“นิเวศน์ เชื้อหงษ์” กับสวนมะขามเปรี้ยวยักษ์สร้างเงิน ที่วังโป่ง เพชรบูรณ์ (ตอนจบ)

ผู้ใหญ่บ้านนิเวศน์ เชื้อหงษ์ บ้านวังไทรทองเหนือ หมู่ที่ 7 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. 080-506-8863, 091-841-8261 ผู้ใหญ่นิเวศน์ เล่าว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตมะขามเปรี้ยวยักษ์เสร็จแล้ว ก็จะพักต้นไว้สัก 1-2 เดือน เพื่อให้ต้นมะขามได้สะสมอาหาร จากนั้นก็จะตัดแต่งกิ่ง โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งเบียดในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรคและแมลงเข้าทำลายออก ใช้ยาป้องกันเชื้อราทาที่รอยแผล การตัดแต่งกิ่งเป็นการกระตุ้นให้ต้นมีการเจริญเติบโต และแตกกิ่งก้านใหม่ก่อนที่จะให้ผลผลิตในปีต่อไป 

ผญ.นิเวศน์ เชื้อหงษ์ เจ้าของสวนมะขามเปรี้ยวยักษ์

วิธีการตัดแต่งกิ่งมะขาม

การตัดแต่งกิ่งมะขามเปรี้ยวจะตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตในส่วนที่ต้องการ เป็นการพัฒนาต้นพืชให้มีโครงสร้างที่แข็งแรง ได้รูปทรงที่พึงประสงค์ ทำให้การให้ดอกออกผลดีขึ้นในปีต่อไป

ดังนั้น การทำสวนผลไม้ให้ติดผลดกและมีคุณภาพดี นอกจากการดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชแล้ว ยังต้องมีการตัดแต่งกิ่ง หากไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ปล่อยให้พืชเจริญเติบโตตามธรรมชาติในช่วงแรกๆ ที่ต้นไม้อายุยังน้อย อาจยังไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้น ปัญหาต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนเมื่อมีอายุมากขึ้น จะเกิดปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ตามมา

ความยาวของฝักมะขามเปรี้ยวยักษ์

ต้นไม้ที่มีอายุมากขึ้น ลำต้นก็จะมีขนาดสูงใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุ กิ่งแน่นทึบเกะกะ มีกิ่งเล็กกิ่งน้อย กิ่งแก่กิ่งแห้งตาย เพราะแสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มไม่ทั่วถึง คือกิ่งได้รับแสงไม่เพียงพอการติดผลจะน้อย ติดเฉพาะรอบๆ ทรงพุ่ม ผลเล็ก แคระแกร็น คุณภาพต่ำ มะขามก็เช่นเดียวกัน ต้นที่ไม่มีการตัดแต่งกิ่ง ฝักจะเล็กลีบแห้ง ไม่สมบูรณ์ มีรสอมเปรี้ยว มะขามพันธุ์ประกายทองจะเกิดเชื้อรามาก เพราะความชื้นในทรงพุ่มสูง แสงแดดไม่สามารถส่องเข้าไปทั่วถึง น้ำค้างแห้งช้า การถ่ายเทของอากาศเกิดขึ้นไม่ดี มะขามที่ไม่ตัดแต่งกิ่งมักมีปัญหาการติดฝักรุ่น 2 เพราะดอกรุ่นแรกไม่ติด เนื่องจากมีฝักมะขามรุ่นแรกติดอยู่ ทำให้การออกฝักน้อย แล้วก็มีการติดฝักรุ่น 2 อีก หากไม่มีการตัดแต่งกิ่งและตัดฝักเก่าทิ้ง ปัญหานี้จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น การปลูกมะขามเพื่อการค้าจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ ควบคุมขนาดและรูปร่างของต้นให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ใช้บันไดในการเก็บเกี่ยวฝักมะขามที่อยู่สูงโดยใช้กรรไกรตัดลงจากต้นทีละฝัก

