2 ลุงป้า ใช้พื้นที่ข้างบ้าน ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง พร้อมโชว์สิ่งประดิษฐ์สุดเจ๋ง

พวกงง

ความคิดที่จะปลูกผักกินเองหลังบ้าน จริงแล้วอยู่ในสมองของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่เติบโตจากสังคมชนบทแล้วมาศึกษาและประกอบอาชีพในเมือง บางคนเมื่อเกษียณตัวเองแล้วกลับบ้านนอกจึงมีโอกาสทำ แต่บางคนที่ลงหลักปักฐานในเมืองแล้วยากที่จะกลับไปอีก โอกาสจะปลูกผักในเมืองกินเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี เวลาของคนหลังเกษียณมีมาก แต่กำลังความคิดอาจถดถอยเหนื่อยล้า ส่วนสถานที่ไม่ใช่เป็นอุปสรรค เพราะมีรูปแบบต่างๆ มากมายตามที่เคยนำเสนอ

มีโอกาสได้ไปภูเก็ตที่ผ่านมา เห็นภูเก็ตเปลี่ยนแปลงไปทุกๆ ครั้งที่มาเยือน คนท้องถิ่นจริงๆ มีไม่มากเท่าไหร่ นอกนั้นจะเป็นคนจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้เองหลั่งไหลกันมาประกอบอาชีพที่ภูเก็ต รวมถึงชาวต่างชาติประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้มีมากมายจริงๆ จนต้องมีป้ายเป็นภาษานั้นๆ ตามจุดต่างๆ ที่เห็นตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดยเฉพาะชาวพม่า ผมพูดกับเพื่อนชาวภูเก็ตว่า ชาวพม่าที่อยู่ในภูเก็ตวันนี้มีมากกว่าพม่าที่ยกมาตีเมืองถลาง คราวสงคราม 9 ทัพ เสียอีก เพราะภูเก็ตมีการจ้างงานมากและค่าครองชีพก็สูงกว่าที่อื่น กับข้าวใส่ถุงขาย สนนราคาถุงละ 50 บาท เป็นอย่างต่ำ แต่ในกรุงเทพฯ เองกับข้าวถุง ราคาถุงละ 20 บาท ยังพอหาได้บ้าง ถ้ารู้จักเสาะหา

ลุงป่วน-ป้าเตี๊ยน (ป้าจรรยา)
ลุงป่วน-ป้าเตี๊ยน (ป้าจรรยา)

เพื่อนฝูงพอทราบข่าวว่ามาเยือนก็ช่วยแนะนำและช่วยพาไปทำข่าวกันถึงที่ จึงทำให้มีโอกาสนำเรื่องราวมาเสนอ ลุงป่วน กับ ป้าจรรยา ชื่นบาน อยู่ที่หมู่บ้านอิรวดี ซอยนานาชาติ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์ (083) 107-4289 ปลูกผักบนเนื้อที่เกือบ 100 ตารางวา ข้างบ้าน ลุงป่วน เดิมเป็นช่างของแผนกถลุงแร่ของบริษัททำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในภูเก็ต ทำงานเกี่ยวกับเหมืองแร่จนเกษียณมาเมื่อปี 2543 หลังจากนั้นได้เปิดร้านอาหาร เมื่ออายุมากขึ้นก็เลิกรา แต่ด้วยความเป็นคนขยันไม่อยู่ว่าง จึงคิดที่จะปลูกผักกินเอง ดูเผินๆ ก็เป็นแค่พื้นที่ปลูกผักกินเองธรรมดา แต่พอเข้าไปสัมผัสจริงๆ ผมได้ไอเดีย 3 อย่าง จากลุงป่วน ซึ่งผมจะเอามาปรับใช้ที่สวนผักข้างบ้านของผมบ้าง

 

ค้างมีชีวิต

ซุ้มเสาวรส
ซุ้มเสาวรส

ลุงป่วน ปลูกต้นมะรุมลงไปตรงตำแหน่งที่ต้องการแล้วก็รดน้ำใส่ปุ๋ยจนต้นมะรุมเจริญเติบโตเต็มที่ โดยจะมีลำต้นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 นิ้ว ก็จะตัดยอดด้านบนออกให้มีความสูงเหนือดินประมาณ 150-160 เซนติเมตร หรือแล้วแต่ความต้องการ นำไม้ไผ่มาพาดโดยใช้เชือกรัดเพื่อไม่เป็นการรังแกต้นไม้เกินไป ก็ควรขยายเชือกปีละครั้ง เพราะขนาดของต้นจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ระยะที่ปลูกของลุงป่วน ยาว 3 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ 2 ลำ ห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร เมื่อปลูกฟักแฝงหรือต้นไม้เลื้อยอื่นๆ ก็จะใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกปักให้เลื้อยขึ้นมาอีกที ส่วนยอดของต้นมะรุมที่แตกยอดอ่อนออกมาเรื่อยๆ ก็ถูกเด็ดออกไปตลอดเวลา กลายเป็นพืชผักเด็ดยอดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถนำไปกินหรือจำหน่ายได้อีก ไม่เหมือนเสาปูนหรือเสาไม้ที่นำมาทำค้างนอกจากเสียพื้นที่แล้วยังต้องเสียเงินซื้ออีก บางครั้งใช้ประโยชน์ไปนานๆ ก็จะต้องซ่อมแซมอีกต่างหาก ส่วนค้างมีชีวิตนอกจากไม่เสียเงินซื้อแล้วยังเพิ่มรายได้อีก

นวัตกรรมชาวบ้าน

ใส่เสาท่อน้ำ
ใส่เสาท่อน้ำ

เนื่องจากค้างมีชีวิตแล้ว ผมยังมีโอกาสเห็นสิ่งประดิษฐ์ของลุงป่วนอีกชิ้นหนึ่งคือ ซาแรนเคลื่อนที่ ลุงป่วนบอกว่า “ลุงอายุมากแล้วและทำงานคนเดียว ไม่สามารถใช้เครื่องมืออะไรได้ นอกจากเครื่องมือที่ต้องใช้มือช่วยเท่านั้น ภาคใต้เมื่อถึงคราวมีแดดก็ค่อนข้างแรงมาก บางครั้งผักที่ย้ายกล้ามาปลูกก็เหี่ยวเฉาเมื่อเจอแดด ถ้าจะเอาเสามาฝังเพื่อกางซาแรนก็จะเกะกะพื้นที่ในการทำงาน จึงคิดทำเครื่องกำบังแดดที่มีน้ำหนักเบา ที่สามารถทำได้คนเดียว ด้วยการเอาท่อพลาสติกที่เป็นท่อประปามาต่อเป็นรูปตัวยูให้สูงประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนความกว้างเท่ากับแปลงผัก ทำตามจำนวนที่เราต้องการ แต่ท่อประปาไม่สามารถปักลงไปในดินได้ จึงต้องใช้เหล็ก 4 หุน ยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ปักเป็นขาแทน โดยกดลงไปในดินประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วจึงสวมท่อประปาที่ทำไว้ลงไป จะเห็นว่าท่อประปาที่เป็นเสาตัวยูจะสามารถคงตัวอยู่ได้อย่างแข็งแรงพอสมควร”

ส่วนซาแรนที่ใช้ก็จะเย็บติดกับโครงไม้ไผ่ที่มีน้ำหนักเบาสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย มาวางบนขาที่เป็นท่อประปาได้พอเหมาะ วิธีนี้จะมีข้อจำกัดกับบริเวณที่มีลมแรง แต่สำหรับที่ของลุงป่วนไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากบริเวณรอบข้างมีบ้านบังลมไว้ทั้งสองด้าน การพรางแสงแบบนี้ ลุงป่วนบอกเราว่า ใช้ 2 กรณี คือการย้ายเบี้ยมาปลูกใหม่ซึ่งจะพรางแสงแค่ 3-5 วัน เท่านั้น ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ ใช้พรางแสงในฤดูแล้งที่แสงแดดจ้ามาก โดยเฉพาะในช่วงเที่ยงถึงแม้จะเป็นผักที่โตแล้วก็ตาม ทำให้ผักเหี่ยวเฉาได้ง่าย และอีกอย่างหนึ่งเป็นการประหยัดน้ำไปในตัวด้วยเพราะหน้าแล้งภูเก็ตมักจะมีปัญหาเรื่องน้ำเสมอ ซาแรนเคลื่อนที่นี้เมื่อเอาออกไปพื้นที่ก็จะโล่งไม่มีอะไรมาเกะกะ ซาแรนเคลื่อนที่ที่ทำไว้จะมี 2 ระดับความสูง คือ ขนาดความสูงประมาณ 1 ฟุต จะไว้ใช้สำหรับเบี้ยที่ย้ายมา ส่วนความสูง 150 เซนติเมตร ใช้สำหรับผักที่โตแล้วแต่ต้องการพรางแสงเพราะร้อนเกินไป โดยเฉพาะในหน้าร้อนที่ผ่านมาซึ่งร้อนมากผิดปกติหนำซ้ำยังแล้งมากอีกด้วย ในจังหวัดภูเก็ตในช่วงหน้าร้อนทุกปีจะขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านมักจะซื้อน้ำจากรถน้ำเอกชนซึ่งมีการขายอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงแล้ง

 

ร่มสุริยันกรรแสง

สำหรับคนเมืองที่อยู่แต่ในห้องปรับอากาศหรือในที่ร่ม การทำงานกลางแดดซึ่งต้องใช้เวลานาน เพราะความไม่ถนัดและเรี่ยวแรงไม่เหมือนกับคนทำงานภาคเกษตรตั้งแต่เด็กๆ ปัญหาเรื่องแดดสำคัญมาก เพราะสู้ความร้อนไม่ไหว ผมเคยใช้ร่มแม่ค้าขนาดใหญ่บังเวลาทำงานกลางแจ้ง ตอนแรกๆ ก็ดี พอตอนขยับไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นต้องขยับร่มตามก็มีปัญหา เพราะมันวุ่นวายพอสมควร บางครั้งมีปัญหาเรื่องลมจนต้องเปลี่ยนเอาร่มกันฝนธรรมดานี่แหละมามัดติดตัวไว้ พอก้มๆ เงยๆ ดันหลุดขึ้นมาอีก วุ่นวายไม่ได้งาน มัวแต่สาละวนกับร่มกันแดด

ไม่กลัวร้อนนิ
ไม่กลัวร้อนนิ

ลุงป่วน เอาท่อ พีวีซี ขนาด 6 หุน มาต่อเป็นที่สวมบ่าทั้งสองข้าง ส่วนข้องอที่รับกับไหล่ใช้ข้องอของพลาสติกที่ใช้ร้อยท่อสายไฟฟ้า เนื่องจากโค้งเข้ารับกับไหล่มากกว่า ส่วนด้านหลังต่อไว้สำหรับเสียบก้านร่ม และจะมีเข็มขัดร้อยมารัดไว้ด้านหน้าเพื่อให้เกิดความสมดุลไม่หลุดง่าย (ดูตามภาพจะเข้าใจง่ายกว่า) เราก็จะได้ร่มสุริยันกรรแสงมา 1 คัน เพราะไม่ว่าจะก้มจะเงยอย่างไรแสงแดดก็ไม่โดนเรา ทีนี้จะทำงานกลางแดดก็ทำไปไม่ต้องทนร้อนอีก

เรื่องการขายผัก ป้าเตี๊ยน หรือ ป้าจรรยา บอกว่า ไม่ได้ขายทุกวัน ถ้าผักโตมีเพียงพอที่จะตัดกำได้ ก็จะตัดผักขาย โดยมัดเป็นกำๆ ใส่เข่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์คู่ใจขี่ขายอยู่ในบริเวณใกล้บ้านตอนบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตก พักเดียวไม่ทันมืดผัก 1 เข่ง ก็ขายหมด เพราะกำขาย กำละ 10 บาท ราคานี้ส่งถึงหน้าบ้าน ถูกกว่าในตลาดสดและห้างสรรพสินค้ามาก การขายของป้าเตี๊ยนเน้นการแบ่งกันกินมากกว่า เพราะผักมีจำนวนมากกว่าที่จะกินหมด ไม่ได้หวังรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่มีความสุขที่ได้แบ่งผักปลอดภัยที่ไม่ได้ฉีดยาเคมีให้กับเพื่อนบ้าน เสียดายที่ไปสัมภาษณ์วันนั้นไม่มีผักพอที่จะตัดขาย เพราะเพิ่งรื้อแปลงปลูกใหม่ เลยทำให้ไม่มีภาพมาฝากผู้อ่าน

ใช้พื้นที่ข้างบ้าน
ใช้พื้นที่ข้างบ้าน

ด้วยวัย 76 ปี ของลุงป่วน ชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีคุณภาพ อยู่กับคู่ชีวิตที่ร่วมทางกันมาอย่างยาวนาน ทำให้อดนึกถึงอนาคตของประเทศไทยที่อีกไม่กี่ปีก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี เกินกว่าร้อยละ 10-20 ของพลเมืองทั้งประเทศ ถ้าเรามีผู้สูงวัยหรือทางการให้เรียกว่า ชช. หรือผู้เชี่ยวชาญชีวิต ที่มีคุณภาพตามวิถีที่ควรจะเป็นได้ของแต่ละคน ชีวิตของผู้สูงวัยก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะฉุดดึงประเทศชาติให้อยู่กับที่ แต่จะช่วยเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับประเทศมากกว่า