ชาวบ้านที่ท่าม่วง นครสวรรค์ ปลูกผักชีฝรั่ง

นครสวรรค์ ถือเป็นแหล่งปลูกผักชีฝรั่งที่ใหญ่และสำคัญมากในประเทศ มีพื้นที่หลายตำบล และหลายหมู่บ้านที่ยึดอาชีพนี้ อาทิ เขตพื้นที่ ตำบลวัดไทร, ตำบลบางม่วง และตำบลตะเคียนเลื่อน ลักษณะการปลูกผักชีฝรั่งในแต่ละครัวเรือนไม่เท่ากัน มีจำนวนเนื้อที่ปลูกตั้งแต่น้อย สัก 1 ไร่ขึ้นไปจนกระทั่งไปถึงจำนวนหลายสิบไร่ เกษตรกรบางรายมักปลูกร่วมกับพืชอายุสั้นชนิดอื่น แต่บางรายอาจปลูกเพียงอย่างเดียว

ผักชีฝรั่ง หรือที่ชาวบ้านบางรายเรียกกันว่า ผักชีใบยาวบ้าง ผักชีหนามบ้าง เป็นพืชอายุสั้น ใช้เวลาปลูกประมาณ 4 เดือน เก็บผลผลิตขายได้แล้ว เกษตรกรหลายรายต่างก็ยืนยันว่ามีรายได้มากกว่าการปลูกพืชหลายชนิด แม้จะต้องลงทุนมากในช่วงการเริ่มต้นครั้งแรก แต่หลังจากเวลาผ่านไปสามารถได้คืนทุน

ตำบลท่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกแห่งที่ชาวบ้านปลูกผักชีฝรั่งหารายได้ เกษตรกรอย่างคุณสมพร กลิ่นนิ่มนวล อยู่บ้านเลขที่19 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โทรศัพท์ (089) 639-9189 เป็นอีกคนที่ทำอาชีพนี้เช่นกัน และทำมาหลายปีแล้ว

ซื้อเมล็ดพันธุ์เพียงครั้งแรกเท่านั้น

ครั้งต่อไปจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูก

คุณสมพร ปลูกผักชีฝรั่งแบบไม่เน้นเป็นอาชีพหลัก เพราะเธอปลูกพืชอายุสั้นอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย จึงทำอยู่ 1 ไร่ เป็นผักชีฝรั่งพันธุ์เชียงใหม่ ใช้เมล็ดพันธุ์น้ำหนัก 2 กิโลกรัม และตอนที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ครั้งแรกมีราคาประมาณ 2,000 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม

เกษตรกรรายนี้เปิดเผยเรื่องเมล็ดพันธุ์ว่า จะซื้อมาปลูกเพียงครั้งแรกเท่านั้นและครั้งต่อไปจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรุ่นต่อๆ ไป โดยเลือกเก็บต้นที่ให้ดอกสมบูรณ์ๆ เลือกดูต้นที่ใหญ่ ถ้าติดดอกเก็บเอาดอกของต้นนั้นไว้ทำพันธุ์ เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และจะได้ต้นใหม่ที่สมบูรณ์

รูปแบบการปลูกผักชีฝรั่งนั้นจะต้องทำโรงเรือนมุงซาแรนรอบด้าน ให้แสงสว่างส่องเข้าไปภายในโรงเรือนได้ประมาณ 60% ถ้าแสงผ่านเข้าไปน้อยกว่านั้นประมาณ 70% ขึ้นไป ก็จะทำให้เกิดความชื้นในโรงเรือนมากเป็นเหตุให้เกิดเชื้อรา ส่งผลให้ผักชีฝรั่งเป็นโรครากโคนเน่าง่าย แต่หากแสงผ่านเข้าโรงเรือนมากราว 50% ขึ้นไป ก็จะทำให้ผักชีฝรั่งไม่เติบโต ฉะนั้น เรื่องแสงสว่างในโรงเรือนจึงมีผลต่อการปลูกผักชีฝรั่งมาก ส่วนขนาดโรงเรือนควรสูงประมาณ 1.70-2.00 เมตร และความกว้าง ยาว อาจต้องดูตามความเหมาะสมของแต่ละแห่ง

การปลูกผักชีฝรั่งต้องปลูกระบบร่องน้ำจึงจะได้ผลดี หน้าร่องปลูกควรกว้างประมาณ 6 เมตร หรือ 3 วา ความยาวแล้วแต่พื้นที่ และร่องน้ำกว้างประมาณ 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระดับน้ำจะต้องสามารถสูบน้ำเข้า-ออกให้ลดระดับน้ำสูงต่ำในร่องน้ำได้

“ลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์มาครั้งแรก พอเก็บได้รุ่นแรกให้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ในรุ่นต่อไปโดยไม่ต้องลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ แต่สิ่งที่ต้องลงทุนคือการสร้างร้านปลูกปักเสาแล้วคลุมแสลนเพื่อบังแดด ต้องใช้เงินลงทุนซื้อวัสดุมาทำครั้งละเป็นหมื่นบาท ต่างกับสมัยก่อนใช้ก้านมะพร้าวบังแดด”

การปลูกให้ได้คุณภาพ

ต้องปรับน้ำ แดด ให้พอเหมาะ

คุณสมพร อธิบายขั้นตอนการปลูกว่า ก่อนอื่นต้องปรับดินให้มีความเสมอแล้วต้องรดน้ำให้ดินชุ่มมาก ทิ้งไว้สักพักแล้วจึงหว่านเมล็ด ให้ฉีดยาป้องกันแมลงและป้องกันเชื้อรา คอยหมั่นถอนหญ้าและวัชพืช หมั่นรดน้ำอย่าให้ขาด โดยการใช้สายยางปล่อยน้ำอ่อนๆ เพื่อรักษาความชื้นของดิน ระหว่างนั้นอาจมีการใส่ปุ๋ยยูเรียบ้างเป็นครั้งคราวหรือเป็นปุ๋ย สูตร 25-7-7 ให้ใส่หลังหว่านไปแล้วสัก 1 เดือน

“การเตรียมดินหากเป็นแปลงปลูกใหม่ๆ ดินยังมีสภาพดีตากดินให้แห้งเสียก่อน จากนั้นก็ตีดินด้วยรถตีดินให้ร่วนซุย เมื่อพร้อมปลูกก็หว่านเมล็ดบางๆ ลงหน้าร่อง อัตราส่วนเมล็ดพันธุ์พื้นที่ 1 ไร่ ต่อเมล็ดพันธุ์ 2-3 กิโลกรัม หลังจากหว่านเมล็ด ประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าขึ้นมา

พอต้นกล้างอกให้น้ำพอประมาณทิ้ง ระยะให้น้ำแต่ละครั้งควรห่างสัก 3-7 วัน จนกระทั่งต้นผักชีฝรั่งอายุ 1 เดือน คราวนี้หยุดให้น้ำ ปล่อยทิ้งไว้ให้ดินแห้งสักระยะหนึ่ง สังเกตดินแห้งแตกระแหงพอสมควร และต้นผักชีฝรั่งค่อนข้างเหี่ยวเฉาแล้วจึงให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกหว่านให้ทั่วแปลง จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้รากดูดซึมน้ำและปุ๋ยขึ้นไปเลี้ยงลำต้นได้มากๆ”

คุณสมพรบอกต่อว่า หลังจากรดน้ำวันแรก วันที่สองให้พักการรดน้ำจะไปรดน้ำอีกครั้งในวันที่ 3 หลังจากนั้นก็ให้น้ำเช้า-เย็นตามปกติ การใส่ปุ๋ยผักชีฝรั่งให้ปุ๋ยอีก 2 ครั้ง คือในช่วงเดือนที่ 2 และเดือนที่ 3 พอถึงเดือนที่ 4 ก็เริ่มถอนต้นที่มีขนาดใหญ่ใบอวบสวยตามตลาดต้องการขายได้

สามารถเก็บผลผลิตได้หลายรุ่น

ต่อการปลูกหนึ่งครั้ง

การปลูกผักชีฝรั่งของคุณสมพรถือว่าได้เปรียบในเรื่องแหล่งน้ำเพราะแปลงปลูกของเธออยู่ใกล้แม่น้ำปิง จึงเป็นโอกาสดีที่สามารถดึงน้ำจากแหล่งใหญ่ตามธรรมชาติมาใช้อย่างง่ายดาย

การเก็บเกี่ยว ผักชีฝรั่งจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 120 วัน ก่อนถอนควรรดน้ำบนแปลงให้ดินชุ่มชื้นเสียก่อน เพื่อสะดวกในการถอน การเก็บจะถอนทั้งต้นมีรากติด หรือตัดทีละต้น นำไปล้างดินออก ตกแต่งโดยเด็ดใบเหลืองใบเสียทิ้ง นำไปผึ่งลมแล้วบรรจุลงในตะกร้า

“หลังจากถอนต้นผักชีฝรั่งชุดแรกแล้ว ให้หว่านปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยสูตร 25-7-7 เพื่อบำรุงต้นเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดเก็บให้เจริญเติบโต ควรรดน้ำเช้า-เย็น ทิ้งห่างจากเก็บครั้งแรกประมาณ 25 วัน จึงเก็บครั้งที่สอง โดยการเลือกถอนต้นที่ใหญ่ได้ขนาดออกมา จากนั้นก็หว่านปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 หรือ 16-16-16 ให้ทั่วแปลงรดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งห่างไปอีก 25 วัน จึงเก็บครั้งที่สาม หลังถอนต้นต้องใส่ปุ๋ยทุกครั้ง ผักชีฝรั่งสามารถถอนได้ 4-5 ครั้ง จึงจะหมดแปลง”

ลำต้นผักชีฝรั่งจะเจริญเติบโตไม่เสมอกัน เกษตรกรจะไล่ถอนต้นที่มีใบขนาดใหญ่ออกก่อน ส่วนใบที่เหลือและยังมีขนาดเล็กเกินไปจะรดน้ำดูแลต่อไปเพื่อให้ได้ใบใหญ่ตามขนาดจึงถอนขาย พอถอนเสร็จก็เก็บต้นผักชีฝรั่งมาทำความสะอาด กำให้เรียบร้อยใส่ถุงขายน้ำหนัก 5 กิโลกรัม ราคา 60 บาท เป็นราคาซื้อ-ขายปกติ เธอเล่าว่าตอนช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ราคาสูงไปถึง 150-180 บาท ต่อกิโลกรัม อีกทั้งยังเคยราคาตกต่ำถึง กิโลกรัมละ 20 บาท ราคานี้มักเกิดในช่วงก่อนปีใหม่ เพราะช่วงนั้นชาวบ้านปลูกกันมากและผักชีฝรั่งโตพร้อมกัน พอเก็บขายพร้อมกันราคาเลยตก

เกษตรกรรายเดิมให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อว่า ระยะเวลาที่เริ่มจากการหว่านเมล็ดไปจนกระทั่งเก็บผลผลิตใช้เวลารวมเกือบ 3 เดือน แต่ถ้าดูแลเต็มที่อัดทั้งปุ๋ยและน้ำ ดูแลสภาพแวดล้อมภายในแปลงปลูกให้มีระเบียบ สะอาด ปราศจากวัชพืชอาจได้เร็วกว่ามาก นอกจากนั้น การหว่านเมล็ดให้หนา อาจเก็บได้อีก 2-3 ครั้ง ภายหลังเก็บรุ่นแรกผ่านไปแล้ว ซึ่งแต่ละครั้งที่เก็บใช้เวลาห่างกันประมาณ 2 เดือน

คุณสมพร จะปลูกผักชีฝรั่งปีละ 2 ครั้ง เธอบอกว่าแต่ละครั้งเก็บได้ถึง 3 รุ่น แต่ละรุ่นห่างกัน 2 เดือน ซึ่งหลังจากเก็บครบแล้ว จะจัดการไถพรวนดินเพื่อเตรียมแปลงปลูกในครั้งต่อไป

เชื้อราถือเป็นศัตรูของผักชีฝรั่งอีกชนิดหนึ่งที่มักเกิดขึ้นได้เสมอ สาเหตุเพราะผักชีฝรั่งปลูกในโรงเรือนที่มีความชื้นสูง เกษตรกรควรใช้เชื้อไตรโครเดอร์ม่าดีกว่าได้ผลกว่า ซึ่งวิธีใช้ไตรโครเดอร์ม่าให้ผสมน้ำราดทั่วทั้งแปลงก่อนหว่านเมล็ด แล้วหลังจากนั้นฉีดทุกๆ 4 เดือน จะช่วยป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นหน้าฝนมักเกิดโรครากโคนเน่าง่าย หากพบว่าเกิดโรครีบใช้สารกำจัดเชื้อรา หรือใช้ไตรโครเดอร์ม่าผสมน้ำฉีดบริเวณที่เกิดเชื้อราทันที อย่าปล่อยให้ลุกลามมากยิ่งขึ้นจะยากต่อการควบคุม

ปลูกมะเขือเปราะ

สร้างรายได้ ควบคู่ไปด้วย

นอกจากผักชีฝรั่งที่คุณสมพรปลูกเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว เธอยังปลูกมะเขือเปราะพันธุ์เจ้าพระยา จำนวน 1 ไร่ ซึ่งเธอเผยว่าการปลูกมะเขือไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพียงแต่มีข้อเสียคือชอบมีหนอนแล้วเพลี้ยชอบลง แมลงหวี่ก็มี สร้างความเสียหาย ดังนั้นต้องหมั่นใส่ยาป้องกันเสมอ แล้วยังบ่นว่ายาก็ปรับราคาอยู่ตลอดจึงทำให้รายได้ลดน้อยลง

ส่วนราคาจำหน่ายมะเขือเปราะคุณสมพรบรรจุใส่ถุงขายน้ำหนักถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาส่ง 70-80 บาท ใช้เวลาปลูกราวเดือนกว่าจะได้เก็บผล เธออธิบายว่า พื้นที่ 1 ไร่ เก็บผลผลิตได้ประมาณ 15 กว่าถุง

ข้อดีของการปลูกมะเขือเปราะคือ สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี อายุต้นให้ผลิตได้นานสักปีกว่า จึงรื้อทิ้งแล้วปลูกใหม่ คุณสมพรปลูกมะเขือมาหลายรุ่นแล้ว อนาคตกำลังขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีกสัก 1 ไร่

เธอบอกว่าชาวบ้านแถวนี้มีอาชีพปลูกผักชีฝรั่งและมะเขือเปราะกันมาก และบอกว่ารายได้จากผักชีฝรั่งดีกว่ามะเขือเปราะ เพราะการปลูกและดูแลผักชีไม่ยุ่งยาก เพียงแต่คอยใส่ใจเรื่องการเก็บวัชพืช ใส่ปุ๋ยบ้างและน้ำอย่าให้ขาด เวลาเก็บขายครั้งละเป็นหมื่นบาท และยังบอกอีกว่าราคาขายขาดความแน่นอนในแต่ละปี เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากปริมาณผลผลิตในท้องตลาดที่เป็นตัวกำหนดราคาขาย แต่อย่างไรก็สามารถยึดเป็นอาชีพได้อยู่เพราะถือว่าเป็นการเฉลี่ยรายได้กันไป