ไผ่เป๊าะสาละวิน แม่สะเรียง กับเทคนิคการทำไผ่นอกฤดู ของ บุญยัง เทพแก้ว

จากการเดินทางฝ่ากว่าพันโค้งไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถนนทางตรงแทบไม่มี มองไปทางไหนก็มีแต่สีเขียว ผลงานของเกษตรกรรมที่เกษตรกรสร้างไว้ โดยเฉพาะอำเภอแม่สะเรียง มีสิ่งละอันพันละน้อยที่เกษตรกรสร้างไว้มากมาย เก็บมาบรรยายได้นับไม่ถ้วน

โชว์หน่อไม้ น้ำหนักเกือบ 3 กิโลกรัม

เพราะห่างไกลความเจริญ เส้นทางเป็นภูเขาคดเคี้ยว ทำให้การติดต่อเป็นไปได้ยาก จึงเป็นความโชคดี เมื่อเราเดินทางไปพบ คุณบุญยัง เทพแก้ว เกษตรกรที่ปลูกไผ่นอกฤดูประสบความสำเร็จมานานกว่า 10 ปี โดยไม่ได้นัดล่วงหน้ามาก่อน

นับถอยหลังไปเมื่อเริ่มปลูกไผ่ คุณบุญยัง อายุเพียง 40 เศษ เป็นเกษตรกรที่กล้าได้กล้าเสีย มีความคิดแตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น เมื่อเขาลงทุนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เมื่อไม่ได้ผล จึงโล๊ะทิ้งทั้งสวน แล้วลงปลูกลำไย

คุณบุญยัง กับ ลำไผ่ อายุกว่า 7 ปี

พยายามทำสวนลำไยให้เป็นเงินเกือบ 10 ปี ไม่ประสบความสำเร็จ ทุกปีมีแต่คำว่า “ขาดทุน” จึงหันไปมองพืชชนิดอื่น ตามวิสัยของเกษตรกรที่ไม่จมอยู่กับที่

ความห่างระหว่างลำไผ่ จะทำให้มีหน่อไม้มาก

“ผมไปแถวๆ ริมน้ำสาละวิน เขตชายแดนไทยติดต่อพม่า เห็นไผ่ขึ้นเยอะ ถามเพื่อนก็รู้มาว่า ไผ่ชนิดนี้เป็นไผ่ป่า ออกหน่อในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูที่ไผ่ทั่วไปไม่ออกหน่อ ผมจึงคิดจะนำกลับมาปลูก”

คุณบุญยัง เปลี่ยนจากสวนลำไย เป็น สวนไผ่ ทั้งหมด 20 ไร่

เมื่อไผ่ถึงอายุให้หน่อ ตัดมาขายในช่วงให้หน่อ คือ เดือนเมษายน ซึ่งเป็นนอกฤดูของการให้หน่อของไผ่ทั่วไปวางขายหน้าบ้าน หน่อที่ตัดมาเหล่านั้นทำรายได้ให้วันละ 400-500 บาททีเดียว

การตัดหน่อเพื่อให้แทงหน่อได้อีก

เมื่อช่องทางเป็นไปดังใจ คุณบุญยัง จึงมุ่งมั่นทำหน่อไผ่ขาย และเริ่มทำพันธุ์ไผ่ขาย

คุณบุญยัง เล่าว่า ในช่วงแรกของการนำไผ่เป๊าะสาละวินมาลงปลูกที่สวน ก็นำไผ่ชนิดอื่นมาปลูกร่วมด้วยหลายชนิด และนำเทคนิคเท่าที่มีมาทำให้ไผ่ออกนอกฤดู ไผ่ชนิดอื่นไม่สามารถออกนอกฤดูได้แม้แต่ชนิดเดียว มีเพียงไผ่เป๊าะสาละวินที่ไม่ต้องทำอะไรก็ออกนอกฤดูเป็นปกติ คือระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และค่อยๆ ลดจำนวนหน่อลง แต่ยังสามารถเก็บขายได้ถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ไผ่ชนิดอื่นเริ่มให้หน่อ แต่หากใช้เทคนิคในการทำนอกฤดูกับไผ่เป๊าะสาละวินด้วยแล้ว หน่อที่เคยได้นอกฤดูอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นหลายเท่าตัว

ราคาหน่อไม้นอกฤดู สามารถขายได้ถึงราคากิโลกรัมละ 50 บาท หรือหากหน่อไม้ที่เก็บมาขายในช่วงที่ไผ่ชนิดอื่นให้หน่อ เคยราคาต่ำสุดอยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท คุณบุญยัง บอกว่า แม้หน่อไม้จะขายได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 15 บาท ก็ยังมีกำไร เพราะการปลูกไผ่ต้นทุนต่ำ มีเพียงค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน และค่าน้ำเท่านั้น

หน่อนี้เตรียมตัดขาย

“ราคาต้นทุนของการทำสวนไผ่ แทบไม่มีอะไร นอกจากปุ๋ยปีละครั้ง น้ำก็ให้เมื่อต้องการให้ออกหน่อ มีแรงงานนิดหน่อย อย่างสวนของผม ใช้แรงงานประจำเพียง 2 คน มีบางช่วงที่หน่อออกมาก อาจจ้างเพิ่มนิดหน่อย ราคาขายต่อปีอยู่ที่ 300,000-500,000 บาท ต่อปี เฉพาะขายหน่อ แต่ต้นทุนอย่างมากก็แค่ 50,000 บาทเท่านั้น”

ลำไผ่เป๊าะ นำมาจากที่อื่น

เมื่อเริ่มทำสวนไผ่ใหม่ๆ คุณบุญยัง เก็บเมล็ดไผ่เป๊าะสาละวินจากป่ามาเพาะเอง เมื่อลงดินได้ จึงขุดหลุมปลูกระยะ 3×4 แต่หากใครสะดวกจะปลูก 4×4 หรือ 4×5 ก็ได้ ไม่ผิดกติกา

การลงปลูก ควรปลูกในช่วงเข้าฤดูฝน หรือเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ไผ่ได้น้ำจากฝน เป็นการประหยัดต้นทุนเรื่องน้ำ ซึ่งสวนไผ่เป๊าะสาละวินของคุณบุญยัง ให้น้ำไผ่ด้วยการติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ แต่ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน หากต้องการหน่อจึงเริ่มให้น้ำเท่านั้น เพราะไผ่เป็นพืชที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง การให้น้ำหรือปุ๋ยเพิ่มไป คือ การทำให้ไผ่มีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายถึงผลผลิตจะดีมากกว่าปกติ

สีของหน่อไม้ ไม่มีเสี้ยน

ทุกเดือนธันวาคม คุณบุญยังจะตัดแต่งไผ่ ซึ่งตรงนี้เป็นเทคนิคที่ยินดีจะเปิดเผย

  1. ตัดแต่งลำ ไม่ให้ลำเบียดหรือชิดกัน ส่วนจำนวนลำจะมากหรือน้อยไม่มีผล เมื่อลำไผ่มีพื้นที่ว่างรอบข้างลำมาก จะยิ่งทำให้ไผ่ติดหน่อได้มากถึง 6 หน่อ และหากไว้ลำมาก ก็จะเป็นการช่วยพยุงกอ เมื่อเกิดลมพายุ
  2. ตัดแต่งใบไผ่ โดยการเอาใบไผ่บริเวณยอดออก ระยะแรกที่ไผ่ยังไม่สูงนัก ใช้วิธีจุดไฟเผาตามใบ เพื่อให้ใบร่วง แต่เมื่อไผ่สูงขึ้น การจุดไฟเผาอาจเกิดอันตรายจากไฟได้ จึงใช้วิธีผสมสารโพแทสเซียม 400 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร พ่นไปที่ใบไผ่ หลังจากพ่นประมาณ 7 วัน ใบไผ่จะร่วงลงมาเอง หลังพ่นเสร็จควรใส่ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 หรือ ขี้ไก่ และให้น้ำทิ้งไว้ เมื่อใบไผ่ร่วงลงมาก็ปล่อยให้ทับถมอยู่ในสวน
ความโล่งเตียนของสวนไผ่ ใบไผ่ร่วงมาเป็นปุ๋ย

ไผ่ ชอบ ขี้ไก่

หากนำขี้ไก่มาทำปุ๋ย การใส่ขี้ไก่ก็ไม่มาก ราว 50 ลูก ต่อ 20 ไร่

หลังตัดแต่งประมาณ 1 เดือน หน่อจะเริ่มแทงออกมา และเก็บหน่อขายได้ในเดือนมีนาคมของทุกปี

หน่อไผ่ที่ได้ น้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม สีนวล เนื้อนิ่ม กรอบ หวาน ที่สำคัญ เนื้อหน่อไม้ไม่มีเสี้ยน

คุณบุญยัง ย้ำว่า ไผ่เป๊าะสาละวิน เป็นไผ่ที่ให้ผลผลิตนอกฤดูอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มเทคนิคการทำนอกฤดูเช่นนี้เข้าไป ยิ่งทำให้หน่อที่ออกนอกฤดูอยู่แล้วเพิ่มปริมาณการติดหน่อมากขึ้น แต่สำหรับไผ่ชนิดอื่น เมื่อทดลองทำแล้วได้ผลน้อย มาก หรือไม่ได้ผลเลย

ตะเกียบ ทำขายบ้าง

“แม้ว่าไผ่จะชอบน้ำ เมื่อจะติดหน่อ แต่ถ้าปีไหนสภาพอากาศค่อนข้างแล้ง เมื่อเราให้น้ำก่อนติดหน่อ ไผ่จะให้หน่อจำนวนค่อนข้างดี และราคาขายสูง แต่ปีไหนที่สภาพอากาศมีฝนตกชุก จำนวนหน่อไม่ได้ลดลง แต่ราคาขายถูกลง เนื่องจากมีไผ่ชนิดอื่นติดหน่อในช่วงนอกฤดูเท่านั้นเอง”

ราคาขายที่ผ่านมา ราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท มาโดยตลอด ในช่วงฤดูที่หน่อไม้ออกจำนวนมาก สามารถเก็บขายได้มากถึงวันละ 300 กิโลกรัม รายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ต่อวัน ซึ่งระยะหลังคุณบุญยัง ไม่ได้วางขายหน้าบ้าน แต่เปลี่ยนไปส่งให้กับตลาดแม่สะเรียง และเตรียมเปิดตลาดไปยังตลาดแม่สอด เพราะมีช่องทางลูกค้าประเทศเพื่อนบ้านอีกมาก

กิ่งพันธุ์ยังคงทำอยู่

ส่วนการทำกิ่งพันธุ์ไผ่เป๊าะสาละวินขาย เริ่มทำมาตั้งแต่การขายหน่อติดตลาด มีลูกค้าติดต่อสั่งซื้อกิ่งพันธุ์จำนวนมาก ปัจจุบัน กิ่งพันธุ์มีลูกค้าสนใจแต่จำนวนลดลง เนื่องจากหลายคนรู้จักการทำกิ่งพันธุ์ไผ่ด้วยตนเอง เมื่อซื้อไปก็สามารถทำกิ่งพันธุ์เองได้ ทั้งยังขายเป็นรายได้อีกทาง

ถ่านไม้ไผ่

“ช่วงแรกๆ กิ่งพันธุ์ขายดีมาก ผมขายไม่แพง ลูกค้าสั่งมาครั้งละหลักหมื่นต้น กระจายไปทั่วประเทศ ส่วนมากเป็นลูกค้านำไปปลูกในจังหวัดนครราชสีมาเยอะ แล้วพอลูกค้าทำกิ่งพันธุ์เองได้ เริ่มขายกิ่งพันธุ์เอง ลูกค้าก็ไม่ต้องมาถึงเรา เพราะเราอยู่ไกล แต่ทุกวันนี้ก็ยังขายได้แม้จะไม่มากเท่าเดิมก็ตาม”

เพราะต้นไผ่ที่คุณบุญยังปลูก มาจากการเพาะเมล็ดตั้งแต่แรก ทำให้สวนไผ่แห่งนี้มีอายุอย่างน้อย 60 ปี ซึ่งทุกปีผลผลิตที่เป็นหน่อไม้จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้น

ลำไผ่ ตัดไว้รอการจำหน่าย และเผาทำถ่าน

ปัจจุบัน คุณบุญยัง เพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 20 ไร่เศษ และปลูกเพียงไผ่เป๊าะสาละวินเพียงชนิดเดียว หน่อไม้ทั้งนอกฤดูและในฤดูจะนำไปส่งให้กับแม่ค้าที่ตลาดแม่สะเรียง กิ่งพันธุ์ยังคงมีผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง และด้วยลำของไผ่เป๊าะสาละวิน มีขนาดเส้นรอบวงเมื่อใหญ่อยู่ที่ 4-5 นิ้ว ทำให้มีผู้สนใจติดต่อขอซื้อลำบางส่วน ซึ่งคุณบุญยัง นำลำไผ่แปรรูปเผาเป็นถ่านไม้ไผ่ และทดลองทำตะเกียบจากไม้ไผ่จำหน่ายไปบ้าง ทั้งนี้ คุณบุญยัง กระซิบบอกกับเราด้วยว่า เทคนิคการทำไผ่ออกนอกฤดูไม่หวง หากใครต้องการเรียนรู้การปลูกไผ่ สามารถพูดคุยหรือขอความรู้ได้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ที่ คุณบุญยัง เทพแก้ว หมู่ที่ 5 บ้านห้วยทราย ตำบลแม่ออม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือโทรศัพท์ (082) 195-0814