การปลูกและการดูแลรักษามะขามเปรี้ยวยักษ์

มะขามเปรี้ยวยักษ์ ขึ้นได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่สภาพดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำดี นอกจากนั้นยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 8×8 เมตร จะได้จำนวน 25 ต้น ต่อไร่ หรือห่างกว่านี้เป็น 10×10 เมตร ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเองว่ามีมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากมะขามเป็นพืชอายุยืน ชอบแดด ถ้าปลูกชิดทรงพุ่มมีร่มเงาบังแดดกัน ก็จะไม่ออกดอก หรือออกดอกได้ไม่ดี ขุดหลุมปลูก ขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ดินที่ขุดจากหลุมปลูกให้แยกเป็นสองกอง คือดินชั้นบนและดินชั้นล่าง แล้วผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอกเก่า ประมาณ 1-2 บุ้งกี๋ ต่อหลุม จากนั้นจึงกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยเอาดินชั้นบนลงไว้ก้นหลุมก่อน แล้วจึงกลบทับด้วยดินชั้นล่าง ก็จะได้หลุมปลูกเป็นแบบหลังเต่า

หลังปลูกควรผูกต้นติดกับไม้หลักเพื่อป้องกันลมโยกในระยะแรก หากปลูกในหน้าฝนก็อาศัยฝนจากธรรมชาติเป็นหลัก แต่หากปลูกในช่วงเวลาอื่น ควรรดน้ำ 1-2 วัน ต่อครั้ง จนกว่าต้นจะตั้งตัวได้ จึงเว้นช่วงห่างประมาณ 3 หรือ 7 วัน ต่อครั้ง เมื่อต้นมะขามมีอายุ 1-3 ปี ควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เช่น 16-16-16 อัตรา 500 กรัม ต่อต้น (ประมาณ 1 กระป๋องนม) โดยให้แบ่งใส่สัก 3 ครั้ง ในรอบ 1 ปี และเมื่อมะขามเริ่มออกดอกให้ผลผลิต ใส่ปุ๋ย 16-16-16 จะช่วยให้มีการติดผลมากขึ้น

มะขามเปรี้ยวยักษ์ราคา 13 18บาทต่อกก.

 

สำหรับฤดูปลูก ควรจะปลูกต้นฤดูฝน เนื่องจากพื้นที่เขตนี้เป็นพื้นที่เขาไม่มีระบบน้ำ เพราะเมื่อปลูกเสร็จแล้วต้นมะขามที่ยังเล็กอยู่จะได้รับน้ำฝน สามารถตั้งตัวได้ดีก่อนจะเข้าถึงฤดูแล้ง ต้นมะขามที่ปลูกใหม่ควรจะผูกยึดกับหลัก เพื่อให้ต้นมะขามขึ้นตรงไม่โค่นล้ม เนื่องจากลมแรง ก่อนปลูกหากปลูกด้วยกิ่งทาบจำเป็นต้องแกะเอาเชือกฟางหรือพลาสติกตรงรอยต่อออก เพราะถ้าไม่ได้แกะออก จะทำให้ต้นมะขามแคระแกร็นหรืออาจจะตายได้ ในช่วงแรกของการปลูก เนื่องจากการปลูกมะขามหวาน ใช้ระยะห่าง 8×8 เมตร ขณะที่มะขามหวานยังเล็กอยู่ อาจจะปลูกพืชอื่นแซมระหว่างแถวได้ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง สับปะรด หรือพริก อันจะเป็นการเพิ่มรายได้ต่อเนื้อที่ให้มากขึ้น

ขนย้ายมะขามเปรี้ยวเข้าร่มเพื่อรอพ่อค้ามารับ

ราคารับซื้อมะขามเปรี้ยว ในปีนี้ก็ถือว่ายังอยู่ได้

เนื่องจากมีแม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่สวน ถ้าเขามาเก็บเองที่สวน เรามีหน้าที่มาดูชั่งกิโลแล้วรับเงิน ก็ กิโลกรัมละ 13 บาท ซึ่งดีที่เราไม่ต้องจ้างแรงงานมาเก็บหรือขนย้ายอะไรเลย แต่ถ้าเราเก็บให้แม่ค้าเอง เราก็ต้องจ้างคนมาเก็บ ก็จะได้กิโลกรัมละ 16-18 บาท ซึ่งคิดแล้วก็พอๆ กัน จึงให้แม่ค้าเข้ามาเก็บกันเอง โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยมาก ช่วงหลายปีก่อนใช้วิธีการขายแบบเหมาสวน ก็เฉลี่ยๆ ต้นละ 800-1,500 บาท แต่เมื่อต้นมะขามโตขึ้นอายุมากขึ้นผลผลิตก็สูงขึ้น

อย่างตัวเลขของปีที่แล้วที่แม่ค้าเก็บได้ราว 15 ตัน ต่อ 60 ต้น ซึ่งหากเราขายชั่งเป็นกิโล ก็จะมีรายได้สูงกว่าการขายเหมาเกือบเท่าตัว มาในปีนี้จึงใช้วิธีขายแบบชั่งกิโลแทน ก็มีรายได้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก และคาดว่าผลผลิตน่าจะมากกว่า 20 ตัน แน่นอน ในปีนี้อนาคตจะต้องมีการรวมกลุ่มแน่นอนเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองระหว่างเกษตรกรกับพ่อค้าแม่ค้าคนกลางหรือแม้แต่โรงงานรับซื้อ เพราะตอนนี้เกษตรกรต้องผ่านแม่ค้าพ่อค้าคนกลาง ทำให้การรับซื้อมะขามเปรี้ยวยังอยู่ในราคาที่ไม่สูงมากนักจากความเป็นจริง

คุณณัฐวุฒิ เชื้อหงษ์ บุตรชายที่มาช่วยเรื่องการตลาดมะขามเปรี้ยวแช่อิ่ม

ปีนี้ก็จริงจังกับเรื่องแปรรูปมะขามเปรี้ยวดองและแช่อิ่มมากขึ้น เนื่องจากเพิ่มมูลค่าได้สูงหลายเท่า เป็นการสร้างมูลค่าที่สูงขึ้นหลายเท่าตัวจากการขายเป็นมะขามเปรี้ยวดิบ ส่วนหนึ่งก็เป็นการสร้างรายได้เสริมของกลุ่มแม่บ้าน คนแก่ในหมู่บ้านที่ใช้เวลายามว่างมารับจ้างในการมาช่วยแปรรูปมะขามเปรี้ยว ซึ่งตอนนี้เราขายมะขามดองหรือแช่อิ่มได้ กิโลกรัมละ 100-150 บาท เลยทีเดียว

ซึ่งขายทั้งแบบปลีกและราคาส่ง นั่นขึ้นอยู่กับปริมาณในการสั่งซื้อ ซึ่งตอนนี้ได้การตอบรับดีมากทั้งในเรื่องของรสชาติ คุณภาพ เนื่องจากมีการสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง และกลับมาซื้ออีกหลายรอบ ตอนนี้การทำมะขามแปรรูปจำหน่ายจะเน้นทำสดใหม่ ทำตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งจองไว้ล่วงหน้า เผื่อเราจะได้วางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าได้

มะขามเปรี้ยวแช่อิ่มพร้อมจำหน่าย กก.ละ150บาท

วิธีการทำมะขามแช่อิ่ม

เป็นการแปรรูปที่สามารถสร้างรายได้อย่างดีสำหรับเกษตรกรหรือคนที่มีสวนมะขาม อันดับแรกต้องนำมะขามแกะเปลือกแช่น้ำเกลือ 3 วัน วิธีการแกะเปลือกมะขามเปรี้ยวนั้น จะนำมะขามเปรี้ยวมาลวกในน้ำร้อน ประมาณ 2 นาที ให้เปลือกมะขามนิ่ม หลังลวกเสร็จก็จะตักมะขามขึ้นจากน้ำร้อน นำไปพักในตะกร้าให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นเทมะขามลงน้ำสะอาด

กลุ่มแม่บ้านหรือแรงงานก็จะใช้มีดแกะเปลือกมะขามออกได้อย่างง่ายดาย แกะเปลือกจนหมด ก็จะนำมะขามมาแช่ในน้ำปูนใสที่เตรียมเอาไว้ จากนั้นเป็นขั้นตอนการเตรียมน้ำปูนใส อัตราส่วน น้ำสะอาด 100 ลิตร ต่อ ปูนแดง 2 กิโลกรัม คนให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นตักน้ำปูนใส ส่วนบนที่ไม่มีตะกอนเทราดบนมะขาม ที่แช่น้ำเกลือไว้ข้างต้นมาแช่ในน้ำปูนใส ประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ลวกฝักมะขามเปรี้ยวในน้ำร้อนเพื่อให้แกะเปลือกได้ง่าย

จากนั้นตักมะขามขึ้นมาทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ ระหว่างนี้ให้จัดเตรียมการทำน้ำเชื่อม สำหรับแช่อิ่มในอัตราส่วน น้ำตาล 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 1.5 กิโลกรัม เคี่ยวจนได้ที่ รอให้เย็นแล้วเทน้ำเชื่อมที่ได้ให้ท่วมมะขามที่จัดเตรียมไว้ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง พอครบเวลาเทน้ำเชื่อมทิ้ง ซึ่งขั้นตอนนี้เราจะทำทั้งหมด 3-4 ครั้ง โดยน้ำเชื่อมครั้งแรกและครั้งที่สองที่เททิ้งนั้นเพื่อล้างน้ำปูนที่แช่มะขามไว้ หากใครต้องการมะขามแช่อิ่ม ที่อมเปรี้ยวอมหวานก็ให้ผ่านขั้นตอน แค่ 2-3 ครั้ง

หากต้องการมะขามแช่อิ่มที่มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ก็ให้ทำให้ครบ 4 ครั้ง และเพื่อให้มะขามแช่อิ่มสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องพึ่งสารกันบูด สามารถเก็บในตู้เย็นได้นานนับปี ซึ่งตอนนี้ได้ คุณณัฐวุฒิ เชื้อหงษ์ บุตรชายที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการตลาดมะขามแปรรูปมากขึ้น ซึ่งจะขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งได้การตอบรับดีมาก มียอดสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ลูกค้าที่เคยซื้อไปก็กลับมาซื้ออีกและซื้อมากขึ้นกว่าเดิม โดยสอบถามดูก็รู้ว่า มะขามแช่อิ่มของเราสดใหม่ สะอาด และรสชาติอร่อย

กลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุช่วยงานการแปรรูปมะขามเปรี้ยว

การดูแลโรคและแมลงศัตรูมะขามเปรี้ยวยักษ์

อย่างที่อธิบายไว้ว่า มะขามเปรี้ยวยักษ์ เป็นพืชที่ทนแล้งมาก สามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ธรรมชาติของมะขามมีความแข็งแรงทนทานมาก มะขามเปรี้ยวจะเริ่มสลัดใบในช่วงมีนาคม-เมษายน ในช่วงหน้าร้อนยิ่งแล้งก็ยิ่งร่วง ใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงฝักแก่ ก็ประมาณ 3-4 เดือนเลยทีเดียว แต่ถ้าจะเก็บฝักดิบในการนำไปแช่อิ่มจะอยู่ประมาณกันยายน-ตุลาคม ชุดแรกฝักแก่ประมาณธันวาคมแล้วก็ไล่ไปเรื่อยจนถึงชุดสุดท้าย อาจเก็บฝักแก่ประมาณมีนาคม

วิธีจะดูว่าฝักมะขามจะเก็บได้หรือยังในฝักแก่หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า มะขามกอก เราจะสังเกตจากสีของเปลือกมะขาม จะมีสีน้ำตาลนวลๆ หรืออาจเป็นสีน้ำตาลเหลือง เวลาสุกให้ใช้นิ้วดีดเบาๆ จะมีเสียงออกกลวงๆ แต่ถ้ายังไม่สุกเสียงในการดีดฝักจะออกแน่นๆ ในฝักที่สุกแล้วใช้นิ้วขูดที่ผิวของฝักจะไม่เป็นริ้วรอย เนื้อจะแห้งยุบตัวแยกออกจากเปลือก โรคของมะขามเปรี้ยวที่อาจจะเกิดคือ โรคของแมลงรบกวนมากัดกินใบอ่อนบ้างแต่ไม่มาก ส่วนอีกโรคคือ โรคราแป้งขาว จะเกิดเชื้อระบาดรุนแรง ในสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง
ซึ่งจะทำให้ต้นมะขามโทรม ถ้าเป็นในช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ลดจำนวนลง มักเกิดในช่วงปลายฝนเราสามารถใช้กำมะถันผงฉีดพ่นช่วงเย็นๆ ประมาณ 1-2 ครั้ง ราแป้งก็จะหายไป

การลอกเปลือกจะใช้มีดตัดตรงขั่วมะขามก่อน

การเก็บเกี่ยว มะขามส่วนมากจะแก่และเก็บเกี่ยวได้ในระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งปลูกและสภาพดินฟ้าอากาศ การเก็บฝักมะขามควรใช้กรรไกรตัดขั้วให้หลุดออกจากกิ่ง ไม่ควรใช้มือปลิด เพราะจะทำให้ฝักแตก

การดูแลรักษาต้นมะขามหลังการเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาต้นมะขามหลังการเก็บเกี่ยว หลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งมะขาม โดยตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลง หรือกิ่งที่ไขว้กันออก และให้ใช้สีน้ำพลาสติกหรือยากันราทารอยแผลเพื่อป้องกันโรคราที่จะเกิดขึ้นภายหลัง

สำหรับกิ่งที่ตัดออก ควรรีบนำออกจากแปลงมะขามไปทิ้งหรือทำลายที่อื่น โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลง ควรรีบทำลายโดยการนำไปเผาทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหรือแมลง