สวนผสมผสานโกไข่ “เริ่มต้นชีวิตด้วยเงิน 46 บาท”!!

“ผมเริ่มต้นชีวิตด้วยเงิน 46 บาท”!!

เสียงเล่าผ่านชายวัย 71 ปี ที่ยังคงแข็งแรง เดินด้วยตัวเองด้วยความกระฉับกระเฉง

ในอดีต โกไข่ในวัยคะนอง กิน เที่ยว สำมะเลเทเมามาไม่น้อย เคยไปรับจ้างแบกถังปฏิกูลบ้านคนรวย เพื่อนำเงินมาซื้อเหล้าดื่มกับเพื่อน ทำอยู่ 4 วันทนไม่ไหวแม้รายได้จะดีมากๆ

เมื่อถึงเวลาต้องครองเรือน ก็ได้ตกแต่งกับสาวลูกคนมีเงิน โกไข่เล่นแชร์กับพี่น้องเพื่อนำเงินมาสู่ขอสาวเจ้า ทั้งสองผ่านงานมาสารพัด โกไข่เรียกภรรยาว่า “เจ๊” ด้วยความที่เจ๊มีสูตรทำเส้นบะหมี่ จึงเปิดร้านบะหมี่เล็กๆ ในตลาดมาบอำมฤต ปัจจุบัน ลูกสาวยังทำหน้าที่ต่ออย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ที่หน้าร้านก็จะมีผัก ผลไม้สดๆ จากสวนมาวางขาย เรียกว่าทั้งปลูกทั้งขายเองไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางเลยเชียว

โกไข่ ออกรถไถมาหนึ่งคัน ในยามก่อนหน้านาก็ตระเวนรับจ้างไถไปเรื่อยจนถึงสตูล เก็บหอมรอมริบซื้อที่ดินทำสวนทุเรียน ยาง และปาล์ม

“ไม่ไหว ปาล์มมันกินน้ำเยอะเหลือเกิน มาเลย์มันรู้ดี ตอนนี้ไม่ปลูกกันแล้ว ให้ไทยปลูกแล้วรอซื้อเอาดีกว่า” โกไข่เล่าให้ฟัง

“แรกๆ ทุเรียนก็ดี แต่ตอนหลังมันเป็นท็อป ไม่รู้จะทำไง อ่านหนังสือไปเจอในหลวงท่านทรงแนะนำให้ปลูกป่าผสมผสาน ไอ้เราเชื่อตั้งแต่อ่าน ลงมือทำเลย  ปลูกป่าในแปลงทุเรียน เอาจำปาทอง ตะกู หมาก ตะเคียนทอง มะฮอกกานี ปลูกแซมเข้าไป รดน้ำทุเรียนต้นไม้อื่นก็ได้กินด้วย สังเกตดูว่า ผ่านไปสอง-สามปี ทุเรียนที่ทำท่าจะตายกลับฟื้น ปุ๋ยยาที่เคยใส่ปีละเป็นล้านก็ลดลงเกินครึ่ง เชื่อแล้วว่าเดินมาถูกทาง พอไม้ที่ปลูกอายุ 4 ปีก็เอาพริกไทยมาปลูก แค่ปีเดียวได้พริกไทยแห้งต้นละไม่น้อยกว่า 3 กิโล หากเป็นพริกไทยสดก็เกิน 10 โลเลยนะ ดกมากพราวเต็มไปหมดแหละ ขายส่งให้เจ้าใหญ่กิโลละ 380 บาท พอเป็นค่าน้ำค่าไฟปีละไม่กี่แสน”

โกไข่ กับ พริกไทย

ผมเดินดู โกไข่จะปลูกพริกไทยเกาะไม้ ต้นละ 2 กิ่งตอน พอยอดยาวประมาณ 80 เซนติเมตร ก็ตัดยอดให้แตกกิ่งก้านสาขา แล้วจัดแต่งยอดให้เกาะต้นไม้กระจายทั่วต้น พริกไทยให้ผลผลิตปีละครั้ง ดังนั้น เมื่อวางแผนดี จัดวางทีมงานไว้ดี การเก็บ ตาก และบรรจุก็เป็นเรื่องไม่ยาก

“พริกไทยเราต้องจัดทรงให้เขา พอยอดพุ่งสูงไป 4-6 เมตรเราก็ตัดยอด เอาแค่นี้พอ ไม่ให้สูงไปกว่านี้แล้ว เพราะจะเก็บยาก 4-6 เมตรจะพอดีกับบันไดที่มี ไม่สูงมาก ผลดีของการตัดยอดคือเขาจะไม่ทิ้งกิ่งล่าง ทำให้เราเก็บพริกไทยได้ตั้งแต่กิ่งล่างเรี่ยพื้นไปจนถึงยอด หากไม่ตัดแล้วปล่อยให้ขึ้นสูงไปเรื่อย เขาก็จะทิ้งกิ่งล่าง ทำให้เราต้องเหนื่อยในการปีนเก็บมากขึ้น”

โกไข่ กอดต้นจำปาทอง

เพียงย่างเข้าปีที่ 2 ทุเรียนที่ป่วยใกล้ตายแต่ละต้นเริ่มส่งสัญญาณชีพที่ดี แผลจากโรคท็อป เริ่มสมานโดยการสร้างเปลือกใหม่มาคลุมแผลเดิม ทำให้การส่งน้ำและอาหารสู่เรือนยอดได้ดีขึ้น ยอดใหม่ กิ่งใหม่เริ่มแตกแขนงมากขึ้น และในปีนั้นค่าปุ๋ยค่ายาลดลงทันทีกว่าครึ่งหนึ่ง รายได้หลักจากทุเรียนเริ่มกลับมาสู่สวน ยังมีกล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง มะละกอ ที่เป็นรายได้เสริมเข้ามา โกไข่ยังใช้ฟักปลูกคลุมหญ้าในแปลงที่เริ่มลงต้นไม้ใหม่ ฟักลูกโตๆ กว่า 10 กิโลกรัม เป็นรายได้เสริมอย่างดีอีกชนิดหนึ่ง

“แล้วต้นไม้ไม่แย่งอาหารกันเหรอครับ” ผมถามเพราะมองเห็นว่าต้นไม้สารพัดชนิดปลูกอยู่ไม่ห่างกันเลย

“ไม่นะ ต้นไม้แต่ละชนิดเขาก็จะมีรากหาอาหารที่ต่างกัน ไม้ป่ารากลึก ไม้เกาะเกี่ยวก็หากินรอบๆ ในพื้นที่นั้นๆ เรียกว่าเขาพึ่งพาอาศัยกันมากกว่า”

“อ้าวโก แล้วแบบนี้เวลาให้ปุ๋ยทำไงครับ”

“เห็นใบไม้ไหม ดูสิ นี่ใบทุเรียนจำปาทองก็กินไป แล้วทุเรียนก็ไปกินใบจำปาทอง ใบตะเคียนไปโน่น เรียกว่าใบของไม้ชนิดหนึ่งก็เป็นปุ๋ยให้ไม้อีกชนิด วนเวียนเป็นวงจรของป่าอยู่แบบนี้ ทำให้เราลดการให้ปุ๋ยลงได้อย่างมาก ไส้เดือนเราก็มีมากมาย”

ทุเรียนเป็นท็อป

“ดีจังเลยครับโก แล้วเรื่องน้ำ”

“ที่นี่ไม่มีปัญหา เราใช้น้ำใต้ดินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนเก็บไว้กับต้นไม้ ที่นี่มีอีกแปลงที่เราไม่ได้รดน้ำเลย ให้ต้นไม้ป่า ไม้ผล ดูแลกันเอง ก็ยังเห็นเขียวสดใสดีนะ เป็นการทดลองอยู่ ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่รดน้ำ ให้เขาดูแลกันเอง ก็ยังเติบโตตามปกติ เดี๋ยวจะพาไปดู”

“สรุปคือ ต้นไม้แต่ละชนิดกักน้ำไว้ด้วยเหรอครับ”

“ไม่ใช่แค่ต้นไม้ ในดินเองก็กักน้ำไว้อีกส่วน หากเราให้ความสนใจดูแลเขา ปลูกพืชคลุมดิน ปล่อยให้ใบไม้ร่วงหล่นคลุมไว้ แดดส่องเผาไม่ถึงก็ทำให้เก็บความชื้นไว้ได้ ผมทดลองแล้ว ผ่านแน่นอน”

“คุณกินขี้ตัวเองไหม”

คำถามหนักแน่นจากปากโกไข่หันมาถามผม ซึ่งแน่นอน ผมส่ายหน้า

“…นั่นสิ ต้นไม้ก็เหมือนกัน ต้นไม้ก็ไม่กินขี้ของตัวเอง หมายถึงหากเราปลูกไม้ชนิดเดียวกันทั้งแปลง ใบไม้ที่ร่วงหล่นก็ทำประโยชน์ได้ไม่มากนัก เพราะต้นไม้เขาไม่กินใบของตัวเอง อย่าถามว่ามีข้อพิสูจน์ไหม เพราะผมพิจารณามาหลายปีแล้ว จนสรุปได้แบบนี้ ผมเป็นนักทำ ไม่ใช่นักพิสูจน์”

ผมเดินเหยียบไปบนพรมใบไม้แห้งที่คะเนว่าหนาไม่น้อยกว่าสามนิ้ว บางส่วนเริ่มเปื่อยยุ่ย บางส่วนยังเพิ่งร่วงใหม่หมาด กองสุมถมทับกันไปจนทำให้มองไม่เห็นดิน ความชื้นที่สวนนี้น่าจะมีมาก เพราะเปิดกองใบไม้ลงไปถึงดินยังมีความชุ่มชื้นอยู่มาก ไม่ต้องขุดก็พอเดาได้ว่ากองทัพไส้เดือนจะมีความสุขเพียงใด

“เมื่อเราปลูกทุเรียนอย่างเดียว เขาก็กินแต่ปุ๋ยอื่นไม่ยอมกินปุ๋ยที่เปื่อยจากใบของเขาเอง ดังนั้นภูมิต้านทานอื่นๆ ก็พร่องไป ต่อเมื่อเราเอาไม้อื่นลงไปปลูก เช่น ผมเอาจำปาทองปลูกลงไป เจ้าจำปาทองก็มากินปุ๋ยใบทุเรียน ขณะเดียวกันทุเรียนก็ไปกินปุ๋ยจากใบจำปาทอง แล้วพอเราเติมไม้อื่นไปอีก เช่น ตะเคียน ยางนา ตะกู หมาก ส้มโชกุน กาแฟ กล้วย เหรียง สารพัดใบก็เหมือนเราได้กินอาหารหลายเมนู มันอร่อยและหลากหลาย สร้างทั้งอาหารและภูมิต้านทานให้ต้นไม้ ทำให้ไม้แต่ละชนิดของเราเติบโตแข็งแรง”

สภาพสวน

ปัจจุบัน ด้วยวัยและสุขภาพ ทำให้โกไข่ส่งไม้ต่อให้ลูกชายเป็นกำลังหลักในการดูแลสวน โดยโกไข่ยังคอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ ผลผลิตจากสวนไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ส้มโชกุน หมาก กล้วย มะละกอ มีวนเวียนมาให้ได้จำหน่ายไม่ขาด ยังไม่นับพืชผักอีกสารพัดชนิดที่ปลูกแซมในสวน หากสนใจอยากไปชมหรือเรียนรู้ ติดต่อได้ที่ โทร. (086) 088-8158 เบิ้ม ลูกชายโกไข่

จากคำบอกเล่าของโกไข่เรื่องนี้ ทำให้ผมนึกไปถึง พี่โจน จันได ทันที พี่โจนเคยให้สัมภาษณ์ผมไว้กับคำถามที่ว่า

“อยากให้พี่โจนพูดถึงการกิน ที่ส่งผลถึงสุขภาพองค์รวมของผู้คนครับ” พี่โจนจริงจังมาก ยิ้มและตอบผม

“เรามีโรคมากมาย โรคใหม่ๆ ทั้งนั้น และสารพัดโรคที่ว่าก็มีที่มาจากการกินอาหารของเรานั่นเอง เราถูกเขาป้อนเข้าปาก เราไม่มีโอกาสเลือกมากนัก คุณลองเดินไปดูตามตลาดสิ ตลาดสด ตลาดในห้างก็ไม่ต่างกัน เราจะเห็นมีผักบุ้งจีน ผักกาดขาว คะน้า แตงกวา ถั่วฝักยาว ฯลฯ วนเวียนอยู่ไม่กี่อย่างแค่นี้ ไก่เนื้อวางตลาดจนไม่มีที่ให้ไก่ไทยพันธุ์แท้ๆ ได้อยู่เป็นทางเลือก ปลาน้ำจืดก็มีปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล ปลาทับทิม ซึ่งใครเป็นผู้ผลิตเราก็รู้อยู่ เขาเอาอะไรเติมลงไปในวัตถุดิบอาหารเหล่านี้บ้างเรารู้ไหม เขาเร่งให้โตด้วยเคมีอย่างไรบ้าง เขาให้ยาป้องกันแมลงกินผักไปพร้อมกับการให้น้ำ ดังนั้นผักดูดซึมเคมีไปเท่าไหร่ แล้วเรากินโดยล้างแค่ภายนอก มันจะได้อะไรขึ้นมา”

พริกไทย

“มันเป็นโลกของทุนนิยม ที่ทำลายสังคมชนบทไปหมดแล้ว เราถูกสอนให้จองหอง ถูกปลูกฝังว่าการไปทำงานกินเงินเดือนคือการยกระดับฐานะ โดยลืมไปว่าเราทำงาน หาเงิน เพื่อนำเงินมาซื้ออาหารเข้าปาก ทำไมต้องทำให้มันยุ่งยากขนาดนั้น ทำไมไม่ปลูกกินเอง ทำไมไม่ให้โอกาสตัวเองหลุดออกมาจากกรงขัง ที่เรียกให้สวยหรูว่าความเจริญ ไม่มีผู้นำประเทศยุคไหนต้องการให้เราหลุดพ้น เราต้องทำตัวเราเองให้ได้ การผูกขาดผักในแผงขาย การผูกขาดเนื้อสัตว์ ทำให้เราในฐานะผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อโรคภัยสารพัดชนิด แล้วอีกไม่นานเขาก็จะจัดหายามาขายเพื่อให้เรารักษาตัวเอง ที่มีผลจากการกินอาหารที่เขาจัดการป้อนเข้าปากมาให้”

ส้มโชกุน

“ลองเดินตลาดดูสิ ผักเม็ก กระถิน ดอกกระเจียว ผักติ้ว ผักขา ผักโขม ผักแว่น ผักสารพัดที่เราเคยกินเมื่อตอนเด็กๆ ถึงวันนี้มันหายไปไหน ถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันเอง หันมาปลูกผักกินเอง เก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แจกจ่ายกันไปปลูกเพื่อลดความเสี่ยงและเป็นการกระจายกันไปปลูก เราไม่ได้ต่อสู้กับใคร เรากำลังสู้เพื่อตัวเราเองและคนรอบข้างที่เรารัก”

ถ้อยคำเช่นนี้ทำเอาผมสว่างวาบในใจ พี่โจนกระตุกผมให้ตื่นจากโลกทุนนิยม พี่โจนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมว่าเส้นทางที่ผมก้าวเดินมานี้ถูกต้องแล้ว และอีกครั้งหนึ่งที่โกไข่มาตอกย้ำเรื่องความหลากหลายของอาหาร (ปุ๋ย) ที่สร้างภูมิให้กับต้นไม้ เมื่อมีความหลากหลาย ต้นทุนด้านสุขภาพก็ลดน้อยลง สาธุ!  ชีวิตผมได้พบเจอแต่กัลยาณมิตรที่ชี้ทางสว่างให้ทั้งสิ้น

คุณล่ะ…คุณกินขี้ตัวเองไหม

ครอบครัวโกไข่

 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561