อดีตทหารอากาศ เลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย พร้อมปลูกผักสวนครัวครบวงจรขาย สร้างรายได้งาม

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกษตรเป็นเรื่องใกล้ตัว ยิ่งในสภาวะที่ต้องการสร้างรายได้เสริมด้วยแล้ว การเกษตรอาจเป็นทางเลือกเพื่อต่อยอดการสร้างเงิน ปัจจุบันคนหนุ่มสาวก็หันหลังสู้ฟ้าหันหน้าสู้ดินเช่นเดียวกัน บางคนจบการศึกษาจากสาขาอาชีพอื่นที่ไม่ตรงกับสาขาเกษตร แต่กลับผันชีวิตมาประกอบอาชีพด้านนี้ และเกิดความชอบจนหลงรักงานด้านนี้ ทำงานอย่างเต็มที่จนสร้างผลผลิตออกมาได้อย่างน่าภูมิใจ

หากทำการเกษตรด้วยใจจริงพร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก อาชีพเกษตรมีให้เลือกทำหลากหลาย เช่น ทำสวนดอกไม้ ทำสวนผลไม้ การเลี้ยงปลา ฯลฯ อาจไม่ต้องทำเป็นขนาดที่ใหญ่โตมโหฬาร ทว่าเริ่มจากสิ่งเล็กๆ แต่มากด้วยความสุขและความเพลิดเพลินในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหลายๆ ท่านที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณซึ่งจะทำให้มีสุขภาพจิตใจที่ดี ส่งผลให้สุขภาพกายแข็งแรงไปด้วย

เหมือนเช่น พ.อ.อ.ณรงค์ แก้วน้อย อยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 1 ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ชายวัยเกษียณที่ร่ำรวยความสุข

 

อาชีพหลังเกษียณขอเป็นเกษตร

พ.อ.อ.ณรงค์ ชายผู้มากด้วยรอยยิ้ม บุคลิกร่าเริงแจ่มใส เป็นมิตรกับผู้ที่พบเจอเสมอๆ เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณปี 2512 ได้เข้าเรียนโรงเรียนจ่าทหารอากาศ สมัยนั้นขับเครื่องบิน C47 ซึ่งปัจจุบันเครื่องบินในยุคนั้นปลดประจำการแล้ว จากนั้นประมาณปี 2540 จึงออกจากการเป็นทหารอากาศมาอยู่กับกองบินเกษตร ต่อมาย้ายมาอยู่ที่สุดท้ายคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นช่างเฮลิคอปเตอร์ ทำมาได้จนปี 2553 แล้วจึงเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์

“อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ขาดแคลนคน เพราะช่างนักบินน้อย ผมอยู่บินในระดับอากาศมากกว่าหมื่นชั่วโมง ครั้งหนึ่งเคยเครื่องบินตก เมื่อปี 2520 กระโดดหนีกัน ดีที่เครื่องตกเป็นท้องนา ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้คงตายไปแล้ว เพราะว่าตึกเยอะ หลังจากใกล้เกษียณก็มาอยู่ที่นี่ได้ 4-5 ปี ไปๆ มาๆ บ้านเกิดภรรยา ก็คิดๆ ว่าจะหาอะไรทำด้วย” คุณณรงค์เล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยก่อน

ผักสวนครัวปลูกเกาะกลางบ่อ

คุณณรงค์บอกว่า ช่วงที่มาพักผ่อนที่สุพรรณบุรีในพื้นที่นี้เป็นของภรรยาผู้เป็นหญิงสาวที่มากด้วยรอยยิ้ม สู้ชีวิตมาด้วยกันกับเขาตลอด คือคุณขวัญเรือน แก้วน้อย ระหว่างพักผ่อนในช่วงวันหยุดต่างๆ จึงคิดและตัดสินใจกันว่า อาชีพที่จะทำหลังเกษียณขอเป็นทางเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงปลา ชีวิตในรูปแบบนี้ถือว่ามีความสุข เพราะหากไม่หากิจกรรมต่างๆ ทำ คุณณรงค์กลัวว่าสุขภาพกำลังจะถดถอยลง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน สุขภาพจิตใจดีขึ้น ไม่เกิดสภาวะเครียดตามมา

