เยี่ยมชมสวนทุเรียน มาตรฐาน GAP

สวนทุเรียน GAP ของ  ลุงมนัส ฮวดจึง ประธานชมรมเกษตรกรชาวสวนจังหวัดปราจีนบุรี บ้านเลขที่ 133/2 หมู่ 8 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โทร.0-3740-3568 , 086-144-1092

ลุงมนัสมีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ลาดกระบัง อาชีพเดิมทำนาแต่มีรายได้ลุ่มๆ ดอนๆ  จึงตัดสินใจ ซื้อที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ ในตำบลดงขี้เหล็กตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนเพื่อปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน ปัจจุบัน สวนฮวดจึง ปลูกทุเรียน 350 ต้น ต้นมังคุด  500 ต้น เงาะโรงเรียน100  ต้น กระท้อน 50 ต้น และมะไฟอีกบางส่วน

ระหว่างเดินชมสวนแห่งนี้ สังเกตว่า ไม้ผลส่วนใหญ่มีอายุกว่า 15 ปีแล้วทั้งสิ้น เช่น  ต้นทุเรียน ต้นเงาะพันธุ์โรงเรียน  ต้นกระท้อน พันธุ์ปุยฝ้าย  ซึ่งโดยปกติ ต้นไม้ที่มีอายุมากจะให้ผลผลิตลดลง แถมลำต้นสูงใหญ่มาก การดูแลสวนจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะต้นกระท้อนที่ต้องอาศัยการห่อผล

ลุงมนัสพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเลือกใช้เทคนิคการทำสาวต้นไม้ ลุงมนัส ต้องใช้เวลาในการตัดทอนต้นให้เตี้ยลง ค่อยๆ ทำอย่างใจเย็น ใช้เวลาประมาณ  3-4 ปี จึงจะได้ต้นทุเรียน ต้นเงาะ ต้นกระท้อนที่มีวัยสาวเอ๊าะๆ ที่มีผลผลิตเพิ่มพูนมากขึ้น

การดูแล “สวนฮวดจึง” ลุงมนัสไม่ได้จ้างคนงาน อาศัยแค่แรงงานของตัวเอง และภรรยา  คือ ป้าฉวีวรรณ แสงอินทร์ ช่วยกันทำงานดูแลในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้าตรู่ทั้งสองสามีภรรยาจะช่วยกันดูแลให้น้ำ  ตัดหญ้า หว่านปุ๋ยและตัดแต่งกิ่ง  สวนแห่งนี้ ดูแลตัดหญ้าจนเตียนแลดูสะอาดตามาก ที่สำคัญสวนนี้ไม่ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า และดูแลให้น้ำด้วยระบบน้ำสปริงเกลอร์  มีสถานที่เก็บอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย หยิบใช้งานง่าย  ส่วนปุ๋ยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยคอก ที่หาซื้อจากท้องตลาดทั่วไป

ลุงมนัสจะว่าจ้างคนงาน เฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น  ในช่วงต้นฤดู ที่ผลผลิตมีปริมาณไม่มาก  ลุงมนัสจะปีนบันไดไม้ไผ่ขึ้นไปตัดทุเรียนด้วยตัวเอง  หลังจากนั้นจะใช้เชือกเกี่ยวมัดขั้วผลทุเรียนไว้แบบหลวมๆ และค่อยๆ หย่อนผลทุเรียนลงมาอย่างช้าๆ จนถึงพื้นดิน ลุงมนัสบอกว่า การใช้เทคนิคนี้ ต้องคอยระวังไม่ให้ผลทุเรียนโดนกิ่งทุเรียนบนต้น มิฉะนั้นปมเชือกที่มัดไว้หลวมๆ ก็จะคลายตัวทันที ทำให้ผลทุเรียนร่วงหล่นจนเสียหายได้

ทุเรียนที่เก็บจากในสวนจะถูกทำความสะอาดผล และคัดแยกตามความสวยงาม ขนาด และอัตราความแก่ของผลทุเรียน ก่อนจำหน่าย  ลุงมนัสไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องตลาด เพราะสวนฮวดจึง ได้รับการยกย่องว่าเป็นแหล่งผลิตทุเรียนคุณภาพดี เนื้อแห้ง รสหวานมันอร่อย จึงมีลูกค้าขาประจำที่เป็นชาวปราจีนบุรีและพื้นที่ใกล้เคียงแวะเวียนมาซื้อผลผลิตถึงสวน

ยิ่งใกล้วันที่ทุเรียนจะออกจะมีผู้มาเยือนมากมายๆ แถมที่นี่ยังสามารถขายได้ในราคาดีกว่าทุเรียนทั่วไปอีกด้วย แต่ละปี จะมีผลผลิตทั้ง 4 ชนิดเข้าสู่ตลาดประมาณ 31.5 ตัน  สร้างรายได้ประมาณ  438,500 บาท  มีกำไรสุทธิประมาณปีละ 343,500 บาท

สวนทุเรียน GAP ทำได้ไม่ยาก

ในอดีตลุงมนัสก็เหมือนเกษตรกรชาวสวนผลไม้รายอื่นๆ ที่ใช้ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชอย่างเต็มที่ถึงปีละ20 ครั้ง  จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงมาก แถมเกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในสภาพแวดล้อมและตัวเกษตรกร ทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีโรคภัยรุมเร้ามากมาย

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ลุงมนัสตัดสินใจหยุดการใช้สารเคมีในสวน เกิดขึ้นหลังจากลุงมนัสมีโอกาส พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร  ทำให้ตระหนักถึงพิษภัยจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี และมองเห็นว่า ระบบการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เป็นทางเลือกใหม่ ที่จะช่วยปรับสภาพแวดล้อมในสวนให้ดีขึ้น

ลุงมนัสจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จัดการคุณภาพของสวนแบบ GAP เมื่อปี 2548  และได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นแปลงเกษตรปลอดภัย (Q ) เมื่อปี 2549  และได้รับการตรวจสอบเป็นแปลงเกษตรปลอดภัยจากสารพิษต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

ทุกวันนี้  ลุงมนัส ดูแลสวนทุเรียนโดยใช้วิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน ( IPM ) เพื่อลดการใช้สารเคมี  รักษาความสมดุลทางธรรมชาติและช่วยรักษาระบบนิเวศน์ รวมทั้งนำเทคโนโลยี ในการตัดแต่ง ดอกและผลทุเรียน  รวมทั้งผสมเกสรในทุเรียน ใส่ปุ๋ยที่เพียงพอกับความต้องการของพืช ใช้จุลินทรีย์ป้องกันกำจัดโรคพืช  ลุงมนัสอาศัยวิธีการควบคุมโรคเน่าของรากทุเรียนโดยการใช้ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ควบคุมศัตรูพืช โดยระบบ ชีววิธี

สวนแห่งนี้มีแมลงศัตรูพืชมากมายเช่น แมลงช้าง  มวนเพชรฆาต  รวมทั้งมดแดง  ลุงมนัสบอกว่า แมลงเหล่านี้ มีประโยชน์อย่างมาก เพราะทำหน้าที่สร้างความรำคาญให้กับกระรอก ยิ่งต้นไหนมีมดแดงมากๆ ผลไม้เหลือให้เก็บขายได้เยอะ แต่เวลาเก็บผลผลิตต้องอดทน ให้มดแดงกัดสักหน่อยก็ถือว่า คุ้มค่า เพราะมดแดง  ทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดเพลี้ย ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญในสวนผลไม้

กรมวิชาการเกษตรได้จัดประกวดแปลงปลูกพืชในระบบ GAP ดีเด่นประจำปี 2553 ขึ้นเพื่อคัดเลือกเกษตรกรผู้ที่มีการปฎิบัติที่ดีในการปลูกพืช ( GAP) จากผู้สมัคร 2,000 ราย  ปรากฎว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปราจีนบุรีได้คัดเลือกสวนทุเรียนของ “มนัส ฮวดจึง” เป็นแปลงเกษตรดีที่เหมาะสม GAP  ดีเด่นระดับภาคตะวันออก

ลุงมนัสบอกว่า  การจัดระบบการเกษตรดีที่เหมาะสม  ต้องอาศัยการจดบันทึกการทำงานในสวนทุกเรื่องอย่างชัดเจนว่า ในแต่ละวัน ดูแลสวนอย่างไรบ้าง  ฉีดพ่นปุ๋ย ยาชนิดไหน ใช้ไปมากน้อยแค่ไหน  มีรายรับรายจ่ายอะไรบ้าง  ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญมากเพราะทำให้เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนของการผลิต  รวมทั้งสามารถคำนวณต้นทุนผลกำไรได้ด้วย

ลุงมนัส ถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนทั่วไป เพราะลุงมนัสเป็นผู้ที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่หวงวิชา ในแต่ละวันจึงมีเพื่อนเกษตรกรแวะเวียนมาขอเยี่ยมชมสวนและขอความรู้ทางการเกษตร ลุงมนัสยินดีถ่ายทอดความรู้อย่างไม่ปิดอำพราง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความรู้นำไปใช้แล้วได้ผล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี โทร.0-3721-7871  หรืออีเมล์ [email protected]  สำหรับผู้สนใจแลกเปลี่ยนข้อมูลการจัดการสวนทุเรียนกับลุงมนัส  สามารถพูดคุยทางโทรศัพท์  0-3740-3568 ,   086-144-1092  ได้ทุกวัน