มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ทนทานต่อโรคจุดวงแหวน

โดยปกติแล้วมะละกอสามารถขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด แต่จะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีการระบายน้ำที่ดี เช่น ดินร่วนปนทราย ถ้าพื้นที่เป็นดินเหนียวหรือดินทรายจัด เราควรปรับปรุงดินก่อนโดยการใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดี การระบายน้ำของแปลงปลูกมะละกอจะต้องดี เพราะต้นมะละกอเป็นพืชที่ไม่ทนต่อสภาพน้ำขังแฉะโดยเฉพาะถ้าต้นมะละกอยังเล็ก ถ้ามีน้ำขังมากๆ ต้นมะละกออาจจะชะงักการเจริญเติบโตและอาจถึงตายได้

มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” เป็นมะละกอ ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร 2/395 ถ.ศรีมาลา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000 โทร. 056-613021, 081-8867398 ได้เมล็ดพันธุ์มาจากประเทศทางแถบอเมริกากลางและนำมาคัดเลือกพันธุ์นานกว่า 10 ปี ได้ผลผลิตที่มีคุณลักษณะดังนี้

เรด แคลิเบียน ทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวน

“ทรงผลคล้ายกับมะละกอเรดมาลาดอล์ (หรือบ้านเราเรียกมะละกอฮอลแลนด์ หรือ ปักไม้ลาย) แต่มีขนาดของผลใหญ่กว่ามากขนาดผลใหญ่กว่าเท่าตัว น้ำหนักผลเฉลี่ย 3-5 กิโลกรัม เนื้อหนามาก มีสีแดงส้มและรสชาติหวานเหมือนมะละกอแขกดำศรีสะเกษ จากการปลูกทดสอบในแปลงพบว่าต้นมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” มีความทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนได้ดีกว่ามะละกอสายพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเปรียบเทียบกันในแปลง ลำต้นมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” มีความแข็งแรงอย่างเห็นได้ชัด ลำต้นจะมีขนาดใหญ่ แข็งแรงสอดคล้องกับการรับน้ำหนักผลบนต้นที่มีจำนวนมากและผลมีน้ำหนักค่อนข้างเยอะ มีการติดผลดกมากและผลมีขนาดใหญ่ เปลือกมีความหนา 0.3-0.5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลดีในการขนส่งระยะไกล เป็นมะละกอที่สามารถบริโภคได้ทั้งผลสุกและผลดิบ โดยเฉพาะผลสุก มะละกอมีรสชาติหวาน หอม เนื้อหนา 3-5 เซนติเมตร ทานอร่อยมาก ส่วนผลดิบใช้ตำส้มตำได้”

ปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรนำเมล็ดมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ไปปลูกเพื่อส่งผลผลิตโรงงานแปรรูปผลไม้กระป๋อง เนื่องจากเป็นมะละกอที่มีสีสวย เนื้อหนามากและเนื้อละเอียดเนียน

พันธุ์เรด แคลิเบียนเปรียบเทียบขนาดกับพันธุ์ฮอลแลนด์

ได้คัดเลือกพันธุ์มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” อย่างต่อเนื่องจนสายพันธุ์มีความนิ่งในระดับที่น่าพอใจ และจากการปลูกมะละกอยักษ์เรด แคลิเบียน พบว่าไม่เคยเจอต้นตัวผู้ (หรือเรียก “มะละกอสาย”) เลย จะพบเพียงต้นตัวเมียที่มีลักษณะผลกลมรีบ้างสัก 10-20 เปอร์เซ็นต์ในแปลงปลูกซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยหากเทียบกับมะละกอสายพันธุ์อื่น เช่น มะละกอพันธุ์แขกดำ และเรื่องการทนทานต่อโรคไวรัสจุดวงแหวนนั้น เป็นประเด็นที่เราให้ความสนใจเป็นอย่างมากเพราะบางต้นที่ปลูกในแปลงที่เป็นโรคจุดวงแหวน เมื่อมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ได้รับปุ๋ยและน้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” เจริญเติบโตได้ดีและยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไปได้อีก

ส่วนในกรณีที่ต้นอายุเกิน 2 ปีไปแล้ว ต้นมะละกอมีความสูงที่ยากในการเก็บเกี่ยวผลลงจากต้นแล้วนั้น ก็จะใช้วิธีการตัดต้นทำสาวมะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ให้ต้นเตี้ยเหมือนต้นที่ปลูกใหม่ และส่งผลต่อการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น การจัดการง่ายขึ้น เก็บผลผลิตง่าย และยังได้ต้นแม่พันธุ์เดิม ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปี และช่วยเก็บรักษาต้นแม่เอาไว้ได้นานอีกหลายปี ยกตัวอย่างต้นแม่พันธุ์มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ที่ปลูกและตัดต้นทำสาวมีอายุยืน มีผลผลิตให้เก็บต่อเนื่องนานถึง 4 ปีทีเดียว หลังจากตัดต้นทำสาวเพียง 3-4 เดือน ยอดใหม่มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” จะเริ่มออกดอกติดผลต่อไป

ผู้เขียนกับมะละกอยักษ์เรดแคลิเบียน ผลสุกที่หนักเกือบ5กก.

การเตรียมดินและปลูก มะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ถ้าสภาพดินปลูกมีค่า pH ต่ำกว่า 6.0 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ในอัตรา 200-300 กก./ไร่ คลุกดินโดยการไถพรวน แล้วตากทิ้งไว้ 10-15 วันเพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรค-แมลงศัตรู และกำจัดวัชพืชไปพร้อมๆ กัน หลังจากนั้นไถยกร่องเป็นลอนลูกฟูก สูง 30-50 เซนติเมตร กว้าง 2.5-3 เมตร การยกร่องดังกล่าวเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณแปลงให้แปลงปลูกระบายน้ำดี ในการเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมกลางร่องปลูกขนาด 30 x 30 x 30 เซนติเมตร ควรจะพรวนดินเป็นหลังเต่า ตอนพรวนก็ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 3-5 กิโลกรัม ผสมดินในหลุมปลูก รดน้ำให้ชื้นและยุบตัวดี ระหว่างหลุม 2.5-3 เมตร คลุมบริเวณหลุมปลูกด้วยฟางข้าว ทิ้งไว้ 7-10 วันจึงปลูกได้ หรือจะปลูกก่อนแล้วคลุมฟางทีหลังก็ได้ แต่ในปัจจุบันบางสวนก็ใช้พลาสติกคลุมแปลง เพราะลดค่าแรงและเวลาการทำหญ้ากำจัดวัชพืช ที่สำคัญแปลงปลูกจะมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ

วิธีการเพาะต้นกล้ามะละกอยักษ์ “เรด แคลิเบียน”  สำหรับเคล็ดลับเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีและสม่ำเสมอ รศ.ดร.กวิศร์  วานิชกุล ได้ให้ข้อมูลว่า “การเพาะเมล็ดมะละกอให้งอกดีสม่ำเสมอนั้นให้นำมะละกอแช่น้ำ 1–2 วัน  โดยในช่วงวันแรกให้เปลี่ยนน้ำอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง  หลังจากนั้นให้เปลี่ยนน้ำถี่ขึ้น  เนื่องจากเมล็ดมะละกอมีการหายใจมากขึ้นทำให้ออกซิเจนในน้ำเหลือน้อยลง  หากแช่น้ำแล้วไม่เปลี่ยนน้ำเลยก็จะเหลือออกซิเจนในน้ำน้อยเมล็ดมะละกอนั้นก็จะเกิดการหมักจนเน่าได้ ในวันที่ 3 ให้นำเมล็ดมะละกอนั้นห่อด้วยผ้าเปียกน้ำหมาดๆ นำผ้าใส่ไว้ในกล่องพลาสติกหรือกระติกน้ำเก่า และมีการพรมน้ำอยู่เรื่อยๆ ก็ได้  หากแช่เมล็ดมะละกอในน้ำดังกล่าวแล้วจะทำให้ได้ต้นกล้ามะละกอที่งอกได้ดีและโตสม่ำเสมอกัน”

เปรียบเทียบเนื้อดิบกับเนื้อสุกของมะละกอยักษ์เรดแคลิเบียน เนื้อมีความหนามาก

หรือหากจะลดความยุ่งยากและยังไม่มีความชำนาญในการเพาะกล้า บางท่านก็อาจจะเลือกใช้วิธีของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงจ.สุพรรณบุรีแนะนำว่า ให้แช่เมล็ดพันธุ์มะละกอในน้ำอุ่น (น้ำธรรมดา 1 ส่วนผสมกับน้ำร้อน 1 ส่วน = น้ำอุ่น) ทิ้งไว้ 1 คืน เช้าขึ้นมานำเมล็ดมะละกอ หยอดปลูกลงถุงดำขนาดเล็กที่เตรียมไว้ โดยอาจจะใช้วัสดุ เช่นขี้เถ้าแกลบดำ 1 ส่วน ผสมกับปุ๋ยหมัก หรือ ดิน 1 ส่วน หยอดเมล็ดมะละกอ ถุงละ 3 เมล็ด จากนั้นรดน้ำที่ผสมยาป้องกัน กำจัดเชื้อรา เช่น เมทาแลคซิล รดให้เพื่อช่วยป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า และผสมยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันมดคาบเมล็ดมะละกอที่เพาะไว้ เช่น เซฟวิน-85 วางถุงดำไว้ใต้แสลนพรางแสง 60 % รดน้ำทุกเช้าวันละ 1 ครั้ง

จากนั้นอีก 7 – 10 วัน เมล็ดมะละกอจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงได้ 2 ใบให้เอาแสลนออก ให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดเต็มที่เพื่อเป็นการปรับตัว ในช่วงที่ต้นกล้าเริ่มงอกควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรา พวกแมนโคเซบผสมกับยาแมลง เช่น เซฟวิน-85 และสารจับใบพรีมาตรอน จากนั้นฉีดพ่นให้ทุกๆ 7 วัน เป็นการป้องกันโรคและแมลงทำลาย จากนั้นประมาณ 2-3 อาทิตย์  ต้นกล้ามะละกอก็สามารถย้ายปลูกลงแปลงไว้ได้ หรือเมื่อต้นกล้าอายุ 45 วัน จึงย้ายลงปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ ไม่ควรปลูกต้นกล้ามะละกอลึกจะทำให้รากเน่า

เนื้อสุกเรดแคลิเบียน รสชาติหวานทานอร่อยมาก

ในการใส่ปุ๋ยระยะก่อนติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 เดือนละครั้งๆ ละ 100-150 กรัม/หลุม หลังติดผล ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2-3 กิโลกรัม/หลุม และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 150 กรัม/หลุม เดือนละครั้ง วิธีการให้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทางดิน ให้หว่านลงดินบริเวณรัศมีทรงพุ่มของมะละกอแล้วรดน้ำตาม อย่าใส่ปุ๋ยชิดโคนต้นมะละกอ เพราะจะทำให้มะละกอเสียหายได้

หลังจากปลูกต้นกล้ามะละกอไปได้ประมาณ 2-3 เดือน ต้นมะละกอจะเริ่มออกดอก ให้เกษตรกรสังเกตดูการออกดอกของต้นมะละกอภายในหลุมทั้ง 3 ต้น ว่าต้นใดเป็นต้นสมบรูณ์เพศหรือต้นกะเทย (ผลยาว) ให้คัดต้นสมบรูณ์เพศหรือต้นกะเทยไว้เพียงต้นเดียว สำหรับต้นตัวเมีย (ผลป้อม) ถ้าไม่ต้องการก็ตัดทิ้ง เพราะผลผลิตที่ออกมาจะเป็นลูกป้อมและถ้าเป็นตัวผู้ให้ตัดทิ้งเลย โดยปกติแล้วต้นดอกสมบรูณ์เพศหรือดอกกะเทยนั้น ตลาดจะต้องการมากที่สุด โดยจากการสังเกตการณ์ออกดอกของมะละกอยักษ์ เรด แคลิเบียน พบว่ามีเปอร์เซ็นต์การออกดอก เป็นต้น กระเทย(ผลยาว)ค่อนข้างสูงประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มีการพบต้นที่ให้ดอกตัว(ผลกลม)เมียเพียง 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนต้นตัวผู้ยังไม่พบในแปลงปลูก

