ปีทองธุรกิจสวนส้ม”เชียงใหม่-กำแพงเพชร”ราคาหน้าสวนพุ่ง50บาท/กก.รายย่อยแห่ปลูกรับตลาดขึ้น

ฟื้นธุรกิจ “สวนส้ม” เชียงใหม่-กำแพงเพชร ราคาดีจูงใจรับซื้อหน้าสวน กก.ละ 40-50 บาท เกษตรกรเผยควบคุมโรคกรีนนิ่งที่เคยระบาดได้อยู่หมัดแล้ว คาดปี”60 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 20% ด้านไร่ส้มชาญลดา เมืองชากังราวเฮ ราคาพุ่ง ผลผลิตส้มเขียวหวานเพิ่ม 50% ชี้รายใหม่แห่ปลูกแทนพืชเศรษฐกิจอื่นราคาตกต่ำเชียงใหม่คุมโรคกรีนนิ่งได้แล้ว

นายครรชิต ตติปาณิเทพ เจ้าของสวนส้ม ช.เจริญ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ธุรกิจสวนส้มสายน้ำผึ้งของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดใน 3 อำเภอคือ ฝาง แม่อาย และไชยปราการ เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากเกิดปัญหาโรคแมลงในสวนส้ม หรือโรคกรีนนิ่ง (Greening Disease) ที่ระบาดในส้มมาตลอดกว่า 10 ปี ซึ่งเกษตรกรรายย่อยกว่า 3,500 ราย ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการดูแลรักษา และทยอยเลิกทำสวนส้มและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ส่งผลให้พื้นที่ปลูกจากเดิม 100,000 ไร่ ลดเหลือราว 40,000 ไร่

ทั้งนี้ พบว่าเกษตรกรรายย่อยเริ่มหันกลับมาฟื้นสวนส้มอีกครั้งตั้งแต่ปี 2558 โดยมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นราว 10% เนื่องจากสามารถจัดการและควบคุมโรคแมลงหรือโรคกรีนนิ่งได้แล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตจากจำนวน 40,000 ไร่ ซึ่งมีปริมาณไม่มาก สามารถขายได้ราคาดี เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาขยายกิจการสวนส้มกันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับผลผลิตส้มของเชียงใหม่ในช่วงกว่า10ปีที่ผ่านมามีประมาณ3.5 แสนตัน/ปี แต่หลังจากได้รับผลกระทบโรคแมลงระบาด ทำให้ผลผลิตลดเหลือเพียง 3 หมื่นตัน/ปี โดยฤดูกาลผลผลิตส้มในปี 2560 ซึ่งให้ผลผลิตมาตั้งแต่ปลายปี 2559 ค่อนข้างติดผลน้อยจากผลกระทบภัยแล้งในช่วงเดือนมษายน-พฤษภาคม ซึ่งปีนี้ผลผลิตส้มของทั้ง 3 อำเภอลดเหลือเพียง 1 ตัน/ไร่ จากในปี 2558 ผลผลิตอยู่ที่ราว 5 ตัน/ไร่ ทำให้ราคาขายในฤดูกาลปีนี้ค่อนข้างดี โดยราคาขายหน้าสวน (คละไซซ์) อยู่ที่กิโลกรัมละ 40-50 บาท

เพิ่มพื้นที่ปลูก 20% รับตลาดโต

นายครรชิตกล่าวว่า ในปีนี้คาดว่าพื้นที่ปลูกส้มจะขยายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 20% จากพื้นที่ปลูกปัจจุบัน 40,000 ไร่ ซึ่งในส่วนของสวน ช.เจริญมีพื้นที่ปลูกราว 500 ไร่ คาดว่าผลผลิตในปีนี้จะอยู่ที่ราว 600 ตัน ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ปลูกพืชชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย อาทิ มะม่วง (พันธุ์มหาชนก) และลำไยกว่า 100 ไร่

ด้านนายสุชาติ วงศ์ชื่น เกษตรอำเภอฝาง เปิดเผยว่า สวนส้มของอำเภอฝางมีพื้นที่ปลูกในปี 2559 จำนวน 13,784 ไร่ และคาดว่าปี 2560 พื้นที่ปลูกจะเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหลายร้อยไร่ ซึ่งจะทราบจำนวนที่แน่ชัดเมื่อมีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกส้ม โดยปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ธุรกิจสวนส้มเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็คือ การจัดการควบคุมโรคแมลงในส้มได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะต้านไวรัสและแบคทีเรียผสมน้ำฉีดเข้าต้นส้ม ซึ่งสามารถลดการแพร่ระบาดโรคแมลงลงไปได้มาก อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรเริ่มหันกลับมาปลูกส้ม เพราะต้นทุนลดลงอยู่ที่ 10 บาท/กิโลกรัม แต่สามารถขายได้ในราคา 40-52 บาท/กิโลกรัม

ราคาดี – สถานการณ์ราคาส้มสายน้ำผึ้งและส้มเขียวหวานปี 2560 ปรับตัวดีขึ้น และผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น 50% จากปัจจัยอากาศที่ไม่ร้อนจัดและศัตรูพืชลดลงทำให้เกษตรกรใน จ.เชียงใหม่ และกำแพงเพชรเตรียมปลูกเพิ่มรับตลาดโต

กำแพงเพชรเฮ ราคาพุ่ง

นางลดาวัลย์ ศิริคุม เจ้าของไร่ส้มชาญลดา จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ปลูกและจำหน่ายส้มเขียวหวาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไร่ส้มชาญลดามีพื้นที่ปลูกในอำเภอโกสัมพีนครจำนวน 112 ไร่ ผลผลิตส่งมาจำหน่ายยังตลาดไท ภาคอีสานและภาคใต้ และยังนำส้มมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งสถานการณ์ผลผลิตในปี 2560 จะออกสู่ตลาดมากกว่าปี 2559 ถึง 50% เนื่องจากส้มติดดอกมากขึ้น และผลผลิตมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องโรคระบาด เช่น โรคเพลี้ยไฟ โรคกรีนนิ่งลดลง ทำให้ผลผลิตออกมาเต็มที่ และราคาปรับตัวดีขึ้นเฉลี่ยราคารับซื้อหน้าสวนจะอยู่ที่ 20-40 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับเกรด ซึ่งถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากปี 2559 ราคาอยู่ที่ 15-35 บาท/กก. โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปัจจุบันตลาดมีความต้องการต่อเนื่องเพราะส้มไทยมีรสชาติดีกว่าส้มจากประเทศจีนที่เข้ามาตีตลาด แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่า แต่ผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมสินค้าที่มีคุณภาพ

“ปีนี้เป็นปีทองของผู้ปลูกส้ม แหล่งปลูกที่สำคัญคือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก พิจิตร กำแพงเพชร ผลผลิตจะออกมากกว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา แถมยังราคาดีอีกด้วยเพราะตลาดมีความต้องการสูง ทำให้ชาวสวนส้มกลับมามีกำลังใจอีกครั้งหลังจากหลายปีที่ผ่านมาเจอกับปัญหาโรคระบาด สภาพอากาศร้อนจัดเกินไป ดูแลรักษายากเพราะส้มต้องใช้เวลาปลูกถึง 3 ปีจึงจะให้ผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาหลายอย่างที่รุมเร้าทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย” นางลดาวัลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ราคาส้มเขียวหวานที่ปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณผลผลิตปี 2560 ที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น จากปัจจัยบวกโรคระบาดลดลง สภาพอากาศที่เย็นสบาย ทำให้ปีนี้มีเกษตรกรในอำเภอโกสัมพีนคร คลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร หันมาปลูกส้มเขียวหวานรับตลาดที่เติบโตแทนการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงด้านศัตรูพืช และราคาที่ผันผวน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์