เฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ จอมทอง เชียงใหม่ อบอุ่น ประทับใจ ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

สิ่งที่ต้องคำนึงในการออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากแหล่งสวยๆ งามๆ แล้ว ที่พักและอาหารดูสำคัญไม่น้อย

มีกำหนดการต้องขึ้นไปดอยอินทนนท์ ถือว่าเป็นภาคบังคับ ที่ผ่านมาได้สัญจรไปบ่อยพอสมควร แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยต้องหาที่พักเอง…ใช้เวลาคิดหลายวัน ว่าจะทำอย่างไรดี ลืมไปว่า “นึกอะไรไม่ออก บอกพี่เบิร์ดได้”

คุณธงชัย พุ่มพวง นักเขียนกิตติมศักดิ์ ของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน สามารถบอกได้

“ไปที่เฮือนกัลยกร สิ…อยู่ไม่ไกล เช้าๆ ขึ้นดอยอินทนนท์ทันสบาย…” พี่เบิร์ด ตอบมา

ท่องเที่ยว ชมบ้านชมเมืองลำพูน จนบ่ายคล้อย จึงมุ่งสู่จอมทอง โดยไม่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ เพราะกลัวรถติด ก่อนถึงตัวอำเภอจอมทอง มีทางเลี้ยวขวาขึ้นดอยอินทนนท์ เลี้ยวขวาไปสัก 4-5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าหมู่บ้าน ผ่านวัด ราว 2 กิโลเมตร ก็ถึงที่หมาย เฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ ตั้งอยู่เลขที่ 34/2 บ้านก๊างไฟ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

สองพี่น้อง เจ้าของเฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ คือ คุณกัลยกร และ คุณยุวดี สุสิงโสด ต้อนรับด้วยไมตรีอันดียิ่ง

คุณกัลยกร สุสิงโสด (ซ้าย) และ คุณยุวดี สุสิงโสด

ได้ยินนามสกุล “สุสิงโสด” จึงนึกออกว่า เมื่อก่อน คุณกัลยกร สุสิงโสด ทำงานอยู่ทีมเดียวกับพี่ธงชัย คือสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ เคยเขียนเรื่องราวทางการเกษตร มาลงนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ปัจจุบัน คุณกัลยกร สอบบรรจุเป็นข้าราชการ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นอกจากงานประจำเธอมาทำโฮมสเตย์ โดยมีพี่สาวคือ คุณยุวดี ช่วยงาน

พื้นฐานเป็นเกษตรกร

บ้านก๊างไฟ มาจาก เมื่อก่อนมีการจุดบ้องไฟ ตามประเพณี บริเวณนี้ใช้จุดบ้องไฟกัน ต้องทำร้านหรือทำค้าง จึงเป็นที่มาของชื่อบ้าน

คุณยุวดี บอกว่า หมู่บ้านนี้เมื่อก่อนห่างไกลความเจริญ จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก แม้แต่ลำห้วยก่อนถึงบ้าน เป็นสะพานไม้ไผ่ สมัยพ่อแม่ของคุณยุวดี รอบบ้านเป็นป่าดง สัตว์ป่าชุกชุม เคยมีเสือกัดชาวบ้าน คือกัดลุงจันทร์ เพื่อนบ้านเรียกว่า “ลุงจันทร์เสือขบ” ทุกวันนี้เสือไม่มีแล้ว แต่ลุงจันทร์เสือขบยังมีชีวิตอยู่ หน้ายังเป็นแผลเป็น

สมัยเก่าก่อนทุรกันดารมาก จะไปเรียนหนังสือระดับประถมต้องเดินไกล  ความเจริญทางด้านวัตถุเริ่มมาเยือน เมื่อมีการสร้างถนนขึ้นดอยอินทนนท์ ราวปี 2513 ปีนั้นเป็นปีเกิดของคุณกัลยกร

คุณยุวดี บอกว่า ครอบครัวมีพี่น้องหลายคน ต่อมาได้ออกเรือนแยกย้ายกันทำมาหากินบริเวณใกล้เคียง อาชีพหลักที่ทำกันคือ ทำนาและปลูกหอมหัวใหญ่ แต่ที่ทำมานานจนถึงปัจจุบันคือ เลี้ยงหมูขายลูกพันธุ์ หมูที่เลี้ยงเป็นลูกผสมระหว่างเหมยซานกับแลนเรซ เธอเลี้ยงเพื่อผลิตลูกจำหน่าย ซึ่งมีรายได้จุนเจือครอบครัวดีพอสมควร เล้าหมูอยู่ห่างจากโฮมสเตย์มาก จึงไม่ต้องเกรงว่าจะมีกลิ่นและเสียงรบกวน

อาชีพอย่างหนึ่งที่เสริมรายได้ให้นั้น คือการขายผลไม้ ที่น้ำตกแม่กลาง อยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านนัก

คุณกัลยกร บอกว่า เธอขายมะพร้าวเผาที่น้ำตก พร้อมทั้งช่วยพ่อแม่ทำงานอย่างเต็มที่ การศึกษานั้นเธอเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ ทุกวันนี้คือ กศน. จนสุดท้าย เรียนจบระดับปริญญาตรี

ทำโฮมสเตย์
เอาบ้านเป็นที่ทำงาน

ที่ตั้งของเฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ อยู่ใจกลางหมู่บ้านก๊างไฟ กระนั้นก็ตาม บรรยากาศดูเงียบสงบ อากาศที่นี่โดยทั่วไปไม่ร้อนอบอ้าว…สำหรับฤดูหนาว อากาศเย็น เพราะอยู่ใกล้เขตดอยอินทนนท์

ร่มรื่น
สะอาด ปลอดภัย

เฮือนกัลยกร โฮมสเตย์ มีบ้านใหญ่ 3 หลัง มีอาณาบริเวณ สำหรับปลูกผักมาปรุงอาหารให้กับผู้ไปเยือนได้ลิ้มรส
ถามถึงที่มาของการตัดสินใจ ทำโฮมสเตย์

“เรามีบ้านอยู่แล้ว อยากเอาบ้านเป็นที่ทำงาน ลงทุนไม่เยอะ ปรับปรุงพื้นที่ ทาสี เริ่มเปิดเมื่อ 18 ตุลาคม 2561 ของเราอยู่ในโครงการโอท็อปนวัตวิถี…ทำไม่ยากค่ะ เราทำบ้านให้สะอาดขึ้น คนมาเยี่ยมมาพัก จะเป็นธุรกิจได้…วิถีชีวิตของที่นี่ คนเข้ามาท่องเที่ยว บางฤดูกาลได้ชมการทำนา เกี่ยวข้าว เลี้ยงควาย การทำสวนผลไม้ เก็บเห็ดบนดอย”คุณยุวดี บอก และเล่าอีกว่า

ที่นอนอุ่นๆ
ดูแลรักษาดี

“ก่อนทำโฮมสเตย์ เขาให้ไปดูงาน ก่อนหน้านี้ แม่เสีย น้องก็อยู่มหาวิทยาลัย เลยตัดสินใจลงมือ เมื่อลงมือแล้ว มีเพื่อนคุยที่อยู่ในเครือข่ายใกล้ๆ หากไกลก็แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทางไลน์ ทำโฮมสเตย์จะได้ไม่เหงา สามีเสียชีวิตแล้ว ลูกชายอายุ 37 ปี ไปมีครอบครัว มีลูก 2 คน เป็นย่าแล้ว…ทุนที่ลงไปไม่ได้กู้ ขายหมูได้ก็นำมาลงทุน มีแม่หมู 4 ตัว หากออกลูกมาพร้อมกันแม่ละ 10 ตัว ก็มีลูกหมูขาย 40 ตัว…การดูงานได้ประโยชน์ เคยไปดูงานแม่กำปอง แม่ออนใต้ ทะเลสาบดอยเต่า ต่างจังหวัดไปดูดอยหลวง ลำพูน…ทางเราและเครือข่าย เริ่มทำของที่ระลึกจำหน่าย เป็นผลิตภัณฑ์พื้นเมือง กระบวยจากกะลามะพร้าว สร้อยจากเมล็ดกระถิน ของกินมีกล้วยฉาบ มะม่วงแช่อิ่ม…ใครเมื่อยก็มีนวดแผนไทย”

ครัวภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีครัวเมือง (ครัวภาคเหนือ)

เน้นความเรียบง่าย
ขายความเป็นพื้นเมือง

คุณกัลยกร บอกว่า โฮมสเตย์ของเธอรับคนได้ 30 คน แต่เตรียมขยายออก เป็นบ้านหลังเล็กๆ สไตล์ภาคเหนือ ที่เรียกว่ากระต๊อบ

“จุดเด่นที่นี่เป็นหมู่บ้านพื้นเมือง เงียบสงบไม่วุ่นวาย ใกล้ๆ กันมีน้ำตกเล็กๆ ท้ายหมู่บ้าน น้ำตกแม่กลางก็อยู่ไม่ไกลกัน ตอนนี้ค่าบริการ ท่านละ 500 บาท รวมอาหารเย็นและอาหารเช้า หากไม่กินอาหารเย็นคิด 350 บาท เมนูอาหารมีให้เลือก แต่เน้นอาหารพื้นเมือง…อาหารเช้ามีกาแฟ แซนด์วิช ข้าวต้ม”
คุณกัลยกร บอก และเล่าต่ออีกว่า

