เตรียมรับมือโรคเน่าเปียกในถั่วลันเตา

กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลันเตาให้เฝ้าสังเกตการระบาดของโรคเน่าเปียก สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของถั่วลันเตา มักพบได้กับทุกส่วนของพืช แต่จะมีอาการรุนแรงกับส่วนยอดอ่อน โดยพบอาการแผลช้ำฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลดำ และขยายลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่วนของพืชที่ถูกทำลายจะเน่าช้ำฉ่ำน้ำ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม และมีความชื้นสูงจะเน่าลุกลามอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อรามีก้านใสชูตั้งฉากขึ้นมาจากส่วนของพืชที่เป็นโรคลักษณะคล้ายขนแมว ส่วนปลายของก้านใสจะเห็นสปอร์ของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำ สปอร์ของเชื้อราสามารถปลิวแพร่ระบาดไปสู่ต้นอื่นๆ ได้ดี โดยอาศัยน้ำ ลม ฝน น้ำค้าง แมลง หรือติดไปกับสิ่งที่เข้าไปสัมผัส จะส่งผลให้เกิดการระบาดของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูก ปรับระยะการปลูกถั่วลันเตาไม่ให้แน่นเกินไป กำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และบริเวณใกล้เคียงนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความชื้น ลดแหล่งสะสมเชื้อราสาเหตุโรค โดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำค้าง หมอก หรือมีความชื้นสูง และมีอากาศร้อนตอนกลางวัน หากพบส่วนยอดเริ่มมีอาการช้ำหรือมีเชื้อราเกิดขึ้น ให้รีบตัดส่วนที่เป็นโรคใส่ถุงหรือภาชนะปิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราแพร่กระจายไปทั่วแปลง และนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดโคลแรน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรโฟรีน 19% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5 วัน ส่วนแปลงที่พบโรค หลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอย