“เครื่องตะบันน้ำ” นวัตกรรมช่วยเกษตรกร สูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้ไฟฟ้า

คุณสมชาย ธีรางกูร นายอำเภอน้ำหนาว พร้อมด้วย คุณประพันธ์ จิระพงศ์ ผอ. ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค และชาวบ้านร่วมเปิดวาล์วน้ำที่ปั๊มจากเครื่องตะบันน้ำ

ดีแทค อยากเห็นสังคมไทยที่ดีขึ้น ด้วยการริเริ่ม โครงการ “พลิกไทย” เพื่อเชิญชวนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีไอเดียในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ดีแทค ได้คัดเลือกแนวคิดกิจกรรม จำนวน 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม และจะมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถเป็นจริงได้ ซึ่งโครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ เป็น 1 ใน 10 โครงการ ที่ได้รับการต่อยอดสนับสนุนจากดีแทค

โครงการนี้ ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่า เครื่องตะบันน้ำ สามารถใช้งานและสร้างประโยชน์ต่อคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

คุณจีระศักดิ์ ตรีเดช นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ กล่าวว่า แม้พื้นที่ต้นน้ำจะเป็นแหล่งกำเนิดของแหล่งน้ำให้กับคนปลายน้ำ แต่ในทางกลับกัน ชุมชนในเขตต้นน้ำเองกลับเข้าไม่ถึงการใช้น้ำ เพราะแหล่งน้ำอยู่ต่ำกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อชุมชนบนพื้นที่สูงในการจัดหาและขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง เพื่อการอุปโภคและบริโภคในระดับครัวเรือน รวมถึงการทำการเกษตรเชิงนิเวศ ที่ผ่านมาการนำน้ำจากพื้นที่ต่ำขึ้นสู่พื้นที่สูง มักมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ในกรอบคิดของการใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้า ในการนำน้ำมาใช้เพื่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว

นายจีระศักดิ์ นายกสมาคมฯ

ด้วยอุปสรรคที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การผลิตอาหารของชุมชนบนพื้นที่สูงในระบบเกษตรเชิงนิเวศเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งผู้พัฒนานวัตกรรมมีแรงบันดาลใจ ในการอยากช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารและการเกษตร จากเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ

จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของชุมชนบนพื้นที่สูง พบว่า ชุมชนมีโอกาสเป็นอย่างมากในการเข้าถึงน้ำในราคาต้นทุนต่ำ เพราะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงให้ชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำต้นทุนต่ำได้  ซึ่งนั่นคือ “เครื่องตะบันน้ำ”

รายได้จากการระดมทุนผ่านโครงการดีแทคพลิกไทยสู่ชาวบ้าน

“ตะบันน้ำ” ลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใช้ไฟฟ้า เงินเหลือเก็บเต็มๆ

คุณวิไช ด้วงทอง เกษตรกรปลูกพืชไร่ อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 2 ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าว่า ชาวบ้านในตำบลวังกวางส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกพืชไร่ เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญคือพื้นที่อยู่สูง ปลูกพืชที่ใช้น้ำเยอะไม่ได้ การจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำ จึงต้องใช้ปั๊มสูบน้ำขึ้นมา แหล่งน้ำจะอยู่ตามสันเขาและพื้นที่ต่ำ ที่ผ่านมาใช้เครื่องปั๊มน้ำ น้ำมันดีเซลสูบน้ำขึ้นมาเก็บไว้ในถัง มีค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายพืชก็ไม่สูงมาก จึงไม่คุ้มทุน

“ผมเป็นเกษตรกรมานานกว่า 20 ปี ต้องประสบปัญหาต้นทุนการทำเกษตรที่สูง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เมื่อก่อนจะปลูกได้แต่เฉพาะพืชไร่ คือ มันสำปะหลัง และข้าวโพด อาศัยแต่น้ำฝนเป็นหลัก เพราะไม่มีทุนที่จะนำน้ำขึ้นมาใช้ ซึ่งข้าวโพดและมันสำปะหลัง หากปลูกซ้ำพื้นที่เดิมมากๆ ผลผลิตก็จะไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร ผลผลิตลดน้อยลง เพราะดินเสื่อมคุณภาพ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแถวนี้ค่อนข้างมาก ผมจึงเริ่มหันหาวิธีที่จะปลูกพืชอย่างอื่นเสริม โดยพืชที่เลือกปลูกเป็น มะขาม และพืชผักสวนครัว แม้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเพิ่มก็ต้องยอม เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แรกๆ ใช้เครื่องปั๊มน้ำน้ำมันดีเซลต้นทุนค่อนข้างสูง เสียค่าน้ำมัน อาทิตย์ละ 1,000-2,000 บาท คิดเป็นเดือนเฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท รายได้ก็ยังไม่คุ้มกับรายจ่าย” คุณวิไช บอก

เมื่อเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นบ่อยๆ คุณวิไชจึงไปหาเพื่อนที่พอจะมีความรู้ เพื่อนแนะนำให้รู้จักกับสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ เมื่อเข้าไปเขาได้เล่าถึงปัญหาที่เจอมา ทางสมาคมฯ จึงได้เข้ามาสนับสนุน เครื่องตะบันน้ำ ของโครงการพลิกไทยให้มาทดลองใช้

เมื่อเริ่มนำเครื่องตะบันน้ำมาทดลองใช้ ปรากฏว่าใช้ได้ผลดี ประหยัด ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้น้ำมัน หากนับตั้งแต่เริ่มการใช้งานเครื่องตะบันน้ำจนถึงปัจจุบันตอนนี้ เริ่มทดลองใช้มาเป็นระยะเวลาปีกว่า ในช่วงที่ใช้ได้จดบันทึกรายรับรายจ่ายไว้ ดังนี้

พื้นที่ทำการเกษตร มีทั้งหมด 17 ไร่ แบ่งปลูกข้าวโพด 7 ไร่ มันสำปะหลัง 3 ไร่ มะขามหวาน 5 ไร่ และพืชผักสวนครัว 2 ไร่ ใช้เครื่องตะบันน้ำเพียงเครื่องเดียว สามารถลดค่าน้ำมันได้ทั้งหมด ในกรณีที่มีใบไม้ไปอุดตันที่เครื่อง หรือแหล่งน้ำมีน้ำน้อย อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาบ้างเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าหากเดือนไหนไม่มีปัญหาก็จะมีเงินเหลือเก็บเต็มๆ

โดยเครื่องตะบันน้ำ 1 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร แต่ต้องขึ้นอยู่กับระดับความสูงของพื้นที่ด้วย อย่างที่สวนคุณวิไช ใช้น้ำวันละ 2,000 ลิตร เทียบต้นทุนคิดต่อรอบ ประหยัดค่าน้ำมัน รอบละ 3,000-4,000 บาท 2 อาทิตย์ นับเป็น 1 รอบ เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 8,000 ต่อ เดือน แต่เมื่อมีเครื่องตะบันน้ำ สามารถประหยัดค่าน้ำมันได้เกือบทั้งหมด

พูดได้ว่า เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น คุณวิไชและชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีเงินเหลือเก็บ และสามารถทำสวนปลูกพืชผักสวนครัวได้เพิ่ม จากเคยทำไร่อย่างเดียว ตอนนี้มีรายได้ทุกวันจากการขายผักสวนครัว

 

การติดตั้ง และระบบการทำงานไม่ยาก ต้นทุนต่ำ

คุณอุดม อุทะเสน หนึ่งในทีมช่างเครื่องตะบันน้ำ ให้ข้อมูลว่า เครื่องตะบันน้ำที่ติดตั้ง ใช้กลไกแบบง่ายๆ คือ การวางท่อเอาน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูง การติดตั้งมีท่อ พีวีซี ต่อสูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร วางท่อลงจากจุดน้ำเข้า ประมาณ 10 เมตร เข้าตัวเครื่อง

คุณอุดม อุทะเสน

ระบบเครื่องทำงานโดยอาศัยแรงน้ำจากข้างบน ไหลเข้าในตัวเครื่องตะบันน้ำข้างล่าง

เครื่องตะบันน้ำ มีส่วนประกอบคือ เช็ควาล์ว 2 ตัว ถังรับส่งน้ำ 2 ใบ

โดยเช็ควาล์วตัวแรกที่คอยรับน้ำจากข้างบนไหลลงข้างล่าง เกิดแรงที่หนักขึ้น จะดันลิ้นวาล์วตัวแรกให้ปิด

เมื่อวาล์วตัวแรกปิดจะเกิดแรงดันน้ำในถังตัวแรก พอเกิดตัวแรกดัน เช็ควาล์วตัวที่สอง จะเปิดให้น้ำไหลผ่านเข้าไปถังที่สอง ถังที่สองจะเป็นถังที่มีอากาศอยู่ครึ่งหนึ่ง อากาศที่เข้าไปทำให้อากาศยุบตัว น้ำไหลผ่านเข้าไป จึงเกิดแรงดันน้ำสู่ที่สูง โดยจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

 

พื้นที่ติดตั้งที่เหมาะสม

การจะติดตั้งเครื่องตะบันน้ำอย่างแรกต้องดูพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ พื้นที่เหมาะสมต้องเป็นแนวลาดชันตามลำน้ำ ท่อรับน้ำด้านบนต้องอยู่สูงกว่าตัวเครื่อง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เพื่อให้น้ำไหลไป ทำให้กลไกของตะบันน้ำทำงาน เกิดการปิดเปิดทำให้เกิดแรงกลขึ้นมา ได้แรงน้ำไปสู่ที่สูง

ปริมาณการสูบน้ำ โดยเฉลี่ยจากการทดสอบ 1 นาที สูบน้ำได้ประมาณ 1.50 ลิตร ความต่างที่ 1 เมตร แล้วส่งขึ้นพื้นที่ลาดชัน ประมาณ 200 เมตร ถ้าเฉลี่ยเป็นวัน เครื่องตะบันน้ำตัวนี้สามารถสูบน้ำได้ วันละ 3,000-4,000 ลิตร โดยมีต้นทุนการผลิตเพียง เครื่องละ 5,000 บาท

วิธีการประกอบเครื่อวตะบันน้ำด้วยถังแก๊ซที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว

สอบถามข้อมูล รายละเอียดและการติดตั้งเครื่องตะบันน้ำได้ที่ คุณอุดม อุทะเสน โทร. 087-216-5686

โครงการซูเปอร์ตะบันน้ำ โดยสมาคมเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์เทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้รับการสนับสนุนโดยโครงการ “ดีแทคพลิกไทย” ด้วยการระดมทุนผ่านเว็บไซต์ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/water-sink

ทำให้สามารถผลิตและติดตั้งเครื่องตะบันน้ำสำหรับเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 20 เครื่อง

วางท่อ พีวีซี จากระดับความสูง ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร