ปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ฟักข้าวเด่น แปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ดี

ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

                คุณทิวาพร ศรีวรกุล อยู่บ้านเลขที่ 213 หมู่ที่ 2 ซอยพัฒนา 1 ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทรศัพท์  (081) 857-2500

เดิมคุณทิวาพรได้ลงทุนปลูกอ้อยในพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ ทำไร่อ้อยได้ประมาณ 4 ปี ช่วงนั้นจังหวัดกาญจนบุรีประสบกับปัญหาอากาศแห้งแล้งติดต่อกัน 3 ปี พื้นที่ที่ปลูกอ้อยดังกล่าวติดเชิงเขา ไม่มีแหล่งน้ำ ทำให้อ้อยแห้งตายเป็นจำนวนมาก ต่อมามันสำปะหลังมีราคาดีจึงตัดสินใจตัดอ้อยทิ้ง แล้วหันมาปลูกมันสำปะหลังแทน แต่เมื่อถึงเวลาเก็บ ราคามันสำปะหลังตกต่ำ จึงตัดสินใจไม่ขุด รอราคาดี ทิ้งไว้ข้ามปีจึงขุดมันสำปะหลังจำหน่าย จึงกลับมาคิดทบทวนพบว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องคงจะไม่เป็นผลดี จึงตัดสินใจขายที่ดินใช้หนี้ และเริ่มต้นยึดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิด จากช่วงแรกทำการเกษตรแบบพอเพียงในพื้นที่ 2 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 14 ไร่

 

รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร

คุณทิวาพร ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลท่ามะขาม ขนาด 14 ไร่ จัดทำเป็นแปลงปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน มากกว่า 20 ชนิด โดยแบ่งเป็นโซน ดังนี้

  1. พื้นที่ปลูกไม้ใช้สอยรอบบริเวณเขตบ้าน เป็นการปลูกไม้หลายชนิด ปลูกต้นไม้ไว้บริโภค และขายตามฤดูกาล เช่น ไม้สัก มะม่วง กระท้อน สับปะรด เป็นต้น
  2.   พื้นที่ปลูกพืชผักหมุนเวียนที่สร้างรายได้ระยะสั้น ได้แก่ ผักสวนครัว
  3. พื้นที่ปลูกพืชอายุสั้น เช่น ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ชะอม กล้วย เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี นอกจากนี้ ได้มีการเลี้ยงหมูหลุมโดยการขุดหลุมให้ลึก ประมาณ 50-90 เซนติเมตร จากนั้นใส่แกลบ รำ ขี้เลื่อย หรือใบไม้ลงไปภายในหลุม โดยไม่ต้องเทพื้นปูนซีเมนต์ ซึ่งสุกรสามารถคุ้ยเขี่ยได้ เมื่อสุกรถ่ายมูลหรือปัสสาวะลงพื้น จากนั้นให้ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมกับน้ำราดลงไปทุกๆ 2-3 วัน ต่อครั้ง เพื่อเป็นการช่วยย่อยสลายมูลสุกรทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น และสุกรจะมีร่างกายที่แข็งแรง โตไว น้ำหนักดี เนื้อแน่น ไขมันน้อย เนื่องจากได้ออกกำลังกายอยู่ตลอดเวลา และสามารถจำหน่ายสุกรได้ในระยะเวลา 4 เดือน

คุณทิวาพร มีรายได้เสริมที่สำคัญอีกทางหนึ่งจากการผลิตและจำหน่ายน้ำฟักข้าว

ฟักข้าว (Gac fruit) เป็นผักในวงศ์เดียวกับแตงกวาและมะระ (Cucurbitaceae)

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.

ฟักข้าวขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก เริ่มมีดอกหลังปลูกประมาณ 2 เดือน เริ่มออกดอกราวเดือนพฤษภาคม และให้ดอกจนถึงราวเดือนสิงหาคม ผลสุกใช้เวลาประมาณ 20 วัน และใน 1 ฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวผลฟักข้าวได้ 30-60 ผล โดยเก็บสุกได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฟักข้าว 1 ผล จะได้เยื่อสีแดงราว 200 กรัม

การผลิตน้ำฟักข้าวมีส่วนผสมดังนี้ เยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าว 100 กรัม น้ำ 900 กรัม น้ำตาลทราย 60 กรัม น้ำมะนาว 28 กรัม เกลือ 0.8 กรัม วิธีการทำ โดยเตรียมน้ำเชื่อมโดยการละลายน้ำตาลตามส่วนผสม นำส่วนเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวสุกมากผสมกับน้ำ จากนั้นปั่นให้ละเอียดด้วยเครื่องปั่นแยกกาก เติมน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้และน้ำมะนาวตามอัตราส่วน เมื่อได้น้ำฟักข้าวแล้วให้ความร้อนแก่น้ำฟักข้าวโดยวิธีการพาสเจอไรซ์ โดยให้ความร้อนแก่น้ำฟักข้าวที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที

สำหรับประโยชน์ของฟักข้าวจากผลการวิจัยพบว่า เยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวสุกมีปริมาณสารไลโคปีนในกลุ่มของเบต้าแคโรทีนมากกว่าสารสกัดที่ได้จากเนื้อผล ปริมาณเบต้าแคโรทีนในฟักข้าวมีมากกว่าแครอต ถึง 10 เท่า และมีไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศ ถึง 12 เท่า รวมทั้งยังมีกรดไขมันสายยาวประมาณ ร้อยละ 10 ของน้ำหนัก ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชรา ช่วยการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ดวงตาแข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง และเสริมสุขภาพของต่อมลูกหมาก จากผลการทดลองน้ำสกัดผลฟักข้าว พบว่า สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยทำให้เซลล์แตก ทั้งนี้ คุณทิวาพรได้จำหน่ายน้ำฟักข้าว ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม ที่บรรจุขวด ขนาด 160 มิลลิลิตร เพียงราคา 20 บาท ต่อขวด จากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงเต็มรูปแบบดังกล่าวนี้ คุณทิวาพรมั่นใจว่าเป็นแนวทางที่สร้างวิถีชีวิตยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ

คุณทิวาพร ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือความพอประมาณ มีความเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก ความพอประมาณ ในการวางแผนการผลิตควรพิจารณาเรื่องต้นทุน แรงงาน การตลาดให้เหมาะสม รวมถึงการวางแผนการแปรรูปผลผลิตที่ล้นตลาด ทั้งนี้ การลงทุนและการขยายแรงงานควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการจัดการตนเองได้ การทำการเกษตรต้องมุ่งการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เหลือจากการบริโภคจึงคิดถึงการผลิตเพื่อการค้า คุณทิวาพรเชื่อมั่นว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำพาชีวิตเกษตรกรไปสู่แนวทาง “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” อย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์