เนื้อมีความหนา ละเอียด สีแดงส้ม รสชาติหวาน

การบำรุงรักษา ยักษ์ “เรด แคลิเบียน” ในฤดูแล้งต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดอย่าให้ดินแห้งในฤดูฝน ถ้าฝนทิ้งช่วงต้องให้น้ำ แต่ถ้าฝนตกหนักจะต้องดูแลการระบายน้ำไม่ให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้น โดยเสริมร่องปลูกให้สูงอยู่เสมอ ในช่วง 1-2 เดือนแรกหลังปลูกมักพบโรครากเน่าและโคนเน่าจึงควรราดโคนต้นมะละกอด้วยสารอาลีเอท ในช่วงฝนตกชุกก็เช่นเดียวกันจะมีโรครากเน่าโคนเน่าระบาดมาก แม้มะละกอจะออกดอกหรือติดผลแล้ว จำเป็นต้องราดโคนด้วย สารอาลีเอท ทุกๆ 15 วัน

เป็นที่สังเกตว่าการหว่านเชื้อไตรโคเดอร์มาก่อนปลูกและหว่านซ้ำทุกๆ 4 เดือน จะช่วยลดการใช้สารเคมีลงกว่าครึ่ง การกำจัดวัชพืชไม่ควรใช้จอบถางบริเวณโคนต้น เพราะรากจะถูกตัดขาด ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตหรือทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ แต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีวัชพืชขึ้น นอกทรงพุ่มต้องใช้เครื่องตัดหญ้าหรือมีดตัดให้สั้น การคลุมโคนต้นมะละกอ ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้นมะละกอให้หนาและหมั่นเติมฟางอยู่เสมอจะช่วยลดวัชพืช เพราะการคลุมฟางจะทำให้เมล็ดหญ้าไม่งอกและรักษาความชื้นในดิน หรือหากเป็นสวนมะละกอขนาดใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชในการใช้ต้องมีความระมัดระวัง มะละกออ่อนแอต่อยาฆ่าหญ้า

ในการปลูกมะละกอไม่ควรใช้ยาฆ่าหญ้าเลยเป็นดีที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติจริงการใช้สารกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมะละกอมีข้อจำกัดและเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะปัญหาเรื่องการใช้ยาฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าหญ้าในกลุ่มไกลโฟเสท และสาร 2,4-ดี  ละอองยาสามารถฟุ้งกระจายไปได้นับร้อยเมตร เมื่อต้นมะละกอได้สัมผัสสารฆ่าหญ้าจะทำให้ใบหงิก และมีลักษณะอาการเหมือนกับโรคไวรัสจุดวงแหวน

การติดผลมะละกอยักษ์เรดแคลิเบียน

ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหลายรายเข้าใจผิด ว่ามะละกอที่ปลูกเป็นโรคจุดวงแหวน แต่ความจริงแล้วเกิดจากละอองของยาฆ่าหญ้า ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกมะละกอจะต้องตระหนักเป็นพิเศษ ไม่ควรฉีดพ่นสารฆ่าหญ้าในแปลงปลูกมะละกอ โดยเฉพาะช่วงต้นมะละกอยังต้นเล็ก ไม่แนะนำให้ใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชใดๆ เพราะจะทำให้ต้นมะละกอเสียหายได้ง่าย แต่ถ้าต้นมะละกอโตแล้ว ก็สามารถเลือกใช้ยาป้องกันกำจัดวัชพืชได้ แต่ต้องระวังละอองยาอย่าให้โดนใบและผลโดยสวนมะละกอหลายๆ สวน ขณะนี้นิยมเลือกใช้ “บาสต้า-เอ๊กซ์” ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยกับมะละกอโดยเฉพาะระบบราก เพราะไม่ถูกดูดซับ และสะสมในดิน จึงปลอดพิษตกค้าง สามารถกำจัดวัชพืชทั้งใบแคบและใบกว้าง มะละกอเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุได้ 8-10 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมื่อผลมีสีผิวเปลี่ยนจากเขียวเป็นเขียวอ่อน หรือ ปรากฏแต้มสีเหลืองบริเวณปลายผล