เกษตรกรทุ่งกุลาฯ ใช้พื้นที่หลังบ้าน “ทำเกษตรครบวงจร” ประสบผลสำเร็จ สร้างรายได้ต่อเนื่อง

ทุ่งกุลาร้องไห้ มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล 2.1 ล้านไร่ ใน 5 จังหวัด คือ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด

จังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลราร้องไห้อยู่ในพื้นที่ อำเภอปทุมรัตต์ เกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย รวมพื้นที่ 9.7 แสนไร่

คุณอุทัย และ คุณสมคิด สาวแก้ว สามีภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 118 ม.7 บ้านทุ่งทรายทอง ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด 45130  ประสบความสำเร็จในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

ทีมงานจากสำนักงานเกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ เดินทางผ่านทุ่งนาที่เวิ้งว้าง กว้างใหญ่ไพศาล น้ำมันรถยนต์เต็มถัง เครื่องยนต์ดี ยางดี หมู่บ้านอยู่ห่างไกลกันมาก เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มี คุณหลวงเกตุ บุญอรัญ เป็น ผญบ. เจ้าของบ้านให้การต้อนรับดีมากๆ พร้อมบอกว่าตนเองทำนาปีละครั้ง นาข้าว 100 ไร่ เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. 4-01 นาอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ฤดูแล้งดินเค็มส่าเกลือระเหิดจากใต้พื้นพสุธา ต้นไม้ที่ขึ้นได้ดีคือ ต้นยูคาลิปตัส

ตนเองเป็นสายเลือดของ “ทุ่งกุลาร้องไห้” น้อมนำโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ สู่พื้นที่นาข้าวหลังบ้านพัก 3 ไร่ โดยการส่งเสริมของ คุณวัชรินทร์ เขจรวงศ์ เกษตรอำเภอสุวรรณภูมิ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยการขุดบ่อ ขนาด 1 ไร่ ลึก 3-4 เมตร สร้างเรือนนอนพักผ่อน 1 หลัง กระชังเลี้ยงกบ ขนาด 1,000 ตัว โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ขนาด 20 ตัว ไข่ได้ วันละ 15-17 ฟอง โรงเรือนไก่เนื้อ 50-100 ตัว ทำบนบ่อเลี้ยงปลา เพราะได้อยู่อย่างเกื้อกูล อาหารร่วงหล่นลงน้ำ มูลไก่ ปลากินเป็นอาหาร

ปลาที่เลี้ยง มีปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียน 15,000 ตัว เจริญเติบโตดีมากๆ ขนาด 1-2 ตัว ต่อกิโลกรัม  รอบสระน้ำปลูกไม้ผล มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ จำนวน 30-40 ตัน มะนาวในวงบ่อ 30 ต้น

คุณอุทัย แบ่งพื้นที่ทำโรงเรือนเลี้ยงโคขุน จำนวน 23 ตัว เก็บฟางข้าวไว้เลี้ยงวัว ได้ปุ๋ยคอก อยู่อย่างเกื้อกูลจริงๆ ที่ลุ่มหลังสวนปลูกพืชผักสวนครัว ผักกาดขาวปลี เขียวปลี คะน้า กวางตุ้ง หอม ข่า ตะไคร้ แซมด้วยมะละกอ

พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แห้งแล้ง มองไกลมีสีเขียวที่หลังบ้านคุณอุทัยเท่านั้น เป็นแหล่งอาหารของครอบครัว เกิดรายได้รายวัน จากการขายผัก ขายไข่ไก่ ไก่เนื้อ ขายปลา ขายกบ วันละ 200-300 บาท รายได้รายปี ขายข้าว ปีละ 1 ครั้ง กว่า 500,000 บาท ขายวัว  120,000 บาท มูลวัวเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดีของนาข้าว ขายได้ไม่น้อย

คุณอุทัย มีความสุขอย่างมาก ลูกสาว ลูกชาย กลับมาบ้าน นอนพักที่ศาลากลางน้ำ เป็นชีวิตชาวทุ่งกุลาสดใส แล้ววันนี้

ทางด้าน คุณเสน่ห์ รัตนาภรณ์ เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า อำเภอสุวรรณภูมิมี 15 ตำบล 199 หมู่บ้าน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ต้องปฏิบัติการเชิงรุก ร่วมกับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบ.กต.) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) แปลงใหญ่ เรื่องข้าว คือลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพ การบริหารจัดการ และด้านการตลาด การผลิต “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” นักส่งเสริมการเกษตร มืออาชีพต้องทำได้

…………………………..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น!!คลิกดูรายละเอียดที่นี่