แนวทางการปลูกมิราเคิล ให้ประสบผลสำเร็จ

“จะต้องค้นหาพืชที่ความแปลกใหม่ จะต้องไม่ปลูกพืชตามกระแส พืชอะไรก็ตามที่มีการซื้อ-ขายกันมากไม่แนะนำให้ปลูก จะต้องหลีกเลี่ยง ที่ผ่านมาจะเป็นผู้นำในการพัฒนาการปลูกไม้ผลที่แปลกและตลาดมีความต้องการ ถึงแม้ตลาดจะไม่มากเท่ากับไม้ผลเศรษฐกิจที่เกษตรกรมักจะฮือฮาปลูกตามกัน จะไม่ปลูกไม้ผลตามคนอื่น”

นี่คือ ปรัชญาในการปลูกพืชของ คุณวารินทร์ ชิตะปัญญา จัดเป็นนักพัฒนาการปลูกไม้ผลที่มีความแปลกใหม่และสามารถปลูกให้เป็นเศรษฐกิจได้ในประเทศไทย คุณวารินทร์นับเป็นเกษตรกรไทยรายแรกที่เป็นต้นแบบในการบังคับให้น้อยหน่าออกนอกฤดูจนประสบความสำเร็จ, พัฒนาการปลูกต้นมิราเคิลหรือต้นมหัศจรรย์ซึ่งเป็นไม้ผลจากต่างประเทศจนประสบความสำเร็จ, พัฒนาการปลูกมะม่วงอาร์ทูอีทูซึ่งเป็นมะม่วงของประเทศออสเตรเลีย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางด้านการตลาด และพัฒนาไม้ผลที่ฮือฮามากที่สุดในขณะนี้ ก็คือ พุทรายักษ์พันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ ซึ่งมีขนาดของผลใหญ่มาก มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 4-5 ผล ต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน พุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ ยังสร้างรายได้หลักให้กับคุณวารินทร์ โดยขายผลผลิตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 บาท ต่อกิโลกรัม

การพัฒนาการปลูกต้นมิราเคิลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า คุณวารินทร์ประสบความสำเร็จมากที่สุด ทั้งๆ ที่ต้นมิราเคิลเป็นต้นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก

เหตุผลที่ประสบความสำเร็จเพราะมีการศึกษาถึงสภาพดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูก, สภาพพื้นที่ปลูกทำให้ต้นมิราเคิลรอดตายและมีการเจริญเติบโตที่ดี ทั้งๆ ที่เกษตรกรหรือนักวิชาการเกษตรนำไปปลูกมักจะไม่ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีของต้นมิราเคิลหรือต้นมหัศจรรย์ซึ่งจะต้องยอมรับว่า คุณวารินทร์ น่าจะเป็นเกษตรกรรายหนึ่งในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการปลูกต้นมิราเคิลมากที่สุด

แนวทางการปลูกมิราเคิลในเชิงการค้า ถึงแม้ต้นมิราเคิล (Miracle Fruit) จะไม่ใช่ผลไม้พื้นเมืองของไทยเป็นไม้ผลพื้นเมืองของประเทศกานา ทวีปแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยเล็กน้อย มีประชากรประมาณ 18 ล้านคน

คุณสมบัติพิเศษของต้นมิราเคิลหรือที่หลายคนเรียกว่า “พืชมหัศจรรย์” เมื่อผลสุกแก่จะมีผลสีแดง “เมื่อรับประทานผลสุกแก่ของผลมิราเคิลเข้าไปแล้ว ในผลจะมีสารไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ซึ่งสารนี้จะไปเคลือบผิวของลิ้นอยู่นานประมาณ 1-2 ชั่วโมง เมื่อรับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะนาว มะยม ระกำ ฯลฯ ตามเข้าไปจะไม่รู้สึกเปรี้ยว ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นรสชาติหวานคล้ายน้ำตาล”

ความจริงแล้วมีคนไทยหลายรายมีความพยายามที่จะนำเมล็ดของผลไม้มหัศจรรย์มาเพาะและขยายพื้นที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ประสบผลสำเร็จมีเพียง คุณวารินทร์  ชิตะปัญญา ที่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ต้นมิราเคิล

อาจารย์อานนท์  เอื้อตระกูล ผู้เชี่ยวชาญองค์การค้าโลก ประจำประเทศกานา ระหว่าง ปี 2532-2535 กล่าวถึงผลไม้มหัศจรรย์ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นพิษว่า

“หลายคนเป็นห่วงว่าผลมิราเคิลอาจจะแฝงไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ทางสถานปฏิบัติการของกองทัพบกสหรัฐอเมริกาที่เมืองนาทิค (Natick) และบริษัท เมดิตรอน (Meditron) แห่งเมืองเวย์แลนด์ (Wayland) รัฐแมสซาชูเซตต์ ได้ทำการศึกษาสารพิษดังกล่าวในผลไม้ชนิดนี้ ปรากฏว่าไม่พบ นอกจากนี้แล้ว องค์การอาหารและเกษตร แห่งสหประชาชาติ ได้เห็นชอบด้วยกับการที่จะนำประโยชน์จากผลไม้ชนิดนี้กับมนุษย์ เป็นอันว่ามิราเคิลรับประทานได้ไม่มีพิษต่อร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด”

จากการศึกษารายละเอียดของการปลูกต้นมิราเคิลในประเทศกานา ของอาจารย์อานนท์ พบว่าเกษตรกรนิยมปลูกต้นมิราเคิลอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เช่น ใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์ ต้นจันทน์ และต้นขนุน เป็นต้น ต้นมิราเคิลจะมีความสูงของต้นไม่เกิน 2 เมตร จะให้ผลผลิตมากที่สุดในช่วงปลายฤดูหนาวหรือหมดฤดูฮามาดาล คนกานารู้จักการใช้ผลไม้ชนิดนี้มานานนับร้อยปีแล้ว

ผู้ที่จุดประกายในเรื่องการค้นคว้าต้นมิราเคิลเป็นนักจิตวิทยา จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ คุณลินดา ซัมเมอร์ฟิลด์ เธอได้ให้ความสนใจเรื่องของจิตวิทยาเกี่ยวกับการลิ้มรสโดยได้พบกับผลมิราเคิลที่เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา เมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยได้เขียนรายงานเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของผลไม้นี้มีส่วนช่วยในการลดความเครียดของผู้ป่วย ที่ถูกแพทย์ห้ามรับประทานของที่มีความหวานหรือมีพลังงานสูง

คุณวารินทร์ ได้เมล็ดของผลมิราเคิลมาจากรัฐควีนแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2532 ได้มาครั้งแรกเพียง 5 เมล็ด คุณสมจินต์ ปาละกูล ให้เพิ่มเติมมาอีก 10 เมล็ด นำมาเพาะขึ้นทั้งหมด 13 ต้น แจกให้คนที่เดินทางไปด้วยกันเหลือไว้ปลูกเองเพียง 3 ต้น ปรากฏว่ารอดตายทุกต้นแต่ต้นที่ให้คนอื่นไปเลี้ยงไม่เป็น ส่วนใหญ่ตายทั้งหมด ต้นมิราเคิลที่เหลือจำนวน 3 ต้น นั้นปลูกไปได้ 3 ปี เริ่มออกดอกติดผล คุณวารินทร์จึงทุ่มเทเอาใจใส่อย่างจริงจังถึงแม้ต้นมิราเคิลไม่ใช่ต้นไม้พื้นเมืองของไทยแต่สามารถนำมาพัฒนาปลูกในประเทศไทยได้

ในขณะนี้ต้นมิราเคิลหรือผลไม้มหัศจรรย์นับเป็นพืชที่ได้รับความสนใจของคนทั่วโลก มีข้อมูลที่มีการศึกษาเกี่ยวกับไม้ผลชนิดนี้มากมาย  มีการศึกษาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่า วัยรุ่นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นิยมรับประทานผลมิราเคิลก่อนที่จะรับประทานอาหารหรือดื่มไวน์ เพื่อทำให้รับประทานได้อร่อยยิ่งขึ้น มีการนำผลมิราเคิลมาแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพในรูปของแคปซูล โดยเชื่อว่าในผลจะมีสารที่ต่อต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน การขยายพันธุ์ต้นมิราเคิลส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด  คุณวารินทร์บอกว่าการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนก็ทำได้แต่รากจะออกช้ามาก อุปสรรคที่สำคัญในการขยายพื้นที่ปลูกต้นมิราเคิลในเชิงการค้าก็คือ เป็นไม้ผลที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ไม่ทิ้งใบ ต้นไม่ใหญ่มากนัก ในธรรมชาติเป็นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ต้นมิราเคิลที่มีการเจริญเติบโตเต็มที่ลักษณะของต้นจะมีความสูงได้ถึง 12-15 ฟุต หรือประมาณ 3.6-4.5 เมตร เท่านั้น โดยประมาณนิสัยของไม้ผลชนิดนี้ชอบความชื้นสูง ไม่ชอบแดดจัด เนื่องจากต้นมิราเคิลที่เกิดในธรรมชาติจะเกิดขึ้นในป่าและเจริญเติบโตอยู่ภายใต้ต้นไม้ใหญ่

การปลูกในระยะแรกมีความจำเป็นจะต้องใช้ตาข่ายพรางแสง ประมาณ 50% ดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกต้นมิราเคิลควรเป็นดินที่มีอินทรียวัตถุสูง มีลักษณะร่วนโปร่ง เช่น ดินขุยไผ่ หรือดินผสมจากใบก้ามปูร่วมกับเปลือกมะพร้าวที่สับเป็นชิ้น ในอัตรา 2 : 1 เพื่อให้กาบมะพร้าวสามารถดูดซึมน้ำถึง 12-15 ฟุต หรือประมาณ 3.6-4.5 เมล็ด คุณวารินทร์บอกว่าการขยายพันธุ์ให้มีความชุ่มชื้นและถ้าเป็นไปได้ควรรดน้ำให้ทุกวัน, ดินที่มีความเหมาะสมในการปลูกต้นมิราเคิลควรจะมีค่าของความเป็นกรด-ด่าง (pH = 4.5-5.8) และพบว่าในการปลูกต้นมิราเคิลไม่มีความจำเป็นจะต้องมีการตัดแต่งกิ่ง

ในทางพฤกษศาสตร์ต้นมิราเคิลเป็นไม้ผลขนาดทรงพุ่มเล็ก ผลแก่จะมีสีแดงสดใส มีการออกดอกติดผลตลอดทั้งปีหลังจากปลูกไปได้ 2 ปี และจะให้ผลผลิตเต็มที่เมื่อต้นมีอายุได้ 4 ปีขึ้นไป ลักษณะของผลมิราเคิลมีลักษณะกลมรี เมื่อผลแก่มีสีแดงสดและมีความยาวของผลประมาณ 2 เซนติเมตร และมีเมล็ดขนาดใหญ่เพียงเมล็ดเดียวในแต่ละผล เนื้อมีสีเหลืองอ่อนๆ เป็นที่สังเกตว่าในการปลูกต้นมิราเคิลพบปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อยมาก

สำหรับการปลูกต้นมิราเคิลในกระถางขนาดใหญ่นั้น คุณวารินทร์แนะนำให้ดินที่ใช้ปลูกมีปริมาณของอินทรียวัตถุมาก เพื่อจะทำให้ต้นมิราเคิลออกดอกติดผลตลอดทั้งปีในกระถาง ในการเร่งการเจริญเติบโตของต้นแนะนำให้ใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุหลักและธาตุรองอย่างเหมาะสมหรืออาจจะใส่ปุ๋ยในกลุ่มละลายช้าใส่เป็นประจำทุก 2-3 เดือน การให้น้ำในแต่ละครั้งควรให้จนดินชุ่ม เมื่อต้นมิราเคิลเจริญเติบโตหรือตั้งตัวได้แล้วให้น้ำประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ แต่ถ้าปลูกในสภาพดินทรายจัดควรจะให้น้ำบ่อยครั้งขึ้นหรือให้ทุกวัน จากการศึกษาของคุณวารินทร์พบว่า ต้นมิราเคิล ที่ปลูกในประเทศไทยจะติดผลดกมากในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม

ผลของต้นมิราเคิลได้รับความสนใจในเชิงการค้ามากขึ้นเป็นลำดับ มีบริษัทเอกชนหลายแห่งที่มีความต้องการผลผลิตของผลมิราเคิลเป็นจำนวนมากนำไปแปรรูปเป็นสารเพิ่มความหวานเทียม เพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการบริโภคความหวานที่มีพลังงานต่ำ มีความพยามยามที่จะแปรรูปผลมิราเคิลให้คงสภาพและมีคุณสมบัติเหมือนเดิม แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร มีการนำเอาผลมิราเคิลไปตากแห้งทำให้คุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไป ผลมิราเคิลจะคงสภาพและมีคุณสมบัติเดิมเมื่อมีการบริโภคสดเท่านั้น ขณะนี้ได้ทดลองเก็บผลมิราเคิลไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้นานไม่เกิน 10 วัน ยังมีความพยายามที่จะหาวิธีการให้ผลมิราเคิลคงสภาพความสดได้นานถึง 3 เดือน

วิธีการขยายพันธุ์ต้นมิราเคิล ใช้วิธีการโรยเมล็ดมิราเคิลลงในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์, ดินที่ใช้ในการเพาะเมล็ดควรจะมีการระบายน้ำที่ดี ไม่จำเป็นจะต้องมีวัสดุคลุมหน้าดิน, รดน้ำบางๆ วันเว้นวัน เมล็ดจะงอกภายใน 8-10 สัปดาห์ และจะมีการเจริญเติบโตอย่างช้าในช่วงปีแรก ซึ่งในปีแรกต้นมิราเคิลที่ได้จากการเพาะเมล็ดจะมีความสูงเพียง 2-3 นิ้ว

เป็นที่สังเกตว่าต้นมิราเคิลที่ปลูกด้วยการเพาะเมล็ดเมื่อเจริญเติบโตและมีความสูงของต้นประมาณ 40-50 เซนติเมตร หรือมีความสูงประมาณครึ่งเมตร จะต้องใช้เวลานานถึง 3-4 ปี  หลังจากต้นมิราเคิลมีอายุเกิน 4 ปี ต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะมีการขยายพันธุ์ต้นมิราเคิล ด้วยวิธีการชำกิ่งในแปลงชำที่ใช้ระบบพ่นหมอก แต่จะใช้เวลานานมากกว่าที่กิ่งชำจะออกราก ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการนี้สู้วิธีการเพาะเมล็ดไม่ได้ ในเชิงพาณิชย์เพื่อการจำหน่ายกิ่งพันธุ์แนะนำให้ใช้วิธีการเพาะเมล็ดจะดีกว่า

อย่างไรก็ตามต้นมิราเคิลขนาดใหญ่จะใช้วิธีการขยายพันธุ์กลบดินที่กิ่ง (layering) โดยการโน้มกิ่งลงมาที่ผิวดินแล้วใช้ดินกลบ คุณวารินทร์ได้ย้ำว่าก่อนที่จะนำเมล็ดมาเพาะควรจะมีการแช่ยาเชื้อรา ซึ่งนับเป็นเทคนิคที่มีความสำคัญจะได้ต้นมิราเคิลรอดตาย

ความสำเร็จของการปลูกต้นมิราเคิลของคุณวารินทร์  น่าจะเป็นตัวอย่างให้มีการขยายพื้นที่ปลูกไม้ชนิดนี้ในเชิงธุรกิจกันกว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากต้นมิราเคิลจะมีประโยชน์ทางด้านสมุนไพรอย่างแน่นอน และถ้าร้านอาหารใดมีการนำเอาผลไม้ชนิดนี้มาทำประชาสัมพันธ์ ในทางด้านช่วยกระตุ้นเพื่อเพิ่มรสชาติในการรับประทานอาหาร น่าจะเป็นข้อได้เปรียบกว่าร้านอาหารอื่นๆ ในขณะที่ต่างชาติให้ความสนใจสั่งซื้อต้นมิราเคิลจากประเทศไทยไปปลูกเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวควรจะให้ความสนใจในการขยายพื้นที่ปลูกไม้ผลชนิดนี้กันมากขึ้น

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2561