บัณฑิตแม่โจ้ เริ่มงานเกษตรบนพื้นที่ 2 งาน เลือกปลูกพืชมีมูลค่า ดูแลไม่ยาก สร้างรายได้ดีตลอดปี

บัณฑิตแม่โจ้ เผยเคล็ดลับ ทำงานเกษตรบนพื้นที่จำกัดอย่างไร ให้สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ตลอดปี คุณสุชาดา ดวงต๋า (คุณแพรว) อยู่บ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 6 ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เรียนจบจากคณะผลิตกรรมการเกษตร สาขาพืชศาสตร์ เอกพืชสวนประดับ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หลังเรียนจบได้เข้าทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับการเกษตร ทำงานในส่วนห้องแล็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำได้ปีกว่าๆ มีเหตุให้ต้องออกจากงาน หลังจากนั้นจึงกลับไปอยู่บ้าน เริ่มจับงานเกษตรด้วยการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และมะเขือเทศราชินี เป็นพืชหลักทำเงิน

 

ทำเกษตรบนพื้นที่ 2 งาน
สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ทั้งปี

คุณสุชาดา ดวงต๋า (คุณแพรว) เริ่มทำงานเกษตรมาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี 5 ปีแรกเริ่มจากการเพาะต้นกล้าพริก ขายที่ภาคกลางมาก่อน ช่วงนั้นถือว่าขายดีมาก แต่ต้องเปลี่ยนจากการเพาะต้นกล้า เพราะได้ย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ภาคเหนือ ซึ่งทางภาคเหนือไม่นิยมซื้อต้นกล้าไปปลูก เนื่องจากน้ำไม่เอื้ออำนวย จึงต้องเปลี่ยนวิธีและแนวคิดใหม่

โดยเริ่มต้นจากการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์บนพื้นที่ข้างบ้าน มีพื้นที่เพียง 2 งาน ในการทำเกษตรเลี้ยงชีพ ซึ่งพื้นที่เพียงเท่านี้หลายคนสงสัยว่าพอหรือที่จะทำเลี้ยงชีพ ตอบได้เลยว่าพอ แต่ต้องจัดสรรวางแผนการปลูกให้ดี

คุณสุชาดา ดวงต๋า (คุณแพรว)

คุณแพรว บอกว่า “ในเมื่อมีพื้นที่น้อย ต้องจัดสรรพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และต้องฉลาดเลือกเน้นปลูกพืชที่มีมูลค่าและดูแลไม่ยาก เพราะทำกับแม่แค่สองคน ในบริเวณที่ปลูกผักจะใช้พลาสติกคลุมเกือบทั้งหมด เพื่อลดแรงงานการถอนหญ้า และประหยัดต้นทุนในการใช้สารเคมี”

การจัดสรรพื้นที่การปลูกให้มีผลผลิตออกตลอดทั้งปี มีดังนี้

พื้นที่ 2 งาน คุณแพรว แบ่งปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ครึ่งงาน และมะเขือเทศราชินีอีกครึ่งงาน พืชสองชนิดนี้เป็นพืชหลักมีผลผลิตออกขายได้ทั้งปี ส่วนพื้นที่ที่เหลือแบ่งปลูกเป็น กวางตุ้ง ผักบุ้ง แตงร้าน ถั่วฝักยาว และพืชผักสวนครัวทั่วไปที่คนในชุมชนต้องรับประทานกันเป็นประจำ ผักที่ปลูกเรียกว่า ผักปลอดภัย ใช้สารชีวภัณฑ์ น้ำส้มควันไม้ น้ำหมัก เป็นหลัก มีใช้สารเคมีเข้ามาช่วยบ้างแต่ใช้ในปริมาณที่น้อยมาก

ผักไฮโดรโปนิกส์ ครึ่งงาน แบ่งปลูกเป็น 4 โต๊ะ มีผักออกทุกสัปดาห์ ทยอยปลูกวนกันไปเรื่อยๆ

