ปลูกผักแขยง-ผักแพว ปลดหนี้ ชีวิตเปลี่ยน ณ บ้านสวนเกษตรอินดี้ บางเลน นครปฐม

เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ใครไม่ได้ใช้อาจถือว่าเชย แต่เฟซบุ๊กมีทั้งประโยชน์และโทษ…การหมกหมุ่นอยู่กับสื่อเหล่านี้ตามแบบของสังคมก้มหน้าเสียเวลามาก แต่ประโยชน์ก็มีมาก ผู้เขียนมักเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ทำการเกษตรกัน หรือกลุ่มที่ต้องการทำการเกษตร การมีชีวิตอยู่ในสังคมเกษตรเป็นที่โหยหาของคนทำงานกินเงินเดือนที่อยู่ในเมือง

หลายคนรำพึงรำพันกับความยากลำบากกับงานที่ทำและโดนเจ้านายบ่นว่า ต้องการทำอาชีพเกษตรกรรมที่อิสระ ไม่อยู่ใต้บังคับใคร เขาเหล่านั้นลืมไปว่าอาชีพเกษตรกรรมไม่มีนายจ้างคอยบังคับก็จริง แต่อาชีพเกษตรกรรมมีพ่อค้าคนกลางทำหน้าที่แทนนายจ้าง ซึ่งต้องบอกว่าโหดร้ายกว่าหลายเท่า ผมมักพูดเสมอว่าคนไม่พร้อมไม่ควรมาทำอาชีพเกษตรกรรม สกู๊ปที่เขียนในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นอกจากแนะนำด้านการผลิตและการตลาดเป็นสิ่งสำคัญแล้ว วิธีคิดและประสบการณ์ของเกษตรกรแต่ละรายเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ซึ่งความจริงนี้ได้ถูกนำเสนอในนิตยสารฯ อย่างต่อเนื่อง เรื่องราวต่อไปนี้ก็เช่นกัน

คุณจันทร์เพ็ญ เพียรภักดี หรือ เจ้ก้อย แห่งบ้านสวนเกษตรอินดี้ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เล่าให้เราฟังอย่างมุ่งมั่น “ก่อนที่จะเป็นเกษตรอินดี้ในปัจจุบัน อดีตเป็นเกษตรกรมีหนี้มาก่อน หนี้ที่ว่าคือหนี้จากการทำบ่อกุ้งกุลาดำในสมัยก่อนที่ฮิตกันมาก บ่อที่เลี้ยงก็ขุดจากพื้นที่นานี่แหละ ซื้อน้ำทะเลมาใส่เป็นคันรถ แค่นี้ก็ต้นทุนบานแล้ว เลยเปลี่ยนจากอาชีพประมงน้ำกร่อยมาเป็นขายกับข้าวโดยใช้รถพุ่มพวง แต่เป็นรถกระบะไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์ อาชีพนี้ต้องตื่นตอนเที่ยงคืนไปซื้อผักที่ตลาดสี่มุมเมือง ซื้อแล้วก็นั่งแยกใส่ถุงที่นั่นเลย จนกระทั่งตี 3 จึงกลับมาถึงบ้าน ได้นอน 2 ชั่วโมง ตี 5 ลุกขึ้นมาขับรถไปขายแถบคลองพระยาบันลือ ขายเสร็จประมาณบ่าย 2 กลับมาถึงบ้านบ่าย 3 ได้พักนิดหน่อยก็ต้องมาเข้าไร่อ้อยคั้นน้ำ ทำอยู่ได้ 3 ปี บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยแทบขาดใจ ลูกก็ฝากแม่เลี้ยง พอเด็กเริ่มจะเข้าโรงเรียนก็ลำบาก”

เจ้ก้อย

ต่อมาเจ้ก้อยเห็นพี่ชายปลูกถั่วฝักยาวอยู่หลังบ้านไม่ถึงไร่ เดินออกจากบ้าน 3 ก้าว ก็ถึงแปลงถั่วฝักยาว เก็บได้ทุกวัน พอถึงเวลาก็จะมีพ่อค้ามารับทุกวัน ได้เงินทุกวันไม่ต้องลำบากไปทำนอกบ้าน จึงทำถั่วฝักยาวหลังบ้านบ้าง คราวแรกที่ทำถั่วฝักยาวมีผลผลิตที่ดีและราคาค่อนข้างสูง แต่การปลูกซ้ำๆ ที่ทำให้มีศัตรูพืชระบาดซึ่งต่อมาก็เอาไม่อยู่ จึงเปลี่ยนถั่วฝักยาวเป็นแตงกวา มะเขือ วนเวียนกันไป ในช่วงนั้นสามารถใช้หนี้ได้ไปมากพอสมควร หลังจากนั้น ก็ทำโรงเห็ดภูฏาน ในรุ่นแรกๆ ก็ได้ผลผลิตดี ต่อมาไปได้ก้อนเชื้อที่ไม่ดีจึงเลิกทำกันทั้งบาง ต่อมาหันมาปลูกโหระพา กะเพรา ตลาดค่อนข้างดี เนื่องจากผักเหล่านี้ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน

การปลูกพืชบนพื้นที่ซ้ำๆ ทำให้ผลผลิตไม่ค่อยดีนัก ประกอบกับราคาอาจจะไม่จูงใจ จำเป็นต้องเปลี่ยนไปหาสิ่งที่ดีกว่า ในช่วงนี้ลูกก็เริ่มเข้าโรงเรียนต้องใช้เวลาไปรับไปส่ง จึงคิดว่าผักที่ปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้นานน่าจะเป็นสิ่งดี เพราะไม่ต้องปลูกใหม่ขึ้นทุกรอบ เห็นต้นผักแขยงและผักแพว ก็ได้ทดลองนำมาปลูก ซึ่งได้ผลดีแต่ขายไม่ได้จึงต้องไถทิ้ง ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ ผักที่ปลูกในสวนโดนน้ำท่วมตายหมด หลังจากน้ำแห้งเหลือผักแขยงและผักแพวที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้อีก พอดีผักทั้งสองอย่างขาดแคลนในตลาด แม่ค้าที่รับซื้ออยู่ก็มาบอกให้ปลูกอีก จึงเป็นที่มาของสวนเกษตรอินดี้

เจ้ก้อยให้แม่ค้าซื้อพันธุ์มา จำนวน 40 กิโลกรัม ก็เอามาขายปลูกทีละ 1 งาน นำต้นพันธุ์จากแปลงแรกขยายไปเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ 3 ไร่ ก็มีแม่ค้าเจ้าใหม่เข้ามาติดต่อขอซื้ออีก แต่ติดที่แม่ค้าเจ้าประจำที่เคยเอื้อเฟื้อกันจองผลผลิตไว้หมดแล้ว และด้วยสัจจะวาจาที่ตกลงกันไว้แล้ว ทำให้ขายให้แม่ค้าเจ้าใหม่ไม่ได้ เจ้ก้อยจึงขยายแปลงผักแขยงและผักแพวไปปลูกที่หลังบ้านพ่อที่บางเลนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันอีก 3 ไร่ ให้แม่ค้าเจ้าใหม่ จนถึงปัจจุบันเจ้ก้อยมีพื้นที่ปลูกผักแขยงและผักแพว รวมเป็น 6 ไร่ ซึ่งเจ้ก้อยบอกว่าต้องทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับสวน ถ้าทำเกินกว่านี้จะไม่สามารถควบคุมผลผลิตให้ดีได้

บรรจุถุงแล้ววางรอ

วิธีการปลูกผักแขยงและผักแพว

วิธีปลูกผักแขยงและผักแพวคล้ายคลึงกัน โดยใช้ซาแรนบังแดด 50 เปอร์เซ็นต์ ทั่วทั้งแปลง ใช้รถทำเทือกเหมือนการทำนาตีดินให้ทั่ว นำต้นผักแขยงหรือผักแพวขนาดประมาณ 1 คืบ ที่ตัดมา จิ้มลงไปในดินนาที่เตรียมไว้ ระยะห่างระหว่างต้นและแถวประมาณ 20 เซนติเมตร เติมน้ำในแปลงให้สูงประมาณ 2 นิ้ว ไม่ให้ท่วมต้นมากเกินไป ขังน้ำไว้ประมาณ 15 วัน ในช่วงนี้หว่านปุ๋ยสูตร 18-8-8 ประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อไร่ พอผักกินปุ๋ยได้งามดีก็ไขน้ำออกได้ ใช้วิธีการรดน้ำแทน น้ำที่ใช้ในการรดผักทั้งคู่จะต้องน้ำที่ดีเพียงพอ ในช่วงที่ฝนลงใหม่ๆ จำเป็นต้องรดน้ำล้างใบ ให้น้ำจนแปลงชุ่มน้ำทุกวัน ผักก็จะเจริญเติบโตได้ดี ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ผักจะสูงพอที่จะตัดส่งได้ความสูงของผักแขยงและผักแพวที่ตัดยาวประมาณ 1 คืบ มัดหนังยางเป็นกำ จับเรียงใส่ถุงไว้ ถุงละ 5 กิโลกรัม ระหว่างการดูแลจะใส่ปุ๋ยสูตรเดิมเดือนละครั้ง เมื่อครบ 2 เดือน ก็จะหมุนมาตัดได้อีกที ผักที่ตัดไว้แล้วจะเจริญเติบโตหมุนเวียนได้พอดี

