“โมปินายน์ เมล่อนฟาร์ม” เมืองสอง แพร่ มีผลผลิตสู่ตลาดทุกเดือน

“เมล่อน” ไม่ได้เป็นพืชพื้นถิ่นดั้งเดิมของประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้มีเกษตรกรหันมาประกอบอาชีพปลูกเมล่อนกันมาก มีทั้งเกษตรกรที่ผลิตแล้วประสบผลสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเหตุปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการหรือขั้นตอนในการปลูก การดูแลเอาใจใส่ ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งองค์ความรู้มีให้ศึกษาค้นคว้ามากมายตามสื่อประเภทต่างๆ ที่เมืองสอง หรืออำเภอสอง มีเกษตรกร 2 สามีภรรยา ก็ปลูกเมล่อน แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถผลิตเมล่อนออกสู่ตลาดได้ทุกเดือน โดยการบริหารจัดการที่มีระบบ

คุณพศวีร์ สุยะตา อายุ 40 ปี และ คุณหทัยชนก คงสวรรค์ 2 สามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 1 บ้านลูนิเกต  ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ เป็นผู้ปลูกเมล่อนระบบปิดในโรงเรือน ได้เล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ได้ว่า ช่วงก่อนปี 2560 คุณหทัยชนก ทำงานที่ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดแพร่ ส่วน คุณพศวีร์ พอมีเวลาก็ได้เข้าไปศึกษาเรื่องการปลูกเมล่อน ในยูทูบ (YouTube) เกิดแรงบันดาลใจที่สั่งสมให้หันมาสนใจเรื่องเมล่อน เพราะได้ข้อมูลว่า เมล่อน เป็นพืชเศรษฐกิจ มีราคาดี ตลาดยังรองรับได้ สำหรับผู้บริโภคก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และจำนวนผู้ปลูกเมล่อนยังมีน้อย

จึงได้ปรึกษาหารือกันว่า ถ้าจะทำอาชีพเกษตรกรรม…ปลูกเมล่อน นี่แหละ ต้องวางแผน 1… 2… 3… ขอเดินไปทีละก้าว จึงพากันไปศึกษาดูงานการปลูกเมล่อนที่จังหวัดเชียงราย ได้ข้อสรุปว่า ถ้าสนใจก็ให้ซื้ออุปกรณ์ชุดระบบแฟรนไชส์ ราคาค่อนข้างสูง หาช่องทางอื่น… ดูจากทางอินเทอร์เน็ต เห็นมีที่อำเภอวังชิ้น ก็ไปขอศึกษาเพื่อเก็บไว้เป็นชุดข้อมูลเบื้องต้นก่อนเริ่มลงมือทำ ช่วงจังหวะได้มีโอกาสไปเข้าอบรม โครงการ Start up สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ จากนั้นก็เริ่มฝึกเขียนแผนงานโครงการและงบประมาณเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ได้รับการอนุมัติ คุณหทัยชนกก็ออกจากงานประจำมาร่วมกันออกแบบสร้างโรงเรือน ลงทุนไปตั้งแต่เริ่มแรก 3 โรงเรือน ขนาด 6×24 เมตร

คุณพศวีร์ สุยะตา

ศึกษาค้นหาสายพันธุ์เมล่อนที่เหมาะสม

คุณพศวีร์ บอกถึงหลักการในการเลือกสายพันธุ์เมล่อนว่า ต้องปลูกง่าย ตายยาก ผลแก่เร็ว เนื้อมีความหวาน รับประทานอร่อย จึงเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และความสามารถในการดูแลเอาใจใส่ของตนเอง คัดเลือกได้ 5 สายพันธุ์ คือ

  1. กรีนเน็ต
  2. บารมี
  3. จันทร์ฉาย
  4. คิโมจิ
  5. เคที 51

แต่ละสายพันธุ์มีลักษณะความโดดเด่นที่แตกต่างกัน คุณพศวีร์ สรุปให้ฟัง ดังนี้

  1. เมล่อนสายพันธุ์กรีนเน็ต (จากประเทศไต้หวัน)

ปลูกง่าย ทนโรค ลักษณะผลรูปทรงกลม ผิวตาข่ายแต่ไม่นูน เนื้อสีเขียว รสหวานจัด กรอบ อร่อย แต่มีข้อด้อยคือ ถ้าปลูกในฤดูหนาวก้นมักจะแตก เก็บผลไว้ได้ไม่นาน เนื่องจากสุกเร็ว ขั้วหลุดง่าย น้ำหนักผล 1.2-1.5 กิโลกรัม

คุณหทัยชนก คงสวรรค์
  1. เมล่อนสายพันธุ์บารมี (เป็นลูกผสมฝีมือเกษตรกรไทย)

ลักษณะผลกลม ผิวตาข่าย มีลายแต่ไม่นูนมาก เนื้อสีส้ม กรอบ หอม หวานพอประมาณ เป็นที่ต้องการของตลาด ผลใหญ่ น้ำหนัก 1.8-2.0 กิโลกรัม

  1. เมล่อนสายพันธุ์จันทร์ฉาย (เป็นลูกผสมฝีมือเกษตรกรไทย)

ลักษณะผลสีทองผิวเกลี้ยง เนื้อสีส้ม หวาน กรอบ น้ำหนัก 1.5-2.0 กิโลกรัม เป็นที่ต้องการของตลาดเช่นเดียวกันกับสายพันธุ์บารมี

ผลผลิตจากฟาร์ม
  1. เมล่อนสายพันธุ์คิโมจิ (จากประเทศญี่ปุ่น)

ลักษณะผลกลม ลายนูนเห็นชัด เนื้อสีเขียว เนื้อนุ่ม หวานไม่จัด น้ำหนักผล 1.2-1.6 กิโลกรัม

  1. เมล่อนสายพันธุ์เคที 51 (เป็นชื่อสายพันธุ์ทางการค้าของกลุ่มเครือข่าย)

ลักษณะผลกลม เป็นตาข่ายเล็กน้อยสีขาว เนื้อสีเขียว เนื้อนุ่มหวาน ผลใหญ่ น้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป

น่ารับประทานมาก

เมล่อน ต้องปลูกง่ายตายยาก

คุณพศวีร์ เล่าว่า หลังจากเสร็จสิ้นการสร้างโรงเรือนแล้ว ก็มาถึงกระบวนการในการบ่มเพาะเมล็ด การปลูกการดูแลเอาใจใส่ จนถึงการเก็บเกี่ยว เริ่มจาก

การเพาะเมล็ด ในถาดหลุม 104 หลุม นำเมล็ดเมล่อนมาแช่ในน้ำอุ่นๆ นาน 6 ชั่วโมง จากนั้นนำขึ้นมาบ่มเพาะห่อหุ้มเมล็ดด้วยกระดาษทิชชู ใส่ไว้ในกระติกน้ำ นาน 24 ชั่วโมง เมล็ดเมล่อนจะเริ่มแทงออกมาให้เห็น ก็นำมาลงปลูกในถาดหลุมที่มีวัสดุเป็นพีทมอสส์ นำถาดหลุมไปไว้ในโรงเรือนเพื่อให้ต้นอ่อนเมล่อนได้รับแสง

ในตอนนั้น คุณพศวีร์ตั้งข้อสังเกตว่า เคยนำต้นกล้าเมล่อนในถาดหลุมไปไว้ในที่ร่ม ผลปรากฏว่าต้นมันยืดไม่แข็งแรง จึงปรึกษาผู้รู้ว่าให้นำไปบ่มเพาะในโรงเรือน รดน้ำ เช้า-เย็น ต้นจะแข็งแรง ระยะเวลาผ่านไป 10 วัน จึงนำลงถุง

พันธุ์เคที

การนำต้นกล้าลงปลูกในถุง ใช้ถุงสีขาวขุ่น ขนาด 8×13 นิ้ว บรรจุวัสดุปลูก ประกอบด้วยกาบมะพร้าวสับย่อย ผสมกับขุยมะพร้าว อัตราส่วน 1:1 ใน 1 โรงเรือน วางถุง 4 แถว ระยะห่าง 45 เซนติเมตร จำนวน 100 ถุง รวม 400 ถุง/ต้น ต่อ 1 โรงเรือน ถ้า 3 โรงเรือน รวม 1,200 ถุง/ต้น แต่คุณพศวีร์ บอกว่าไม่ได้นำลงปลูกพร้อมกันทั้ง 3 โรงเรือน หลักคิดก็คือ ต้องการให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ดังนั้น จึงวางแผนการปลูกไว้ 4 รุ่น ต่อปี คือ

รุ่นที่ 1 ปลูกและเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม

รุ่นที่ 2 ปลูกและเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม

รุ่นที่ 3 ปลูกและเก็บเกี่ยวช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน

รุ่นที่ 4 ปลูกและเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน

แต่ทั้งนี้ คุณพศวีร์ ชี้แจงว่า พอมีเวลาช่วงหลังเก็บเกี่ยวแล้ว ก็จะรีบทำความสะอาดโรงเรือน ตากวัสดุที่ปลูกเป็นการฆ่าเชื้อไปในตัว

พันธุ์คิโมจิ

การให้น้ำ ภายในโรงเรือนเมล่อนของคุณพศวีร์ ได้วางระบบน้ำหยดไว้ และมีการใช้เทคโนโลยีการให้น้ำด้วยระบบจ่ายน้ำอัตโนมัติ (Automatic Watering System)

ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เม็ดผสมคลุกเคล้าไว้กับวัสดุปลูกในถุงปลูกแล้วตั้งแต่ต้น และให้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำไปกับน้ำหยดอีกเป็นระยะๆ ตามการเติบโตของต้นเมล่อน

เมื่ออายุ 1-10 วัน ให้ปุ๋ย ร้อยละ 10

เมื่ออายุ 10 วันขึ้นไป ให้ปุ๋ย ร้อยละ 30

ระยะ 1 เดือน ก่อนเก็บผล ให้ปุ๋ย ร้อยละ 100

พันธุ์บารมี

และก่อนเก็บผล 15 วัน จะให้ปุ๋ย สูตร 0-0-50 แต่ทั้งนี้ คุณพศวีร์ บอกว่า มีช่วงดูแลพิเศษคือ ช่วงที่ต้องผสมเกสร จะหยุดการให้ปุ๋ย ให้เพียงเฉพาะน้ำเท่านั้น หลังผสมเกสรเสร็จ 7 วัน จึงเริ่มให้ปุ๋ย

การผสมเกสร เนื่องจากการปลูกเมล่อนของคุณพศวีร์ เป็นโรงเรือนระบบปิด ไม่มีแมลงธรรมชาติช่วยผสมเกสร ทั้ง 2 คน สามีภรรยาจึงต้องเอาใจใส่ในการผสมเกสรเอง โดยกล่าวว่า หลังนำต้นกล้าเมล่อนลงปลูกผ่านไป 25 วัน เมล่อนจะเริ่มออกดอกแล้วจะผสมเกสร

เมื่อติดผล จะคัดผลตามข้อ ในข้อที่ 9-10-11-12 รวม 4 ผล แต่จะคัดผลที่สมบูรณ์ที่สุด ไว้เพียง 1 ผล ต่อต้นเท่านั้น นอกจากนั้นเด็ดทิ้ง จากนั้นจะมัดผลเมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่ จะแขวนผลไว้กับราว และต้องคอยเด็ดแขนง พันยอดจนลำต้นมีความสูง 2 เมตร หรือมีจำนวนใบ 17 คู่ ซึ่งได้ข้อสรุปแล้วว่า จำนวนใบเท่านี้เพียงพอต่อการสะสมธาตุอาหารสำหรับเลี้ยงผล แล้วก็จะเด็ดหรือตัดยอดทิ้ง ให้ผลเมล่อนเจริญเติบโต รอการเก็บเกี่ยวผลผลิตคุณพศวีร์ ให้ข้อสังเกตว่า ผลเมล่อนจะมีช่วงเวลาการเติบโตไม่พร้อมกัน จึงต้องกำหนดสัญลักษณ์โดยใช้ป้ายสีเป็นการระบุวันที่ พร้อมอายุวันเก็บผลตามสี

พันธุ์กรีนเน็ต

การดูแลเอาใจใส่

คุณหทัยชนก บอกว่า ต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนการดูแลลูกเลย ทั้ง 2 คน จะต้องเข้าไปดูในโรงเรือนทุกวัน ดูการเติบโตของผลเมล่อน โรค/แมลง วัสดุปลูกซึ่งมีผลต่อเนื้อเมล่อน ดูระบบท่อส่งน้ำว่ามีการอุดตันหรือไม่

โรค/แมลง คุณหทัยชนก บอกว่า เคยพบราสนิม ใช้กำมะถันผงผสมน้ำฉีดพ่น และเคยพบเพลี้ยไฟระบาดเพียงแค่ 2-3 วัน สามารถสร้างความเสียหายได้ และช่วงอากาศปิดหลายๆ วัน ก็มีปัญหาเช่นกัน แม้การผลิตเมล่อนของคุณพศวีร์-คุณหทัยชนก จะยังไม่ได้รับ GAP แต่กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนก็ได้ดำเนินการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว

พันธุ์จันทร์ฉาย

แต่ช่วงเวลาที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือ การปลูกเมล่อนในฤดูหนาต้องระวังก้นผลแตก เมื่อฤดูฝนก็ต้องระวังเชื้อรา แต่ถ้าปลูกในฤดูร้อนจะได้ผลผลิตที่ดี และไม่มีโรค/แมลงมากนัก

คุณภาพของเมล่อนที่คุณพศวีร์ผลิตคือ เน้นที่ความหวาน ที่ 15-16 องศาบริกซ์ (Brix) เนื้อกรอบ เนื้อทรายคล้ายสาลี่ เนื้อไม่แน่น มีความอร่อยตรงตามความต้องการของผู้บริโภค

ทำแปลงทดลองเพื่อหาข้อสรุประหว่างการปลูกลงถุงกับการปลูกลงดิน

คุณพศวีร์ ได้อธิบายว่า กำลังอยู่ระหว่างการทดลองปลูกเมล่อนลงดินและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ใช้ในการหมักจากวัตถุดิบ อย่างเช่น รำ กากถั่วเหลือง ขี้วัว กาบมะพร้าวสับ ขี้เถ้าแกลบ ผสมคลุกเคล้าแล้วนำกากน้ำตาลละลายน้ำ  รดลงบนกอง หมักไว้จนพิสูจน์แล้วว่าไม่มีความร้อนในกองปุ๋ย ก็นำไปใช้ได้ แต่ระหว่างการทดลองนี้ยังไม่ได้ผลผลิต แต่สังเกตเห็นว่าเมล่อนมีลำต้นที่ใหญ่ ใบใหญ่ ลำต้นสูงเร็ว ต้องรอจนกว่าจะเก็บผลผลิต จะได้ข้อสรุปว่าการปลูกลงถุงกับการปลูกลงดินแบบไหนจะได้คุณภาพดีกว่ากัน

คุณพศวีร์ บอกว่า ผลผลิตเมล่อนของผมแม้จะตัดออกขายได้ตลอดปี แต่…แต่ละรุ่นก็ไม่ได้ผลผลิตร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีตัวแปรคือ สภาพภูมิอากาศ อย่างฤดูหนาว จะเสียหายไป ร้อยละ 20 ฤดูฝน จะเสียหายมากถึง ร้อยละ 50 และฤดูร้อน จะเสียหายน้อยหน่อย เพียงร้อยละ 10 แต่เมื่อรวมผลผลิตทั้งปีแล้ว ผมก็ยังพอใจอยู่ ซึ่งผมก็พยายามปรับปรุงแก้ไข และทดลองด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุปนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

กำลังเจริญเติบโต

ตลาดยังไปได้สวย

คุณพศวีร์ บอกว่า ตนเองใช้การตลาดนำการผลิต ผลผลิตส่วนใหญ่ขายผ่านทางสื่อ Facebook ชื่อว่า Hathaichanok Kongsawan. “ผมคิดว่าตลาดเมล่อนในประเทศไทยยังไปได้สวย แต่ผมกำลังจะพัฒนาการผลิตให้มีความแตกต่างในด้านรสชาติให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น”

จะให้คำแนะนำอะไรกับเกษตรกรที่คิดจะปลูกเมล่อนรายใหม่ๆ บ้างไหมครับ? ผมตั้งคำถาม

คุณพศวีร์ บอกว่า ยินดีครับ

เพาะกล้า
  1. ก่อนจะลงมือปลูก ควรศึกษาข้อมูล หาความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล่อนให้มาก ตั้งแต่สายพันธุ์ การเพาะเมล็ด การปลูก การดูแลเอาใจใส่ ไม่ควรปลูกทิ้งขว้าง และไม่ทำตามกระแส
  2. ควรไปดูงานพื้นที่ปลูกเมล่อนหลายๆ แปลง ขอคำแนะนำเพื่อให้เกิดแนวคิดในการวางแผนการผลิต
  3. ค่อยๆ ทำการผลิต ไม่ควรลงทุนเป็นจำนวนมากในครั้งแรก ผลิตให้ได้ประสบการณ์ก่อนแล้วค่อยขยายผล
  4. ต้องมีใจรัก มีเวลาเข้าแปลงถึงเช้าถึงเย็น
โยงเชือก

คุณพศวีร์ คุณหทัยชนก ได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ หากท่านใดสนใจจะขอศึกษาดูงาน หรือสั่งซื้อเมล่อน โทร.098-776-4974, 097-931-2495