เกษตรเขต 3 ยกระดับ Young Smart Farmer ด้วยการใช้หลักการตลาดนำการผลิต

นายสำราญ  สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในปัจจุบันสังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในทุกกลุ่มสังคมรวมถึงสังคมการเกษตร ที่ปัจจุบันมีเกษตรกรที่สูงอายุมากถึงร้อยละ 70-80 ในส่วนผลิตภาคการเกษตรถ้าไม่สามารถพัฒนาทายาทเกษตรกร หรือเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนได้ภาคการเกษตรก็คงขาดช่วงในการผลิต

ขณะเดียวกันในการผลิตปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงาน เกษตรกรรุ่นเก่าก็คงจะพัฒนาก้าวตามทันได้ยาก  เช่น การนำโดรนมาใช้ในการฉีดสารชีวภัณฑ์  ไปจนถึงการให้น้ำด้วยระบบการกำหนดความชื้นของพื้นที่และความต้องการน้ำของแต่ละชนิดพืชตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวช่วย เป็นต้น

ฉะนั้น การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมา และให้เป็น Young Smart Farmer ไปจนถึงระดับผู้จัดการแปลงที่สามารถคิดต้นทุนและเข้าใจในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ทดแทนแรงงานคนที่กำลังขาดแคลน พร้อมทั้งมีความเข้าใจในเรื่องของการตลาดสมัยใหม่ไปจนถึงการขายแบบออนไลน์ ภายใต้การนำประสบการณ์ด้านการผลิตจากเกษตรกรรุ่นเก่าเข้ามาผสมผสาน ก็จะทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีพัฒนาการด้านการผลิตภาคการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว สามารถรองรับความต้องการของตลาดในสินค้าภาคการเกษตรได้

เหล่านี้คือ เหตุผลที่กรมส่งเสริมการเกษตรพยายามสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ทั่วประเทศมีประมาณ 10,000 กว่าราย และมีเป้าหมายจะให้เพิ่มขึ้นปีละ 4,000 ราย ด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบด้านงานนโยบายสำคัญ (Agenda) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และงานตามภารกิจบทบาทหน้าที่ (Function) ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป้าหมายหลักคือ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีการลดต้นทุนการผลิตใช้หลักการตลาดนำการผลิต สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

Advertisement

“การทำงานส่งเสริมการเกษตรในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ การสนับสนุนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มประสิทธิภาพกลไกขับเคลื่อนงานในพื้นที่ มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในลักษณะตลาดนำการผลิต สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ พัฒนาเกษตรกรมืออาชีพ และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งสานพลังทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นายสำราญ  สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทางด้าน นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า “สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในลักษณะตลาดนำการผลิต และมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจ”

Advertisement

อย่างกรณีของ นายรังสรรค์ ทนุพงษ์  หรือ เดี่ยว ตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่จากจังหวัดตราด ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Young Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรกรที่ทำฟาร์มเมล่อน และปลูกผักสลัด มะเขือเทศ มีการเชื่อมโยงธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วยการจัดการฟาร์มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเมล่อนเป็นไอศกรีมเมล่อน สมูทตี้เมล่อน เพื่อต้อนรับลูกค้าและจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในฟาร์ม

มีการผลิตดินอินทรีย์และเมล็ดพันธุ์พร้อมปลูกไว้ใช้เองและจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจโดยเฉพาะผู้บริโภคในเมืองที่ไม่มีพื้นที่ปลูก และสนใจปลูกผักอินทรีย์ไว้บริโภคเองสามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปดำเนินการที่บ้านได้

“เป็นอีกหนึ่งของเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผลิตอย่างก้าวตามทันกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  มีการนำช่องทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้และบริหารจัดการภายในฟาร์มอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้า นับเป็นแม่แบบของเกษตรกรรุ่นใหม่ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจได้เป็นอย่างดี” นายชาตรี  บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าว

ส่วน นายรังสรรค์ ทนุพงษ์ เกษตรกรดีกรี ปวส. สาขาช่างไฟฟ้า ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ปัจจุบัน อายุ 34 ปี เป็น Young Smart Farmer ระดับจังหวัด กล่าวว่า “ตนมีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกรอย่างยิ่ง ที่สำคัญจากผลสำเร็จที่เกิดขึ้นได้มีการแบ่งปันให้กับผู้สนใจรายอื่นๆ แบบไม่หวังผลกำไร และตลอดมาได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ในจังหวัดอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง”

“การเป็นผู้ให้ทำให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนในจังหวัดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนแบ่งปันปัจจัยการผลิตต่างๆ ระหว่างกัน ทำให้กระบวนการผลิตเมล่อนของประเทศไทยมีการพัฒนาตรงตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น” นายรังสรรค์ ทนุพงษ์ กล่าว