เพาะเห็ดตับเต่าในดงโสน เริ่มที่พื้นที่กว้าง 2 เมตร ยาว 20 เมตร เก็บขายสร้างรายได้กิโลหลักร้อย

เห็ดตับเต่า ได้พึ่งพาต้นโสนเป็นพืชอาศัยเพื่อทำให้เชื้อเห็ดเดินและเจริญเติบโตได้ดี เห็ดตับเต่าเป็นอาหารโปรตีนชั้นยอดที่มีผู้นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย ปัจจุบันความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาวิจัยเห็ดและผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีผู้สนใจได้นำผลงานมาต่อยอดด้วยการเพาะเห็ดตับเต่าขายในเชิงการค้า เห็ดตับเต่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่จะผลิตสร้างรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในแบบวิถีพอเพียง มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง เห็ดตับเต่า…พืชเศรษฐกิจในดงโสน ผลิตเพื่อการค้าด้วยวิถีพอเพียง มาบอกเล่าสู่กัน

อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงฤดูฝนมักจะมีเห็ดตับเต่าและเห็ดอีกหลายชนิดเจริญเติบโตในป่าธรรมชาติ และเห็ดตับเต่าเป็นชนิดหนึ่งที่มีผู้นิยมบริโภคกันแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะหมู่คนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็ดตับเต่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงตับ บำรุงปอด บำรุงกำลัง หรือดับพิษร้อนภายในร่างกาย นอกจากนี้ ยังช่วยบำบัดอาการปวดข้อ ปวดเส้นเอ็น หรือปวดหลัง

เห็ดตับเต่า มีชื่อเรียกต่างกัน ภาคเหนือ เรียกว่า เห็ดห้า เนื่องจากพบอยู่ใต้ต้นหว้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า เห็ดผึ้ง เพราะเมื่อนำเห็ดตับเต่าไปแกงสีของน้ำแกงจะเหมือนกับสีของน้ำผึ้งที่ชวนให้ชิมลิ้มลองรสชาติ

เห็ดตับเต่า จัดอยู่ในกลุ่มเอคโตไมคอร์ไรซ่า (Ectomycorrhiza, ECM) คือ เป็นเชื้อราที่มีความสัมพันธ์กับระบบรากอาหารของต้นพืชชั้นสูง เป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันแบบเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันคือ ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากเชื้อรา และเชื้อราช่วยป้องกันรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อโรค ในส่วนเชื้อราก็ได้รับสารอาหารจากต้นไม้ที่ปลดปล่อยออกมาทางระบบราก ได้แก่ โปรตีน วิตามิน หรือน้ำตาล

พืชอาศัย เห็ดตับเต่าเป็นพืชที่ต้องพึ่งพาหรืออยู่ร่วมกับรากพืชอาศัยหลายชนิด เช่น ต้นมะกอกน้ำ ยางนา หรือต้นโสน เพื่อให้เชื้อเห็ดเดินและเจริญเติบโตเป็นดอกเห็ดที่สมบูรณ์พร้อมให้เก็บไปบริโภค เห็ดตับเต่าไม่สามารถเพาะให้เกิดดอกเห็ดในสภาพโรงเรือนเหมือนกับเห็ดชนิดอื่นได้ ปัจจุบัน เห็ดตับเต่า เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในท้องถิ่นที่เกษตรกรนำมาเป็นอาชีพทางเลือกในการยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำรงชีพที่พอเพียงและมั่นคง

ป้าเดือนเพ็ญ รื่นรส ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดตับเต่าคลองโพ เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่เพาะเห็ดตับเต่าเนื่องจากได้ไปเก็บเห็ดในป่าและดงโสนมาทำอาหารกินในครัวเรือน เมื่อพ่อค้าเร่เข้ามาซื้อขายสินค้าเกษตรในชุมชน และพบว่าตนเองและมีเพื่อนบ้านหลายคนได้นำเห็ดตับเต่ามาปรุงรสอาหารกิน จึงแสดงความต้องการว่า ถ้ามีเห็ดตับเต่าปริมาณมากก็จะขอรับซื้อไปขายที่ตลาดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

ป้าเดือนเพ็ญ รื่นรส ทยอยตัดต้นโสนแก่ออกทิ้ง

เมื่อมีทางเลือกที่ดี จึงใช้พื้นที่ 1 งาน ทดลองเพาะเห็ดตับเต่าในดงโสน การเพาะเลี้ยงได้ใช้วิธีการลองผิดลองถูกแบบธรรมชาติ ปรากฏว่าได้ผลผลิตเกือบ 10 กิโลกรัม นำออกขายให้กับพ่อค้า ได้ 20 บาท ต่อกิโลกรัม และระหว่างที่เพาะเห็ดเพื่อนบ้านได้เข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าไปด้วยกัน พร้อมกับนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จมีเห็ดตับเต่ากินและขายเป็นรายได้มีวิถีที่มั่นคงขึ้น

