ปลูกพืชร่วมยาง สอดคล้องวิถีชีวิต เพื่อเป็นอาหารและสร้างรายได้เสริม

ในภาวะที่สินค้าเกษตรหลายชนิดมีราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคใต้ เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกยางพารา แต่เมื่อราคายางตกต่ำ รายได้ที่เคยรับก็ลดลง ในขณะที่รายจ่ายยังเท่าเดิม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง หน่วยงานในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร จึงได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชร่วมยางขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละราย เน้นพืชท้องถิ่นที่ตลาดต้องการและผู้บริโภคนิยม

คุณอนันต์ อักษรศรี
คุณอนันต์ อักษรศรี

คุณอนันต์ อักษรศรี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง หรือ ศวพ. ตรัง เป็นหน่วยงานของกรมวิชาการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยรับผิดชอบเป็นตัวแทนของกรมในพื้นที่จังหวัดตรัง ภายใต้การกำกับของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ศึกษาวิจัยพัฒนาและทดสอบพืช ต่อเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ ผลิตพันธุ์คัด พันธุ์หลัก และพันธุ์ขยายเมล็ดหรือท่อนพันธุ์พืช และกระจายพันธุ์พืช ให้บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตในพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรวจสอบรับรองปัจจัยการผลิต และสินค้าเกษตรมีคุณภาพได้มาตรฐาน และรับผิดชอบโครงการพิเศษและโครงการในพระราชดำริ (คลินิกเกษตรเคลื่อนที่) ในพื้นที่จังหวัดตรัง

“ในสถานการณ์ที่ยางพารามีราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราและนำไปสู่ความเดือดร้อนของเกษตรกร ศวพ. ตรัง จึงได้จัดทำศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชร่วมยาง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรชาวสวนยางได้ศึกษาเรียนรู้นำไปปรับใช้ในการเพิ่มรายได้และปรับความเป็นอยู่ให้พอเพียงในการดำรงชีพ” คุณอนันต์ กล่าว

คุณบรรเทา จันทร์พุ่ม
คุณบรรเทา จันทร์พุ่ม

ด้าน คุณบรรเทา จันทร์พุ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง กล่าวเสริมว่า ทางศูนย์ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 1 แห่ง ปลูกพืชผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนกันไป ทั้งผักเหลียง ต้นขาไก่ ผักหวานป่า กะเพรา โหระพา แมงลัก ผักชีฝรั่ง มะเขือเปราะ มะเขือยาว ฟักทอง ชะมวง มันปู กระทือ ชะอม ส้มป่อย มะกรูด ถั่วฝักยาว ขมิ้น ตะไคร้ ข่า มะเม่า กระชาย ต้นหัศคุณ ชำมะเลียง บวบงู แฟง มะระจีน มะระขี้นก น้ำเต้ากลม ข้าวโพดหวาน พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน ดีปลี กล้วย มะนาว มะละกอ ข้าวไร่ ข้าวเหนียวดำ เดือย และพืชอื่นๆ อีกหลากหลายชนิด

ส่วนศูนย์การเรียนรู้การปลูกพืชร่วมยาง มี 3 แปลงต้นแบบ คือ การปลูกผักเหลียงร่วมยาง การปลูกต้นขาไก่ร่วมยาง และการปลูกสะละร่วมยาง โดยการดำเนินกิจกรรมเน้นการปลูกพืชผักท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ที่บริโภคพืชผักเหล่านี้อยู่แล้ว

สำหรับพืชผักที่เกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูก ประกอบด้วย

ผักเหลียง การขยายพันธุ์ผักเหลียง สามารถขยายพันธุ์ได้ 3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการใช้ต้นจากรากแขนง วิธีที่นิยมกันมากในปัจจุบันคือ การปลูกด้วยกิ่งตอนจะได้ทรงพุ่มดี ให้ผลผลิตมาก และรวดเร็ว

การเตรียมพื้นที่ปลูกผักเหลียง : ระยะปลูก 3×3 เมตร ต้นพันธุ์ที่ใช้ต้องเป็นพันธุ์ที่แข็งแรง วางต้นพันธุ์ให้เอียง 45 องศา ในหลุมที่ขุดแล้วกลบดินแต่พอแน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้หลักปักผูกเชือกให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันลม

ทั้งนี้ ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือช่วงฝนตกจะช่วยให้ไม่เสียเวลาและแรงงาน ในการรดน้ำ

การให้ปุ๋ยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-7-18, 15-15-15 ผสมกับปุ๋ยสูตร 12-5-14 อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

กรณีปลูกร่วมในสวนยาง ในสวนไม้ผล ในช่วงต้นฤดูฝน ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

การเก็บเกี่ยวผักเหลียง : เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อต้นผักเหลียงมีอายุ 2 ปีขึ้นไป เก็บเกี่ยว 15-30 วัน ต่อครั้ง เก็บยอดอ่อนถึงยอดเพสลาด ควรเด็ดให้ชิดข้อ ไม่เด็ดกลางข้อหรือตัด เพราะจะทำให้การแตกยอดอ่อนในครั้งต่อไปจะช้า เมื่อเก็บแล้วอย่าให้ใบหรือยอดอ่อนนั้นถูกแสงแดดและลม ควรพรมน้ำแต่พอชุ่ม สามารถเก็บได้นาน ประมาณ 5-6 วัน

1469938200

ต้นขาไก่ มีลักษณะต้นทรงพุ่มคล้ายต้นผักเหมียงในภาคใต้ แต่รสชาติหวาน หอม และมัน มีคลอโรฟิลสูง ช่วยระบบขับถ่าย บำรุงสายตา บำรุงโลหิต เด็ดยอดรับประทานสดๆ หรือปรุงเป็นอาหารได้หลายเมนู ทั้งแกงเลียง ผักลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอยและอื่นๆ

ปัจจุบันมีเกษตรกรนิยมปลูกกันมากที่สุด ในตำบลหนองบ่อ อำเภอย่านตาขาว

การขยายพันธุ์ต้นขาไก่ สามารถขยายพันธุ์ได้ 3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และการปักชำ ปลูกง่าย โตเร็ว 6-8 เดือน ก็เก็บยอดอ่อนขายได้ตลอดทั้งปี อายุต้นละไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่มีโรคและแมลงรบกวน จึงไม่ต้องใช้สารเคมี

พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน การขยายพันธุ์พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน สามารถขยายพันธุ์ได้ 3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด การปักชำไหล และการปักชำแขนง การตอน วิธีการที่นิยมในปัจจุบันคือการปักชำไหล เพื่อทำเป็นพริกไทยค้าง และการปักชำแขนง เพื่อทำเป็นพริกไทยพุ่ม

ระยะปลูก 2.25x2.25 เมตร หรือ 2.25×2.50 เมตร ส่วนการปักค้างพริกไทย ควรใช้ค้างไม้แก่นหรือค้างปูนซีเมนต์ ขนาด 4x4x4 เมตร ฝังลึก 50-60 เซนติเมตร กลบดินให้แน่น หลังจากนั้น ขุดหลุมขนาด 40×50 เซนติเมตร ลึก 40 เซนติเมตร ค้างละ 1 หลุม ห่างจากโคนค้าง 15 เซนติเมตร ผสมดินกับปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา (ดิน) 3 : 1 แล้วใส่ในหลุมประมาณครึ่งหลุม นำยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูกหลุมละ 2 กิ่ง ให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้าง กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ใช้วัสดุพรางแสง ประมาณ 3-4 เดือน หรือจนกว่าพริกไทยจะตั้งตัวได้

การดูแลรักษา การตัดแต่ง ปีที่ 1 เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้ ค้างละ 4-6 ยอด ใช้เถาวัลย์หรือเชือกฟางผูกยอด ให้แนบติดกับค้างโดยผูกข้อเว้นข้อ จนกระทั่งพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน ปีที่ 2 ตัดแต่งเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้างและใช้เชือกไนลอนผูกทับเถาวัลย์เดิมเป็นเปลาะๆ ห่างกัน 40-50 เซนติเมตร ปีที่ 3 ตัดไหลและปรางบริเวณโคนต้น ปลิดใบที่ลำต้นออก เพื่อให้โคนโปร่ง

ถ้าพริกไทยยังไม่ถึงยอดค้าง เด็ดช่อดอกออกให้หมด เพราะจะทำให้พริกไทยเจริญเติบโตช้า

การใส่ปุ๋ย ช่วงแรกใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปีละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 400-500 กรัม ต่อค้าง แบ่งใส่เดือนละ 1 กำมือ ต่อต้น

ในกรณีที่ดินมีสภาพเป็นกรด ให้ผสมสารปรับสภาพดิน ไดนาไมท์ ชนิดน้ำ สามารถปล่อยไปกับการให้น้ำ อัตรา 500 ซีซี ต่อ 2 ไร่ ทุกๆ 2-3 เดือน ช่วงที่ 2 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 500 กรัม (3 กำมือ) ต่อค้าง ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ช่วงที่ 3 สูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม ต่อค้าง + ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 400 กรัม (2-3 กำมือ) ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม  

หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน ต่อครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้วควรให้ 3-4 วัน ต่อครั้ง ตามสภาพดินฟ้าอากาศ