 

ก่อนเกษียณลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง

คุณณรงค์เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเกษียณอย่างเต็มตัว ได้ทดลองเลี้ยงปลาหมอแต่ยังไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

“เลี้ยงไปนานๆ ปลาหมอตาย พอเลี้ยงได้ระยะที่ขายได้ ยังหาตลาดที่ส่งขายไม่ได้ ทำให้ต้องเลิกเลี้ยงไป ช่วงนั้นที่ทำ คนรับซื้อยังไม่ค่อยมี ซื้อลูกพันธุ์ปลามาก็แพง ตัวละเกือบบาทช่วงนั้น เคยถามคนที่เขาเคยเลี้ยงเขาก็บอกต้องทำให้มันใหญ่ถึงจะขายได้ แต่เราลงทุนไปด้วยก็คิดว่าไม่น่าคุ้ม เพราะความรู้เราเองก็ยังไม่มีเท่าที่ควร” คุณณรงค์กล่าว

เมื่อปลดเกษียณอย่างเต็มตัว คุณณรงค์จึงลองหาอะไรใหม่ๆ ทำ ได้แก่ การเลี้ยงเป็ดไข่ โดยนำลูกเป็ดมาเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ จนทำให้ปัจจุบันจำนวนไข่ที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนซื้อ กระทั่งเริ่มมีการทำเกษตรที่ผสมผสานมากขึ้น

คุณขวัญเรือน แก้วน้อย ภรรยา เล่าเสริมให้ฟังว่า เมื่อลองผิดลองถูกมาหลายอย่าง ก็เริ่มสนใจที่จะประกอบอาหารขาย เพราะน้องสาวของเธอเปิดร้านขายอาหารในช่วงเย็น หากซื้อวัตถุดิบมาทำอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับเธอมากไป จึงตัดสินใจใช้พื้นที่บริเวณบ้านที่เหลือขุดบ่อเลี้ยงปลาดุกและปลูกผัก

เล้าเป็ดไข่ข้างบ้าน

“ที่ดินที่อยู่นี่ก็ของเรา ยังมีที่เหลือว่าง เราก็คิดว่าไม่ได้เสียค่าเช่าอะไร ควรทำให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าปล่อยให้ว่างเปล่า ก็ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุก ส่วนด้านบนก็ปลูกผักสวนครัว ก็เอาพวกนี้มาทำกับข้าว ขายที่ร้านเราเอง เพราะปลาดุกที่ไปซื้อพันธุ์มาคนขายเขาแนะนำดีมาก อาจเพราะปลาดุกมันทน ไม่ค่อยมีปัญหาด้วย คือเลี้ยงให้ผ่านช่วงตัวเล็กๆ ไปพอ เดี๋ยวผ่านไปมันก็โตได้ดีเอง” คุณขวัญเรือน กล่าว

 

แหล่งเงินลงทุน

             “เงินที่นำมาลงทุนนี่ เงินที่ได้จากการทำงาน จากเงินเดือน เงินที่ทำงานในอากาศคือ จ้างบินชั่วโมงละ 500 บาท เราก็เก็บสะสมมาบ้าง ยังพอมี คือเอาเงินพวกนั้นแหละมาค่อยๆ ลงทุน ส่วนเงินที่ซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงปลาก็ได้จากเงินบำนาญ เอามาต่อยอดในสิ่งที่ทำ” คุณณรงค์บอกถึงแหล่งที่มาของเงินลงทุน

จากสิ่งที่ทำคุณณรงค์บอกว่าไม่ได้จ้างใครมาดูแล แต่เป็นงานที่ทำกันเองกับภรรยา อาจมีช่วงแรกๆ ที่ต้องจ้างมาขุดบ่อ แต่เมื่อทุกอย่างลงตัวทำเองหมด บางครั้งมีพี่สาวของคุณขวัญเรือนมาคอยช่วยดูบ้างเพราะมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่าตน

 

