ทำเกษตรอินทรีย์ส่งขาย สร้างรายได้จากราคา 10-12 บาท ให้เป็นกิโลกรัมละ 30 บาท ได้ไม่ยาก

แปลงปลูกผักอินทรีย์

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงแซงโค้งกันเลยทีเดียว ผู้รักสุขภาพทั้งหลายก็จะหาเวลาให้กับตัวเอง ในช่วงเช้าหรือเย็นเพื่อออกกำลังกาย เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

แม้แต่ในเรื่องของอาหารการกินนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้รักสุขภาพใส่ใจด้วยไม่แพ้กัน จะเห็นได้จากการบริโภคข้าวอินทรีย์ หรือแม้แต่การกินผักออร์แกนิกต่างๆ ที่ปลูกโดยไม่มีเรื่องของการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดินตลอดจนการเก็บเกี่ยว ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามการปลูกแบบระบบอินทรีย์เท่านั้น โดยจะเห็นผักอินทรีย์เหล่านี้มีจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น

คุณณรงค์ชัย ปาระโกน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติดอกคำ อยู่ที่ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรในแถบนี้ได้มีการทำเกษตรแบบอินทรีย์มากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นแบบเกษตรที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกผัก ตลอดจนถึงการปลูกข้าวอินทรีย์และแปรรูปส่งจำหน่ายทำการตลาดเอง

คุณณรงค์ชัย ปาระโกน

“ผมเริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2538 เราก็ใช้การผลิตแบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) ต่อมาเมื่อมีมาตรฐาน พีจีเอส ที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศเข้ามา ทางสมาชิกภายในกลุ่มก็เริ่มที่จะสนใจ ทำให้เราได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น พีจีเอส จึงทำให้เวลานี้ทางกลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และที่สำคัญในเรื่องของการตลาดก็เข้ามาหาทางกลุ่มเรามากขึ้นอีกด้วย” คุณณรงค์ชัย กล่าว

            ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แห่งนี้ และสมาชิกภายในกลุ่ม ได้มีการปลูกผักหลากหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และที่สำคัญภายในกลุ่มยังได้เน้นการพัฒนาปรับปรุงดิน โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมทั้งปุ๋ยพืชสดเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน

เมื่อดินที่ใช้สำหรับปลูกพืชมีคุณภาพดี คุณณรงค์ชัย บอกว่า จะทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีแม้ปลูกในระบบอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี

            สำหรับผู้ที่อยากทำพื้นที่ของตนเองให้เป็นการปลูกพืชแบบระบบอินทรีย์ แต่เนื่องจากสมัยก่อนมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดแมลงศัตรูพืชมาก่อน คุณณรงค์ชัย บอกว่า ต้องให้พื้นที่ปลอดภัยจากสารเหล่านั้นอย่างน้อย 3 ปี โดยค่อยๆ ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก จากนั้นเก็บตัวอย่างดินส่งไปตรวจสอบหาค่า pH ของดิน พร้อมทั้งตรวจว่าในดินมีธาตุอาหารตัวใดอยู่บ้าง หากตัวไหนที่ขาดแต่พืชมีความต้องการ ก็เพิ่มเติมลงไป แล้วจึงจะมาปลูกพืชในระบบอินทรีย์ได้แบบเต็มรูปแบบ

            “เนื่องจากเราทำเกษตรแบบอินทรีย์ เรื่องการกำจัดแมลงศัตรูพืชนี่สำคัญ เมื่อเราปลูกผักแล้ว เราจะป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพร ใช้จำนวนไม่มากเท่าไหร่ นอกนั้นก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีธรรมชาติจะช่วยจัดการกันเอง เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี ฉะนั้น แมลงที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่ได้ถูกทำลาย เขาก็จะช่วยทำลายแมลงศัตรูพืช เรื่องนี้สำคัญมาก” คุณณรงค์ชัย บอกถึงการป้องกันแมลงศัตรูพืช

แปลงปลูกผักอินทรีย์

ส่วนในเรื่องของการตลาด คุณณรงค์ชัย ให้ข้อมูลว่า ผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ ณ เวลานี้ สินค้ามีจำนวนไม่พอจำหน่าย เนื่องจากมีซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายที่เริ่มเข้ามาติดต่อขอซื้อสินค้ามากขึ้น แต่กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีวิธีการผลิตที่ไม่ง่ายนัก ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการเข้าสู่การปลูกพืชในระบบนี้ต้องเรียนรู้และมีความอดทน

            ซึ่งเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จแล้ว คุณณรงค์ชัย บอกได้เลยว่า ในเรื่องของราคานั้นได้กำไรเพิ่มขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเกษตรแบบทั่วไป

            “ยกตัวอย่าง แตงกวา ปลูกทั่วไปจำหน่ายอยู่ที่ราคา 10-12 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ถ้าปลูกในแบบระบบอินทรีย์ จะได้ราคาผลผลิตตกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท ราคาก็จะเห็นได้ว่าดีกว่าครึ่งต่อครึ่ง เมื่อทดลองปลูกแบบระบบอินทรีย์ คุณจะรู้เลยว่าผลผลิตที่ได้แทบจะไม่ต่างกัน ขอให้ดินเราดี เน้นเรื่องปรับปรุงบำรุงดินให้ดี ผลผลิตดีแน่นอน แถมจำหน่ายได้ราคาด้วย” คุณณรงค์ชัย อธิบาย

            ทั้งนี้ เพื่อเป็นการการันตีถึงกระบวนการผลิตที่สามารถตรวจสอบได้ สำหรับท่านใดที่สนใจหรือท่านใดที่บริโภคผักอินทรีย์อยู่แล้ว ต้องการความมั่นใจว่ามีกระบวนการผลิตเป็นอย่างไร อยากเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถเข้ามาเยี่ยมชมภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้ ซึ่งคุณณรงค์ชัยยินดีต้อนรับและให้คำแนะนำ ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (089) 266-3880