ปี 2549 เพื่อนเกษตรกรจึงรวมตัวกัน แล้วไปขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเห็ดตับเต่าคลองโพ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางปะอิน ปัจจุบัน มีสมาชิก 107 คน มีเป้าหมายเพื่อรวมกันผลิตรวมกันขาย ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน พร้อมกับมีหน่วยงานภาคเอกชนและรัฐได้เข้ามาให้การสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการและเสริมทักษะด้วย

สมาชิกแต่ละรายจะเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในบริเวณพื้นที่ดงโสนของตน ใช้พื้นที่เพาะตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป บางรายใช้พื้นที่เพาะเห็ด 7-10 ไร่ แต่ละรายจะได้ผลผลิตเห็ดเฉลี่ย 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อฤดู

โดยส่วนตัวได้เพาะเห็ดตับเต่าในดงโสน พื้นที่ 7 ไร่ โดยใช้ต้นโสนเป็นพืชอาศัยให้เห็ดตับเต่าเจริญเติบโต

วิธีการเพาะเลี้ยง จะเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงมกราคม เป็นช่วงที่ต้นโสนเริ่มแก่ต้องทยอยตัดทิ้ง เมล็ดโสนแก่จะร่วงลงในบริเวณพื้นที่ก็ปล่อยให้งอกและเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นต้นใหม่ เมื่อต้นโสนมีความสูงประมาณ 1 ฟุต ได้ถอนแยกให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ไว้พร้อมกับเว้นระยะระหว่างต้นและแถวห่างกัน 70×70 เซนติเมตร เพื่อให้ดงโสนโปร่ง เมื่อต้นโสนมีความสูง 1 เมตรขึ้นไป ก็เหมาะสมที่จะให้เป็นพืชอาศัยในการเพาะเห็ดตับเต่าได้ดี

เมล็ดโสนร่วงที่เจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ถอนแยกให้ได้ระยะเหมาะสมเพื่อการเพาะเห็ด

ในราวเดือนมีนาคม-เมษายน ได้ปรับบริเวณพื้นที่ดงโสนให้เสมอกัน รดน้ำเพื่อปรับพื้นที่ให้มีความชื้นที่เหมาะสม นำเชื้อเห็ดตับเต่าที่มีส่วนผสมของเชื้อเห็ด 1 ส่วน กับน้ำ 3 ส่วน คนให้เข้ากัน นำไปตักสาดให้กระจายรอบๆ โคนต้นโสน หลังจากนั้นถ้าสังเกตพบว่าดินในบริเวณพื้นที่เพาะเห็ดแห้งก็รดน้ำเพิ่ม เพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้มีความชื้นพอเพียง แต่ถ้าดินในบริเวณพื้นที่เพาะยังมีความชื้นดีอยู่ ใน 2-3 วัน จึงจะให้น้ำเพื่อรักษาความชื้น และถ้าสังเกตว่าเชื้อเห็ดไม่เดินหรือไม่มีการเจริญเติบโตได้  ต้องผสมเชื้อเห็ดแล้วนำมาตักสาดให้กระจายซ้ำลงไปบริเวณพื้นที่เดิมนั้นอีกครั้ง

เก็บเห็ดตับเต่าอย่าให้ช้ำ

แต่ถ้าสังเกตว่าเชื้อเห็ดที่ตักสาดกระจายในครั้งแรกมีการเดินหรือเจริญเติบโตได้ดีในช่วง 30-40 วัน ก็จะเริ่มเก็บเห็ด โดยเฉลี่ยพื้นที่กว้าง 2 เมตร และยาว 20 เมตร จะเก็บเห็ดได้ประมาณ 20 กิโลกรัม นำออกขาย ราคา 120-130 บาท ต่อกิโลกรัม มีเห็ดตับเต่าให้เก็บทุก 7 วัน ต่อครั้ง และเก็บได้นาน 4 เดือนกว่า จากนั้นก็จะเป็นช่วงพักแปลง

ในช่วงพักแปลงนี้ได้ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกกล้วย เลี้ยงเป็ดหรือเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหารและขายสร้างรายได้ จากกิจกรรมผสมผสานกันหลายชนิด จึงมีงานให้ทำทั้งปี มีกินมีรายได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะเห็ดตับเต่าพืชเศรษฐกิจสำคัญเป็นชนิดที่มีผู้ชื่นชอบและซื้อไปบริโภคกันแพร่หลาย จึงทำให้มีรายได้พอเพียงในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคง

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อ