ขายก้านทางมะพร้าว อาชีพเสริมทำเงิน เกษตรกรอ่าวน้อย ประจวบคีรีขันธ์

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกและขายมะพร้าวมากเป็นอันดับต้นของประเทศ แม้จะเป็นรองจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างอยู่บ้างก็ตาม แต่ผลิตผลที่ได้จาก “มะพร้าว” ก็มีหลากหลาย และได้รับการยอมรับในคุณภาพไม่น้อย

เกือบทุกส่วนของต้นมะพร้าวที่ไม่ได้ขายผลสด จะถูกแปรรูปขาย สร้างรายได้เช่นกัน

ทางมะพร้าวแก่ ที่หลุดร่วงจากต้น เกษตรกรส่วนใหญ่นำไปสุมโคนต้นไม้บางชนิด เพื่อประโยชน์ในทางการเกษตร แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่ปล่อยทิ้งไว้ หรือ กำจัดทิ้ง โดยการเผา สร้างมลภาวะทางอากาศ และทำให้หน้าดินสูญเสียแร่ธาตุ

ในบางมุมมองชาวบ้านหรือเกษตรกร อาจไม่ได้มองเช่นนั้น เมื่อเห็นว่าทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้น ไม่มีประโยชน์ หากนำไปกำจัดได้ ก็น่าจะเป็นผลดี

แต่สำหรับคุณฐนโรจน์ ชัยสิริธนานนท์ หรือ คุณนัต กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

สวนมะพร้าว

คุณฐนโรจน์ เดิมที่เป็นชาวนนทบุรี แต่ปักหลักมีครอบครัวอยู่ที่ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยความสนใจในการทำเกษตรกรรม จึงศึกษาและปลูกไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไว้จำนวนหนึ่ง

แม้คุณฐนโรจน์ จะไม่ได้ปลูกมะพร้าวเหมือนเช่นเกษตรกรรายอื่นทำ แต่คุณฐนโรจน์ก็เห็นคุณค่าของทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้นมะพร้าว โดยไม่คิดทำลายทิ้งด้วยการเผา แต่มองเห็นเม็ดเงินในทางมะพร้าวเหล่านั้น

จากเริ่มแรกเห็นว่า ทางมะพร้าว มีประโยชน์ โดยเฉพาะการนำมาเหลาใบมะพร้าวออก เหลือแต่ก้านมะพร้าว แล้วนำมาทำเป็นไม้กวาด จึงขอให้ชาวบ้านเก็บทางมะพร้าวแก่ที่หลุดจากต้น มาเหลาใบทิ้ง ส่วนก้านขอซื้อ นำไปถวายวัด ให้วัดได้มีไม้กวาดใช้

“ตอนแรกคิดแค่อยากนำไปทำบุญเท่านั้น ถวายทางมะพร้าวไป ที่เหลือก็ขึ้นกับทางวัดจะนำไปทำเป็นไม้กวาดชนิดไหน เพราะก้านสำหรับทำไม้กวาดก็เป็นไม้ในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ผู้ใช้จะได้ถนัดมือด้วย”

ต้องทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงเท่านั้น

คุณฐนโรจน์ บอกว่า หลังจากที่ให้เกษตรกรสวนมะพร้าวเหลาทางมะพร้าวมาขายให้กับตน ก็มีเกษตรกรนำมาขายให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงคิดในมุมของการเพิ่มรายได้ และหาข้อมูลเพิ่มเติม ทราบว่า แหล่งผลิตทางมะพร้าวรายใหญ่ของประเทศ อยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพียงแห่งเดียว ดังนั้น หากจะมีแหล่งขายทางมะพร้าวเพิ่มอีกแห่ง ก็คงจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อได้

“ผมรับซื้อจากเกษตรกร ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท และขายออกในราคากิโลกรัมละ 25 บาท”

เมื่อจำนวนทางมะพร้าวมากขึ้น คุณฐนโรจน์ จึงประกาศขายทางอินเตอร์เน็ต และได้รับการติดต่อซื้อจากลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และ สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร

จำนวนขายน้อยที่สุด นับตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา อยู่ที่ขั้นต่ำ 30 กิโลกรัม ไปถึงหลายร้อยกิโลกรัม

การเหลาทางมะพร้าวขายให้กับคุณฐนโรจน์ ถือเป็นงานอดิเรกเสริมรายได้ของเกษตรกรที่นี่

วิธีตัดกิ่งออกจากก้าน ก่อนนำมาเหลา

ในแต่ละวัน เมื่อเกษตรกรว่างเว้นจากการทำการเกษตร จะเดินเก็บทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้นในสวน นำมากองไว้ใกล้ที่พัก เมื่อได้จำนวนมากพอ จะเริ่มเหลาทางมะพร้าว และมัดทางมะพร้าวที่เหลาเรียบร้อยแล้วเป็นมัดด้วยยาง น้ำหนักทางมะพร้าวมัดละ 5 กิโลกรัม เมื่อได้ปริมาณมากพอจะนำไปขายให้กับคุณฐนโรจน์ ที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของคุณฐนโรจน์ หรือ โทรศัพท์ให้คุณฐนโรจน์ เข้ามารับทางมะพร้าวไป

ขนาดของทางมะพร้าวที่รับซื้อ ไม่ได้กำหนดความสั้นหรือยาว คุณฐนโรจน์ ใช้วิธีขายเหมา ขึ้นกับลูกค้าว่าต้องการนำไปทำอะไร เช่น ทางมะพร้าวก้านสั้น เหมาะสำหรับนำไปทำไม้กวาด ใช้กวาดดินลูกรัง ส่วนทางมะพร้าวก้านยาว เหมาะสำหรับนำไปทำไม้กวาด ใช้กวาดพื้นคอนกรีตหรือซีเมนต์

ปัจจุบัน มีเกษตรกรประมาณ 100 ครัวเรือน ที่ใช้เวลาว่างเหลาทางมะพร้าวมาส่งขายให้กับคุณฐนโรจน์ สร้างรายได้เสริมได้ไม่น้อย ซึ่งแหล่งผลิตไม้กวาดเช่นจังหวัดขอนแก่น และ ปราจีนบุรี ก็ยังสั่งทางมะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากที่นี่

มัดเล็ก 5 กิโลกรัม มัดใหญ่ 10 กิโลกรัม

คุณฐนโรจน์ อธิบายให้ฟังว่า หากเปรียบเทียบราคาไม้กวาดที่ขายตามท้องตลาด หรือ ขายส่งทั่วไป อยู่ที่ ด้ามละ 30-40 บาท ความต้องการซื้อทางมะพร้าว เพื่อนำไปประกอบไม้กวาดเอง ยังมีสูง เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย และยังสามารถหาขนาดด้ามไม้กวาดที่เหมาะมือกับผู้ใช้มาประกอบเอง เพื่อความถนัด อีกทั้งราคาทางมะพร้าวที่เหลาแล้ว กับทางมะพร้าวที่นำไปประกอบเป็นไม้กวาดสำเร็จรูปนั้น ห่างกันมาก ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ไม้กวาดจำนวนมาก จึงเลือกซื้อทางมะพร้าวเหลาแล้ว ไปประกอบด้ามเอง สะดวกกว่า

เกษตรกรแต่ละครัวเรือนในแต่ละวัน จะเหลาทางมะพร้าวได้อย่างน้อย 3-4 กิโลกรัม ในเวลาที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม จึงถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกรพึงพอใจ และแม้คุณฐนโรจน์เอง จะต้องควักกระเป๋ารับซื้อทางมะพร้าวเหลามาไว้ ก่อนจะถ่ายเทออกไปเมื่อมีลูกค้าสั่ง แต่คุณฐนโรจน์ ก็มีรายได้จากส่วนต่างที่รับซื้อจากเกษตรกร

อาจมองดูเหมือนทางมะพร้าวที่เกษตรกรเหลามาขายส่งให้กับคุณฐนโรจน์ไม่มากนัก แต่เมื่อรวบรวมเฉลี่ยในแต่ละวัน คุณฐนโรจน์ รับซื้อได้มากถึง 500 กิโลกรัมทีเดียว คุณฐนโรจน์ เล่าว่า รายได้ต่อทางมะพร้าวเหลา 1 ตัน อยู่ที่ 20,000 บาท เมื่อหักกำไรสุทธิแล้ว ทำให้การขายแต่ละตัน คงเหลือที่ 5,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่น้อย เพราะไม่ต้องลงแรงอะไร

แต่สิ่งสำคัญที่เกษตรกรและคุณฐนโรจน์ ต้องซื่อสัตย์กับลูกค้า คือ การเลือกเฉพาะทางมะพร้าวแก่ที่หลุดร่วงจากต้นเอง หากทางมะพร้าวแก่แล้ว แต่ยังไม่หลุด เกษตรกรก็จะไม่ดึงให้หลุด เพราะถือว่าทางมะพร้าวก้านนั้นยังไม่แก่ ซึ่งคุณสมบัติของทางมะพร้าวที่แก่ได้ที่ คุณฐนโรจน์ บอกว่า จะไม่เปราะ และ มีความเหนียวมาก

สนใจ ติดต่อได้ที่ คุณฐนโรจน์ ชัยสิริธนานนท์ เลขที่ 50 หมู่ 1 บ้านหนองหญ้าปล้อง ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือโทรศัพท์สอบถามก่อนได้ที่ 080-606-1888 และ 080-605-8999