การเกษตรไทยในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร ฟังข่าวแล้วหดหู่

ตามสถิติของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2561 จีดีพี (GDP : GROSS Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ มีมูลค่า 15 ล้านล้านบาท ส่วนในภาคเกษตรกรรมเพียง 7 แสนล้านบาท เท่านั้น ซึ่งในทางตรงข้ามเมื่อมองมาที่แรงงานภาคการเกษตรกลับมีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ หรือจำนวน 12.4 ล้านคน

ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอนี้ ภาครัฐจะต้องใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อนำไปใช้วางแผนการพัฒนาการเกษตรไทยในอนาคต ขณะเดียวกันยังสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์

ขอขอบคุณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่ภายในบริเวณใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เขตจตุจักร รายงานว่า ปี พ.ศ. 2561 สถานการณ์การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง มีรายละเอียดดังนี้

ข้าว มีเกษตรกรประกอบอาชีพการทำนา 3.7 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 67 ล้านไร่ ผลผลิตรวมทั้งฤดูนาปีและนาปรัง 31 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตเฉลี่ย 446 กิโลกรัม ต่อไร่ ปริมาณการส่งออก 10 ล้านตันข้าวสาร มูลค่าส่งออก 1.5 แสนล้านบาท และใช้บริโภคภายในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสาร ข้าวเป็นพืชที่อ่อนไหวทางการค้าพืชหนึ่ง หากปีใดประเทศคู่ค้าของไทย ไม่ว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศในแอฟริกา มีผลผลิตดี จะส่งผลให้การส่งออกข้าวของไทยมีปัญหา คู่แข่งสำคัญคือ เวียดนาม และอินเดีย

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวนเกษตรกร 4.5 แสนครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 6.5 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 4.7 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 644 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่มีการใช้ภายในประเทศ 5.3 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และสหรัฐอเมริกา อีก 1.6 แสนตัน เนื่องจากการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

มันสำปะหลัง จำนวนเกษตรกร 5.6 แสนครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 8.6 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 32 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3.2 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศ 9.4 ล้านตัน ส่วนที่เหลือส่งออกทั้งหมด ทั้งรูปมันเส้น และมันสำปะหลังแปรรูป ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อียู ผลิตข้าวสาลีได้มากเกินความต้องการ จึงหันมาใช้ข้าวสาลีเลี้ยงสัตว์แทนมันสำปะหลัง ทำให้การส่งออกได้น้อยลง ส่งผลทำให้ราคาตกต่ำตามไปด้วย

อ้อย เกษตรกร 3.6 แสนครัวเรือน ผลผลิต 106 ล้านตัน แปรรูปเป็นน้ำตาลทรายได้ 11.4 ล้านตัน ปริมาณการส่งออก 3.6 ล้านตัน คู่ค้าสำคัญ มี อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น เมียนมา ซูดาน และกัมพูชา (อัตราเปลี่ยนอ้อยสด จาก 1,000 กิโลกรัม ได้น้ำตาลทราย 108 กิโลกรัม : ข้อมูลจากสำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย)

Advertisement

สับปะรดโรงงาน เกษตรกร 3.2 หมื่นครัวเรือน เนื้อที่เก็บเกี่ยว 4.4 แสนไร่ ผลผลิต 1.7 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศ 0.2 ล้านตัน

นอกจากนี้ ส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งสับปะรดแปรรูปในตลาดโลกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 2.0 หมื่นล้านบาท

Advertisement

ยางพารา เกษตรกร 1.4 ล้านครัวเรือน พื้นที่กรีดได้ 18.8 ล้านไร่ ผลผลิตในรูปยางแผ่นดิบและยางแท่ง รวม 8.7 ล้านตัน ใช้ภายในประเทศเพียง 5 แสนตัน นอกจากนั้น ส่งออกไปยังต่างประเทศ ผลผลิตเฉลี่ย 250 กิโลกรัม ต่อไร่

ปาล์มน้ำมัน เกษตรกร 2.1 ครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยวได้ 4.2 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 2.5 ตัน ต่อไร่ ใช้ในประเทศ 1.8 ล้านตัน ต้องนำเข้าปริมาณ 1.5 แสนตัน

มะพร้าว เกษตรกร 2.3 แสนครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยว 1.1 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 775 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตทั้งหมด 9.0 แสนตัน ใช้ในประเทศ 1.1 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้า 1.1 แสนตัน โดยนำเข้าจากอินโดนีเซีย และศรีลังกา

ทุเรียน เกษตรกร 1.2 แสนครัวเรือน เนื้อที่เก็บเกี่ยว 5.7 แสนไร่ ผลผลิต 6.0 แสนตัน ผลผลิต 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่งออกไปต่างประเทศ 3.5 แสนตัน ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ มี จีน ฮ่องกง เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และฮ่องกง

มะม่วง เนื้อที่เก็บเกี่ยว 2.1 ล้านไร่ ผลผลิต 3.1 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1.4 ตัน ต่อไร่ ส่งออกไปต่างประเทศ 7.1 หมื่นตัน

กล้วยไม้ พื้นที่เก็บเกี่ยว 2.2 หมื่นไร่ ผลผลิตรวม 5.0 หมื่นตัน ส่งออก 2.4 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านบาท

ไก่เนื้อ เกษตรกร 1.0 หมื่นครัวเรือน ผลผลิตรวม 1.3 ล้านตัว ใช้บริโภคภายในประเทศ 1.1 ล้านตัน ส่วนเกินส่งออกไปยังยุโรป ญี่ปุ่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และจีน

โคเนื้อ เกษตร 6.7 แสนครัวเรือน ผลิตได้ 9.9 แสนตัว ใช้บริโภคภายในประเทศ 1.3 ล้านตัว ต้องนำเข้า 3.1 แสนตัว

กุ้งทะเลเพาะเลี้ยง เกษตรกร 1.9 หมื่นราย ผลผลิต 2.8 แสนตัน ใช้ภายในประเทศ 4.0 หมื่นตัน

จากสถิติข้างต้น ทำให้มองภาพรวมของการเกษตรไทยได้ชัดเจนขึ้น หากภาครัฐนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและจริงจัง ปัญหาที่มีอยู่จะทุเลาเบาบางลง หรือหมดไปในที่สุด