม้จะมีราคาสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่ง นั่นมิใช่เพราะคุณภาพข้าวที่สะสมมายาวนานหรือ?

“จึงขอบอกว่าทั้ง 3 ข้อ ถือเป็นธงที่ต้องปักไว้ให้ได้ อย่างน้อยที่ศูนย์แห่งนี้ได้ปักธงทั้ง 3 ไว้เรียบร้อยแล้ว และหากนำจุดเล็กๆ หลายจุดรวมกันก็จะสร้างเป็นจุดใหญ่ที่มีพลังอย่างมาก”

ชี้ ชาวนาไม่รวย แต่ไม่เคยอด

ประธานศูนย์ข้าวฯ มองอาชีพชาวนา ณ วันนี้ว่า ชาวนาที่ยึดอาชีพนี้จริงจังหรือจัดเป็นพวกมืออาชีพจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าทุกสาขาอาชีพในบรรยากาศแบบนี้ โดยเฉพาะพวกมนุษย์เงินเดือนที่มีความย่ำแย่อยู่ขณะนี้

คุณยงยุทธบอกว่า ที่กล้าพูดเช่นนี้เพราะชาวนามีรายได้เป็นกอบเป็นกำ หรืออย่างน้อยมีข้าวกินทุกวันไม่เคยขาด แล้วบางรายยังเลี้ยงปลา ทำเกษตรกรรมไว้บริโภคในครัวเรือน แถมยังมีเหลือนำไปจำหน่ายสร้างรายได้อีก

“สรุปว่า วิถีชีวิตของชาวนาไม่มีความร่ำรวย แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่เคยจนเช่นกัน แต่บางรายอาจไปถึงการมีวิถีชีวิตที่ดีก็มี อันนี้ต้องเป็นระดับมืออาชีพที่ต้องขีดเส้นใต้ว่า ต้องทำจริงจัง เอาใจใส่จริงเท่านั้น เพราะเกษตรกรเท่านั้นที่รู้ตัวดีว่าพวกเขามีอาชีพทำเกษตรต้องอยู่แต่ในแปลงเท่านั้น ไม่ใช่พวกที่ชอบออกไปเที่ยวเตร่ ฉะนั้นภาพที่เห็นตรงหน้าคือเรื่องจริง เป็นความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องกินอาหาร จึงสรุปได้ว่าถ้าเป็นชาวนาในกรุงเทพฯ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ราบเรียบและดีกว่าทุกอาชีพ”

ชาวนามืออาชีพ
หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา

เขาจัดกลุ่มชาวนาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ทำนาในเชิงธุรกิจ กลุ่มสอง เป็นพวกทำนาและทำอาชีพเสริมควบคู่ไปด้วย และกลุ่มสุดท้าย คือชาวนามืออาชีพ เป็นชาวนาที่ทำนามาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ จนถึงปัจจุบันที่ยังคงทำด้วยความใส่ใจจริง

“ในกลุ่มสุดท้ายนี้แหละที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจมาก ควรเก็บรักษาเสมือนไข่ในหิน อย่าทอดทิ้งเด็ดขาด มิเช่นนั้นโลโก้ของประเทศที่มีข้าวเป็นสัญลักษณ์หายไปทันที แล้วพวกที่สร้างปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มแรก เพราะเป็นนายทุนมาทำนา แต่ไม่ได้ทำเองไปจ้างคนอื่นที่ไม่ใช่พวกอาชีพจริงมาทำ”

ในเรื่องมุมมองอนาคตชาวนาไทย คุณยงยุทธมีความเห็นว่าปัญหาของเกษตรกรชาวนาไทย มี 2 ข้อ คือ ข้อแรก ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน อย่างกลุ่มมืออาชีพในกลุ่มที่สามนี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ต้องไปรับจ้าง เพราะนายทุนซื้อที่ดินไปแล้ว

ข้อสอง สินค้าทางการเกษตรในอนาคตจะถูกปฏิเสธการซื้อ อย่างกรณีของข้าวทางโรงสีมักบอกว่าเต็มแล้วบ้าง หมุนเงินไม่ทันบ้าง ขอให้ไปที่อื่นก่อน ถ้าเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรในเมื่ออายุข้าวสามารถอยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องเสียหาย เหตุผลเพราะมีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าเข้ามา ดังนั้น ทางโรงสีไปซื้อราคาถูกแล้วขายได้กำไรมากไม่ดีกว่าหรือ?

ควรแบ่งคุณภาพข้าว
มุ่งให้ชาวนาแข่งขันเต็มที่

คุณยงยุทธระบุว่า เกษตรกรควรทำแปลงนาให้สะอาดบริสุทธิ์ หากแปลงนามีความสกปรก ถึงแม้จะใช้พันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ ผลออกมาก็ไม่ได้ดี จุดนี้เองที่ทำให้เราแพ้เวียดนาม เขาบอกเคยเสนอว่าโรงสีควรจัดชั้นคุณภาพข้าว อย่างสมัยก่อนยังมียุ้งฉางที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 นั่นเป็นการแบ่งเกรดข้าว หรือแบ่งคุณภาพข้าวในแต่ละครั้งที่ได้ผลผลิต

“การทำเช่นนั้นมีผลต่อชาวนาโดยตรง เพราะพวกเขาต้องเร่งพัฒนาให้ข้าวแต่ละฤดูกาลที่ได้มีคุณภาพ แล้วจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่การสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดี การดูแลไร่นาให้สะอาดเป็นระเบียบไปจนกว่าจะได้ผลผลิต เพราะการที่มีคุณภาพข้าวที่ดีจะทำให้พวกเขาได้เงินมากกว่าข้าวที่มีคุณภาพรองลงมา ดังนั้น นัยของการแบ่งเกรดข้าวเพื่อต้องการให้ชาวนาทุกคนมุ่งมั่นแข่งขันกับตัวเองเพื่อให้ได้ข้าวที่ดีในราคาที่สูงเท่านั้น”

ชาวนา ต้องมีศักดิ์ศรี
อย่ารอความช่วยเหลือ

ประธานศูนย์ย้ำว่า ควรจะทำอย่างไรให้ชาวนารู้จักตัวตนให้มากที่สุดว่า เป็นใคร กำลังทำอะไร ควรจะพัฒนาอย่างไร ในทิศทางไหน ทั้งนี้เพื่อวิถีชีวิตของพวกเขา ต้องบอกว่าธรรมชาติสร้างให้พวกเราเป็นชาวนา ดังนั้น จึงต้องทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด แล้วหวังว่าสักวันชาวนาต้องใส่สูท แต่ต้องเป็นตัวของตัวเองเสียก่อน ต้องมีศักดิ์ศรีก่อน ไม่ใช่แบมือขอแต่ความช่วยเหลือ ยกเว้นสุดวิสัยจริงๆ เช่น น้ำท่วมนาข้าวเสียหายหมด แต่ไม่ควรไปขอพร่ำเพรื่อ ควรมีศักดิ์ศรี อย่าไปอาย

“ความจริงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัยที่เข้ามาช่วยชาวนานั้นมันไม่ใช่ ความจริงมันเป็นภาพมายา ทั้งการจำนำและประกันราคา เพราะไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ความยั่งยืนที่แท้จริงคือราคาข้าว ต้องคิดว่าขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกราคาเท่าไร และของเราขายอยู่ที่เท่าไร ต้องทำให้เป็นความจริงมากกว่า

เวลาผมไปประชุมจะใส่เสื้อนอก ใส่สูท แต่พอกลับมาวันรุ่งขึ้นลงนาใส่เสื้อสีเขียวขาดๆ เพราะเรามีความหยิ่งในศักดิ์ศรีตัวเอง ประเทศไทยถ้าไม่มีชาวนา คงไม่ใช่ประเทศไทย โลโก้ประเทศไทยคือ การเกษตร และชาวนาถือเป็นสาขาอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญมาก” คุณยงยุทธกล่าวปิดท้าย

ทุกวันนี้ นอกจากคุณยงยุทธจะมีบทบาทในฐานะประธานศูนย์ข้าวชุมชน เขตคลองสามวาแล้ว เขายังรับหน้าที่เป็นประธานชุมชน ดูแลงานวิสาหกิจชุมชนที่จะต้องดูแลทุกข์ สุข ตลอดถึงการทำมาหากินของลูกบ้านทุกครัวเรือน

ดังนั้น ภารกิจประจำทุกวันของคุณยงยุทธ จึงต้องออกตระเวนไปประชุม รับฟังปัญหาพร้อมแก้ปัญหาในเรื่องที่ต้องดูแลใส่ใจ ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมของชาวบ้านทุกคนในเขตความรับผิดชอบ เพื่อให้คนเหล่านั้นเกิดความผาสุก จึงถือว่าเป็นบุคคลที่ควรยกย่องและเชิดชูในฐานะ “ผู้ทรงคุณค่าข้าว” ในครั้งนี้ ท่านผู้อ่านที่ต้องการพูดคุยกับ คุณยงยุทธ เทียนรุ่งเรือง ติดต่อที่เบอร์โทร. (089) 888-2099