ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในสวนยาง น้ำยางได้เกณฑ์มาตรฐาน ของ นันท์ สุภะสอน ที่บึงกาฬ

คุณชัยวุฒิ สังข์สน หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า บทบาทและหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือให้กับเกษตรกร ทั้งในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแบบงบให้เปล่าและรูปแบบของการให้กู้ยืมตามพระราชบัญญัติ เพื่อช่วยส่งเสริมให้การผลิตยางของเกษตรกรไทยมีคุณภาพมากขึ้น เป็นการพัฒนาผลผลิตคุณภาพ โดยเกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย สามารถนำเงินงบประมาณช่วยเหลือในส่วนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

คุณนันท์ สุภะสอน

ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬยังมีการช่วยเหลือในเรื่องของการโค่นสวนยางพาราเก่า ปลูกต้นยางพาราใหม่ โดยทำการจัดหาสารปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทั้งจัดหาต้นพันธุ์ยางพาราที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิตให้มากขึ้น

“นอกจากในเรื่องของการช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆ แล้ว ในปี 2562 กยท.ยังมีโครงการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของการใช้ปุ๋ยสั่งตัดให้กับสมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ ซึ่งปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยให้เกษตรกรได้นำปุ๋ยไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามค่าวิเคราะห์ดินของสวนยางเกษตรกรเอง ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงตามไปด้วย โดยเกษตรกรบางรายเริ่มมีการพัฒนาจากที่เคยขายยางก้อนถ้วย ก็มีการปรับเปลี่ยนมาขายน้ำยางสดที่สามารถหาค่า DRC (Dry Rubber content) ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การผลิตน้ำยางมีคุณภาพและขายน้ำยางได้ราคาที่ดีตามมาตรฐานที่วัดออกมา ซึ่งการขายน้ำยางก้อนถ้วยยังไม่สามารถหาคุณภาพของค่า DRC ได้ จึงไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ราคาจึงไม่สูงเท่ากับการขายเป็นน้ำยางสด ดังนั้น การผลิตยางพาราของเกษตรกร ถ้าจะทำให้มีผลกำไร จึงไม่ควรผลิตเป็นวัตถุดิบขายเพียงอย่างเดียว ต้องมีการนำมาแปรรูปและรวมกลุ่มมากขึ้น ก็จะทำให้การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป” คุณชัยวุฒิ กล่าว

คุณชัยวุฒิ สังข์สน หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ

คุณนันท์ สุภะสอน อยู่บ้านเลขที่ 241 หมู่ที่ 9 ตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรที่ปลูกสวนยางพาราโดยใช้ปุ๋ยสั่งตัดจากการนำดินภายในสวนไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้สามารถใช้ปุ๋ยตรงตามที่พืชต้องการ ส่งผลให้น้ำยางพารามีคุณภาพ ผลิตขายเป็นน้ำยางสดได้ราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย

คุณนันท์ เล่าให้ฟังว่า ได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและปอมาทำสวนยางพารา เพราะพืชไร่เหล่านั้นมีผลผลิตให้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงทำให้มองถึงโอกาสในการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพเสริมในปี 2546 แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่ได้ในสมัยนั้นดีกว่าการทำพืชไร่ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนยาพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอาชีพหลักมาถึงปัจจุบัน

พื้นที่ภายในสวน

“พื้นที่ทำสวนยางพาราของผมทั้งหมดมีอยู่ 12 ไร่ โดยที่เริ่มทำในช่วงแรก ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการวิเคราะห์ค่าดินของสวนมากนัก ก็ใส่ปุ๋ยไปในแบบที่เราเข้าใจเอง พร้อมกับนำปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์มาใส่ลงไปบำรุงบ้าง ต่อมาพอมีการรวมกลุ่มเป็นการปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม จึงมีการคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องของการผลิต ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” คุณนันท์ เล่าถึงที่มา

โดยต้นยางพาราที่ปลูกภายในสวน คุณนันท์ บอกว่า ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 3×7 เมตร ดูแลใส่ปุ๋ยไปจนได้อายุ 6 ปี ต้นยางพาราจะเจริญเติบโตจนสมบูรณ์สามารถกรีดได้ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีการใส่ใจในเรื่องของค่าดินมากนัก เพราะดินภายในสวนยางยังมีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อได้เป็นสมาชิกกลุ่มปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ทางกลุ่มได้มีแบบแผนการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น ให้มีการดำเนินการนำดินภายในสวนไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ดินในระดับความลึกที่ 15 เซนติเมตรส่งตรวจ ก็จะได้ค่าออกมาว่าดินภายในสวนมีธาตุตัวไหนมากเกินไป ธาตุตัวไหนน้อยเกินไป ก็จะทำปุ๋ยสั่งตัดที่เหมาะสมกับพื้นที่มาใส่ให้กับต้นยางพารา

ปุ๋ยสั่งตัดนำมาใส่ให้กับต้นยางพารา

เมื่อใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำน้ำยางสดส่งไปตรวจหาค่า DRC (Dry Rubber content) จากเดิมค่า DRC อยู่ที่ 27-28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการจัดการที่ดีตามแผนของกลุ่มปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ค่า DRC เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ดูแลและใส่ปุ๋ยแบบสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสมกับสวนยางมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งการดูแลสวนยางพารา คุณนันท์ บอกว่า ภายในสวนจะไม่มีการนำยาฆ่าหญ้ามาฉีดพ่นภายในสวน แต่จะเน้นใช้วิธีตัดให้โคนต้นไม่รกมากจนเกินไป ส่วนใบจากต้นยางที่ร่วงลงมาบนพื้นดินก็จะปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติทับถมเกิดเป็นปุ๋ยต่อไป

“ผมใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นปีและกลางปี ในพื้นที่สวนยาง 12 ไร่ ใส่ปุ๋ยอยู่ 10 กระสอบ ก็ทำให้ค่า DRC ปัจจุบันอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ ทำให้น้ำยางสดที่เก็บขายออกจากสวนทุกวัน ราคาอยู่ที่ 32 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งบางช่วงสามารถขายได้ถึง 38 บาท ต่อกิโลกรัมก็มี ต่อวันสวนผมจะเก็บน้ำยางสดทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม รายได้เมื่อหักกับต้นทุนการผลิตต่อเดือนแล้ว ก็ยังถือว่ามีกำไร ซึ่งการขายน้ำยางสดแบบนี้ ราคาที่ได้ก็จะได้ตามมาตรฐานของน้ำยาง ซึ่งสมัยก่อนเคยขายแบบยางก้อนถ้วยไม่สามารถวัดค่า DRC ได้ เลยหันมาดำเนินการทำแบบขายน้ำยางสดเป็นหลัก” คุณนันท์ บอก

ทั้งนี้ คุณนันท์ เสริมว่า จากการขายน้ำยางแต่ละวันและมีการใช้แรงงานจากครอบครัว ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงมาก พอมีรายได้จากการทำสวนยางพาราเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันและเหลือเก็บไว้ให้กับลูกหลานในอนาคตข้างได้อีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนันท์ สุภะสอน หมายเลขโทรศัพท์ (080) 768-4283