สกว.-สกอ.จัดปฐมนิเทศนักวิจัยใหม่รุ่นสุดท้าย ผลิตกำลังคนตรงตามความต้องการของตลาด

สกว. จับมือ สกอ. จัดเวทีปฐมนิเทศอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่เป็นรุ่นสุดท้ายก่อนย้ายสังกัดไปกระทรวงใหม่ ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้านการวิจัยให้ตรงความต้องการของตลาด สร้างนวัตกรรมหรือผลกระทบสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศ เพื่อให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

6 มีนาคม 2562 – ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุม “การปฐมนิเทศผู้รับทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่ และทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ประจำปี 2562” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งฝ่ายวิชาการ สกว. จัดร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พันธมิตรที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย และร่วมพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 17 เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า นักวิจัยรุ่นนี้จะถือเป็นรุ่นสุดท้ายภายใต้การสนับสนุนของ สกว.-สกอ. ก่อนย้ายสังกัดใหม่ภายใต้ พร้อมทั้งอธิบายสรุปการทำงานของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ ถึงขอบเขตภาระหน้าที่ในการเชื่อมโยงงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง ตลอดจนประชาชนคนไทย พร้อมกับย้ำกับผู้รับทุนว่า “ผลงานตีพิมพ์ยังไม่ใช่ผลกระทบที่ สกว.ต้องการ อยากให้นักวิจัยคิดต่อไปว่าผลสุดท้ายของงานวิจัยอยู่ที่ไหน ที่สำคัญจะต้องเปลี่ยนความรู้ไปสู่ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลง (Knowledge Translation) มีผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย

ด้าน ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการวิจัยพื้นฐานและพัฒนานักวิจัย และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า บทบาทของหน่วยวิจัยตาม พ.ร.บ.ใหม่ นักวิจัยจะต้องอยู่ในหน่วยงานที่ทำวิจัยและสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เพราะขาดนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยไม่เข้มแข็ง จึงยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ ขณะที่ด้านสังคมยังมีปัญหาการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น เราจึงต้องร่วมกันสร้างองค์ความรู้ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนานักวิจัย นักวิจัยทุกคนต้องทำหน้าที่เป็นนักวิจัยที่ดี สร้างแรงบันดาลใจ “อย่าหยุดที่จุดใดจุดหนึ่งก่อนจะถึงการสร้างผลกระทบที่สำคัญ และหวังว่าทุกคนจะสามารถก้าวมาเป็นนักวิจัยในระดับที่สูงขึ้นตามบันไดอาชีพแผนที่กำหนด” ขณะที่ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สกอ. กล่าวระหว่างการบรรยาย “สกอ.กับนโยบายการให้ทุนอาจารย์รุ่นใหม่” ว่าทิศทางของอุดมศึกษาไทยในอนาคต สิ่งแรกคือ การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสนองความต้องการตลาด ให้ตอบโจทย์ของประเทศและภาคอุตสาหกรรม จึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพของคนทั้งประเทศ ซึ่งเราลงทุน 11 ล้านคน ด้วยงบ 1 แสนบาท/ปีกับอุดมศึกษา แต่ลงทุนไม่กี่หมื่นล้านบาทกับแรงงาน 35-40 ล้านคน โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยต้องสร้างเครือข่ายร่วมกัน เชื่อมต่อด้วยอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของโลกสมัยใหม่ที่มีการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงสูงอยู่ตลอดเวลา ความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ มหาวิทยาลัยจะดำรงตนอย่างโดดเดี่ยวเหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไปในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล จึงควรแลกเปลี่ยนเนื้อหาหรือหลักสูตรโดยเน้นเป้าหมายใหม่คือ คนวัยทำงานและผู้สูงอายุ รวมถึงช่วยกันพัฒนาเนื้อหา/หลักสูตร เปลี่ยนตัวเองให้เป็นสถานที่ที่ผู้คนทั่วไปและนักศึกษาต่างมหาวิยาลัยสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ และเอื้อต่อวิทยาลัยชุมชนด้วย ที่สำคัญคือต้องยกระดับความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษและทักษะด้านดิจิตอล

“เราต้องเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เน้นการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพสูง ผลิตนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้สถาบันอุดมศึกษาเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้ประชาชาติ 1.2 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2030 สำหรับ สกอ.กับการพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่นั้นจะมุ่งผลิตบุคลากรด้านวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพในการทำงานวิจัยและพัฒนางานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น สามารถนำผลงานวิจัยไปแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป นอกจากการจัดสรรทุนแล้วยังจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดประชุมวิชาการประจำปี การปฐมนิเทศ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ”