ผ้าไหมหัวฝาย หัตถกรรมเด่นเมืองหมอแคน

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมี คุณบุญสิน ราษฎร์ รับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม ในคราวแรกได้รับเส้นไหมพระราชทานเพื่อนำมาทอส่งให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพ ต่อมาในปี 2548 ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนในชื่อกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานราชการหลายแห่ง จวบจนปัจจุบันกลุ่มนี้ถือว่าผลิตผ้าไหมได้ดีเยี่ยม มีรางวัลผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ จนทำให้สินค้าผ้าไหมทุกชนิดได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ

ผ้าไหมลายแคนแก่นคูน ขนาด 4 เมตร ราคาผืนละประมาณ 6,000 บาท

เอกลักษณ์และจุดเด่นของผ้าไหมที่ผลิตจากกลุ่มทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย เป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ มีสีสัน ลวดลาย สวยงาม ประณีต มีความหลากหลาย ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น (มผช.) มีการควบคุมคุณภาพการผลิต สีไม่ตก และมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และปรับลวดลายและสีสันให้ทันสมัยอยู่เสมอ และสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกเพศทุกวัย ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทุกชิ้น ถักทอด้วยฝีมืออันละเอียด ประณีต สวยงาม

คุณเกษร เทพเรียน ตัวแทนสมาชิกกลุ่ม บอกว่า สำหรับอาชีพของชาวบ้านในกลุ่มสมาชิกมีหน้าที่ต่างๆ กันขึ้นอยู่กับความถนัดและพอใจ เนื่องจากกิจกรรมของกลุ่มมีอยู่ด้วยกันหลายอย่างได้แก่ กิจกรรมหลักคือการเลี้ยงไหมวัยอ่อน ทอผ้าไหม แปรรูป และจำหน่าย ผลิตจำหน่ายเส้นไหม การออมทรัพย์ กองทุนกู้ยืม ในส่วนกิจกรรมรองได้แก่ การเพาะเห็ด ปลูกผักปลอดสาร การทำสบู่ การผลิตพรมเช็ดเท้า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะต้องการเลี้ยงไหม แล้วขายไหมบางรายทอผ้า หรือบางรายทำทุกอย่างโดยทำสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่พอมาถึงยุคนี้ต้องปรับแนวทางการผลิตผ้าไหมเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ และถือว่าผลิตผ้าไหมที่ใหญ่ที่สุดอีกกลุ่มในจังหวัด

คุณเกษร บอกว่า วัตถุประสงค์การตั้งกลุ่มเพื่อต้องการให้แม่บ้านเกษตรกรรวมตัวกันแสดงพลังความคิดในการต่อยอดสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้สืบต่อไปยาวนาน เพื่อต้องการให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นกลุ่ม การช่วยเหลือระหว่างกัน การประสานงาน การแก้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนสร้างทักษะการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดนำไปสู่การเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายในอนาคต

ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนยึดอาชีพผ้าไหมเป็นรายได้หลัก แล้วทำเกษตรกรรมอย่างอื่นเป็นรายได้รอง ทั้งนี้ ระยะเวลาการเลี้ยงไหมและสาวไหมใช้เวลาประมาณเดือนเศษ แล้วจึงนำไปย้อมเป็นสีต่างๆ

ประเภทงานไหมที่กลุ่มทำกันมี 2 แบบ คือผ้าไหมมัดหมี่กับผ้าคลุมไหล่ ทั้งนี้ สมัยก่อนทอผ้าไหมกันหลายลาย หลายแบบ แต่พอทางจังหวัดได้กำหนดลายประจำคือลายแคนแก่นคูน จึงทำให้ได้รับความสนใจจากตลาดมาก สั่งทอกันได้คับคั่งจนขายไม่ทันต้องสั่งจอง จึงทำให้ลายทอแบบเดิมไม่ว่าจะเป็นลายแคน ดอกคูน ลายพานบายศรี ลายขอ ลายโคม ลายกง และบักจับหรือหมากจับ ต้องลดจำนวนลงไป แต่ยังไม่เลิกผลิต

กิจกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

“ลูกค้าที่ต้องการจะต้องโทรศัพท์มาสั่งจองไว้กับประธานกลุ่มหรือผู้รับผิดชอบ จากนั้นจะแจ้งไปยังสมาชิกเพื่อแบ่งงานกัน เมื่อสมาชิกทอเสร็จจึงนำมาส่งที่กลุ่ม”

การกำหนดราคาขายผ้าไหมขึ้นอยู่กับคุณภาพเนื้อผ้ากับลายที่ทอเป็นหลัก อย่างผ้าไหมมัดหมี่มีราคาขายเริ่มต้นที่หลักพันบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท หากคิดเป็นเมตรประมาณเมตรละ 4-5 พันบาท ขนาดผืนละ 2 เมตร ส่วนผ้าคลุมไหล่มีราคาเป็นหลักพันบาท สมาชิกที่ทอมาส่งในราคาผืนละประมาณ 700 บาท

กรรมวิธีการทอผ้าจะฟอกด่างออกโดยหากเปลี่ยนเป็นสีธรรมชาติต้องใช้น้ำขี้เถ้า แล้วนำเปลือกไม้จากธรรมชาติชนิดต่างๆ ตามสีที่ต้องการมาต้มย้อม อย่างประดู่ให้สีน้ำตาล ยูคาลิปตัส สะเดาเป็นสีน้ำตาลเข้ม ฝางเป็นสีชมพู หรือฝักคูนได้สีน้ำตาล

ลาย “แคนแก่นคูน” ถือเป็นลายประยุกต์ที่ทางจังหวัดกำหนดให้เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมขอนแก่น เป็นลวดลายที่ซับซ้อน ใช้ความประณีต และพิถีพิถัน ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาในการทอและมัดย้อมนานกว่า 2 สัปดาห์ จึงไม่แปลกว่าทำไมลายที่ออกมาจึงมีความสวยงามเป็นที่ต้องการของลูกค้าสั่งจองกันจนชาวบ้านทอไม่ทัน

เส้นไหม

ด้านการตลาด สมาชิกรายนี้ชี้ว่าแต่เดิมกลุ่มผลิตผ้าไหมส่งให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพ ต่อมามีการพัฒนาและปรับลายผ้าไหมเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดในลักษณะลายประยุกต์ อย่างที่ผลิตขายดีคือลายปาเต๊ะ ได้รับออเดอร์จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมตามงานแสดงต่างๆ ทั่วประเทศ

ทางด้านการบริหารกลุ่มนั้นสมาชิกแต่ละคนต้องเก็บออมเงินด้วยกันในทุกวันที่ 10 ของเดือน ทั้งนี้ สมาชิกรายใดที่ขัดสนปัญหาเรื่องเงินไม่ว่าเหตุผลใดสามารถมากู้จากกลุ่มตามเงื่อนไขได้ โดยทุกสิ้นปีจะมีการประชุมพร้อมกับแบ่งเงินปันผลกัน

นอกจากรายได้จากการทอผ้าแล้ว ทางกลุ่มมีกิจกรรมอื่นให้สมาชิกที่สนใจเลือกทำ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเลี้ยงเห็ดภูฏานส่งขายในหมู่บ้านกิโลกรัมละ 70 บาท หรือผลิตสบู่โปรตีนใยไหมที่นำรังไหมที่ผ่านการใช้งานแล้วมาต้มเพื่อใช้น้ำโปรตีนใยไหมมาผลิตสบู่ นอกจากนั้น ยังผลิตพรมเช็ดเท้า

ลายผ้าไหมแบบเดิม

“จุดเด่นผ้าไหมกลุ่มนี้คือคุณภาพเส้นไหมที่เกิดจากการเลี้ยงไหม การย้อมที่คัดเลือกวัตถุดิบจากธรรมชาติ การทอที่ใช้ความประณีต พิถีพิถัน ดังนั้น ผ้าไหมของ “กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวฝาย” จึงมีความสวยงาม ทนทาน คุ้มค่ากับราคา”

มักจะพบว่างานหัตถกรรมของแต่ละท้องถิ่นมักเคียงคู่ไปกับวัฒนธรรมประเพณีหรือความเชื่อทางโบราณเป็นส่วนใหญ่ แม้โลกจะเปลี่ยนไปแบบไหน เร็วเพียงใด แต่วัฒนธรรมความเชื่อยังฝังรากอยู่ในท้องถิ่น เช่นเดียวกับภูมิปัญญากลุ่มทอผ้าไหมบ้านหัวฝาย ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการทอผ้าไหมของอำเภอชนบท และของจังหวัดขอนแก่น

จนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 สภาหัตถกรรมโลกมอบใบประกาศรับรองให้จังหวัดขอนแก่น เป็นนครไหมมัดหมี่โลก จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวขอนแก่น รวมถึงคนไทยทั้งประเทศด้วย

ทอด้วยการออกแบบลวดลายสวยงาม ฝีมือประณีต

ผ้าหน้านางที่มีลวดลายสวยงาม
ตัดเป็นชุดทั้งตัวดูกลมกลืนสวยงาม

ตัวอย่างผ้าที่มัดเรียบร้อยแล้วแกะลายออกจากควักเพื่อนำไปทอต่อ