“ต้นทุนปลูกครั้งแรก 80,000 บาท 1 ปี คืนทุน หลังจากนั้นลงทุนเพียงค่าเมล็ดพันธุ์และค่าจิปาถะอื่นๆ อีกเล็กน้อย ผักสลัดใช้เวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยวขายใช้เวลาเพียง 45-60 วัน ต้นทุนการปลูกต่อต้น รวมค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ตกต้นละ 4 บาท หรือคิดต้นทุนเป็น 2 ใน 3 ของรายได้ ถ้าผักสลัดขายได้ 100 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 30-40 บาท ช่วงอากาศเย็น ผักจะต้นใหญ่ขายได้ราคาหน่อย เพราะเป็นฤดูที่เหมาะสม ผักจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 2-3 ขีด ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นหน้าฝน จะมีปัญหาคือ เชื้อราที่มากับน้ำฝน และอาจจะมีหนอน มีแมลงบ้าง ส่วนหน้าร้อนต้นจะเล็กลงจากเคยเก็บ 10 ต้น ได้ 1 กิโลกรัม อาจจะต้องเก็บ 17-20 ต้น ถึงจะได้ 1 กิโลกรัม”

ในส่วนของ มะเขือเทศราชินี ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าผักไฮโดรโปนิกส์กว่าครึ่งหนึ่ง ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยว 2 เดือน สามารถเก็บผลผลิตต่อเนื่องได้ 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับการดูแล

วิธีปลูก ปลูกลงดิน เพาะเมล็ด 30 วัน หลังจากนั้น ย้ายกล้าลงปลูกในดิน 40-45 วัน เริ่มเก็บผลผลิตได้ ระยะห่างระหว่างต้น 80 เซนติเมตร ปักค้างกะระยะห่าง 2-2.5 เมตร แล้วใช้ตาข่ายขึงให้เป็นซุ้มสี่เหลี่ยม เพื่อให้เก็บผลผลิตง่ายลูกไม่ช้ำ

พื้นที่ 2 งาน ข้างบ้านปลูกผักได้สบาย

ตลาดหาไม่ยาก แค่คิดและวางแผน
ก่อนลงมือทำ

การตลาดของคุณแพรว มีเคล็ดลับไม่ยาก เพียงแค่คิดและวางแผนก่อนลงมือทำ คุณแพรว บอกว่า จะไม่ใช้วิธีแบบเกษตรกรยุคก่อน คือปลูกก่อนแล้วหาตลาดทีหลัง ซึ่งวิธีนี้ทำให้เราเสียเปรียบเกษตรกรเจ้าถิ่น และเสียเปรียบพ่อค้าคนกลาง โดนกดราคา เพราะถ้าเขาไม่ซื้อของเราก็จะเสีย เราก็จำเป็นต้องขาย

“การตลาดที่ถูกต้องคือ การหาตลาดก่อนปลูก ต้องรู้ว่าตอนนี้ตลาดต้องการอะไร เราสามารถทำตามความต้องการของตลาดได้ไหม ถ้าทำได้ จึงค่อยลงมือทำในขนาดย่อมๆ ก่อน ถ้าตลาดไปได้สวยถึงค่อยขยับขยาย ไม่แนะนำให้ปลูกก่อน แล้วหาตลาดทีหลัง หรืออีกเทคนิคคือ ทำเป็นตัวอย่างไปให้ผู้รับซื้อดูก่อน ว่าเรามีผักแบบนี้ มาตรฐานแบบนี้ จะรับไหม อย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะทุกอย่างมีต้นทุน”

การวางแผนของคุณแพรวคือ เลือกที่จะไปเป็นลูกไร่คนอื่นก่อน เพราะเขามีที่ส่งอยู่แล้ว เราก็ไปขอเป็นเครือข่ายเขา เมื่อเราเข้าเป็นเครือข่ายได้สักระยะ เริ่มจะมีช่องทางเป็นของตัวเองจึงค่อยขยับขยาย และจะไม่เน้นขายส่งอย่างเดียว เรามีการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า มีผักสลัด และมะเขือเทศราชินีเป็นพืชหลัก มีพืชผักตามฤดูกาลเป็นพืชเสริม ซึ่งทั้งหมดนี้คุณแพรวปลูกเอง ขายเอง ดูแลเอง ในเดือนๆ หนึ่งมีรายได้จากการขายผักเดือนละประมาณ 15,000-18,000 บาท นับเป็นเงินไม่น้อยสำหรับพื้นที่แค่นี้

ผักไฮโดรโปนิกส์ สีสวย น่ารับประทาน

การขายจะมีทั้งแบบขายส่งและขายลูกค้ารายย่อยที่ตลาด แบบขายส่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ราคาส่งผักสลัดกิโลกรัมละ 100 บาท มะเขือเทศราชินี กิโลกรัมละ 80 บาท และผักตามฤดูกาลแบ่งขายเป็นกำให้คนในหมู่บ้านได้รับประทานของดีราคาถูก

อีกส่วนจะแบ่งไว้ขายตลาดคนรักสุขภาพทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ในส่วนของผักที่ขายที่ตลาดถือเป็นการเพิ่มมูลค่า นำผักที่ปลูกไปทำสลัดโรล ขายกล่องละ 50 บาท ผักสลัดแบ่งขายเป็นต้น ต้นละ 20 บาท เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและได้ราคาดีกว่าขายเป็นกิโล มะเขือเทศก็แบ่งขาย ใส่กล่องบรรจุ 300 กรัม ราคากล่องละ 50 บาท ในทุกๆ ครั้ง ลูกค้าจะได้ผักสดและปลอดภัยจากเกษตรกรโดยตรง

แปลงปลูกมะเขือเทศราชินี ปักค้าง ขึงตาข่าย

อาชีพเป็นเกษตรกร 365 วัน
คือความท้าทาย

การทำงานเกษตร ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่ตั้งใจ สำหรับตัวคุณแพรว การปลูกพืชผักต้องใจเย็น ทำไปเรื่อยๆ การทำงานเกษตรคือสิ่งที่ต้องทำเองทุกขั้นตอน เพื่อสร้างประสบการณ์ความชำนาญ เมื่อเกิดปัญหาจะได้แก้ทัน ถ้าคิดจะปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ 3-4 วัน ดูแลครั้ง ไม่มีทางสำเร็จ

การที่จะเลือกปลูกพืชสักชนิด อย่างน้อยต้องคลุกคลีกับผักชนิดนั้นเป็นระยะเวลา 1 ปี ทำไมต้อง 1 ปี เพราะใน 1 ปี สภาพอากาศทั้ง 365 วัน ไม่เหมือนกัน พืชแต่ละชนิดการปลูกการดูแลรักษาก็ไม่เหมือนกัน จึงต้องศึกษาทดลองปลูกเพื่อดูพฤติกรรมของพืช เพื่อเป็นแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที และถ้าพืชที่ทดลองปลูกสามารถไปต่อได้ รู้จักนิสัยพืชของตัวเองดีพอแล้ว ก็ไปต่อได้ แต่ถ้ารู้ว่าไปต่อไม่ได้ เราไม่เหมาะกับพืชชนิดนี้ ให้หยุดปลูก แล้วหาพืชตัวใหม่ที่โอเคกว่าทันที หรือขณะที่ทำให้เริ่มต้นทีละน้อยๆ เริ่มจากผักที่ชอบรับประทานก่อน เพราะจะทำให้เราใช้ความอดทนได้มากที่สุด

สำหรับท่านที่สนใจอยากจะทดลองปลูกผักข้างบ้าน เป็นอาชีพเสริม สามารถปรึกษา คุณสุชาดา ดวงต๋า (คุณแพรว) ได้ที่เบอร์โทร. 083-941-8302 ยินดีให้คำปรึกษา

ผลผลิตคุณภาพ ผิวสวย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

สลัดโรล ราคากล่องละ 50 บาท
มะเขือเทศแบ่งขาย ถุงละ 50 บาท บรรจุ 300 กรัม