อรรณพ อัครนิธิยานนท์ ราชาไก่ไข่ แห่งบ้านนา เลี้ยงไก่หลายล้านตัว สร้างโรงเรือนเปิดแอร์ให้ไก่อยู่

อดีตอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ หากย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่มีขนาดเล็กๆ ฟาร์มไหนมี 5,000 ตัว ถือว่าระดับใหญ่ เฉลี่ยแล้วเป็นฟาร์ม 500-1,000 ตัว ที่มีเลี้ยงกันหนาแน่น ที่ย่านทุ่งบางเขน ที่มีถนนแคบปกคลุมด้วยต้นก้ามปูปลูกอยู่ริมถนนสายพหลโยธิน กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดก็มีที่นครปฐม ฉะเชิงเทรา ฯลฯ

อาจเป็นเพราะคนไทยมีประชากรไม่มาก การบริโภคไข่ยังมีน้อย เพราะว่าอาหารจากแหล่งธรรมชาติที่คนไทยยังหากินได้ง่ายและมีมาก ทั้ง หอย ปู ปลา จากน้ำจืด และราคาอาหารทะเลมีราคาถูก พืชพรรณไม้จากป่าในช่วงฤดูฝนมีหลากหลาย และชาวบ้านนำมาขายในราคาถูก คนไทยมีอาหารสมบูรณ์ ทั้ง หมู เห็ด เป็ด ไก่ มีให้บริโภคกัน

กาลเวลาเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอาหารจากเนื้อไก่ สุกร ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ เริ่มขาดแคลน และเลี้ยงแบบพื้นที่หลังบ้าน โรคภัยมาระบาดก็เสียหาย คนไทยตระหนักดีว่าขืนไม่มีพันธุ์สัตว์ต่างประเทศนำเข้ามา เนื้อไก่ เนื้อสุกร เห็นจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาบริโภคภายในประเทศอย่างแน่นอน

นั่นคือ จุดเปลี่ยนของอาชีพเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยที่ต้องเร่งพัฒนาหาพันธุ์สัตว์ที่มีประสิทธิภาพนำมาขยายพันธุ์ เพื่อทำเป็นอาชีพในลักษณะธุรกิจทั้งไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกรขุน ฯลฯ

. เสี่ยอรรณพ เป็นกรรมการสมาคมเลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่

ต้องยอมรับการมีวิสัยทัศน์ของบริษัทภาคเอกชนที่ตระหนักถึงภัยอันตราย หากไทยปล่อยปละเลี้ยงสัตว์ตามมีตามเกิด คงจะเกิดปัญหากับเรื่องของโรคระบาดที่ไม่มีวิธีการเลี้ยงแบบระบบฟาร์ม คงมีเฉพาะฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เท่านั้นที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทำให้ตลาดไข่ไก่ยั่งยืนมาถึงวันนี้ จนกระทั่งไทยมีอาชีพเลี้ยงสัตว์ก้าวหน้าไปสู่ระบบสากลโลก หากเป็นไก่เนื้อก็สามารถส่งออกจำหน่ายสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

ความสำเร็จของธุรกิจเลี้ยงสัตว์ที่รวมทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ โคนม โคเนื้อ ที่ภาคเอกชนรวมตัวกันผลักดัน ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์อย่างแพร่หลายทั่วประเทศ สร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้แก่คนไทยหลายล้านคน ให้เป็นหลักประกันในอาชีพเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรหลายครอบครัวละทิ้งอาชีพอื่นที่ทำแล้วขาดทุน ไม่มีอนาคต ได้หันมาประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์กัน เพื่อประกันการเสี่ยง ก็หันมาประกันราคารับซื้อกับบริษัทเอกชน

ความเจริญก้าวหน้าของอาชีพทำธุรกิจเลี้ยงสัตว์ จนทำให้บริษัทภาคเอกชนขยายการดำเนินธุรกิจไปต่างประเทศ มีแบรนด์ของตัวเอง พันธุ์สัตว์ก็ต่างแข่งขันหาพันธุ์ดีๆ มาจำหน่ายให้ลูกค้าอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยาสำหรับสัตว์ อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ มีวิทยากรก้าวหน้าแข่งขันกัน โดยไม่มีการผูกขาด ต่างมีการค้าเสรีกันให้เกษตรกร และผู้บริโภค เป็นทางเลือกผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหลากหลายชนิด จนประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นครัวโลกที่มีผลิตภัณฑ์อาหารเลี้ยงประชากรไปทั่วโลก ต่างยอมรับกันของตลาดต่างประเทศ

ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ที่กล่าวนำมานี้ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา มีเด็กหนุ่มวัยแตกพาน อยู่ย่านประชานิเวศน์ เขาอยู่กับบิดา มารดา เป็นครอบครัวไทย-จีน มีอาชีพขายของ “โชห่วย” สินค้าที่คนชุมชนนิยมซื้อขายกัน แม้จะเป็นร้านค้าขายเล็กๆ ก็พอจะอยู่กันได้ ไม่อาทรร้อนใจ

แต่ด้วยความเป็นเด็กหนุ่ม ที่มีความคิดกว้างไกล อยากเปลี่ยนอาชีพขายของโชห่วยที่จำเจ และเบื่อหน่าย โอกาสจะร่ำรวยนั้นเลิกคิดได้ ขืนอยู่ไปก็หมดอนาคตสร้างครอบครัว

ปริมาณไข่ไก่ในแต่ละวันที่ชาวอำเภอบ้านนาเลี้ยงไก่ไข่กัน มีคนงานและสร้างงานในชนบท

เขาจึงตัดสินใจไปหาญาติที่อำเภอบ้านนา ว่าจะปรึกษาจะทำอาชีพอะไรดี ญาติที่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ก็บอกว่า มาเลี้ยงไก่ดีกว่า แต่เขาไม่มีความรู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างไร

ความเป็นชายหนุ่มโสดหน้าตาดี มีความมุ่งมั่นสูง แต่มีความทะเยอทะยานอยากรวย ญาติที่บ้านนาเห็นว่าเขามีอนาคตจึงใช้วิธีเรียนลัดให้รู้จักสาวงามแห่งบ้านนา ที่มีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่กับครอบครัวที่มีพี่ชายเป็นเจ้าของฟาร์ม

เมื่อหนุ่ม “เคว้ง” หรือ อรรณพ อัครนิธิยานนท์ เห็นตัวจริง เขาก็ตัดสินใจให้พ่อแม่ ที่กรุงเทพฯ มาสู่ขอโดยไม่รั้งรอให้นานเกินควร

ด้วยเป็นคนหนุ่มใจร้อนเป็นทุนเดิม เขาได้ให้พ่อแม่มาสู่ขอตามธรรมเนียมคนจีน โดยฝ่ายหญิงยังไม่ทันตั้งตัว แต่ด้วยประเพณีชาวจีน พ่อแม่ได้เห็นว่าลูกสาวอายุพอที่จะออกเรือนได้แล้ว ส่วนว่าที่เจ้าบ่าวในวันมาสู่ขอ ด้วยบุคลิกที่หน้าตาดี ฉลาด คล่องตัว มาเปิดตัวอยู่ในบ้านเจ้าสาว ทำให้ว่าที่พ่อตาได้เห็นโฉมหน้าว่าที่ลูกเขย โดยลูกเขยไม่ทันเห็นว่าที่พ่อตา

ทันใดนั้นเสียงพ่อตามากระซิบกับแม่ยายที่หลังบ้าน ว่า

“เด็กหนุ่มที่จะมาสู่ขอลูกสาวเรานั้น หน้าตาดี ในตำราดู โหงวเฮ้งแล้ว ในอนาคตจะเป็นคนร่ำรวยอย่างมหาศาล”

จากวันนั้นถึงวันนี้ เกือบ 40 ปี ที่เด็กหนุ่มชื่อ เคว้ง มีภรรยาชื่อ ซ้อสุนิสา อัครนิธิยานนท์ อยู่ด้วยกันสร้างรากฐานที่มีทั้งฟาร์มไก่ไข่ ไก่เนื้อ สุกรฟาร์ม นับหลายล้านตัว ลูกๆ ไปเรียนจบจากอเมริกา สร้างอาณาจักรขยายไปถึงจังหวัดชัยภูมิ

เสี่ยเคว้ง และ ซ้อสุนิสา เหมือนคู่สร้างคู่สมกันจริง หากพูดถึง “ซ้อ” แล้วต้องเป็นที่ประทับใจในความสามารถในด้านการตลาดไข่ไก่ สามารถจะล่วงรู้ตลาดไข่ไก่ที่ระบายสู่ท้องตลาดและคล่องตัวในวงการค้าไข่หาตัวจับยาก เพราะประสบการณ์ขายไข่มันต้องใช้เวลาสะสม และทันต่อเหตุการณ์ จนสามารถระบายไข่ได้ทัน

ฝ่ายเสี่ยเคว้งนั้นเป็นนักผลิตตัวยง โรงเรือนที่บ้านนา ฟาร์มเขาขยายปลูกเป็นเล้าอีแว้ป ราคาหลังละเป็นล้านบาทให้ไก่อยู่ ในอากาศห้องแอร์ ถนนสร้างภายในฟาร์มเป็นถนนที่สร้างด้วยคอนกรีต อยากให้กรมทางหลวงมาดูงานที่ฟาร์มนี้จัง ฤดูฝนไม่มีปัญหา ไม่เหมือนชาวบ้านชนบทที่ร้องเรียนเรื่องถนนแย่

ความเป็นคนทำอะไรทำจริง เขามีฟาร์ม มีผู้จัดฟาร์ม มีบ้านพัก ผู้จัดการฟาร์ม แพทย์ มีครบครัน เงินเดือน โบนัส ไม่แพ้บริษัทเอกชน อาจดีกว่าด้วยซ้ำไป ถ้าพนักงานทำงานดีก็มีผลตอบแทนสูง

สมาชิกเลี้ยงไก่ไข่ในภาคอีสาน ที่เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยมาฟังการสัมมนาไข่ไก่ ที่อุบลราชธานี

อาจเป็นเพราะบริษัทที่เถ้าแก่ดูแลถึงปัญหาการเหลื่อมล้ำ ไม่มีต่อพนักงานด้วยกัน ทุกคนอยู่อย่างมีความหวัง การบริหารเถ้าแก่ถึงลูกจ้าง จึงไม่มีช่องว่าง

กล่าวถึงธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เมื่อ 10 ปีที่แล้วเขามีบริษัทอยู่สองบริษัท คือ บริษัท แสงทองปศุสัตว์ จำกัด และ บริษัท ชัยภูมิฟาร์ม จำกัด

กิจการฟาร์มมีทั้งฟาร์มจังหวัดชัยภูมิ อยู่ที่สระสี่เหลี่ยม อำเภอจัตุรัส และที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ธุรกิจของเสี่ยเคว้งมีเครือข่ายไปถึงภาคอีสาน ในด้านการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีเกษตรกรมีอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ต้องปรึกษากับเขา ส่งเสริม อยากเป็นสมาพันธ์ไข่ เพื่อรวบรวมไข่เป็นองค์กรเดียว สามารถควบคุมปริมาณไข่ไก่และบริหารไข่ไปทางเดียว

เพราะปัญหา “เอ้กบอร์ด” ยังควบคุมตลาดไข่ไก่ไม่เต็มที่ มีปริมาณไข่ไก่เกินความต้องการ ที่ผ่านมาปลายปีไข่ไก่ราคาตก ราคาหล่นมาในรอบ 30 ปี เพราะผลิตไข่เกินความต้องการตลาด ที่ต้องการ วันละ 42-43 ล้านฟอง ต่อวัน แต่ผลิตได้เกิน ถึง 44-45 ล้านฟอง ต่อวัน…เกินวันละ 1-2 ล้านฟอง ซึ่งมีข้อยุติให้ลดจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ถึงแสนตัว ด้วยมาตรการของเอ้กบอร์ด

