สูตรสำเร็จ “สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่” ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง-เน้นแปรรูป-ขายเอง

วันนี้สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด ใช่เพียงเป็นผู้ปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ป้อนตลาดเท่านั้น แต่ยังได้รับการยกย่องจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะ “สวนเกษตรอินทรีย์ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นต้นแบบของสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มีคณะต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแวะเวียนมาศึกษาดูงานอยู่ประจำ เพราะถือเป็นสหกรณ์อีกแห่งที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเรื่องของเกษตรอินทรีย์

ขณะที่สหกรณ์ก็ทำอีกหลายธุรกิจที่ต่อเนื่องกับงานเกษตรอินทรีย์เพื่อให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งผลให้สมาชิกมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความสุข

เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2546 อยู่ที่ ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50210 ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 300 ราย ซึ่งทั้งหมดล้วนผ่านการอบรมเพิ่มความรู้ในการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดิน การปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แยมลูกหม่อน แชมพูน้ำยาล้างจาน ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยวอินทรีย์ เมล็ดธัญพืชต่างๆ และชาสมุนไพร เป็นต้น ฯลฯ

คุณดวงรัตน์ ญานะ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด เล่าที่มาที่ไปของสหกรณ์แห่งนี้ว่า เกิดจากบทเรียนของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน ที่ได้รับผลกระทบในระบบเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตภายนอกไร่นาและชุมชน เกษตรกรต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรยากจน มีหนี้สินเพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายทรุดโทรมจากการทำงานหนัก และพิษภัยของสารเคมี สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ขณะที่อาหารกลายเป็นแหล่งสะสมของสารพิษต่างๆ

เมื่อเห็นปัญหาร่วมกัน ช่วงแรกได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเครือข่ายที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ พร้อมตั้งเป็นชมรมผู้ผลิตพืชผักปลอดสารพิษเชียงใหม่ ลำพูน ซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจในเชิงกำไรทางการเงิน แต่เน้นการส่งเสริมให้สมาชิก ผลิตเอง ขายเอง ในรูปแบบของตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ เพื่อลดช่องว่างของพ่อค้าคนกลาง ให้กำไรสู่เกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง

จากนั้นกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน จึงเห็นพ้องร่วมกันให้ยกระดับกลุ่มเป็นสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 เพื่อดำเนินงานการผลิต แปรรูป และขาย ในระบบเกษตรอินทรีย์

สหกรณ์ดังกล่าวดำเนินธุรกิจ 6 ธุรกิจด้วยกัน ดังนี้ ธุรกิจแปรรูปผลผลิตและผลิตสินค้า, ธุรกิจรวบรวม, ธุรกิจสินเชื่อ, ธุรกิจรับฝากเงิน, ธุรกิจรวบรวมผลผลิต และธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 

หลากหลายมาตรฐาน

ที่ผ่านมาสหกรณ์ได้ส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ ส่วนใหญ่เน้นผักพื้นบ้านและผักสวนครัว และผลไม้ส่วนหนึ่ง รวมถึงยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ประเภทต่างๆ อาทิ ข้าวกล้องและข้าวไรซ์เบอร์รี่ พร้อมกันนี้ได้นำไปแปรรูปด้วย ซึ่งสหกรณ์ได้จัดหลักสูตรการเรียนรู้ เรื่องการผลิตในระบบอินทรีย์ให้กับสมาชิกด้วย อย่างเช่น การผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนในครัวเรือน และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

การทำเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกแต่ละรายนั้น พูดได้ว่าเกือบทั้งหมด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเป็นแบบอย่าง โดยเริ่มจากการขุดร่อง ปลูกหญ้าแฝก และขุดร่องทำสวน เริ่มแรกก็ปลูกพืชผักผลไม้ไว้กินเอง ต่อมาเมื่อมีผลผลิตเหลือก็นำไปขาย โดยเฉพาะพวกพืชผักสวนครัว ไม่ว่าจะเป็นผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง ผักตามฤดูกาล หรือผักเมืองหนาว เป็นต้น นอกจากนี้ เกษตรกรยังปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ อย่างเช่น มะม่วง ลำไย กล้วย มะพร้าว หม่อน อัญชัญ เสาวรส ซึ่งเมื่อขายผลสดแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

ในการทำเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์นั้น คุณดวงรัตน์แจกแจงว่า มีหลายมาตรฐานทั้งที่ได้มาตรฐาน PGS มาตรฐานไอฟ่ม มาตรฐาน มอก. และมาตรฐาน มอน. (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ)

ผลิตภัณฑ์เด่นอย่างหนึ่งของสหกรณ์ก็คือ ซีอิ๊วขาวอินทรีย์ ที่ใช้วัตถุดิบถั่วเหลืองอินทรีย์ ใช้ชื่อแบรนด์ “ช้อนทอง” ซึ่งเป็นผลผลิตของเครือข่ายสหกรณ์ เป็นสินค้าที่ขายดีและจะทำก็ต่อเมื่อมีลูกค้าสั่ง อย่างเช่น ทางเลมอน ฟาร์ม สั่งทำ ซึ่งวิธีการหมักถั่วเหลืองนั้นใช้วิถีหมักตามธรรมชาติ ไม่มีวัตถุกันเสียหรือสารกันบูดมาเจือปน ที่สำคัญมี อย. รับรอง ได้มาตรฐานการผลิต

ช่องทางการตลาด

สำหรับช่องทางตลาดนั้นมีหลากหลาย อาทิ ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์ ขายที่ตลาดจริงใจ เจ เจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ ในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนตลาดเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน มีที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย, โรงเรียนปริ้นส์รอแยลวิทยาลัย ขายในวันพุธ และวันศุกร์, ที่ข่วงเกษตรอินทรีย์ ขายวันจันทร์, วันอังคาร, วันพฤหัสบดี, ตลาดอินทรีย์หมู่บ้านแลนด์แอนด์เฮาส์ แม่โจ้ ขายวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ตลาดอินทรีย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ขายวันจันทร์, วันพุธ, วันศุกร์ และยังนำสินค้าไปขายให้กับเครือข่ายร้านค้าสหกรณ์ในจังหวัดและต่างจังหวัดด้วย รวมถึงยังจำหน่ายผ่านช่องทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และไลน์

ในเรื่องราคา คุณดวงรัตน์ยอมรับว่า ราคาสินค้าผลผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์จะสูงกว่าในระบบเคมีทั่วไป ประมาณ 15% แต่เมื่อเทียบกับในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตแล้วถือว่าราคาไม่แพงเลย เมื่อเทียบกับระบบเคมีที่มีการผลิตง่ายกว่ามาก แถมมีความเสี่ยงจากการปนเปื้อนจากพิษภัยของสารเคมี

คุณดวงรัตน์ เล่าให้ฟังว่า สหกรณ์ได้ทำงานร่วมกับทางสามพรานโมเดลในหลายส่วนด้วยกัน อาทิ ผ่านระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS แล้วเชื่อมโยงเข้าสู่ในระบบอื่นๆ เช่น ระบบตลาดเกษตรอินทรีย์ และการขับเคลื่อนระบบอาหารอินทรีย์ ผ่านการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ (organic tourism) ซึ่งเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ สู่การขับเคลื่อนในระดับเครือข่ายร่วมกัน

คุณดวงรัตน์แจกแจงถึงปัญหาอุปสรรคของการปลูกแบบอินทรีย์ว่า มีหลายประการ อย่างแรกคือ ขาดองค์ความรู้ในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น ความรู้ในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด และระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ 2. ขาดการเชื่อมโยงในการทำงานในระบบเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ 3. ขาดการรวมกลุ่ม เครือข่าย ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ถูกเอารัดเอาเปรียบ และ 4. ขาดความมุ่งมั่น แรงจูงใจระหว่างการทำเกษตรอินทรีย์ ทำให้หันกับไปเข้าสู่การผลิตแบบเชิงเดี่ยว ส่งผลให้ล้มเหลวในการทำเกษตรอินทรีย์

ส่งเสริมเก็บเมล็ดพันธุ์

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ ทางสหกรณ์ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการขับเคลื่อนวิถีเกษตรอินทรีย์ อย่างเช่น เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผักปลอดภัย/อินทรีย์ในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โครงการระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ โครงการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS กับกรมพัฒนาที่ดินและมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย และเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการรับรอง โครงการเฝ้าระวังมาตรฐานสินค้าเกษตรของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และการกระจายสินค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร

สำหรับวางแผนธุรกิจที่นี่ไม่เน้นธุรกิจสินเชื่อเหมือนกับสหกรณ์อื่นๆ แต่จะเน้นการส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเครือข่าย ของสมาชิกสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งในระดับบุคคล และระดับกลุ่มเครือข่าย ตามลำดับ ดังนั้น จึงได้เน้นแนวทางของธุรกิจที่จะช่วยเหลือสมาชิกเป็นหลัก อาทิ ธุรกิจแปรรูปสินค้า/การผลิตสินค้า ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (เมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืช สินค้าอุปโภคบริโภค)

ขณะเดียวกัน จะเน้นหนักในเรื่อง 1. การทำเมล็ดอินทรีย์เพื่อขยายพันธุ์และการบริโภคต้นอ่อน 2. การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า 3. การขยายช่องทางการตลาดของผลผลิตอินทรีย์ นอกนั้นจะเชื่อมโยงธุรกิจผ่านในระบบเครือข่ายสหกรณ์ต่างๆ และเครือข่ายที่ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์

ในส่วนของการเก็บเมล็ดพันธุ์นั้น คุณดวงรัตน์ขยายความว่า เน้นพืชผักพื้นบ้าน หลักๆ เป็นพวกตระกูลผักกาด บวบ ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ เป็นพวกผักสวนครัวต่างๆ ซึ่งเกษตรกรปลูกตามหัวไร่ปลายนา สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย และเป็นผักที่มีความต้านทานโรคสูง จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากบริษัทเอกชนที่ส่วนใหญ่เป็นผักจากจีนอย่างพวกบร็อกโคลี่ ผักคะน้า ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังเน้นการเก็บเมล็ดพันธุ์ธัญพืช อย่างถั่วชนิดต่างๆ อาทิ ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วเขียว งาดำ งาขาว งาม่อน ซึ่งธัญพืชเหล่านี้สามารถนำมาแปรรูปและปลูกต้นอ่อนไว้ขายได้ด้วย ซึ่งเป็นพืชต้นอ่อนที่ตลาดต้องการ

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นแล้วว่าการทำธุรกิจต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ บวกกับการยึดมั่นในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งผลดีต่อทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค

………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ.2562