มทร. ล้านนาตาก รวบรวมพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านตามแนวพระราชดำริ

เราคงเคยได้ยินกันมานานแล้วว่า ทุเรียนคือราชาแห่งผลไม้ที่มีผู้นิยมบริโภค และในรอบปีที่ผ่านมา ทุเรียนเริ่มเป็นที่ฮือฮากันมากขึ้น เมื่อประเทศจีนให้ความสนใจสั่งซื้อไปบริโภคกันในปริมาณมาก จะด้วยการตามกระแสหรือติดตามสื่ออินเตอร์เน็ต โลกออนไลน์ใดๆ ก็ตาม แต่เรื่องราวของการสนับสนุนการปลูกและการตลาดทุเรียนทางราชการของไทยก็สนับสนุนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนมาโดยตลอด

ขนาดและน้ำหนักเมล็ดทุเรียนพื้นบ้าน

หลายปีก่อน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หาวิธีการที่จะส่งทุเรียนให้ถึงมือผู้รับที่ประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนตั้งแต่ต้นทาง ให้การรับรองคุณภาพสวน ตรวจสอบผลผลิตก่อนขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่ใส่ตู้คอนเทรนเนอร์แล้วปิดผนึกรับรอง ระหว่างเส้นทางขนส่งจากประเทศไทยไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน จะไม่มีการเปิดตู้คอนเทรนเนอร์เพื่อการตรวจสอบเชื้อโรค ศัตรูพืชใดๆ ทั้งสิ้น จากแหล่งผลิตที่สวนจังหวัดจันทบุรีหรือตราด เดินทางสู่อำเภอเชียงแสนแล้วข้ามประเทศลาวเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยใช้เส้นทาง R3A เมื่อถึงที่หมายแล้วจึงจะเปิดตู้คอนเทรนเนอร์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตรวจสอบสินค้าของจะส่งต่อให้ลูกค้าที่สั่งซื้อต่อไป ซึ่งจะต้องมีการคำนวณระยะเวลาการสุกของทุเรียน เพิ่มระยะเวลาให้ทุเรียนสุกเต็มที่ระหว่างเดินทางเพื่อบริโภคจะพอดีกับความต้องการ ทางด้านเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนก็เช่นกัน ทางราชการสนับสนุนการรวมกลุ่มผู้ปลูกทุเรียน ปัจจุบันได้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีชื่อเรียกกันว่า สมาร์ทฟาร์มเมอร์ สตาร์ตอัพ หรือชื่อกลุ่ม ชมรมอื่นๆ

ผลทุเรียนในสวน

แต่ที่ผู้เขียนเคยสัมผัสมา เห็นจะเป็น กลุ่มทุเรียนบ่อน้ำร้อน เบตง เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง ริเริ่มกันตั้งแต่การขยายพันธุ์ทุเรียน การปลูกทุเรียนที่ถูกหลักวิชาการ รณรงค์ไม่ตัดทุเรียนอ่อนจำหน่าย รวมไปถึงการตลาด และวิธีการอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนปรับปรุงคุณภาพผลผลิตได้ตามต้องการของตลาด นำเสนอวิถีการตลาดด้วยตนเอง รวมกลุ่มติดต่อสื่อสารให้คำแนะนำ สอบถามกันเองในกลุ่มที่เรียกว่า ไลน์กลุ่มหรือทางเฟซบุ๊ก ที่ผู้เขียนได้รู้จักคือ ชมรมทุเรียนเบตง แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนหนุ่มเหล่านี้ไม่ได้ทอดทิ้งทุเรียนสายพันธุ์ดั้งเดิมเลยเสียทีเดียว ได้เคยกล่าวกับผู้เขียนว่า ยังมีทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของไทยที่มีรสชาติดี คุณภาพเนื้อดีกว่าพันธุ์ที่นิยมปลูกอยู่ในขณะนี้ เช่น ทุเรียนจันทบุรี พันธุ์ยาวลิ้นจี่ ฯลฯ รวมถึงทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมของแต่ละจังหวัดด้วย

ผลผลิตทุเรียนพื้นเมือง ที่ส่งเข้าประกวด

ดังเช่น ผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนาตาก ได้จัดทำโครงการสำรวจและจัดทำแผนการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มีเครือข่ายทุเรียนในรูปของคณะทำงานพืชอนุรักษ์ทุเรียนและที่ทำหน้าที่รวบรวมพันธุ์ทุเรียนจากแหล่งปลูกที่สำคัญทั่วประเทศไทย มทร. ล้านนาตาก ได้ริเริ่มสำรวจเบื้องต้น พบพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองที่ปลูกในพื้นที่ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีต้นทุเรียนอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่บนเชิงเขา ผลผลิตมีราคาถูก ในฐานะที่ มทร. ล้านนาตาก เป็นหน่วยงานที่ร่วมงานสนองพระราชดำริ เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงเข้าร่วมงานในเครือข่ายงานวิจัยเรื่องทุเรียนกับ อพ.สธ. เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองของจังหวัดตาก เพื่อศึกษาการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการนำไปใช้ประโยชน์จากทุเรียน และเพื่อศึกษาการขยายพันธุ์พื้นเมืองในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ภายหลังจากการสำรวจเบื้องต้น มทร. ล้านนาตาก ได้จัดการประกวด การแข่งขันทุเรียนท้องถิ่นที่บ้านเปิงเคลิ่ง โดยความร่วมมือจากสำนักงานเกษตรจังหวัดตาก นายอำเภออุ้มผาง การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตาก โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง) และชาวบ้านเปิงเคลิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกทุเรียนพันธุ์พื้นบ้านที่ดีที่สุดของหมู่บ้านเปิงเคลิ่ง เพื่อศึกษาพันธุ์ทุเรียนพื้นบ้าน และเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนพื้นบ้านที่ดีที่สุด คณะกรรมการได้เข้าเยี่ยมชมต้นทุเรียนที่ได้รับรางวัลที่ดีที่สุดด้วย การรวบรวมและคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองนี้ จะได้คัดเลือกและประกวดต่อไปเป็นประจำทุกปี เพื่อจะได้ต้นพันธุ์ที่ดี ผลผลิตมีคุณภาพดี เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภค อีกทั้งจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทุเรียนพื้นบ้านพันธุ์ดีประจำจังหวัดตาก ในอนาคตอาจจะเป็นการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อการขยายพันธุ์และเพื่อการส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย

สวนทุเรียนพื้นบ้านเชิงเขา

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเกศสุดา อั๋งสกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนาตาก  โทร. 086-901-8290 หรือ 055-515-900