ส่งออก “สินค้าเกษตร” ปี 2560 ข้าวแข่งเดือด-ยางฉลุย รับตลาดโลก

ปี 2559 ไม่ใช่ปีที่สดใสมากนักสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรไทย จากเหตุผลภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เคยสูงถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็ลดลงเหลือ 40-50 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อตลาดส่งออกหดตัวและราคาต่อหน่วยสินค้าเกษตรลดลง โดยช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรรวม 28,958 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลง 3.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะสินค้าเกษตร 3 รายการหลัก “ข้าว-ยางพารา-มันสำปะหลัง” ซึ่งครองสัดส่วน 5.4% ของการส่งออกไทย มียอดส่งออกลดลง “ยกเว้น” ข้าวที่สามารถส่งออกเพิ่มขึ้นได้ 1.6% แต่มูลค่าการส่งออกกลับลดลงทุกรายการ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าว-มันสำปะหลัง-ยางพาราในปี 2560 ยังมีปัจจัยบวกจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิตลง มีผลทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้ผลิตน้ำมันฟื้นตัว น่าจะทำให้ราคาต่อหน่วยของการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัจจุบันที่เฉลี่ย 35.50-36.00 บาท ซึ่งจะส่งผลดีกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรไทย

ฟันธงส่งออกข้าว 9 ล้านตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงการส่งออกข้าวในปี 2560 ว่า น่าจะทำได้ 9.0-9.5 ล้านตันจากปี 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินเบื้องต้นว่า จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 9.6 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณซัพพลายที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ภาวะความต้องการของตลาดโลกยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นคงหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณซัพพลายผลผลิตข้าวที่ดีขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ผลิตเพิ่มขึ้นและมีสต๊อกคงเหลืออยู่ปริมาณมาก ขณะที่เวียดนามจะมีผลผลิตฤดูกาลใหญ่ออกสู่ตลาดในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ยังมีทั้งกัมพูชากับเมียนมาก็เริ่มส่งออกข้าวมากขึ้นด้วย

จุดที่น่าสังเกตก็คือ โดยปกติเวียดนามจะขายข้าวฤดูกาลนาปีที่จะออกเดือนมีนาคมล่วงหน้าให้กับฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซีย แต่ปีนี้ยังไม่มีสัญญาณว่า 2 ประเทศนี้จะประมูลนำเข้าข้าว และจีนเคยสั่งซื้อข้าวเวียดนามผ่านชายแดนก็ลดลงจากปกติที่จะซื้อขายมากถึง 1.5 ล้านตัน แต่ปีที่ผ่านมาจีนซื้อไม่ถึง 1 ล้านตัน ส่งผลให้ยอดส่งออกข้าวของเวียดนามลดลงเหลือเพียง 5 ล้านตัน จากเป้าหมายที่วางไว้ 6.5 ล้านตัน

ดังนั้นยอดส่งออกข้าวของประเทศไทยในเดือนมกราคมน่าจะอยู่ระหว่าง 500,000-600,000 ตัน จากปกติ 700,000-800,000 ตัน จากเหตุผล 1) ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อข้าวลอตใหญ่ ๆ เข้ามา ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจึงเหลือเพียงส่งมอบข้าวให้เอกชนฟิลิปปินส์ในลอต 280,000 ตันที่กำลังจะหมด ส่วนตลาดจีนยังไม่สามารถตกลงราคาขายข้าวรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ลอตที่ 2 อีก 100,000 ตันได้ การส่งออกข้าว G to G จึงหยุดชะงักชั่วคราว ขณะเดียวกันตลาดข้าวเอกชนจะเริ่มหยุดการซื้อขายในวันที่ 12 มกราคมก่อนเทศกาลตรุษจีน และจะหยุดยาวไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ จึงจะมีคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งอาจจะชนกับข้าวเวียดนามที่ออกสู่ตลาดช่วงนั้นพอดี

2 ปัจจัยบวกหนุนส่งออกมันเส้น

ด้าน นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกมันเส้นไปตลาดจีนในปี 2560 มีโอกาสที่จะได้ปริมาณ 6 ล้านตันเท่ากับปี 2559 หรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกมันเส้นในปีนี้ได้เปลี่ยนไปจากปีก่อน กล่าวคือ ปีนี้ปริมาณสต๊อกข้าวโพดรัฐบาลจีนลดลงเหลือ 200 ล้านตัน “ต่ำกว่า” ปีก่อนที่มีมากถึง 250 ล้านตัน อีกทั้งซัพพลายผลผลิตข้าวโพดฤดูกาลใหม่น่าจะลดลงจากปีก่อน เพราะรัฐบาลจีนไม่มีมาตรการอุดหนุนรับซื้อข้าวโพดแล้ว ประกอบกับรัฐบาลจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เป็น 30% จากปีก่อนที่มีอัตรา 5% ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกมันเส้นของไทย เพราะราคาแอลกอฮอล์จีนขยับขึ้นไปสูงถึงตันละ 5,000 หยวน จากปีก่อนที่อยู่ประมาณ 4,000 หยวน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ขณะนี้ราคาส่งออกของมันเส้นไทยปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยราคา FOB ลดลงต่ำกว่า 170 เหรียญ/ตัน ทั้งที่ตลาดมีแนวโน้มจะเติบโต เนื่องจากผู้ส่งออกมันเส้นโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทจีนคาดการณ์ว่าผลผลิตหัวมันสำปะหลังของไทยจะออกมามากในช่วงนี้ถึงเมษายน 2560 อีก 70% หรือราว 21 ล้านตัน ซึ่งอาจจะมีผลให้ราคาลดลง ดังนั้นกลุ่มผู้ส่งออกมันเส้นจีนที่เข้ามาตั้งบริษัทรับซื้อมันเส้นในไทยจึงกำหนดราคาส่งออกมันเส้น “ถูก” ล่วงหน้าไว้ มีผลทำให้การตั้งราคารับซื้อหัวมันสดต่ำลง 

ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือ กำหนดมาตรการที่ชัดเจนว่า จะดึงซัพพลายมันสำปะหลังออกจากตลาดอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาหัวมันลดลงไปอีก 

ราคายางขยับ-รับตลาดโลก

ส่วนสถานการณ์ส่งออกยางพาราในช่วง 11 เดือนแรก แม้ว่าในแง่ปริมาณและมูลค่าจะยังลดลง (ตาราง) แต่ทว่า “ราคายาง” เริ่มปรับตัวดีขึ้นนับจากเดือนพฤศจิกายน 2559 และขึ้นไปสูงสุดถึง กก.ละ 80 บาทในกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่การส่งออกยางในปี 2560 จะปรับตัวดีขึ้น 

ปัจจัยสำคัญเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักนำเข้ายางจากไทยปีละ 2 ล้านตัน “เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง” ประกอบกับสต๊อกยางที่เคยสูงกว่าระดับปกติ 150,000 ตัน ลดลงเหลือประมาณ 50,000 ตัน จึงทำให้ความต้องการนำเข้ายางของประเทศผู้ใช้มีมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มกลับสู่ภาวะขาขึ้น ส่งผลให้ราคายางธรรมชาติปรับขึ้นตาม 

ขณะที่ปริมาณการผลิตยางในประเทศไทยกลับลดลง จากภาวะอากาศแปรปรวนเกิดฝนตกหนักในภาคใต้หลายระลอก จำนวนแรงงานกรีดยางลดลงไปมาก เพราะแห่ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน เพราะมีรายได้ต่อวันดีกว่ารายได้จากการกรีดยางในช่วงราคายางขาลง 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีแรงกดดันราคายางจากภาวะการแบกรับสต๊อกยางพาราเก่าของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงรับซื้อไว้ตั้งแต่ปี 2555 เตรียมเปิดประมูลยางรอบใหญ่ 310,000 ตันในกลางเดือนมกราคมนี้ อาจทำให้ราคายางในประเทศตกลงบ้าง แต่ภาพรวมยังประเมินว่า ราคายางในครึ่งปีแรกของปีนี้ “ไม่น่าจะต่ำกว่า กก.ละ 60-65 บาท” เพราะมาตรการภาครัฐที่เข้าช่วยเหลือก่อนหน้านี้เริ่มส่งผลบวก ไม่ว่าจะเป็นการลดพื้นที่ปลูกยางปีละ 400,000 ไร่ การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ชาวสวนไปประกอบอาชีพอื่นในวงเงินรายละไม่เกิน100,000 บาท แต่ความฝันที่ชาวสวนจะเห็นราคายางเกิน กก.ละ 100 บาทหรือพีกสุดแบบปี 2554 ที่เคยขึ้นไปถึง กก.ละ 184 บาท ยังมีความเป็นไปได้น้อยมาก