สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาพื้นที่ “ศูนย์ชาวเขา” เป็นแหล่งท่องเที่ยว

สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” พัฒนาพื้นที่ “ศูนย์ชาวเขา” เป็นแหล่งท่องเที่ยว

“เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง…ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ”

จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2517 ได้นำมาซึ่งโครงการน้อยใหญ่ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ

ล่าสุดกับโครงการ “สัมผัสลมหายใจแห่งขุนเขา ตามวิถีภูมิวัฒนธรรม” โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย นำพื้นที่เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง 16 แห่ง ทั่วประเทศ มาทยอยพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิวัฒนธรรม อย่างพื้นที่ “หนาวสุดกลางแดนสยาม” เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ดีน้อย ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว

เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ดีน้อย
เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ดีน้อย

สืบสานต่อยอดศาสตร์พระราชา

นายจีรวุฒิ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า เขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงแม่ดีน้อย มีความโดดเด่นทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ มีเครื่องแต่งกายและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ การตำหมี่ซิ ขนมมงคลที่เชื่อว่ากินแล้วชีวิตคู่จะยืนยาว, การแสดงรำตง รำอวยพรในเทศกาลต่างๆ ที่สืบทอดมายาวนาน, การโยนลูกสะบ้า การละเล่นพื้นบ้านที่คล้ายๆ การเล่นเปตอง, การทอผ้ากี่เอว ซึ่งเราก็นำจุดเด่นตรงนี้มาขายในเรื่องการท่องเที่ยว รวมถึงได้ช็อปสินค้าหัตถกรรม ชิมผลไม้ อาทิ สตรอเบอรี่ อะโวกาโด กะหล่ำปลีหัวใจ เมล่อน และถ่ายภาพกับลานดอกไม้ อาทิ ลิลลี่ พันธุ์ออเรนทัล และพันธุ์เอเชียติก เบญจมาศ

หลังจากเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ก็สามารถได้เพิ่มช่องทางรายได้ให้ชาวไทยภูเขา จากเดิมมีอาชีพทำเกษตรกรรมพืชไร่ อาทิ ข้าวโพด สับปะรด ก็เริ่มแบ่งที่ดินมาทำโฮมสเตย์ ปลูกผลไม้เศรษฐกิจหลากหลายมากขึ้น

“ปัจจุบัน ราษฎรบนพื้นที่สูงที่นี่มีเลข 13 หลัก เกือบหมดทุกคนแล้ว สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ของรัฐได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากรายได้ที่กำลังยั่งยืน” นายจีรวุฒิ กล่าว

Advertisement
นายจีรวุฒิ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.อุทัยธานี
นายจีรวุฒิ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.อุทัยธานี

การทอผ้ากี่เอว
การทอผ้ากี่เอว
การโยนลูกสะบ้า
การโยนลูกสะบ้า

เกษตรผสมผสาน-ท่องเที่ยวเพื่อรายได้ที่ยั่งยืน

Advertisement

ด้าน นายวันนบ ขอสุข อายุ 57 ปี ชาวกะเหรี่ยงโปว์ เจ้าของไร่อุ๊ยกื้อ จากเกษตรกรไร่ข้าวโพดที่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย ชีวิตก็เปลี่ยนไปหลังน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ เมื่อปี 2560 กล่าวด้วยรอยยิ้มว่า ตอนทำเกษตรเชิงเดี่ยวตอนนั้นมองไม่เห็นอนาคต เพราะทำไปเงินก็ยิ่งจมไปกับการซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาเคมี จนมารู้จักและได้เข้าอบรมกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี จากนั้นก็เริ่มนำแนวคิดเกษตรผสมผสานแนวคิดโคกหนองนาโมเดลตามศาสตร์พระราชามาปรับใช้ โดยแบ่งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจทุกอย่าง อาทิ กล้วย ส้มโอ อะโวกาโด สตรอเบอรี่ ก็ทยอยออกผลและนำไปขายได้ รวมถึงพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือน และล่าสุดยังทำโฮมสเตย์ 10 หลัง ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงไฮซีซั่นที่ผ่านมา

“แม้ตอนนี้จะเป็นช่วงเริ่มต้น อาจยังมีรายได้ไม่มาก แต่ผมมั่นใจเลยว่าอนาคตจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน จากผลไม้ที่ผลัดกันออกผลและขายได้ จากนักท่องเที่ยวที่มีช่วงฤดูหนาว หรือหากไม่มีเงินก็ไปเก็บพืชผักผลไม้ที่ปลูกมากินได้ ผมรู้สึกดีใจที่ศาสตร์พระราชาเข้ามาแก้ปัญหาให้ ตอนนี้ในพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่มน้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติแล้วเพื่อความยั่งยืน” นายวันนบ กล่าว

สัมผัสลมหายใจแห่งขุนเขา

ไร่อุ๊ยกื้อ
ไร่อุ๊ยกื้อ

วันนบ ขอสุข อายุ 57 ปี ชาวกะเหรี่ยงโปว์ เจ้าของไร่อุ๊ยกื้อ
วันนบ ขอสุข อายุ 57 ปี ชาวกะเหรี่ยงโปว์ เจ้าของไร่อุ๊ยกื้อ