อดีตถึงปัจจุบัน อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ที่คนไทยเคยบริโภคไข่จากจำนวนน้อย หรือ 110 ฟอง ต่อคน ต่อปี กว่า 20 ปี ที่ผ่านมา คาดว่าคนไทยคงจะบริโภคให้ถึง 300 ฟอง ต่อคน ต่อปี เพราะคนรุ่นใหม่หันมาบริโภคไข่กันมากขึ้น เนื่องจากเขาวิจัยแล้วว่า กินไข่วันละหลายฟองมีประโยชน์มาก ต่างกับ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เคยแนะให้บริโภคไข่วันละฟองไม่ต้องไปหาหมอ เดี๋ยวนี้เพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน ไข่บริโภคได้ 5-6 ฟอง ต่อวัน มีประโยชน์มาก คนสูงอายุบริโภคได้ 2 ฟอง ต่อวัน คุณค่าอาหารจากไข่ไก่มีประโยชน์จริงมากกว่าให้โทษ

ผู้เขียนที่เคยศึกษาเรื่องตลาดไข่ไก่มาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว ในด้านปัญหายังมีคล้ายๆ เหมือนเดิม ต่างกันกับปัจจุบันมีบ้างที่หายไป

ประการแรก เรื่อง “ล้ง” รับซื้อไข่ที่ทรงอิทธิพลในด้านการควบคุมราคา สมัยก่อน “ล้ง” สามารถให้สินเชื่อแก่ลูกเล้าได้แล้ว หากราคาไข่ไก่ที่ขายกัน “ล้ง” กำหนดราคาไข่ไก่มาตลอด แต่ปัจจุบันล้งค่อยๆ หายไป เพราะฟาร์มไข่ไก่ใหญ่ขึ้นมา ขายไข่ด้วยตนเอง ไม่ผ่านล้งไข่ เหมือนอาชีพเป็ดไล่ทุ่ง ที่ปล่อยลูกเป็ดให้ชาวบ้านเลี้ยง เดี๋ยวนี้ชาวนาซื้อลูกเป็ดไปเลี้ยงไล่ทุ่งเอง ไม่ผ่านนายทุนอีกต่อไปแล้ว แต่อาจจะมีหลงเหลือบ้างก็เป็นรายย่อยๆ

ประการที่สอง ปัญหาโรงเรียนปิดเทอม ก็ยังคล้ายของเดิม โรงอาหารของอาหารโรงเรียนปิด ไข่ไม่มีขาย เด็กอยู่บ้านงดไข่โดยปริยาย ปัญหาเรื้อรังแก้ยากมาก ต้องระดมไข่ไก่มีประโยชน์ให้เด็กเห็นคุณค่าไข่มากขึ้น เพราะปริมาณไข่จะลดยากเพราะสภาพเล้าอีแว้ประบายอากาศได้ไข่สุขภาพดีขึ้น

ประการที่สาม อากาศร้อนช่วงปิดเทอมปลายตรงกับอากาศร้อน เดือนมีนาคม-เมษายน ปัญหาเกิดกับฟาร์มไก่ไข่ อัตราการตายสูงจากความร้อน อัตราการไข่ลดลง ไก่กินอาหารน้อย ฟาร์มไก่ควรหาทางสร้างเล้าอีแว้ปแม้จะแพง ก็คุ้มกับการลงทุน

ประการสุดท้าย เรื่องไข่ล้นตลาด ปัญหาหยุดลง เพราะเอ้กบอร์ดระงับ และลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ลง

เรื่องโรคโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ที่คนเลี้ยงสัตว์ปีกกลัวกันนั้น กรมปศุสัตว์ควบคุมอย่างดีพอ เพราะปัญหาใหญ่สุดคงไม่เกิดได้ง่ายๆ ประสานงานกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ (เอ้กบอร์ด)

อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ต้องมีความชำนาญมากในตัวไก่ เพราะผลกำไรต่อไข่ฟองน้อยมาก

อดีตไข่ไก่ไทยเคยส่งไปขายมาเลเซีย เดี๋ยวนี้กิจการธุรกิจไก่ไข่มาเลเซียเจริญรุดหน้ากว่าไทยเยอะมาก อย่าได้ล้าหลังกว่าเขามากนัก หากไทยมีมาตรการดีๆ น่าจะรวมตัวกัน ไม่แบ่งก๊กแบ่งเหล่า ขึ้นชื่อคนไทย รวมตัวสามัคคีกันยาก ธุรกิจไก่ไข่พัฒนาไปไกลแล้ว