ปลูกดอกกระเจียวหวานอินทรีย์ อาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จัก แต่สร้างรายได้งาม

พูดถึง กระเจียว หลายคนคงนึกถึงภาพทุ่งกระเจียวสีชมพูอมม่วงที่สวยสดงดงามในช่วงหน้าฝน ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ แต่ในความเป็นจริงดอกกระเจียวใช่จะมีไว้ดูเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่บางสายพันธุ์ยังสามารถนำมารับประทานได้ด้วย ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยรับประทานดอกกระเจียวมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในจังหวัดยโสธรรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะการนำมาต้มจิ้มน้ำพริกต่างๆ ซึ่งใครที่เคยได้ลิ้มรสต่างติดใจกันเป็นแถว

ดอกกระเจียวหวาน ทำได้สารพัดเมนู

ด้วยความที่เห็นช่องทางการตลาดอันสดใสของดอกกระเจียว คุณเมืองชัย ทองลา หรือ คุณโบ้ ซึ่งจบ ปริญญาตรี (เทคโนโลยีการผลิตสัตว์) สาขาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านจดทะเบียนจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก” อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยตัวเขาเองทำหน้าที่เป็นเลขานุการของกลุ่ม จากแรกเริ่มมีแค่ 20 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 50 คนแล้ว ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกโดยรวมประมาณ 20 ไร่ และมีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นชัดว่าเป็นพืชเสริมที่ทำรายได้ดี

คุณเมืองชัย ทองลา กับแปลงต้นกระเจียว 1 ไร่

ปลูกกระเจียว เสริมพืชหลัก

คุณเมืองชัย เล่าที่มาที่ไปของเรื่องนี้ให้ฟังว่า ก่อนจะมาทำไร่ดอกกระเจียวนี้ ได้หาประสบการณ์ในการทำเกษตรและการทำธุรกิจมาสักพักหนึ่ง คือพอเรียนจบ เมื่อปี 2556 ก็ได้เข้ารับใช้ชาติ 2 ปี โดยประจำการที่กองพันทหารราบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

ก่อนปลดประจำการเห็นเพื่อนที่จบมาพร้อมกันได้ทำงานไปไกลแล้วในสายงานที่เรียนมา ส่วนใหญ่ขึ้นเป็นผู้จัดการหมด เลยคิดว่าทำอย่างไรคงไม่ทันเพื่อนแน่ๆ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งที่แม่ฮ่องสอน ไม่ได้ทำงานตามสายงานที่เรียนมา แต่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จึงเลือกไปศึกษาการทำงานกับเพื่อนคนนี้ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งทำไร่อะโวกาโด และมีธุรกิจเป็นของตัวเองจากการแปรรูปอะโวกาโด

บรรดาสมาชิกในกลุ่ม

ช่วงอยู่ที่แม่ฮ่องสอน 3 เดือน คุณเมืองชัยยังได้ฝึกฝนการค้าขาย โดยนำสินค้าของเพื่อน อย่าง สบู่อะโว กาโด และพันธุ์ไม้มาขายที่ถนนคนเดิน จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเย็นของวันเสาร์-อาทิตย์ พร้อมกับฝึกขายของออนไลน์ไปด้วย ทำให้รู้ระบบธุรกิจพอสมควร

จากนั้นจึงกลับบ้านเกิดที่บ้านโคกนาโก หลังจากเพื่อนแนะนำให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างอาชีพ นั่นก็คือ ดอกกระเจียวพันธุ์หวาน ซึ่งมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ มีสรรพคุณคล้ายคลึงกับพืชในตระกูลข่า และขิง ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด ลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวาน ช่วยเจริญอาหาร และช่วยขับเหงื่อ ฯลฯ โดยทำได้หลายเมนู อาทิ นำดอกอ่อนมาลวกจนสุกจิ้มกับน้ำพริก หรือจะรับประทานดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้ม หรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย

“คนนอกพื้นที่ยังไม่ค่อยรู้จักกันมากนัก ส่วนใหญ่รู้จักแต่พันธุ์ประดับสวยงามอย่างของชัยภูมิ ซึ่งกินไม่ได้ และพันธุ์ดั้งเดิมที่แม้กินได้แต่มีรสชาติเฝื่อน ขม กินดิบไม่ได้ ต้องนำไปต้มก่อน แต่ของเราเป็นดอกกระเจียวพันธุ์หวานที่กินได้ รสชาติหวาน กรอบ ไม่เฝื่อนเหมือนดอกกระเจียวทั่วไป สามารถประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดฉ่า ยำ แกงส้ม ผัดน้ำมันหอย ผัดเต้าเจียว แกงส้ม และสลัด”

เน้นระบบเกษตรอินทรีย์

คุณเมืองชัย เล่าว่า ช่วงแรกเริ่มเพาะพันธุ์ผักขาย ทำนา ทำสวนยางพารา และได้เพาะพันธุ์ดอกกระเจียวหวานไว้ 200 ต้น แต่ไม่พอขาย ขณะเดียวกันก็เกิดอุปสรรคของบัณฑิตใหม่กลับสังคมบ้านๆ เนื่องจากโดนมองโดนดูถูกสารพัด แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ทำให้ท้อ กลับเป็นแรงผลักดันให้ตนยืนหยัดสู้ต่อ ต่อมาจึงได้เข้าร่วมกลุ่ม YFC (Yasothon’s Young Farmer Club) ของจังหวัดยโสธร เพราะมองเห็นโอกาสของอาชีพเกษตรกรรม

ปีต่อมาจึงวางแผนการทำงาน และสร้างศูนย์เรียนรู้เพื่อช่วยให้ชุมชนมีสถานที่ในการทำกิจกรรม โดยการรวมกลุ่มทำในนาม วิสาหกิจชุมชน ดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก

ช่วงเตรียมพื้นที่ก่อนนำหัวพันธุ์มาปลูก

สำหรับกิจกรรมหลักๆ ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้คือ การแนะวิธีการปลูก การดูแล ที่ให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก ด้วยการใช้มาตรฐาน YASO BOS ในเบื้องต้น ที่ผ่านมาผลผลิตที่ได้ ประมาณ 20 กิโลกรัม/ไร่/วัน ซึ่งดอกกระเจียวจะให้ผลผลิต 5-6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม โดยคุณเมืองชัยเองปลูกกระเจียวไว้ 1 ไร่

ทั้งนี้ ต้นกระเจียวจะออกดอกทุกวัน แต่ละวันสามารถเก็บส่งขายให้ลูกค้าได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 70 บาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้จากการจำหน่ายดอกกระเจียว วันละ 400-500 บาท ขณะนี้ดอกกระเจียวเป็นที่ต้องการของลูกค้าจนแทบไม่พอขาย โดยถ้าเป็นช่วงต้นฤดูประมาณต้นเดือนเมษายน-ต้นพฤษภาคม สามารถขายดอกกระเจียวได้กิโลกรัมละ 100 บาท เฉลี่ยแล้วในช่วง 4-5 เดือน ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท

คิดแล้วในเนื้อที่ 1 ไร่ สามารถเก็บดอกกระเจียวขายได้เดือนละ 20,000 บาท ซึ่งเขาลงทุนไป 10,000 บาท/ไร่ ตอนนี้ได้ทุนคืนแล้ว โดยได้ผลผลิต เฉลี่ยที่ 20 กิโลกรัม/ไร่/วัน ทำให้มีรายได้ 500-1,000 บาท/วัน ทั้งนี้ต้นกระเจียวจะออกดอกทุกวัน

คุณเมืองชัย อธิบายถึงการปลูกกระเจียวให้ได้ผลดีว่า ทางกลุ่มเลือกพันธุ์หวานโคกนาโกมาปลูก เนื่องจากให้ผลผลิตยาวนานกว่าพันธุ์ดั้งเดิม แตกกอดี มีรสชาติอร่อย ซึ่งสามารถปลูกได้ทุกสภาพดิน ชอบแสงรำไร ไม่ร่มจนเกินไป ในที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ควรยกแปลงปลูก ระยะห่าง 80×80 เซนติเมตร ในที่ดอนไม่จำเป็นต้องยกแปลงปลูก ปลูก 2-3 ปี ขุดหัวปลูกขยายใหม่ จะได้หัวพันธุ์ที่สมบูรณ์ ให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักฉีดพ่นทางใบ 10-15 วัน/ครั้ง

ส่วนของกลุ่มจะใช้น้ำหมักสูตรเฉพาะ ดอกใหญ่ หวาน กรอบยิ่งขึ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะและแตกต่างจากที่อื่นแน่นอน ถึงแม้ว่าจะใช้พันธุ์หรือปลูกในเขตพื้นที่เดียวกันก็ตาม

กระเจียวใส่ถุง

เตือนระวังตอนฝนทิ้งช่วง

ขณะนี้มีสมาชิกที่ปลูกดอกกระเจียวและกำลังออกผลผลิตอยู่ ประมาณ 4 ราย นอกนั้นเป็นสมาชิกใหม่ที่กำลังเริ่มปลูกใหม่ โดยจะปลูกในพื้นที่นาของตัวเอง ประมาณรายละ 3 งาน ถึง 1 ไร่ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์ เนื้อที่ 1ไ ร่ ถือว่ากำลังดี เพราะสามารถดูแลได้ทั่วถึง

นอกจากนี้ เขายังขายทั้งต้นพันธุ์และหัวพันธุ์ด้วย ถ้าเป็นต้นพันธุ์พร้อมออกดอก ราคา 35 บาท/ต้น กระถางละ 50-100 บาท ถ้าเป็นท่อนพันธุ์ อยู่ที่ 15-20 บาท/ท่อน ส่วนหัวพันธุ์ขายอยู่ที่ 150-200 บาท/กิโลกรัม

ต้นกระเจียวนั้น หลังจากหมดฤดูกาลออกดอกแล้วใบจะแห้งเหี่ยวตาย แต่หัวยังอยู่ใต้พื้นดินได้ตลอดจนกระทั่งเข้าหน้าฝน เมื่อถึงฤดูกาลอีกรอบ ต้นกระเจียวจะแทงยอดขึ้นมาอีกและออกดอกให้เก็บได้อีกเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตามวงจรชีวิตของกระเจียว

ในฐานะเกษตรกรมือใหม่ คุณเมืองชัยพูดถึงอุปสรรคและปัญหาที่เขาและกลุ่มสมาชิกเจอะเจอ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากช่วงปลูก เดือนแรกๆ จำเป็นต้องให้น้ำเข้าแปลง เพื่อกระตุ้นการงอก แต่พอเข้าสู่ฤดูฝนก็ปล่อยตามธรรมชาติ เพียงแต่คอยดูแลเรื่องวัชพืช และเมื่อฝนขาดช่วงหลายๆ วันก็จำเป็นต้องให้น้ำ เพื่อรักษาต้นไม่ให้โทรมและป้องกันผลผลิตลดลง

กรณีฝนตกต่อเนื่องจะทำให้ออกดอกดี แต่ถ้าฝนตกชุกเกินไปก็จะทำให้เกิดโรครากเน่า ต้องหาปูนขาวหรือไตรโคเดอมามาใส่ และอาจจะเจอปัญหาหนอนเจาะกอ อาจจะต้องใช้น้ำหมักฉีด แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องเจอแบบนี้

ว่าไปแล้ว ตลาดของดอกกระเจียวเวลานี้ ยังคงเป็นตลาดพื้นบ้าน ตลาดอำเภอ ตลาดในจังหวัด และตลาดออนไลน์ ถือเป็นเอกลักษณ์เป็นของฝากของหมู่บ้าน เนื่องจากคนทั่วไปยังไม่คุ้นเคยกับการรับประทานดอกกระเจียวกันมากนัก

ดังนั้น ทางกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน ดอกกระเจียวหวานบ้านโคกนาโก” ได้วางเป้าหมายว่าจะทำให้คนรู้จักมากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ว่า กระเจียวพันธุ์หวานนี้สามารถทำได้หลากหลายเมนู และจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดยโสธร พร้อมแปรรูปผลผลิต กระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดที่มีระดับขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า และส่งออกต่างประเทศ รวมถึงจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ พัฒนาคุณภาพ และรักษามาตรฐานความเป็นผักอินทรีย์

ดอกกระเจียว ทำได้หลายเมนู ต้มก็ได้ แกง หรือผัดก็ได้
สลัดกระเจียว

กรณีผู้สนใจจะปลูกกระเจียวเพื่อขายนั้น คุณเมืองชัยให้คำแนะนำว่า ถ้ามีทุนน้อยก็ลงทุนน้อยไปก่อน ใช้วิธีทำจากน้อยไปหามาก โดยควรปลูกเสริมนอกเหนือจากพืชหลัก และให้ปลูกด้วยระบบอินทรีย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี หรือสารเร่งดอกที่เป็นอันตรายใดๆ เลย จะทำให้ประหยัดต้นทุน และได้ผลผลิตที่ดี ซึ่งหากเทียบผลตอบแทนกับพืชชนิดอื่นๆ ถือว่าดีมากๆ และแม้ว่าจะให้ผลผลิตแค่ช่วงเวลาหนึ่งแต่ก็คุ้ม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354