มะละกอแขกดำท่าพระ งานวิจัย ที่เข้าถึงประชาชน

มะละกอเป็นพืชที่ได้รับความนิยม ทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ  เพียงแต่รูปแบบการปรุงแต่งแต่ละท้องที่ แต่ละท้องถิ่น อาจจะแตกต่างกันไป

คนไทย ผลมะละกอดิบนำมาทำส้มตำ จะตำปู หรือตำปลาร้า ก็ว่ากันไป ส่วนผลสุกเป็นผลไม้ได้อย่างดี

ชาวต่างชาติ นิยมมะละกอสุกที่ผลเล็กๆ ใช้มีดผ่าตักกิน ปริมาณพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปต่อมื้อ

งานปลูกมะละกอในบ้านเรา ทำสองระบบด้วยกัน เริ่มจากปลูกเป็นสวนหลังบ้าน หรือปลูกเข้าไปกับไร่นาสวนผสม ตามคันบ่อ หลังปลูกไปปีเดียวก็เก็บผลผลิตได้ อาจถือว่ามะละกอเป็นพืชนำร่อง สำหรับผู้ที่สนใจทำสวนไม้ผล ทั้งนี้เพราะมะละกอให้ผลผลิตเร็ว กว่าที่มะม่วง ขนุน ยางพารา และพืชหลักอย่างอื่นจะได้ผล มะละกอที่ปลูกแซมก็เก็บไปหลายรุ่นแล้ว

ระบบปลูกอีกอย่างหนึ่ง คือปลูกเพื่อการค้าอย่างจริงจัง ว่ากันเป็นแปลงใหญ่ๆหลายไร่ เก็บแต่ละครั้งก็หลายคันรถ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บ้านเรามีมะละกอสายพันธุ์ที่ดี แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ โรคจุดวงแหวน เมื่อมีการระบาดยากที่จะเยียวยา อย่างไรก็ตาม งานพัฒนาด้านนี้ มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ไม่เคยหยุดนิ่ง งานที่ทำอยู่ บางครั้งอยู่ไกล ลี้ลับ อยู่ในซอกหลืบ กระนั้นก็ตามผู้วิจัยมุ่งมั่น มีความพยายาม

มีงานวิจัยเด่น ที่แดนอิสาน

ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร ชื่อเดิมคือสถานีทดลองพืชสวนขอนแก่น เคยมีผู้อำนวยการศูนย์ ชื่อวิไล ปราสาทศรี

คุณวิไล เรียนจบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระดับปริญญาตรี และจบปริญญาโท ที่อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา

“เริ่มงานเมื่อปี 2519 คือเมื่อปี 2518 คุณถวิล ศรีสมชัย เขาทำงานนี้อยู่ เมื่อเขาย้ายงาน มารับช่วงต่อ คนอิสานรับประทานมะละกอเยอะ”

งานอย่างหนึ่งที่คุณวิไลทำนั้น คือเรื่องของการป้องกันกำจัดโรค ยามที่มะละกอเป็นโรคจุดวงแหวน ต้องขุดทิ้งถอนรากถอนโคน เมื่อเข้าไปแนะนำตามหมู่บ้าน ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากชาวบ้านเสียดายต้นที่ปลูก โรคจุดวงแหวนมีพาหะที่สำคัญคือเพลี้ยอ่อน เพลี้ยชนิดนี้มีพืชอาศัยหลายชนิด อย่างเช่นในถั่วฝักยาว รวมทั้งพืชอื่น

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมะละกอครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2528 ทางจังหวัดมหาสารคาม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคุณไสว พราหมณี รณรงค์ปลูกมะละกอทั้งจังหวัด มีการเชิญนักวิชาการเกษตร อย่างคุณวิไล ปราสาทศรี เข้าร่วมงาน

ช่วงที่มีการวิจัยมะละกออยู่นั้น ทางต่างประเทศ ดร.กอลซาลเวส โด่งดังมากในการทำวัคซีนมะละกอ จึงมีการเชิญชวนให้เเขามาวิจัยในประเทศไทย แต่ปรากฏว่า เชื้อสาเหตุโรคจุดวงแหวนรุนแรงมาก ผลการทดลองในไทยไม่เป็นบวก ระยะหลังนักวิชาการเกษตรไทย จึงวิจัย โดยมีแนวทางเป็นของตนเอง

วิจัยตรงความต้องการของประชาชน

ระยะที่มีการวิจัยทางด้านการป้องกันกำจัดโรคมะละกออยู่นั้น ทางผู้วิจัยพบว่า มะละกอต่างประเทศ สายพันธุ์ฟลอริด้า โทเลอแรนต์ มีความต้านทานโรคจุดวงแหวนเป็นอย่างยิ่ง แต่ผลมีลักษณะกลม เนื้อออกสีเหลือง ไม่เหมาะต่อการบริโภคของคนไทย

คุณวิไลเริ่มจับงานวิจัย โดยนำมะละกอสายพันธุ์ฟลอริด้า โทเลอแรนต์ ผสมกับมะละกอแขกำดำของไทย ทุนการวิจัยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “ยูเอสเอไอดี”

“ทำมาตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปี 2537 ได้ลูกผสมชั่วที่ 5 พอได้ลูกผสม นำไปทดสอบในพื้นที่ต่างๆ 8 จังหวัด ถึงปี 2540 จึงเสนอกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนพันธุ์แนะนำ” คุณวิไลบอกถึงความก้าวหน้างานวิจัย

มะละกอที่ผสมและคัดเลือกพันธุ์ได้ มีพันธุ์ท่าพระ 1, ท่าพระ 2 และท่าพระ 3

มะละกอแขกดำท่าพระ เป็นมะละกอเอนกประสงค์ นำมาทำส้มตำได้ดี รวมทั้งผลสุกก็รสชาติเยี่ยม ให้ผลผลิตดก หลังปลูก 7 เดือนก็เก็บผลสุกได้

คุณวิไล บอกต่อว่า

“ตั้งแต่ปี 2541 เราแจกจ่ายไปเยอะ ต้นกล้าบางปีมีเป้าหมายแจกจ่ายแค่ 5 หมื่นต้น แต่แจกจริงมากถึง 3.6 แสนต้นเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 1,200 บาท เป็นราคาราชการไม่คุ้มทุน แต่เกษตรกรก็พอใจซื้อเพราะปลูกได้มากถึง 40 ไร่ อิสานเมื่อก่อนปลูกมะละกอเป็นสวนหลังบ้าน ปัจจุบันปลูกเป็นแปลงใหญ่มากขึ้น ผู้ปลูกภาคกลางมีปัญหาเรื่องโรค ย้ายมาเช่าที่ปลูกที่อิสาน”

มะละกอพันธุ์ใหม่ที่วิจัยได้ มีความต้านทานโรค โดยเฉพาะโรคจุดวงแหวน รูปทรงเหมาะสม ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เหมาะในการทำส้มตำ

ปลูกช่วงไหนราคาดี

ธรรมชาติของมะละกอเมื่อได้รับฝน จะเจริญเติบโตและมีดอกออกมา แล้วพัฒนาเป็นผล มะละกอชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ หากเกษตรกรมีระบบน้ำ ให้ปุ๋ยสม่ำเสมอ มะละกอจะให้ผลผลิตแก่เจ้าของตลอดทั้งปี

มะละกอที่อาศัยน้ำฝน ออกดอกเดือนพฤษภาคม ไปเก็บเกี่ยวได้เดือนกันยายน-พฤศจิกายน ช่วงนี้มะละกอถูก

มะละกอแพงช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม เนื่องจากมะละกอผ่านช่วงแล้ง ผลผลิตยังออกไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเดือนกรกฏาคม เป็นเดือนที่มะละกอราคาสูงที่สุดในรอบปี

หากมีระบบน้ำ ปลูกมะละกอปลายฝน เดือนกันยายน-ตุลาคม จะมีผลผลิตเก็บเกี่ยวช่วงที่มะละกอมีน้อย

ได้รับคำแนะนำจากคุณวิไล เกี่ยวกับการเก็บพันธุ์มะละกอว่า เลือกผลที่สวยงาม ไม่มีโรคและแมลง ผ่าผล นำเมล็ดไปล้างในถังน้ำ เมล็ดที่ลอยไม่สมบูรณ์ ไม่ควรเก็บในส่วนนี้

เก็บเมล็ดที่จม นำไปผึ่งในห้องโล่ง 2-3 วัน เมื่อมีความชื้น 5-6 เปอร์เซนต์ เก็บในตู้เย็นยืดอายุได้นาน

 

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.25610