กลุ่มเกษตรอินทรีย์สุขใจไทรโยค ต้นแบบครบวงจร “ปลูก-แปรรูป-ขายเอง”

กาญจนบุรี เป็นอีกจังหวัดของบ้านเราที่มีพืชผักผลไม้อุดมสมบูรณ์ มีทั้งพืชไร่และพืชสวน พร้อมกันนั้น กลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่มก็นำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งสร้างรายได้อย่างงาม โดยเฉพาะผัก   ผลไม้ที่ปลูกแบบอินทรีย์เพราะสามารถขายได้ราคาสูงกว่าผักทั่วไปที่ใช้เคมี

อย่างกลุ่มเกษตรอินทรีย์สุขใจไทรโยคที่มี คุณวิมล โพธิ์มี เป็นประธาน กลุ่มนี้เป็นเครือข่ายหนึ่งของสามพรานโมเดล โดยมี คุณอรุษ นวราช ผู้บริหารโรงแรมสามพรานฯ นั่งเป็นประธาน

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีทั้งผลไม้สดและแปรรูป

ผ่านมาตรฐาน PGS

กลุ่มเกษตรอินทรีย์สุขใจไทรโยค ตั้งอยู่ที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี มีสมาชิกทั้งหมด 15 ราย ปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองและผักผลไม้ตามฤดูกาล นอกจากนั้น ยังนำผลผลิตหลายอย่างมาแปรรูป อาทิ ทำแป้งกล้วย กล้วยอบกล้วยฉาบหลากหลายรสชาติ ทำห่อหมกหัวปลี มะขามแช่อิ่ม และน้ำพริก ฯลฯ ผลผลิตของสมาชิกทั้งหมดปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ผ่านมาตรฐานระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ที่ขับเคลื่อนโดยสามพรานโมเดล

คุณวิมล โพธิ์มี และคณะ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการทำห่อหมกหัวปลี

คุณวิมลและสมาชิกในกลุ่มได้สาธิตการปิ้งอบหัวปลี ลักษณะคล้ายๆ การทำห่อหมกหัวปลีแบบปิ้ง ซึ่งมีจุดเด่นตรงการใช้แป้งกล้วยที่ทำขึ้นเองประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สุขใจไทรโยคแจงว่า ในชุมชนมีกล้วยเยอะส่วนใหญ่และตัดหัวปลีทิ้ง แม้นำไปขายบางครั้งก็ขายไม่หมด ดังนั้น จึงนำมาแปรรูปเป็นปิ้งอบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นๆ บ้าน แต่มีประโยชน์ด้านการบำรุงเลือด ขับน้ำนมเหมาะสำหรับผู้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ๆ

หน้าตาห่อหมกหัวปลีปิ้งที่มีแป้งกล้วยเป็นส่วนผสม

ในส่วนการทำแป้งกล้วยนั้น เริ่มจากใช้กล้วยน้ำว้าดิบมาแปรรูป เป็นกล้วยแก่ประมาณ 70% นำมาต้มพร้อมเปลือกในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที แล้วนำมาแช่น้ำเย็นทันที สาเหตุที่ต้องแช่ทันที เพราะหากปล่อยไว้ความร้อนในกล้วยยังมีอยู่จะทำให้กล้วยสุก จึงต้องจะนำมาน็อกในน้ำเย็นทันที

เนื้อกล้วยจะกลับมาเป็นสภาพเดิมแล้วนำกล้วยมาปอกเปลือกออก แช่น้ำเกลือ หั่นบางๆ เป็นชิ้นๆ แล้วนำไปใส่กระด้งผึ่งให้แห้ง จากนั้นนำไปใส่ในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้เวลา 3-4 วัน จะช้าหรือเร็วสังเกตได้ ถ้าแดดแรงจัดจะแห้งเร็ว จะควบคุมอุณหภูมิไม่ได้ ขึ้นอยู่กับแสงแดดของแต่ละวัน

 

เล็งผลิตแป้งกล้วยขาย  

กรณีที่ใช้ตู้อบพลังความร้อนใช้เวลาอบ 10 ชั่วโมง เมื่อกล้วยแห้งแล้วจะนำกล้วยนั้นมาบดด้วยเครื่องบดทั่วไป หากจำนวนมากใช้เครื่องตัวใหญ่ แล้วร่อนกรองอย่างละเอียด และบดซ้ำอีกครั้ง จะได้เป็นผงกล้วยนำมาประกอบเป็นอาหาร หรือชงดื่มเป็นยาลดกรดไหลย้อนได้ ตรงนี้ได้นำแป้งกล้วยมาเป็นส่วนผสมหนึ่งของการทำปิ้งอบหัวปลี

กล้วย 1 หวี จะได้น้ำหนักของแป้งเท่าไร ขึ้นอยู่กับขนาดของกล้วย ถ้าน้ำหนักของกล้วย 4 กิโลกรัมจะได้แป้งแค่ 5-6 ขีด กิโลหนึ่ง 250 บาท ตอนนี้มีแผนจะทำแป้งกล้วยออกจำหน่าย

สำหรับวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในการทำปิ้งอบหัวปลีประกอบด้วย พริกแกงเผ็ดธรรมดา กะทิ ไข่อารมณ์ดี กะทิ หัวปลี (ตอนหั่นบีบมะนาวเพื่อไม่ให้ดำ) กระชาย และเกลือ ผักรองเป็นพวกกะเพรา หรือโหระพา หรือผักชีแล้วแต่ชอบ ใบมะกรูด ที่สำคัญคือแป้งกล้วย ผสมให้เข้ากัน

ในการหั่นหัวปลีกล้วยนั้น คุณวิมลอธิบายว่า ก่อนหั่นจะนำไปแช่ในน้ำเกลือก่อน เพื่อจะทำให้ไม่ดำและนิ่มขึ้น จากนั้นซาวขึ้นมาพักไว้ แล้วใช้พริกแกงที่ตำผสมไว้แล้วกับกะทิใส่ไข่ไก่ลงไปแล้วปั่นให้เข้ากัน ใส่เกลือนิดหน่อย หรือน้ำปลาก็ได้ตามรสที่ชอบ นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ากัน นำแป้งกล้วยใส่ลงไปด้วย ปรุงตามรสชาติที่ชอบ นำใบแมงลัก หรือโหระพา มาเพิ่มรสชาติให้มีกลิ่นหอม เสร็จแล้วนำใบตองมาห่อ จากนั้นนำไปปิ้ง หรือนึ่งก็ได้คล้ายๆ กับนึ่งห่อหมกทั่วๆ ไป สูตรนี้แป้งกล้วยจะใช้ประมาณ 2 ขีด

คุณสมบัติของแป้งกล้วยดีมีประโยชน์กว่าแป้งทั่วไปคือ มีวิตามิน มีธาตุอาหาร มีความเหนียว ยืดๆ นุ่มๆ เป็นส่วนผสมที่ใช้ทดแทนแป้งข้าวเจ้า ความอร่อยแป้งกล้วยจะอยู่ที่ความหนึบๆ ยืดๆ กินแบบไม่ต้องใส่ผงชูรส เน้นความเป็นธรรมชาติ

 

ส้มโอไทรโยคเปรี้ยวอมหวาน

คุณวิมลเล่าว่า สมาชิกในกลุ่มปลูกผลไม้นานาชนิด อาทิ ส้ม กล้วย มะละกอฮอลแลนด์ ฝรั่ง และแก้วมังกร โดยเน้นปลูกตามฤดูกาล และปลูกพืชผักสวนครัว อย่างผักบุ้ง คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำแปรรูป เช่น ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ นำมาแช่อิ่ม ขายกิโลกรัมละ 300 บาท เมื่อนำไปตากแดดให้แห้ง จะได้กิโลกรัมละ 450 บาท รวมทั้งมะขามป้อมก็จะนำมาทำแช่อิ่มขายกิโลกรัมละ 300 บาท

สำหรับที่สวนของคุณวิมลเองนั้น เธอบอกว่า มีพื้นที่ 12 ไร่ ผลไม้ที่ปลูกเป็นหลักคือ ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ในพื้นที่ 7 ไร่ พร้อมปลูกกล้วยแซมเข้าไป และยังปลูกฝรั่ง มะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ ซึ่งแม้เปลือกจะหนา แต่น้ำเยอะมีรสเปรี้ยว กลิ่นหอม จะต้านทานโรคแคงเกอร์ โรคราได้ โดยปลูกแบบอินทรีย์ไม่ต้องใช้สารเคมี แต่ถ้าปลูกพันธุ์พื้นบ้านที่ตลาดชอบ แต่ต้องใช้ยา ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ผลผลิตเยอะ ซึ่งทางกลุ่มพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยให้ข้อมูลว่าแม้เปลือกหนาบีบยากแต่ได้กินของที่ปลอดภัย คนปลูกเองก็ไม่ต้องไปพะวงกับแมลงที่จะมารบกวน

รายได้หลักของสวนเธอคือ ส้มโออินทรีย์ ส่วนสาเหตุที่ที่เลือกพันธุ์ขาวใหญ่ คุณวิมลระบุว่า เพราะมีรสชาติอร่อย กรอบ หวานอมเปรี้ยว ซึ่งการปลูกส้มโอของเกษตรกรในอำเภอไทรโยค จะปลูกเป็นพื้นไร่ ไม่ได้ยกร่องเหมือนชาวสวนในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หรือทางจังหวัดนครปฐมที่ปลูกกัน โดยอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ แต่จะมีบางสวนที่ใช้ระบบสปริงเกลอร์ รสชาติของส้มโอที่ไทรโยคช่วงปลายฝนต้นหนาวจะออกเปรี้ยวอมหวาน กรอบแห้ง ยิ่งฤดูแล้งจะหวานนำอร่อยมาก

 ผลิตไม่พอจำหน่าย

ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์สุขใจไทรโยคให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกส้มโออินทรีย์ว่า ในการปลูกนั้นขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ละต้นทิ้งห่างกัน 8×8 เมตร ไร่หนึ่งปลูกได้ 25 ต้น เพราะต้นจะเป็นทรงพุ่มขนาดใหญ่พอโตแล้วจะมาชนกัน ระยะหลังเสียดายพื้นที่เลยร่นระยะ 6×5 เมตร 5×4 เมตร ถ้าดินแข็งจะใช้วิธีการห่มดินเข้ามาหาลำต้นเรื่อยๆ เนื่องจากส้มโอไม่ใช่พืชที่มีรากลงลึก

ทั้งนี้ จะใช้กิ่งตอนปลูก ซื้อมากิ่งละ 50 บาท โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมัก ปลูกเสร็จใช้ฟางห่มไว้ ประมาณ 3 ปี จะสูงเท่าตัวคน ปีที่ 4-5 ปี จะให้ผลผลิต ช่วงแรกกินไม่อร่อยเปลือกหนา เรียกว่าส้มสาว ประมาณ 7 ปี จะโตเต็มที่รสชาติถึงจะดี

เธอให้คำแนะนำในการบำรุงรักษาต้นว่า ช่วงเวลา 3-4 ปี ต้นส้มโอกำลังโต บำรุงด้วยการรดน้ำเดือนหนึ่ง 2 ครั้ง ถ้าเป็นหน้าแล้งๆ ไม่ต้องรดทุกวัน ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ช่วงระยะห่าง 8×8 เมตร จะปลูกกล้วยแซมตรงกลาง พอปีครึ่งกล้วยจะให้ผลผลิต เป็นร่มเงาให้ส้มโอได้ เป็นพี่เลี้ยงให้ ช่วงเล็กๆ ไม่ต้องให้ปุ๋ยอะไรมาก ให้แค่น้ำและปุ๋ยหมัก ขี้วัว ขี้ไก่ บำรุงต้น ช่วงนี้ยังไม่ให้ผลผลิตลูกก็ไม่ต้องดูแลมาก

พอเริ่มมีดอกออกติดผล จะใช้พวกน้ำหมักที่ทำเองฉีดพ่นฮอร์โมนไข่พ่น เพื่อให้ติดลูกติดดอก แล้วให้น้ำ ช่วงส้มโอติดลูกประมาณกำมือ จากนั้นให้ปุ๋ย NPK แบบอินทรีย์ ซึ่งหมักเอง อย่างเช่น ตัว N คือไนโตรเจน ถ้าจะหมักปุ๋ยสูตรไนโตรเจน จะนำพืชสดมาหมัก จะได้ปุ๋ยสูตร N แต่ถ้าอยากจะได้ตัว P ฟอสฟอรัส จะใช้พืชสดที่กำลังออกดอก ออกฝัก ออกผล พวกนี้จะสะสมอยู่ในตัว เช่น ฝักกระถินจะใช้กระถินช่วงออกดอกออกฝัก จะมีตัวฟอสฟอรัสเยอะ

หากอยากได้ตัว K คือ โพแทสเซียม เทียบเคียงกัน นำวัสดุดิบนั้นไปเผาก่อน พอเผาเป็นขี้เถ้าแล้วจะแปรสภาพเป็นตัว K ได้ เช่น แกลบดิบจะเป็นตัว P ถ้าเอาไปเผามีสีดำจะเป็นตัว K แต่ถ้าแกลบ+เมล็ดข้าว จะเป็นตัว N เพราะในเมล็ดข้าวมีแป้ง มีโปรตีน ซึ่งพืชชนิดเดียวยังให้ NPK ได้ รับรองไม่ได้ใช้เคมี แต่ใช้วิธีเทียบเคียงสูตร

เธอเล่าถึงช่องทางการตลาดของกลุ่มว่า สมาชิกได้นำผลผลิตไปวางขายในหลายจุด อย่างเช่นตลาดในพื้นที่ ตลาดในตัวเมืองของรัฐที่ตลาดประชารัฐเมืองกาญจน์ ขายวันพุธ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ขายที่ตลาดสุขใจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งที่ผ่านมามีตลาดรองรับหลายแห่ง และยิ่งช่วงกระแสเกษตรอินทรีย์มาแรง มีตลาดวิ่งมาหากลุ่มมากขึ้น แต่ก็ผลิตได้ตามกำลังที่มี ไม่สามารถผลิตตามความต้องการของลูกค้าได้ทุกราย

นับเป็นเกษตรกรอีกกลุ่มที่มีความเข้มแข็งเพราะทำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354