ผู้เขียน | มัรวาน หะยีเจ๊ะและ |
---|---|
เผยแพร่ |
งานเกษตรแม่โจ้ 85 ปี : ภูมิปัญญาแห่งการเกษตร…ถือว่าเป็นงานเกษตรที่ยิ่งใหญ่แห่งปี และเป็นงานอลังการที่สุดครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ก่อตั้งสถาบันมา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-16 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานวิจัย นิทรรศการต่างๆ รวมไปถึงการออกร้านมากมาย อาทิ ร้านขายต้นไม้ ดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ มีมาให้ได้เลือกชมทั้ง 9 วัน โดยงานเกษตรแม่โจ้ 85 ปี ภูมิปัญญาแห่งการเกษตรครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน สำหรับไฮไลต์ของงานอยู่ที่ การแสดงนิทรรศการ การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม Smart Farmming รวมถึงการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ การประกวดพืชสัตว์ประมง กล้วยไม้ และสวนหย่อม ถือว่าการจัดงานในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก
สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ ภายในงานได้แบ่งให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน
บางจุดเตรียมงานมานานหลายเดือน เพราะต้องปลูกลงแปลง จนมีผลผลิต
จุดที่ 1 คือ สาขาพืชผัก…เป็นจุดที่อัดแน่นความรู้ สิ่งที่น่าสนใจมากมาย สุดพิเศษสำหรับผู้ที่เข้ามาชม 1,000 ท่านแรก ได้รับมอบเมล็ดพันธุ์พืชผักชื่อพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เพื่อนำไปปลูกเป็นผักสวนครัวจำนวน 7 ชนิด ต่อท่าน ผู้ที่ให้ข้อมูลและดูแลส่วนนี้อยู่อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย คือ ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์
จุดที่ 2 และจุดที่ 3 เป็นโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกษตรล้านนา…เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก มีการแสดงแปลงผัก ไม้ผล นาข้าว ตามแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงการทำการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
จุดที่ 4 กิจกรรมเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ…มีการเสวนาวิชาการ ฐานเรียนรู้ด้านการประมง การประกวดปลาหมอสี การประกวดจัดตู้พรรณไม้น้ำ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่ง ในจุดนี้คือเรื่องราวของปลาบึกสยามแม่โจ้ เคยเลี้ยงได้ 300 กิโลกรัม ต่อตัว มูลค่าสูง 30,000 บาท หากแปรรูปจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
จุดที่ 5 ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมแปลงดอกทานตะวัน…ชมแปลงปลูกผักเกษตรอินทรีย์ บนเนื้อที่กว่า 907 ไร่ พร้อมจุด Check In เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างล้นหลาม
จุดสุดท้าย เป็นการชมนิทรรศการผลงานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม…มีกว่า 100 ผลงานมาให้นักท่องเที่ยวได้ตื่นตาตื่นใจ
ในการจัดงานในครั้งนี้ มีนักศึกษาจิตอาสาคอยอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามาเยี่ยมชมงาน โดยมีบริการช่วยขนสัมภาระต่างๆ ให้กับผู้ที่เลือกซื้อสินค้าภายในงาน และนอกจากนี้ ผู้เข้าชมงานยังได้รับคู่มือเที่ยวงานแนะนำเส้นทางท่องเที่ยว มีแผนที่จัดงานแสดงจุดต่างๆ และมีบริการรถนำเที่ยว รถม้า รถขึ้นฟาร์ม คอยบริการตลอดทั้ง 9 วัน
การได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชม สัมผัสถึงบรรยากาศได้ตลอดทั้งงาน นับว่าเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง และสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทางภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงคณาจารย์ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผู้ช่วยศาตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี ประธานคณะกรรมการการดำเนินงาน กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ฉลองครบรอบ 85 ปี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งก็ได้แบ่งสถานที่จัดงานเป็น 2 แห่ง สถานที่แรกคือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ใช้พื้นกว่า 800 ไร่ รวมถึงบริษัทต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน 50 กว่าบริษัท และสำหรับปีนี้เป็นปีที่สุดพิเศษมากเพราะได้เน้นแลนด์มาร์คเพื่อถ่ายรูป เริ่มตั้งแต่ข้างหน้ามหาวิทยาลัยแม่โจ้กันเลย อีกทั้งปีนี้ยังมีกิจกรรมการจัดสวนของศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่จะเข้ามาโชว์ความตระการตาและสร้างสีสันให้แก่งานในครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าที่เข้ามาจัดจำหน่ายอีก 400 กว่าบู๊ธ…สำหรับอีกแห่งหนึ่งเป็นแปลง 907 ไร่
“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมงาน เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกเต็มที่ให้แก่นักท่องเที่ยว…ตั้งแต่จัดงานมา งานในครั้งนี้ถือว่าดีที่สุดแล้ว เพราะว่าได้เต็มๆ ทั้งเนื้อหา สาระความรู้ต่างๆ…กิจกรรมในงานหลากหลาย ที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งนั้น ศิษย์เก่ากว่า 30 รุ่น มาจัดสวนหย่อม แสดงฝีมือกันเต็มที่มาจัดให้มหาวิทยาลัยฟรี ไม่มีการแข่งขัน แต่ไม่มีใครยอมใคร…ผู้มาขายต้นไม้ขายดี บางคนขายได้ถึงล้านบาท” ผศ.พาวิน บอก
รศ.ดร.ยงยุทธ ข้ามสี่ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร กล่าวว่า ในเรื่องของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำรินั้น จะต้องบริหารจัดการทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรแบบผสมผสานบนเนื้อที่ที่มีขนาดเล็กเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกจะเป็นขั้นทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ซึ่งจะจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ของอัตราส่วนดังนี้ 30 : 30 : 30 : 10 ต่อมาการทำการเกษตรแบบขั้นที่ 2 คือขั้นกลางที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรรวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจในกลุ่มสหกรณ์ดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น การทำการตลาดเพื่อนำไปขาย การผลิต เป็นต้น และถึงขั้นสุดท้าย คือขั้นของความก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรได้ผ่านขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ควรที่จะพัฒนาให้ก้าวหน้า คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนมาทำธุรกิจลงทุนพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน
จุดหนึ่งที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก คือแปลงไม้ดอกไม้ประดับ…อาจารย์ ดร.นเรศ ศิริเกษร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาเครือข่าย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า แปลงไม้ดอก เป็นการรวมพลังน้องพี่ให้เกิดความภูมิใจและสามัคคี ปลูกไม้ดอกไม้ประดับกัน ซึ่งนำมาปลูก 52 ชนิด แต่ที่มากเป็นพิเศษคือดาวเรือง เนื่องจากทุกวันนี้ เมล็ดดาวเรืองมีการซื้อขายกันมาก ไทยเป็นแหล่งผลิตหลัก ส่งไปต่างประเทศ
“ไม้ดอกไม้ประดับแต่ละปีมีมูลค่าสูงมาก เพราะใช้กันทั้งปี นักศึกษาจบจากที่นี่ ไปประกอบอาชีพทางด้านพืชสวน โดยเฉพาะไม้ดอกไม้ประดับ ส่วนหนึ่งทำเองประสบความสำเร็จ อยู่เอกชนก็มี พวกเขาก็นำผลงานกลับมาแสดงในงานนี้” ดร.นเรศ บอก
ถึงแม้งานยิ่งใหญ่ระดับประเทศจะจบลงแล้ว แต่สถาบันแห่งนี้ ยังคงเดินหน้าผลิตบุคลากรรับใช้สังคมต่อไปไม่หยุดนิ่ง เกษตรกรรวมทั้งผู้สนใจข้อมูลทางการเกษตร สามารถเข้าไปดูงาน และใช้บริการสิ่งที่มีอยู่ได้ บุคลากรของมหาวิทยาลัย ยินดีต้อนรับทุกเมื่อ
ผลการประกวดปลาหมอสี
คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับ ชมรมปลาหมอสีแห่งประเทศไทย จัดประกวดปลาหมอสี (ปลาหมอสีครอสบริด) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในงานเกษตรแม่โจ้ 85 ปี : ภูมิปัญญาแห่งการเกษตร ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ การจัดการประกวดในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงปลาส่งเข้าประกวดจำนวนเกือบ 60 ตัว แบ่งการประกวดเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท Flower Horn ขอบตาแดง ขนาดความยาว ไม่เกิน 5 นิ้ว/ความยาว 5-7 นิ้ว และความยาว 7 นิ้วขึ้นไป ซึ่งผลการแข่งขัน ดังนี้ 1. รางวัลชนะเลิศ ประเภทฟลาวเวอร์ฮอร์น รุ่นไม่เกิน 5 นิ้ว ได้แก่ คุณธวัชชัย นิลสมบูรณ์ 2. รางวัลชนะเลิศ ประเภทฟลาวเวอร์ฮอร์น รุ่น 5-7 นิ้ว คุณรัตติกาล ยองเพ็ชร 3. รางวัลชนะเลิศ ประเภทฟลาวเวอร์ฮอร์น รุ่น 7 นิ้วขึ้นไป คุณคงสวัสดิ์ ปัญญาวงค์
สำหรับรางวัลยอดเยี่ยม Best in group รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้แก่ คุณคงสวัสดิ์ ปัญญาวงค์
ผลการประกวดตู้พรรณไม้น้ำสวยงาม
ผลการประกวดมีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ Best in Show ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัคราชกุมารี เงินรางวัล จำนวน 3,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ คุณอิทธิพงศ์ ดีวรรณ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวน 2,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ คุณวงษ์สวรรค์ เวชสิทธิ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับโล่รางวัลและเงิน 1,000 บาทพร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ คุณสิทธิชน อังคุตรานนท์ รางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รับโล่รางวัล เงินรางวัลจำนวน 500 บาท ได้แก่ 1. คุณตกานต์ ประนอม และ 2. คุณนภัทร ปรียางกูร รางวัล Popular Vote รับโล่รางวัลเงินรางวัล 500 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ได้แก่ คุณวงษ์สวรรค์ เวชสิทธิ์