เกษตรกรพังงา ปลูกผักเหมียง เลี้ยงโคขุน เสริมรายได้ในสวนยาง

หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ นำพาเกษตรกรให้อยู่รอด ท่ามกลางภาวะราคาเศรษฐกิจตกต่ำ ดังคำยืนยันของเกษตรกรรายนี้

คุณปรีชา พลันการ อยู่บ้านเลขที่ 9/15 หมู่ที่ 7 ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา นำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในไร่นาของตนเอง โดยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน ปลูกผักเหมียงในระหว่างสวนยางพาราและเลี้ยงโคขุน นอกจากเป็นการลดความเสี่ยงในการทำกิจกรรมการเกษตรเชิงเดี่ยวแล้ว สามารถใช้แรงงานในครัวเรือนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สมาชิกในครัวเรือนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ครอบครัวเกิดความรัก สามัคคี และไม่มีปัญหาในสังคม

คุณปรีชา เล่าว่า เดิมทีปลูกยางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่งในช่วงแรกยางพาราราคาดีก็ไม่ได้คิดที่จะทำอาชีพเสริมเพิ่มเติม ต่อมายางพาราเริ่มราคาตกต่ำ ตนจึงได้มีความคิดว่าต้องทำอะไรเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ประกอบกับสำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอทับปุดได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักเหมียง ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองประจำถิ่นของจังหวัดพังงา และเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการมาก จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนต้นพันธุ์ผักเหมียงกิ่งตอน จำนวน 200 ต้น ได้นำไปปลูกแซมในสวนยางพารา ซึ่งในขณะนั้นอายุประมาณ 8-9 ปี

ผักเหมียงแซมยางพารา

ผักเหมียง เป็นราชินีผักพื้นบ้านของภาคใต้ ปลูกง่าย ต้องการแสงแดดรำไร ไม่มีศัตรูพืชรบกวนมากนัก ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเป็นผักปลอดสารพิษอย่างแน่นอน

การดูแลรักษา ไม่ยุ่งยาก ได้ปุ๋ยจากการใส่ให้ยางพารา ปีละ 2 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักเพิ่มเติม อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น ที่ขาดไม่ได้คือ การตัดแต่งกิ่ง จะตัดแต่งตรงข้อ ทำให้ผักเหมียงแตกยอดมาก สะดวกในการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว ปัจจุบัน ผักเหมียง อายุ 4 ปี สามารถเก็บผลผลิตได้ ครั้งละ 100-200 มัด ผลผลิตแจกจ่ายให้กับประชาชนในหมู่บ้าน ที่เหลือจึงจำหน่าย มัดละ 10 บาท สร้างรายได้ให้กับครอบครัว เดือนละ 3,000-4,000 บาท

ใบผักเหมียง รอการจำหน่าย

นอกจากปลูกผักเหมียงแซมในสวนยางพาราแล้ว ยังเลี้ยงโคขุนในสวนปาล์ม เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ จำนวน 12 ตัว โดยเลี้ยงมาประมาณ 5 ปี ตัดหญ้าในสวนปาล์ม สวนยางพารา เป็นอาหาร เป็นการลงทุนที่ต่ำมาก สามารถจำหน่ายโคเนื้อได้ ปีละ 3 ตัว ตัวละ 30,000-40,000 บาท มูลโคก็นำไปเป็นปุ๋ยใส่ผักเหมียง ลดต้นทุนในการผลิต

คุณปรีชา พูดเน้นย้ำว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาปรับใช้ได้ประโยชน์จริงๆ ขอให้ทุกคนได้ลองทำดู แล้วจะรู้ว่า ทุกคนทำได้ ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไป เมื่อก่อนคนในหมู่บ้านว่าตนบ้า แต่ในปัจจุบันทุกคนยอมรับและนำไปเป็นแบบอย่างและทำตามหลายคนแล้ว

คุณสมชาย บริพันธุ์ เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักเหมียง เพื่อลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว อีกทั้งเป็นพืชผักพื้นเมืองที่ตลาดมีความต้องการอีกจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้มีพื้นที่ปลูก จำนวน 1,794 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 1,491 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 430 กิโลกรัม/ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรจังหวัดพังงา จำนวน 2,193 ครัวเรือน มูลค่าปีละ 40 กว่าล้านบาท และจังหวัดพังงาได้คัดเลือกผักเหมียงเป็นสินค้าในบริษัทประชารัฐรักสามัคคีพังงาอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงา โทรศัพท์ (076) 481-467 และสำนักงานเกษตรอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา โทรศัพท์ (076) 599-124