“ส่วนมากมาเที่ยวกัน ก็จะขึ้นอินทนนท์ อยู่ไม่ไกล มาที่นี่ หากนำรถมาเอง จากเชียงใหม่มาก่อนถึงตลาดจอมทองมีทางเลี้ยวขวา เลี้ยวมาราว 4-5 กิโลเมตร มีทางเลี้ยวซ้ายเข้าวัดบ้านต้อง เลี้ยวมาอีก 2 กิโลเมตร ก็ถึงเฮือนกัลยกร…หากไม่นำรถมาเอง มีรถทัวร์จากเชียงใหม่-จอมทอง มีรถสองแถวที่จอมทอง สำหรับขึ้นอินทนนท์ เราสามารถจองให้ได้…สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง มีวัดพระธาตุจอมทอง หลักๆ ขึ้นกิ่วแม่ปาน ดอยอินทนนท์ จากบริเวณนี้ สามารถไปเที่ยวโครงการหลวงอินทนนท์ โครงการหลวงขุนห้วยแห้ง ต่อไปขุนวาง ไปดูดอกพญาเสือโคร่ง จากนั้นสามารถเลยไปแม่วาง ทะลุสะเมิง ไม่ต้องย้อนกลับมาที่เดิม”

ปลูกผักมาปรุงอาหาร
บางมุมของบ้านยังคงบรรยากาศทางเหนือ

สนุกกับงานที่ทำ

คุณกัลยกร ทำงานหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เสาร์และอาทิตย์ จึงมาช่วยพี่สาว  งานดูแลจึงตกแก่คุณยุวดี ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า สนุกกับงานที่ทำ

“ตั้งแต่เปิด เริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาพัก ไม่มีอุปสรรคอะไร ค่าใช้จ่ายที่เก็บ 500 บาท ต่อคน อยู่ได้ เราทำเอง ปลูกผักเอง สนุก มีเพื่อนมาคุย…เราก็ศึกษาหาข้อมูลจากการที่ไปดูงานมา อาหารทำอย่างไรให้อร่อย ที่นี่มีผลผลิตตามฤดูกาลก็นำมาปรุงให้กับผู้มาพักได้ทาน อย่างผักหวาน หน่อไม้ ผลไม้ก็มีลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียนก็เริ่มมีแล้ว ลองกองปลูกได้…อยากเชิญชวนให้มาเที่ยว ก่อนขึ้นดอยอินทนนท์ก็มาแวะพัก มีลูกเล็กเด็กแดง นอนพักก่อน เช้าตื่นทานกาแฟ ข้าวต้ม ขึ้นไปดอยอินทนนท์ เดินทางไม่นานก็ถึง”

ของกินอร่อยๆ
นอกชาน

วันก่อนที่จะเข้าพัก…คุณกัลยกร ถามว่าสนใจอาหารอะไรบ้าง บอกไปว่า ของ่ายๆ

เย็นนั้น ทางเฮือนกัลยกร ทำลาบหมู ยำไก่บ้าน คั่วผักกาดที่เก็บสดใหม่ ข้าวเงี้ยว ส่วนข้าวมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวนึ่ง รสชาติอาหาร อร่อยล้ำลึกจริงๆ ผักที่กินกับลาบ กรอบ สดใหม่

คุณยุวดี บอกว่า เมนูอาหารสามารถสั่งได้ นอกจากอาหารพื้นๆ อย่างลาบแล้ว อย่างอื่นก็ทำได้ ตามชื่ออาหารในเพลง “ของกิ๋นบ้านเฮา”…ของ อ้ายจรัล มโนเพ็ชร ไม่ว่าจะเป็นแกงฮังเล ไก่บ้านนึ่ง แกงแค และที่พิเศษสุดหากินยากมากอย่างน้ำพริกหนุ่มกะทิ ก็ทำได้  หากเพิ่มเมนูอาหาร ราคาอาจจะขยับขึ้นบ้าง เพราะต้องใช้วัตถุดิบพิเศษ

บรรยากาศรอบที่พัก
มุมนั่งเล่น

ราว 2 ทุ่ม เท่านั้น บรรยากาศของบ้านก๊างไฟ เงียบสงบ…เพราะเดินทางไกล อาหารอร่อย หลังจากอาบน้ำอุ่นให้คลายหนาวเย็น เพียงแต่ล้มตัวลง ดูมือถือไม่ถึง 5 นาที ก็หลับสบาย…คนต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ ที่เจอแต่ความอึกทึกครึกโครม เมื่อได้กลับเข้าสู่ชนบทอีกที มีความรู้สึกว่า ได้นอนที่บ้านของตัวเอง เพิ่งถึงบางอ้อ นี่แหละโฮมสเตย์ เจ้าของทำได้ตรงกับความหมายมาก โฮมสเตย์

ผู้สนใจ หากไปแถวนั้น ถามไถ่กันได้ที่ คุณกัลยกร สุสิงโสด โทร. (093) 281-7997 FB:kayakorn susingsod และ คุณยุวดี สุสิงโสด โทรศัพท์ (093) 294-8573 FB:ยุวดี สุสิงโสด