1469938216

มะนาวแป้นพิจิตร 1 มะนาวแป้นพิจิตร 1 สามารถปลูกได้ในบ่อซีเมนต์ โดยการเตรียมดินปลูกมะนาวและขนาดของวงบ่อซีเมนต์ จะใช้ขนาดวงเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 เซนติเมตร ใช้ฝาวงบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างกว่า 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันรากแทงทะลุลงดิน

ดินผสมที่จะใช้ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จะใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ หน้าดิน 3 ส่วน ขี้วัวเก่า 1 ส่วน และเปลือกถั่วเขียว 2 ส่วน (ถ้าไม่มี ใช้แกลบดิบแทน) ผสมคลุกเคล้ากัน การใช้เปลือกถั่วเขียวจะช่วยให้สภาพดินมีการระบายน้ำที่ดี ถ้าใช้แค่หน้าดินผสมกับขี้วัวจะทำให้ดินปลูกแน่น เวลาให้น้ำไป 3-4 วัน น้ำยังไม่ถึงข้างล่างของวงบ่อ

เทคนิคในการผสมวัสดุปลูก จะต้องปูพื้นด้วยหน้าดินเป็นขั้นแรก หลังจากนั้น ใส่ขี้วัวเก่าเป็นชั้นที่ 2 แล้วตามด้วยเปลือกถั่วเขียวเป็นชั้นบนสุด หลังจากนั้น ใช้เครื่องตีพรวนติดรถไถจะเร็วกว่าใช้แรงงานคน

การใส่วัสดุปลูกลงบ่อซีเมนต์มีเทคนิค โดยจะต้องใส่ให้พูนเป็นภูเขาเลย และที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษขณะที่ใส่วัสดุปลูกลงในวงบ่อนั้นคือ จะต้องขึ้นเหยียบวัสดุปลูกขอบๆ วงบ่อ บริเวณตรงกลางไม่ต้องเหยียบ การใส่วัสดุปลูกให้เป็นภูเขาจะช่วยในเรื่องดินยุบลงมาเสมอวงบ่อได้นานถึง 1 ปี ซึ่งเป็นการลดปัญหาเรื่องโรคโคนเน่าได้

หลังจากที่ใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว ให้ขุดเปิดปากหลุมขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราประมาณ 1 กำมือ ถอดถุงดำปลูกต้นมะนาวให้พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ ต้น เพื่อไม่ให้โยกคลอน ปักไม้เป็นหลักกันลมโยกและใช้เชือกฟางมัดต้นมะนาวไว้กับหลัก

หลังจากปลูกเสร็จให้เดินท่อ PE เจาะหัวมินิสปริงเกลอร์และวางท่อ PE พาดไปกับวงบ่อเลยเพื่อสะดวกต่อการทำงาน

การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกไปแล้วนับไปอีก 8 เดือน สามารถบังคับให้ต้นออกดอกได้ ถ้าจะบังคับให้มะนาวออกฤดูแล้งในรุ่นแรก ให้ปลูกต้นมะนาวในช่วงเดือนมกราคม ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ในปีเดียวกันบังคับต้นให้ออกดอกได้โดยใช้หลักการเหมือนกับที่ปลูกลงดิน

ผลผลิตมะนาวฤดูแล้งจะไปแก่และเก็บผลผลิตขายได้ราคาแพงในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของปีถัดไป เท่ากับว่าการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้เวลาปลูกเพียงปีเศษเท่านั้น สามารถเก็บมะนาวฤดูแล้งขายได้ ตัดแต่งกิ่งมะนาวในวงบ่อซีเมนต์อย่างหนัก ทุกๆ 3 ปี ในช่วงปีที่ 1-2 จะตัดแต่งบ้างแต่ไม่มากนัก

“ศวพ. ตรัง จัดทำศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชร่วมยาง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรที่เคยผลิตพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยางพารา ข้าว หรือพืชไร่ชนิดใดชนิดหนึ่ง มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกพืชร่วมยาง และการปลูกพืชแซมยาง รวมถึงการผลิตไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ประดับ การเลี้ยงสัตว์ และการประมง โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดภายในประเทศและความสอดคล้องกับทรัพยากรของพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก และเจ้าหน้าที่ของ ศวพ. ตรัง จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้และคำแนะนำทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจ ปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายภายในครอบครัวเกษตรกร” คุณบรรเทา กล่าวทิ้งท้าย

 

หากสนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อแนะนำต่างๆ ในการปลูกพืชของศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการปลูกพืชร่วมยาง ติดต่อได้โดยตรงที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เบอร์โทรศัพท์/โทรสาร (075) 203-123