“อุบลราชธานี 3” งาดำเมล็ดโต ถูกใจตลาด

ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกงาดำปีละ 80,000 – 120,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 6,000 – 8,000 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันตลาดภายในประเทศให้ความสนใจงาดำมากขึ้น โดยนำมาใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพและใช้น้ำมันงาดำเป็นยารักษาโรค

งา เป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพโดยแท้ เนื่องจากมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และแมงกานีส นอกจากนี้ ยังมีสารพิเศษคือ สารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง ส่วนน้ำมันที่ได้จากงาจะเป็นไขมันชนิดดี คือเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ชนิดของกรดไขมันจะเป็นกรดลิโนเลอิค และโอเออิค แอซิด ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย

เมล็ดงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3

เมล็ดงาดำ นับเป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทชีวจิต เนื่องจากมีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์เกือบครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีปริมาณธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสมากในเมล็ดงา และมีสัดส่วนพอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ

นอกจากนั้น ผู้บริโภคจำนวนมากยังนิยม “กินงาดำเป็นยา” เพื่อรักษาโรค ในอดีตแพทย์แผนโบราณนิยมใช้น้ำมันงาทารักษาอาการปวดกระดูก และประสานกระดูกหักหรือแตก และใช้ทาผิวหนังที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือไฟลวก และใช้ใส่แผล เป็นต้น

ที่ผ่านมา งาดำที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นงาพันธุ์พื้นเมืองมีผลผลิตต่อไร่ต่ำ และมีขนาดเมล็ดเล็ก มีน้ำหนัก 1,000 เมล็ด ประมาณ 2.7 กรัม ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันต้องการงาดำเมล็ดโต มีสีดำสนิทสม่ำเสมอ มีเปลือกหุ้มเมล็ดบาง เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารและใช้บริโภคโดยตรง

ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการปลูก การขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ทั้งงาขาวและงาดำ ตลอดจนการแปรรูปงามาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำมันงา โลชั่นบำรุงผิว และน้ำมันงาสำหรับใช้ปรุงอาหาร ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่อง

ดร. สายสุนีย์ รังสิปิยกุล ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ประสบความสำเร็จในการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ “งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3” ที่ให้ผลผลิตสูง ประมาณ 100 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือมากกว่านั้น  และให้มีขนาดเมล็ดโต คือให้ได้น้ำหนัก 1,000 เมล็ด มีน้ำหนัก 2.8 กรัม มีขนาดเมล็ดโตกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง และให้ได้พันธุ์งาดำที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาด

งาดำ พันธุ์อุบลราชธานี 3

งาดำ พันธุ์อุบลราชธานี 3 (งาดำสายพันธุ์ IS 121) เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ในโครงการปรับปรุงพันธุ์งา Thai-Israel Sesame Co-operation Project ในปี 2529 กรมวิชาการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์งาลูกผสม ชั่วที่ 2 ซึ่งได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างงาที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเวเนซุเอลา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย ซูดาน อียิปต์ อิสราเอล บัลกาเรีย อินเดีย พม่า อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ รวม 110 พันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์แม่ รวมทั้งพันธุ์กลาย ผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ที่ฝักไม่แตก ไม่ทอดยอด และต้านทานศัตรูโรค

กรมวิชาการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์งาลูกผสม ชั่วที่ 2 จากประเทศอิสราเอล จำนวน 253 สายพันธุ์ มาปลูกคัดเลือกพันธุ์ภายใต้สภาพแวดล้อมของประเทศไทยจนถึง ชั่วที่ 6 ก่อนนำเข้าประเมินผลผลิตที่ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองพืชไร่ต่างๆ ตลอดจนในสภาพไร่ของเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ รวม 13 แปลงทดลอง ระหว่างปี 2539-2546

ดอกงาดำ พันธู์อุบลราชธานี 3

นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกพันธุ์และประเมินผลผลิตในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย จนแน่ใจว่ามีคุณสมบัติดีเด่น เราจึงได้เสนอขอรับรองเป็นพันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร

ก่อนจะได้รับการรับรองพันธุ์ ดร. สายสุนีย์ ได้ทดสอบในศูนย์และสถานีพืชไร่ของทางราชการแล้ว ยังต้องนำไปปลูกเปรียบเทียบและปลูกทดสอบในไร่ของเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งปลูกงา จนมั่นใจว่า มีลักษณะเด่นจริง จึงดำเนินการขอรับรองพันธุ์ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 16 ปี

ลักษณะเด่นของ งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3

  1. ให้ผลผลิตสูง 102 กิโลกรัม ต่อไร่ ในไร่ของเกษตรกร โดยให้ผลผลิตสูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 7 ให้ผลผลิต 135 กิโลกรัม ต่อไร่ ในศูนย์วิจัยพืชไร่ซึ่งใกล้เคียงกับงาขาวพันธุ์ มหาสารคาม 60
  2. มีขนาดเมล็ดโต โดยมีน้ำหนัก 1,000 เมล็ด เฉลี่ย 3.03 กรัม สูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 9
  3. มีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นต่อมนุษย์ ได้แก่ ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม สูงกว่างาดำพื้นเมืองพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 21,22 และ 33 ตามลำดับ
  4. มีปริมาณสารต่อต้านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือต้านการเกิดอนุมูลอิสระสูง โดยให้ค่าสูงกว่างาดำพันธุ์นครสวรรค์ ร้อยละ 8
ฝักงาดำ

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 เมล็ดโตกว่างาดำพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ยังให้ผลผลิตสูงกว่างาดำพื้นเมืองนครสวรรค์ ซึ่งให้ผลผลิตเฉลี่ย 102-135 กิโลกรัม ต่อไร่ ในขณะที่งาดำพื้นเมืองให้ผลผลิตเพียง 95 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น สำหรับเปอร์เซ็นต์น้ำมันงาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันงาสูง 49.9

ส่วนงาดำพื้นเมือง มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 49.1 งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีสารต้านอนุมูลอิสระ (มก./กก.) 12,813 ในขณะที่งาดำพันธุ์พื้นเมืองมี 11,833 ส่วนธาตุแคลเซียมงาดำอุบลราชธานี 3 มี 0.73 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.47 เปอร์เซ็นต์ และธาตุฟอสฟอรัส 0.67 เปอร์เซ็นต์ ส่วนงาดำพันธุ์พื้นเมืองมีธาตุแคลเซียม 0.61 เปอร์เซ็นต์ โพแทสเซียม 0.39 เปอร์เซ็นต์ และฟอสฟอรัส 0.51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่างาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 ทุกตัว

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีการปรับตัวเข้ากับสภาพการปลูกงาได้ดี มีความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิตดี สามารถใช้เป็นพันธุ์ปลูกได้ทั่วไปในสภาพการผลิตงาของประเทศไทย

งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจาก มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูง อาหารประเภทชีวจิตจะมีส่วนผสมของงาดำมาก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและไต้หวันมีความต้องการในปริมาณสูง อยากจะให้เกษตรกรช่วยกันปลูกงาดำพันธุ์อุบล 3 ให้มากขึ้น ซึ่งเกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกงาดำพันธุ์พื้นเมือง

เกษตรกรที่สนใจติดต่อสอบถามเรื่องเมล็ดพันธุ์งาดำพันธุ์อุบลราชธานี 3 พร้อมกับขอคำแนะนำการปลูกเพื่อขยายพันธุ์ได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ตู้ ป.ณ. 6 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-202-187-9