มะเขือแจ้ กับสรรพคุณที่ท้าทาย

เรื่องราวของพืชผักที่นิยมนำมาบริโภคกันเป็นประจำ และเห็นผลกับร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก บวกกับความเชื่อในคำบอกเล่าของผู้มีประสบการณ์ แม้กระทั่งคำสอนสั่งของคนเก่าก่อน หลายคนที่เชื่อและพิสูจน์สรรพคุณแล้ว เกิดความเชื่อฝังใจ บางคนกำลังศึกษา อยากรู้ อยากลอง เช่นพืชผักชนิดนี้ ที่ชื่อ “มะเขือแจ้” เป็นพืชที่น่าท้าทาย และมีค่าพอที่จะให้ทดสอบสรรพคุณได้

“มะเขือแจ้” พืชชนิดนี้คุ้นหูกับพี่น้องชาวไทย บ้างเรียก “มะเขือขื่น” บ้างเรียก “มะเขือเหลือง” และอีกหลายๆ ชื่อ เช่น มะเขือเพา มะเขือคำ มะเขือขันคำ เขือหิน บ่าเขือฮืน มะเขือหื่น เป็นต้น

มะเขือแจ้ เป็นพืชในวงศ์ SOLANACEAE

มีชื่อสามัญว่า Cock roach berry หรือ Dutch egg plant หรือ India night shade ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum xanthocarpum สันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนทวีปเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย เป็นพืชที่ขึ้นได้กับดินทุกประเภท แต่ชอบดินร่วนซุย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนมาก เป็นพืชพื้นถิ่นพื้นเมืองที่เชื่อว่ามีความแข็งแกร่ง อายุยืน ลูกดก สะดุดตา มองเห็นได้ชัดเจนยามเมื่อติดผลแก่ เหลืองอร่ามเต็มต้น พบในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ป่าเปิด ป่าละเมาะ ทุ่งหญ้า ริมทาง ข้างสวน เห็นเคยขึ้นตรงไหน มักจะพบตรงนั้นทุกปี ออกดอกช่วงมีนาคม-สิงหาคม ติดผลพบเห็นสุกแก่เหลืองอร่าม เดือนกันยายน-ธันวาคม

ลักษณะต้นมะเขือแจ้ เป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่มเล็ก สูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นกิ่งก้านมีหนามสั้นๆ ทรงต้นเป็นทรงกระบอกตั้งตรง เปลือกต้นสีม่วงหรือน้ำตาล โคนต้นแก่มีเนื้อไม้แข็ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งมีมากมายในผลแก่ที่แห้งคาต้น หรือ เน่าหล่นใต้ต้น หรือตั้งใจเด็ดผลมากิน แล้วทิ้งเมล็ดไป ก็งอกต้นใหม่ได้ง่ายๆ ใบมะเขือแจ้ เป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ ขอบใบหยักเว้า เป็นพูแฉกตื้นๆ ขนาดฝ่ามือผู้ใหญ่ แผ่นใบมีขน และมีหนามแหลมตามเส้นกลางใบ ก้านใบอวบสั้น อาจมีหนามตามก้านใบบ้าง

ดอกมะเขือแจ้ มีกลีบดอกสีม่วงเป็นรูปหอก 5 กลีบ ฐานติดกันเป็นรูปกรวย เกสรสีเหลือง มีฐานรองดอกหรือกลีบเลี้ยงรูประฆังสีเขียว เป็นกรวยรองรับกลีบดอก มี 5 กลีบ ซึ่งจะติดเป็นฐานผลด้วย ผลมะเขือแจ้ คือส่วนที่นำมาเป็นอาหาร ผลเป็นรูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2-3 เซนติเมตร ผิวเรียบเป็นมัน เปลือกเหนียว ผลอ่อนสีเขียว มีลายขาวแทรก ตั้งแต่ปลายผล สุกแก่สีเหลืองสด เนื้อผลมีสีเขียวอมเหลืองใส มีกลิ่นรสขื่นขม มีเมล็ดลักษณะกลมแบนขนาดเล็กสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก

มะเขือแจ้ หรือ มะเขือขื่น ชาวบ้านชอบนำมาเป็นผักแกล้มอาหาร เช่น ลาบปลา ลาบเนื้อ ลาบหมู โดยปอกเอาเปลือก หรือผ่าลูก บีบเอาเมล็ดออก เอาเปลือกมาหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ อาจจะแช่น้ำปลาสักเล็กน้อย หรือบางรายควักเอาเมล็ด ปรุงใส่น้ำพริกกะปิ บางทีนำมะเขือแจ้แก่มาปรุงใส่ส้มตำมะละกอส้มตำลาวเพื่อลดความเค็มของปลาร้าได้ ส้มตำส้มโอเปรี้ยว ใส่รวมส้มผักกาด ใส่ยำเตา (สาหร่ายน้ำจืด) ส้าหรือยำมะเขือแจ้ ปิ้งหรือเผาใส่ผสมลาบหรือตำน้ำพริกกบ ฯลฯ มะเขือแจ้มีคุณค่าทางอาหารมาก ใน 100 กรัม มี วิตามินซี 63 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยา ตามความเชื่อและการบอกกล่าวกันมาว่า ผลมะเขือแจ้ เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้กามตายด้าน บำรุงร่างกาย แก้ไอ กัดเสมหะ ขับลม แก้ปวดข้อ ไขข้ออักเสบ มือเท้าชา แก้พยาธิในตา รากมะเขือแจ้ ใช้เป็นยาแก้ไข้สันนิบาต กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้พิษร้อน แก้น้ำลายเหนียว ปวดฟัน แก้ปวดบวม ปวดหลัง ฟกช้ำดำเขียว รากฝนเป็นยากระสายเด็ก แก้โรคซาง ตานขโมย ใบสดใช้ตำพอกแก้พิษอักเสบแผลมีหนอง เมล็ดแก้โรคมะเร็งเพลิงได้ มีสาระสำคัญคือ อัลคาลอยด์ ที่หมอยาเมืองเหนือใช้ประกอบยาทางรักษาโรคผิวหนัง ยาเสลด ขจัดเสมหะ ตาต้อ ยาแก้ไข้ ขับเสมหะ อาเจียน รักษาแผลเป็นหนอง โรคหืด รวมทั้งหมอยาภาคอื่นก็ใช้ร่วมกับสมุนไพรต่างๆ หลายอย่าง

มะเขือแจ้ หรือ มะเขือขื่น มักพบเห็นขึ้นอยู่ทั่วไป ส่วนจะเป็นที่นิยมชมชอบ นำมาเป็นอาหาร ก็ขึ้นอยู่กับคนนิยม ที่แน่นอนที่สุดคือ เป็นพืชผัก ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และด้านสมุนไพร คนไทยนิยมมาแต่โบราณ และมีความเชื่อมั่นว่า “มะเขือแจ้” คงจะไม่สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย และไม่สูญหายไปจากความจำ ความรัก ความรู้สึก ของคนไทย คุณประโยชน์มากมาย คงจะเป็นเครื่องเตือนใจพวกเราไว้ตลอดไป