ดูแลอย่างไรปลาจึงตัวใหญ่และขายได้

              คุณณรงค์เล่าว่า มีบ่อดินที่อยู่บริเวณหน้าบ้านหลังจากเลิกเลี้ยงปลาหมอ จึงซื้อปลาสวายกับปลาบึกมาปล่อยลงไปแบบไม่เน้นการดูแลมาก เพราะปลา 2 ชนิดนี้ใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานนับปี อาหารที่ใช้เลี้ยงก็เป็นเศษข้าว หรือบางครั้งก็ให้อาหารเม็ดเพื่อให้มีสารอาหารครบถ้วน

ส่วนพื้นที่หลังบ้านขุดเลี้ยงปลาดุก ให้บ่อมีขนาดเป็นรูปตัวยูหรือเกือบวงกลม ตรงกลางมีลักษณะเป็นเกาะสำหรับปลูกพืชผักสวนครัว

บ่อเลี้ยงปลาดุก

บ่อดินที่ขุดมีความกว้างประมาณ 2 เมตร ลึก 2 เมตร ส่วนรัศมีความยาวโดยรอบนั้น คุณณรงค์บอกว่าไม่จำกัดตายตัว อยู่ที่พื้นที่ความกว้างของแต่ละคน เพราะถ้าบ้านใครมีพื้นที่มากพออาจจะยาวกว่าของตนก็สามารถทำได้

ซื้อลูกปลาดุกไซซ์ขนาด 3 นิ้ว ประมาณ 3,000 ตัว มาเลี้ยงในกระชังขนาด 4 x 3 เมตร นำมาอนุบาลเลี้ยงไว้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นย้ายไปเลี้ยงในบ่อดิน จากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา คุณณรงค์บอกว่า หากผ่านช่วง 1 เดือน จากการเลี้ยงในกระชังไปได้ ถ้าลูกปลาดุกรอดตายจากระยะนี้ เท่ากับว่าอัตราการตายจะไม่มี

อาหารเลี้ยง ให้กินแค่ช่วงเช้า-เย็น ทั้งอาหารเม็ดและเศษอาหารต่างๆ

ปลาดุกที่เลี้ยงภายในบ่อ

“ปลาดุกนี่มันกินง่ายมากนะ แค่มีอาหารให้มันกินก็หาอาหารตามพื้นดินกินได้ ทำให้ไม่กังวลในเรื่องการให้อาหารมากนัก มันก็อยู่ได้ มันเลี้ยงง่ายด้วย ให้อะไรมันก็กินได้หมด เพราะเลี้ยงในบ่อดิน มันยังหาอะไรกินได้ แต่ถ้าเลี้ยงในกระชังมันหาอะไรกินไม่ได้ มันก็จะกินแต่อาหารที่เราให้มันอย่างเดียว” คุณณรงค์อธิบาย

ด้านการดูแลป้องกันโรค ตั้งแต่เลี้ยงมาเขาบอกว่ายังไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าที่ควร เนื่องจากบ่อที่เลี้ยงยังใหม่อยู่ โดยจะมีการถ่ายน้ำทุก 2 เดือน 1 ครั้ง

 

การขาย เน้นแปรรูปทำเป็นกับข้าว

คุณณรงค์เล่าว่า ปลาดุกเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป ไซซ์ประมาณ 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม จะขายเป็นปลาสดโดยมีคนมาซื้อถึงที่บ้าน และแปรรูปทำเป็นกับข้าวถุงขายที่ร้าน

“ร้านที่ขายนี้เป็นร้านของน้องสาวภรรยาผม เราก็เลยขายช่องทางนี้ คือทำเป็นกับข้าวขายช่วงเย็นไปซะ เพราะอย่างน้อยเรามีที่ขายแน่ๆ อีกอย่างผักที่เราปลูกก็มี ก็เท่ากับการลงทุนเราก็น้อย ไม่ต้องไปซื้ออะไรมาทำเพิ่มเยอะแยะ หากลงทุนเยอะกำไรมันก็เหลือนิดเดียว” คุณณรงค์กล่าว

ซึ่งปลาที่เลี้ยงส่วนมากมีเพียงพอสำหรับทำขาย ไม่ถึงกับขาดแคลนหรือล้นตลาด เรียกง่ายๆ ว่าเลี้ยงเพื่อทำขายเอง สามารถกำหนดปริมาณได้

 

หลังเกษียณไม่ควรอยู่เฉยๆ

              บางคนหลังเกษียณอาจไม่รู้ว่าต้องทำอะไร แต่สำหรับคุณณรงค์บอกว่า ควรหาอะไรทำ

“ผมว่าหลังเกษียณควรหาอะไรทำ ไม่งั้นร่างกายมันจะแย่นะ คือทำแบบนี้มันได้ออกกำลังไปในตัว เดี๋ยวไม่งั้นมันจะแย่ อย่างเราทำแบบนี้เรายังได้ขุดดินปลูกผัก เดินดูปลาในบ่อ ไล่ต้อนเป็ดบ้าง เอาง่ายๆ ว่ามีอะไรให้ทำเพลินๆ ไปดีกว่ามานั่งๆ นอนๆ มันไม่เกิดประโยชน์” คุณณรงค์กล่าวจากความรู้สึก

 

ทำงานต้องเก็บเงินผสมเล็กผสมน้อย

เมื่อให้คุณณรงค์และคุณขวัญเรือนช่วยแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่เกษียณ หรือคนที่กำลังจะเกษียณควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อรับมือในอนาคต

“เอาง่ายๆ นะ ระหว่างทำงานต้องเก็บเงิน ไม่เก็บเงินเลยนี่หมด อนาคตจะแย่เอา อย่างผมนี่ตอนนั้นมีมาแค่หลักแสนยังแทบไม่พอเลย เงินแสนนี่ไม่ใช่อยู่กับเรานานนะ แป๊บๆ นี่หมดได้ ก็อยากบอกคนรุ่นใหม่ หรือคนที่วันข้างหน้าจะเกษียณก็ให้เก็บเงิน ถ้าไม่มีนี่แย่ อย่างการออม เข้าสหกรณ์อะไรนี่ก็ดีนะ พอออกจากงานมา ก็มีเหลือเยอะแบบเพื่อนๆ ผม” คุณณรงค์กล่าว

ด้านคุณขวัญเรือน ให้ข้อคิดว่า “อย่างคนเคยทำงาน ชีวิตการทำงานเราก็จะอีกอย่างหนึ่ง มีเพื่อนมีสังคม แต่การมาอยู่บ้านแบบนี้ บางทีมันก็เคว้งคว้าง บางเรื่องเราอาจจับต้นชนปลายไม่ได้ว่าจะทำอะไรดี ถ้าไม่วางแผนให้ดีก่อนออกจากงานมา พอเกษียณอยากให้มองว่าเราจะทำอะไรดี อาชีพไหนจะเหมาะกับเราหลังเกษียณ เพราะบางอย่างคนอื่นทำได้ เราทำตามเขา แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับเรา เลือกที่เราถนัดดีกว่า หาข้อมูลดีๆ ก่อนที่เราจะเกษียณ เกิดทำไม่สำเร็จเงินที่ลงไปอาจหายไปเลย แทนที่จะสุขใจกลายเป็นเครียดอีก ท้อแท้อีก ก็ขอให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน คิดให้เยอะๆ นะคะ” คุณขวัญเรือน กล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

การเตรียมตัวหลังเกษียณนับว่าเป็นสิ่งที่ดี หากศึกษาหาความรู้ เตรียมความพร้อมก่อนลงมือทำ ความท้อแท้ ความเครียดก็จะไม่ย่างกรายในชีวิต เหมือนเช่น คุณณรงค์และคุณขวัญเรือนที่เริ่มทำอย่างละเล็กละน้อย การเกษตรที่ทำแบบผสมผสานก็สามารถสร้างรายได้หลายๆ ทาง การดำเนินชีวิตก็มีความสุข จากสิ่งที่ทำด้วยใจ จนสร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้รวยความสุขในวัยเกษียณ

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 080-563-5146, 081-964-9596

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354