ผักแพวใต้ซาแรน

นอกจากปุ๋ยสูตร 18-8-8 ที่หว่านในแปลงแล้ว สวนเกษตรอินดี้ยังใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 30-10-10 ละลายน้ำฉีดพ่นทุกๆ 15 วัน เพื่อเป็นการเร่งการเจริญเติบโตทางใบอีกทางหนึ่ง ส่วนศัตรูของผักจะมีแมลงหวี่ขาว ไรแดง เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ และหนอนหนังเหนียว ทางสวนเจ้ก้อยจะใช้ยาปราบศัตรูพืชที่มีชื่อสามัญว่า ชีวาท่อน โดยใช้ตามอัตราที่กำหนด จะปราบศัตรูพืชนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีการระบาดของแมลง ส่วนยากำจัดโรคพืชจะใช้เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดเพราะถ้าเกิดอาการแล้วจะยากต่อการรักษา โรคที่ว่าคือ โรครากเน่าโคนเน่า โดยใช้ยาชื่อสามัญว่า วาลิปดา 15 วันครั้ง

ผักแขยงในแปลง

ทุกวันเจ้ก้อยและคุณฉลองสามีจะตัดผักแขยงและผักแพวตั้งแต่ 7 โมงเช้า จนกระทั่งเกือบเที่ยง เพื่อให้ได้จำนวนผักอย่างละ 50 กิโลกรัม รวมเป็นวันละ 100 กิโลกรัม โดยจะนำใส่รถมาเก็บไว้ที่บ้าน ในช่วงบ่ายของทุกวันจะมีแม่ค้ามารับ 2 เจ้า เพื่อไปส่งตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ราคาหน้าสวนในปัจจุบันของผักแพว อยู่ที่กิโลกรัมละ 13-27 บาท ส่วนผักแขยงจะมีราคากิโลกรัมละ 10-20 บาท ขึ้นลงตามฤดูกาลและจำนวนผลผลิตมากน้อย ผักแพวจะมีราคาถูกในหน้าหนาว เนื่องจากเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ปริมาณผักในตลาดมีมาก ส่วนผักแขยงจะมีราคาแพงในหน้าหนาว เพราะผักแพวจะชะงักการเจริญเติบโตและออกดอก

กว่าจะถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่าเจ้ก้อยและคุณฉลองได้ฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ด้วยความที่รู้จักคิดเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้จุดที่เหมาะสม ประกอบกับเป็นคนที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเกษตรไปเรื่อยๆ ตามสื่อมากมายที่มีอยู่ ปัจจุบันทั้งสองสามีภรรยามีความสุขกับการทำเกษตรแบบอินดี้คือ แบบสบายๆ ไปเรื่อยๆ หนี้สินไม่ต้องพูดถึง เพราะหมดไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ลูกสองคนก็ได้ร่วมช่วยทำงานในเวลาว่างเพื่อแบ่งเบาภาระไปได้ส่วนหนึ่ง

นอกจากการทำสวนผักแขยงและผักแพวแล้ว เจ้ก้อยยังปลูกผักขึ้นฉ่ายไฮโดรโปนิก เลี้ยงแค็กตัส กล้วยไม้แคทลียา เลี้ยงไส้เดือน เป็นงานอดิเรกจากการที่ทำงานหลักอย่างเป็นระบบ ทำให้มีเวลาว่างสำหรับผ่อนคลาย สนใจเรียนรู้เรื่องการปลูกผักแขยง ผักแพว ก็ติดตามได้ในเฟซบุ๊ก ชื่อ บ้านสวนเกษตรอินดี้ หรือติดต่อ คุณจันทร์เพ็ญ เพียรภักดี (เจ้ก้อย) และ คุณฉลอง เพียรภักดี หมู่ที่ 10 ตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม หรือโทรศัพท์ (086) 618-9137 ได้ทุกวัน

ใต้ซาแรน 50 เปอร์เซ็นต์
ผักแขยงที่ตัด
บรรจุถุง
ผู้ช่วยคนเก่ง
ใส่รถรอส่ง
หนอนหนังเหนียว