ปราชญ์ชาวบ้านดีเด่น แนะวิธีปลูกมันเทศญี่ปุ่นอินทรีย์ จากระดับ “พอมีพอกิน” เปลี่ยนเป็น “เหลืออยู่ เหลือกิน”

เป็นผู้หญิงเก่งอีกคนของภาคอีสาน ที่มีรางวัลการันตีมากมาย ล่าสุด คุณพิมพา มุ่งงาม วัย 53 ปี เกษตรกรจากบ้านดวน อำเภอน้ำอ้อม จังหวัดยโสธร เจ้าของ “สวนพ่อพอเพียง” ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 9 ด้านเกษตรกรรม (ข้าวหอมมะลิอินทรีย์) ประจำปี 2561

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ปี 2558 คุณพิมพา มุ่งงาม ได้รับรางวัล “คนดีศรีเมืองยศ” สาขาส่งเสริมองค์กรชุมชนเข้มแข็ง จากผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และในปีเดียวกันยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “ปราชญ์ชาวบ้านดีเด่น ด้านเกษตรกรรม” จากสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดยโสธร

คุณพิมพา มุ่งงาม ในวันรับใบประกาศเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 9 ด้านเกษตรกรรม (ข้าวหอมมะลิอินทรีย์)

เปิดสวนพ่อพอเพียง เป็นศูนย์เรียนรู้

สาเหตุที่ คุณพิมพา ได้รับรางวัลเหล่านี้ เพราะนอกจากเจ้าตัวจะทำเกษตรอินทรีย์จากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ตั้งแต่ปี 2540 จนประสบความสำเร็จแล้ว ยังได้เผื่อแผ่ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ตรงส่งต่อไปถึงเกษตรกรในพื้นที่และผู้คนที่สนใจทั่วไปด้วย โดยใช้ “สวนพ่อพอเพียง” ในเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่คุณพิมพาได้ดูจากโทรทัศน์

กระทั่งทุกวันนี้ มีเกษตรกร ข้าราชการ และกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพในจังหวัดยโสธรและทั่วประเทศแวะเวียนเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้นี้เป็นประจำ

กว่า 20 ปีแล้วที่คุณพิมพาบุกเบิกการทำนาข้าวเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษ ควบคู่กับทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยแสวงหาความรู้เรื่องปรับปรุงคุณภาพดิน แบ่งพื้นที่ทำหนองน้ำเพื่อให้มีแหล่งน้ำ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ทั้งเพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์เพื่อเอามูลสัตว์มาทำปุ๋ย ทดลองทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ และนำมาใช้ในครัวเรือนแบบทำลองผิดลองถูก

จนในที่สุดได้ค้นพบสัดส่วน และส่วนผสมลงตัว สามารถพัฒนาดินให้มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นตามลำดับ ผลิตผลทั้งข้าวและพืชผักให้ผลผลิตดี จากระดับ “พอมีพอกิน” เปลี่ยนเป็น “เหลืออยู่ เหลือกิน” สามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ประสบผลสำเร็จด้านการเกษตร “ทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน”

Advertisement

คุณพิมพา เล่าถึงที่มาที่ไปของ “สวนพ่อพอเพียง” ว่า ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาใช้เพราะครอบครัวมีปัญหา โดยปรับใช้มาเรื่อยๆ และทำเต็มรูปแบบ เมื่อปี 2542 ซึ่งในเนื้อที่ 4 ไร่เศษนี้ จะปลูกพืชผักสวนครัว 1 งาน เลี้ยงสัตว์ อาทิ ควาย 18 ตัว มีหมูหลุม ไก่พื้นบ้าน และไก่ไข่ 5 ตัว เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่  พร้อมทั้งปลูกมันเทศญี่ปุ่นตามโครงการช่างหัวมัน รวมถึงบ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย เนื้อที่ 2 งาน มีบ่อแก๊สชีวภาพจากขี้ควาย และบ่อเลี้ยงปลา 2 บ่อ

Advertisement

มันเทศญี่ปุ่น มีตลาดรองรับ

สาเหตุที่ปลูกมันเทศญี่ปุ่น เพราะมีตลาดรองรับแน่นอน และที่เหลือจากการส่งขายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อมแล้ว ยังจำหน่ายเอง และแปรรูปด้วย ซึ่งคุณพิมพาระบุว่า การปลูกมันเทศญี่ปุ่นง่ายมาก ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงนำยอดมาปลูก ใช้ระยะเวลา 70 วัน ก็เก็บหัวขายได้เลย โดยทำน้ำหมักใช้เอง เป็นการลดต้นทุน และยังสอนเกษตรกรที่สนใจทำน้ำหมักเพื่อบำรุงดินด้วย

คุณพิมพา แจกแจงวิธีการปลูกมันเทศญี่ปุ่นอินทรีย์ว่า เริ่มต้นต้องปรับปรุงดินก่อน โดยใส่มูลควายลงไป ตามด้วยน้ำหมัก สูตรที่ทำ คือนำปลาดิบจากเศษอาหารที่ทำครัวมาหมัก ผสมกับผลไม้สด อย่าง กล้วย มะละกอสุก ฟักทอง ใส่กากน้ำตาล และอีเอ็ม แล้วมาผสมน้ำฉีดพ่นในแปลงก่อน ตามด้วยการไถพรวน แล้วค่อยยกร่องให้สูงประมาณ 12 ฟุต จากนั้นปลูกได้เลย พอปลูกได้ 45-50 วัน นำน้ำหมักปลาที่ผสม 1 แก้ว ต่อน้ำ 15 ลิตร มาฉีดยอดต้นมันเพื่อหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งถ้าขาดน้ำหรือแล้งต้นมันจะลงหัวในดิน ส่งผลให้มีรสชาติหวานด้วย

ทั้งนี้ น้ำหมักจะช่วยสร้างความหวานและหยุดการเจริญเติบโต หัวจะลงใต้ดิน เป็นหัวขนาดใหญ่

คุณพิมพา ระบุว่า ถ้าหากปลูกครบ 70 วัน ต้องรีบขุดมันขึ้นมา เพราะถ้าเกินเวลามากไปกว่านี้ไม่ดี จะมีแมลงมากิน ซึ่งถ้าบำรุงดินตามสูตรที่บอกไป จะได้ 4 หัว ต่อ 1 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะปลูกส่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเน้นหัวขนาดกลาง ขายได้กิโลกรัมละ 18 บาท แต่ถ้าเป็นหัวขนาดใหญ่ ขายข้างนอกได้กิโลกรัมละ 20 บาท นอกจากนี้ ได้นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำเป็นขนมมัน บัวลอย และมันฉาบ

ใช้แก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์

รายได้หลักของสวนพ่อพอเพียงอีกอย่างคือ การเลี้ยงไก่ดำภูพาน จำนวน 500 ตัว มีเล้า 5 เล้า พอเลี้ยงครบ 3เดือน จะมีพ่อค้าจากจังหวัดสุรินทร์มารับซื้อถึงบ้าน ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงเทศกาลอย่างช่วงปีใหม่หรือตรุษจีน ขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนมากจะขายเป็นไก่รุ่น ตก 1 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม หรือ 1.5 กิโลกรัม ต่อตัว

ในการเลี้ยงไก่ดำภูพานแบบอินทรีย์นี้ คุณพิมพา บอกว่า เป็นการเลี้ยงไก่แบบปล่อย โดยมีคอกมีบริเวณให้ไก่เดิน  เป็นคอกที่มีขนาดพอให้นอน ตื่นเช้าจะปล่อย ไก่ต้องออกมาหากินข้างนอก ส่วนไก่ไข่เลี้ยงแค่ 5 ตัว ไว้กินไข่

สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองให้ได้ราคาดี ต้องดูแลตั้งแต่เรื่องอาหาร และวัคซีน ดูแลเรื่องพยาธิ อาหารที่ให้ส่วนมากเป็นปลายข้าวหรือข้าวหักอินทรีย์ที่นำมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งคุณพิมพาโชคดีตรงที่สามี คือ คุณทวี มุ่งงาม ก็เป็นอาสาปศุสัตว์ดีเด่น ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด จึงทำให้การเลี้ยงไก่ของคุณพิมพาไม่มีปัญหาอะไร

จุดเด่นอีกอย่างของ “สวนพ่อพอเพียง” แห่งนี้คือ การทำแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์ โดยคุณพิมพาอธิบายขั้นตอนการทำให้ฟังว่า ทางหน่วยงานของกรมปศุสัตว์นำถังพลาสติกมาให้ เริ่มจากใช้มูลควายสดๆ มาผสมน้ำ แล้วนำเข้าถังหมัก ปีแรกที่ทำใช้เวลาหมัก 15 วัน จากนั้นใช้ได้ตลอด โดยที่บ้านจะใส่มูลควาย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพราะไม่ค่อยได้ทำครัวบ่อยนัก แต่การจะใส่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้แก๊สของแต่ละครอบครัว ซึ่งจากการใช้แก๊สชีวภาพที่ทำขึ้นเอง ทำให้ประหยัดค่าแก๊สหุงต้มได้ เดือนละ 400 กว่าบาท

นอกจากนี้ คุณพิมพา ยังได้ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ในเนื้อที่ 12 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินอีกผืนของคุณพิมพาที่แยกจากพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน กระทั่งได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของจังหวัดที่ได้เผยแพร่โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตผลอินทรีย์ทางเว็บไซต์ FAIR TRADE ORIGINAL ของประเทศในแถบยุโรป ซึ่งต่างประเทศให้การยอมรับข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของบ้านดวน

 

มีรายได้ ไร่ละ 1 แสน

ถามถึงรายได้ เกษตรกรรายนี้แจกแจงว่า มีรายได้จากการทำนา เลี้ยงสัตว์ และขายข้าวเปลือกส่งให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำอ้อม ซึ่งในที่ดินที่ใช้เป็นศูนย์เรียนรู้นั้น จะแนะนำวิธีการทำนาที่ใช้ดำกล้าต้นเดียว จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุน ลดรายจ่ายได้ เพราะทำนากล้าหยิบเดียวจะแตกกอออกมาได้ 10-20 ต้น 20 รวง ต่อต้น

“รายได้ของสวน ส่วนมากเป็นรายเดือน เพราะไม่ได้จำหน่ายทุกวัน ถ้าขายพวกไก่ ขายได้เดือนหนึ่งประมาณ 1,000 บาท ไม่รวมกรณีขายจำนวนมากในช่วงปีใหม่-ตรุษจีน สรุปแล้วทั้งปี จะได้ไร่ละ 1 แสนบาท ทั้งข้าวและพืชผักสวนครัว รวมทั้งขายกล้วยด้วย นอกจากนั้นมีขายไก่ ขายหมู

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า สวนของคุณพิมพานั้นมีคณะบุคคลหน่วยงานองค์กรต่างๆ มาศึกษาดูงานตลอด คุณพิมพาให้เหตุผลว่า เพราะที่สวนมีจุดเด่นตรงที่มีแต่จุดปฏิบัติ เนื่องจากต้องการชักชวนให้เกษตรกรมาทำเหมือนที่สวน ต้องการให้เกษตรกรมาเรียนรู้เอง และนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งจะเห็นว่าเกษตรกรในภาคอีสานส่วนมากมีพื้นที่ทำกินน้อย คนละ 2-3 ไร่ ทุกคนต่างคิดว่า จะทำอย่างไร เพื่อจะลดรายจ่าย และทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ เมื่อได้มาศึกษาดูงานจากสวนแห่งนี้แล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยจะแนะนำให้ปลูกผักใส่กระสอบ ใส่กระถาง อย่างน้อยคนละ 5 อย่าง ก็ลดรายจ่ายได้

นอกจากนี้ ทางสวนยังทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในการ แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผัก ทุกคนที่มาศึกษาดูงานสามารถมารับไปได้เลย อย่างเช่น แจกยอดมันม่วงและแครอต เพื่อให้นำไปขยายพันธุ์ต่อ

สนใจรูปแบบการทำเกษตรอินทรีย์ของ สวนพ่อพอเพียง ติดต่อสอบถาม ได้ที่ โทร. 084-888-7851, 088-126-100 ซึ่งหากใครได้ไปเยี่ยมชมสวนแห่งนี้ รับรองได้ของฝากติดไม้ติดมือมาแน่นอน