ที่มา | หมอเกษตร ทองกวาว |
---|---|
เผยแพร่ |
เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ
ผมเป็นคนชอบรับประทานข้าวญี่ปุ่นคนหนึ่ง อยากทราบว่าประเทศไทยปลูกได้หรือไม่ ถ้าปลูกได้ มีที่ไหนบ้าง และความแตกต่างระหว่างข้าวไทยกับข้าวญี่ปุ่น นอกจากเมล็ดมีรูปร่างแตกต่างกันแล้ว มีอะไรอีกบ้างที่มีความแตกต่างกัน ขอคำอธิบายด้วยครับ
ขอแสดงความนับถือ
สุเมธ เสนาสกุล
สระบุรี
ตอบ คุณสุเมธ เสนาสกุล
ข้าวไทย กับ ข้าวญี่ปุ่น นักพฤกษศาสตร์ และนักวิชาการเกษตร ได้จำแนกไว้อย่างชัดเจน ดังนี้
ข้าวไทย จัดเป็นชนิดอินดิก้า (Indica Type) ส่วน ข้าวญี่ปุ่น จัดอยู่ในชนิดจาโปนิก้า (Japonica Type) มาดูในรายละเอียดกันครับ
ข้าวไทย เป็นข้าวเมล็ดยาว หุงขึ้นหม้อ ลำต้นสูง ใบสีเขียวอ่อน หักล้มง่าย ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ย เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง (Photo Sensitivity) คือออกดอกในฤดูที่กลางวันมีแสงแดดน้อยกว่า 11 ชั่วโมง จึงออกดอกและเก็บเกี่ยวในฤดูหนาว ตัวอย่างข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง เจ๊กเชย และขาวนางเนย สำหรับข้าวในสกุล กข เนื่องจากมีการปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว จึงต่างจากชนิดอินดิกาไปบ้าง
ข้าวญี่ปุ่น เป็นข้าวเมล็ดสั้น ข้าวสารหุงไม่ขึ้นหม้อ หุงสุกแล้วคล้ายข้าวเหนียว ใช้ตะเกียบคีบเป็นคำได้ ข้าวชนิดนี้เป็นชนิดที่ตอบสนองต่ออุณหภูมิ (Thermo Sensitivita) คือเมื่อได้รับความร้อนสะสมครบตามความต้องการจะออกดอกทันที ตัวอย่าง ข้าวพันธุ์โอโซร่า ปลูกที่ญี่ปุ่นที่มีอากาศหนาวเย็น มีอายุเก็บเกี่ยว 180 วัน แต่เมื่อนำมาปลูกที่บางเขน กทม. ในเดือนเมษายน ปลูกได้เพียง 75 วัน ก็ออกดอกแล้ว แน่นอนผลผลิตย่อมต่ำ เนื่องจากมีเวลาสะสมแป้งและน้ำตาลน้อยเกินไป
แหล่งปลูกข้าวญี่ปุ่นในประเทศไทยได้ผลดีที่จังหวัดเชียงราย แต่ปัจจุบันข่าวเกี่ยวกับการผลิตข้าวญี่ปุ่นที่นั่นหายเงียบไป แม้แต่ร้านอาหารญี่ปุ่นยังใช้ข้าวหอมมะลิ 105 ทดแทนข้าวญี่ปุ่นไปแล้ว ผลสอบถามผู้เกี่ยวข้องได้รับคำตอบว่า ข้าวญี่ปุ่นมีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าใกล้ที่พักอาศัยของชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย