รวมสายพันธุ์ส้มเปลือกล่อนและส้มโอของประเทศไทย ที่เกษตรกรนิยมปลูก

นอกจากส้มเขียวหวานและส้มโอที่มีการปลูกในประเทศมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในระยะเวลาต่อมาเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกต้นพันธุ์ และพัฒนาสายพันธุ์เดิมที่มีอยู่ รวมทั้งมีการนำพันธุ์ส้มชนิดและสายพันธุ์ต่างๆทั้งส้มโอ ส้มติดเปลือก และโดยเฉพาะส้มเปลือกล่อนจากต่างประเทศ เข้ามาทดลองปลูกอีกหลายสายพันธุ์ ส้มบางสายพันธุ์ที่มีการปรับตัวและการพัฒนาที่ดี สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและต้องการของผู้ บริโภค ทำให้ปัจจุบันมีสายพันธุ์ของส้มเปลือกล่อน และส้มที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านลักษณะคุณภาพ และรสชาติ ให้เลือกบริโภคตามความต้องการ

ปัจจุบันมีส้มเปลือกล่อนที่เกษตรกรนิยมปลูกในประเทศ ได้แก่
1.ส้มเขียวหวาน พันธุ์บางมด (บางล่าง/กิ่งอ่อน)
2.ส้มเขียวหวาน พันธุ์แหลมทอง (บางบน/กิ่งแข็ง)
3.ส้มสีืองหรืส้มผิวทองซึ่งตามความเป็นจริง คือส้มเขียวหวาน หรือพันธุ์แหลมทอง ที่นำไปปลูกจังหวัดน่านและจังหวัดเชียงใหม่ หากแต่ผลส้มที่มีสีของเปลือกผลเป็นสีส้มแดง แทนที่จะมีเปลือกเป็นสีเขียว เนื่องจากอิทธิพลของอากาศเย็น
4.ส้มฟรีมองต์
5.ส้มสายน้ำผึ้ง (หรือส้มโชกุน)
6.ส้มออร่า (พวงทอง/ออร่า 9)
7.ส้มซัสซุมา
8.ส้มพองแกน

พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก และมีความต้องการของตลาดทั้งภายในและภานนอกประเทศ ได้แก่
-พันธุ์ทองดี
-พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง
-พันธุ์ขาวแตงกวา
-พันธุ์ขาวใหญ่
-พันธุ์ขาวหอม
-พันธุ์ทำข่อย
-พันธุ์ขาวพวง
-พันธุ์ขาวแป้น
-พันธุ์ทับทิมสยาม

นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ปัตตาเวีย เขียวมรกต หอมหาดใหญ่ ขาวกรุ่น และพันธุ์อื่นๆ อีกหลายสายพันธุ์ ทั้งที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่มีการปรับปรุงพันธุ์โดยการคัดเลือกและพัฒนาขึ้นใหม่

คุณค่าทางโภชนาการส้ม

ส้มโดยเฉพาะส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ที่คนไทยรู้จักดีเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มี ผลผลิตตลอดทั้งปี มีจำหน่ายในตลาดทั่วไป ราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภคทุกชนชั้น และมีคุณค่าทางอาหารสูง ผลการวิเคราะห์สารอาหารจากส้มเขียวหวาน 100 กรัม โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายจำนวนมาก ได้แก่

คาร์โบไฮเดรต 9.90 กรัม
โปรตีน 0.60 กรัม
ไขมัน 0.20 กรัม
แคลเซียม 31.00 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.80 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 18.00 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 4,000 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.04 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
วิตามินซี 18.00 มิลลิกรัม
เส้นใย 0.02 กรัม
ความชื้น 88.70 กรัม
แคลอรี่ 44.00 หน่วย

ดังนั้น ผลส้มเขียวหนัก 100 กรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักเฉลี่ยของผลส้ม 1 ผล ประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญ คือแคลเซียม 31 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 18 มิลลิกรัม วิตามินซี 18 มิลลิกรัม วิตามินเอ 4,000 หน่วยสากล จึงจัดว่าส้มเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพชนดหนึ่งที่มีราคาไม่แพง และเหมาะสำหรับการบริโภคประจำวัน

ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของส้มโอ นอกจากมีวิตามินซีสูง อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสแล้ว ที่ผิวเปลือกผลชั้นนอกสุดซึ่งมีสีเขียว ประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหย และเปลือกผลส่วนกลางที่เป็นสีขาว มีสารแพกตินในปริมาณค่อนข้างสูง จากการวิเคราะห์ของกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ หาปริมาณสารอาหารจากเนื้อส้มโอ 100 กรัม หรือ 1 กลับ พบว่าส้มโอประกอบด้วยสารอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์ ดังนี้

แคลอรี 61.0 หน่วย
ไขมัน 0.2 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม
โปรตีน 0.5 กรัม
แคลเซียม 21.00 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.50 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 18.00 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 10 หน่วยสากล
วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม
วิตามินซี 58.00 มิลลิกรัม
เส้นใย 0.6 กรัม
ความชื้น 81.0 กรัม

เนื่องจากส้มโอมีเปลือกหนามากเป็นพิเศษกว่าส้มชนิดอื่นๆ ดังนั้นเมื่อปอกส้มโอแล้ว คนไทยจึงนิยมนำเปลือกมาแช่น้ำน้ำตาล เชื่อมจนอิ่มตัวเพื่อใช้รับประทานเป็นของหวาน เรียกว่า “เปลือกส้มโอแช่อิ่ม”

 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี