นวนิตย์ พลเคน เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เน้นสร้างเกษตรกรรมเข้มแข็ง ด้วยการรวมกลุ่ม

คุณนวนิตย์ พลเคน เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า ประชากรส่วนใหญ่ภายในจังหวัดบุรีรัมย์มีการทำเกษตรที่หลากหลาย ซึ่งประกอบไปด้วยการทำพืชไร่เป็นหลัก คือ การทำนา ประมาณ 2,700,000 ไร่ รองลงมาคือ ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และสวนยางพารา ต่อมาเมื่อราคาพืชไร่มีความผันผวน ทำให้เกษตรกรที่ทำพืชไร่บางส่วนได้มีการปรับเปลี่ยนแบ่งพื้นที่นาและพืชไร่มาทำเกษตรผสมผสานมากขึ้น เพื่อให้เป็นการปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้ผลผลิตไม่ดี มาทำพืชอย่างอื่นแทน เป็นการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย สร้างรายได้เพิ่มขึ้นในครัวเรือน

“ปัจจุบัน ชาวบ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มตระหนักถึงเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ได้มีการมองเห็นโอกาสในเรื่องของการตลาด มีการปรับเปลี่ยนทำการเกษตรให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น เพื่อให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพและได้ผลผลิตที่จำหน่ายได้ราคา เป็นที่ต้องการของตลาด ดังนั้น ในเรื่องของการทำเกษตร จึงมีการทำแบบผสมผสาน ไม่ทำพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไป เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในเรื่องของราคาสินค้า มีผลผลิตหลายชนิดสำหรับจำหน่าย” คุณนวนิตย์ กล่าว

คุณนวนิตย์ พลเคน เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์

เน้นสร้างตลาด ด้วยการรวมกลุ่ม

เมื่อเกษตรกรภายในจังหวัดบุรีรัมย์มีการปรับเปลี่ยนการทำเกษตร เมื่อผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว คุณนวนิตย์ บอกว่า เมื่อสินค้าทางการเกษตรสามารถส่งขายให้กับตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรจึงรวมกลุ่มสร้างความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม ทำให้การทำเกษตรของสมาชิกมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง และที่ตามมาคือ จำหน่ายสินค้าได้ผลกำไร ไม่เกิดภาระหนี้สิน

“จากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ หรือตอนนี้ที่เรียกกันว่าเกษตรแปลงใหญ่ ในจังหวัดของเราก็มีด้วยกันหลายพืช หลักๆ ก็จะเป็นแปลงใหญ่ของข้าว รองลงมาก็จะเป็นแปลงใหญ่ของอ้อย โดยทุกคนที่อยู่ในละแวกเดียวกันจะดำเนินการรวมกลุ่มกัน ทำให้มีการบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ส่วนแปลงใหญ่ของไม้ผล ก็จะเป็นฝรั่ง กล้วย ซึ่งตอนนี้ภายในจังหวัดของเราก็มีการส่งเสริมเรื่องเกษตรแปลงใหญ่มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่พืชอย่างเดียว แม้แต่แปลงใหญ่ของการทำปศุสัตว์ก็เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้ เหมือนใครทำอาชีพด้านไหนก็รวมกลุ่มด้านนั้นๆ สามารถทำให้เกษตรกรทุกคนในกลุ่มมีเครื่องมือในการต่อรองทั้งการซื้อปัจจัยการผลิต มาผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ และสามารถต่อรองไปได้ถึงเรื่องของราคาขาย ทำให้ไม่ถูกกดราคาจากการทำตลาด” คุณนวนิตย์ กล่าว

เมื่อความสำเร็จจากการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่เกิดขึ้น คุณนวนิตย์ บอกว่า ทำให้เกษตรกรหลายรายที่ยังไม่ได้เข้ารวมกลุ่มได้มีความสนใจ และใส่ใจในเรื่องของการรวมกลุ่มมากขึ้น จึงเข้ามาเป็นสมาชิกภายในกลุ่มหรือสร้างกลุ่มตามสาขาของตนเองที่มีความถนัด โดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรแต่ละอำเภอ คอยหมั่นประชาสัมพันธ์และช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบมากยิ่งขึ้น

บุรีรัมย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว

และมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากในเรื่องของการทำการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดีแล้ว ในเรื่องของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น ทางจังหวัดบุรีรัมย์มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย เป็นที่สนใจของผู้มาเยี่ยมเยือน จึงทำให้มีการจัดการและวางระบบต่างๆ ให้สอดรับกับความเจริญที่มาถึง ทางภาคการเกษตรเอง คุณนวนิตย์ บอกว่า ก็ได้มีการจัดการและสร้างมาตรฐานไว้ว่า ผู้ที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์จะต้องได้รับสิ่งต่างๆ กลับไป คือ

  1. ได้รับในเรื่องของการได้ความสุข
  2. ได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย เป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษ และ
  3. ได้เข้าชมยังศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงการทำเกษตรในแบบต่างๆ ว่าผลผลิตแต่ละชนิดมีขั้นตอนและกระบวนการผลิตอย่างไร

“จากความใส่ใจและการส่งเสริมความรู้ต่างๆ ออกไป ทำให้การทำเกษตรของจังหวัดบุรีรัมย์ มีการใส่ใจทำเกษตรแบบมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยมีการทำเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งมีการผลักดันในเรื่องของการรวมกลุ่ม ก็จะช่วยให้เกษตรกรมีการจัดการอย่างมีระบบ เมื่อนำสินค้าทางการเกษตรส่งออกจำหน่าย ก็เกิดรายได้ที่มั่นคง และเป็นอาชีพที่ทำกันได้อย่างยั่งยืน” คุณนวนิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ คุณนวนิตย์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับเกษตรกรรายใหม่ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ควรดำเนินการให้มีความถูกต้องเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ในเรื่องต่างๆ และควรสร้างสินค้าให้มีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด พร้อมทั้งผลิตสินค้าแบบนำตลาด คือ ผลผลิตออกมามีตลาดรองรับอย่างแน่นอนไม่ล้นตลาด ก็จะช่วยส่งผลให้สินค้าทางการเกษตรจำหน่ายได้ราคา เกิดเป็นรายได้ที่ทำกันได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

…………………………………………………………………………………………………………………………….

สาระน่ารู้

จังหวัดบุรีรัมย์  หมายถึง เมืองแห่งความรื่นรมย์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญน่าเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งโบราณสถานศิลปะแบบขอมโบราณที่มีอยู่มากมายกระจายอยู่ในพื้นที่ทั้งจังหวัด

อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองเกษตรกรรมและหัตถกรรม เพราะเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดี และเป็นแหล่งทอผ้าไหมที่สวยงามและมีชื่อเสียง นอกจากนี้ ด้วยสภาพพื้นที่ตั้งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความหลากหลายของประเพณีวัฒนธรรม จนทำให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ดังคำขวัญของจังหวัดที่ว่า  เมืองปราสาทหิน  ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา

ขณะเดียวกัน บุรีรัมย์ ก็มีบทบาทสำคัญในด้านอุตสาหกรรมอีกสถานะหนึ่ง เพราะเป็นแหล่งผลิตหินก่อสร้างแหล่งใหญ่ที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะในย่านอำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอนางรอง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติฯ  สามารถส่งหินจำหน่ายให้แก่จังหวัดต่างๆ ในเขตภาคอีสานตอนล่างและภาคอื่นๆ

จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 10,393.945 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,451,178.125 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.11 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคิดเป็น ร้อยละ 2.01 ของพื้นที่ประเทศไทย มีพรมแดนโดยรอบยาวประมาณ 638 กิโลเมตร เป็นพรมแดนที่เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น คือใช้แนวสันเขาแบ่งเขตยาวประมาณ 170 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 24.89 พรมแดนที่เป็นลำน้ำยาวประมาณ 363 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 53.15 และใช้เส้นแนวตรงในที่ราบเป็นแนวพรมแดนอีก 150 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 21.96

ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงทางตอนใต้ บริเวณอำเภอละหานทราย อำเภอโนนดินแดง และอำเภอบ้านกรวด มีเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาพนมดงรัก กั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา พื้นที่ลาดจากทิศใต้ลงไปทางทิศเหนือมีลักษณะเป็นลูกคลื่นน้อยๆ เป็นที่ราบขั้นบันไดช่องเขา และภูมิประเทศที่เกิดจากภูเขาไฟ (ที่มา : สถานีอุตุนิยมวิทยานางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์)